จินเซนโนไซด์

จินเซนโนไซด์

ชื่อสามัญ Ginsenoside

ประเภทและข้อแตกต่างสารจินเซ็นโนไซด์

สารจินเซ็นโนไซด์ จัดเป็นสารประกอบธรรมชาติที่มีโครงสร้างทางเคมีเป็น ไตรเทอร์ปีนซาโปนิน (Triterpene Saponins) โดยโครงสร้างหลักเป็นสเตอรอยด์ (steroid) ที่ประกอบด้วยคาร์บอน 17 อะตอม จัดเรียงตัวเป็นวง 4 วง และมีโมเลกุลของน้ำตาล เช่น แรมโนส (Rhamnose) ไซโลส (Xylose) หรือ อาราบิโนส (Arabinose) มาจับเกาะกับคาร์บอนอะตอมที่ตำแหน่งที่ 3 และ 20 ซึ่งสารประกอบกลุ่มจินเซ็นโนไซด์ถูกเรียกด้วยชื่อย่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Rx” ซึ่ง “R” หมายถึงราก (Root) ในขณะที่ “x” ใช้อธิบายถึงคุณสมบัติทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับ ChromatographicPolarity โดยเรียงตามตัวอักษร เช่น สารประกอบจินเซ็นโนไซด์ Rb มีค่า Polarity (คุณสมบัติการมีขั้วซึ่งเกี่ยวข้องกับการยึดเกาะด้วยพันธะทางเคมีของโมเลกุล) ที่สูงกว่า Ra เป็นต้น

            ส่วนประเภทของจินเซนโนไซด์นั้นในปัจจุบันมีการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตรวจแยกออกมาได้แล้วกว่า 150 ชนิด ตามคุณสมบัติทางเคมีเบื้อต้นโดยที่สามารถแบ่งได้ตามกลุ่มโครงสร้างออกเป็นกลุ่มได้ 4 กลุ่ม โดยแบ่งเป็นกลุ่มโครงสร้างที่มีปริมาณสูงและพบได้บ่อย 2 กลุ่ม และกลุ่มที่พบได้น้อยและมีปริมาณไม่สูงอีก 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มโครงสร้าง 20(s)-Protopanaxadiol (PPD) เช่น Ra1, Ra2, Ra3, Rb1, Rh2, Rb2 และ Rb3 กลุ่มโครงสร้าง 20(s)- Protopanaxatriol (PPTเช่น Re, Rf, Rg1, Rg2 และ Rh1 ส่วนกลุ่มจินเซ็นโนไซด์อื่นๆ ที่มักพบได้ไม่บ่อย และมีปริมาณน้อยด้วย ได้แก่กลุ่มโครงสร้าง Pentacyclic Oleanane saponin เช่น Ro กลุ่มโครงสร้าง Ocotillol saponin เช่น F11 และ R15
 

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารจินเซ็นโนไซด์

สำหรับแหล่งที่มาของสารจินเซนโนไซด์ นั้น พบว่าสารจินเซนโนไซด์ เป็นสารเฉพาะที่สามารถพบได้ในโสม เท่านั้น โดยจะสามารถพบได้ทั้งใน โสมเอเชีย (Asian ginseng) หรือ โสมเกาหลี (Panax ginseng) และ โสมอเมริกา (P. quinquefolius) รวมถึงโสมจีน (P.notoginseng) โสมญี่ปุ่น (P. japonicus) โสมเนปาล หรือ โสมหิมาลายา (P. pseudoginseng) โสมไซบีเรีย (Eleutherococcus senticosus) และ โสมเวียดนาม (P. vietnamensis) เป็นต้น ซึ่งทั่วไปจะมีอยู่ร้อยละ 1-2 โดยน้ำหนัก ขึ้นกับชนิดของโสมและแหล่งที่ปลูก

จินเซ็นโนไซด์ 

จินเซ็นโนไซด์ 

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารจินเซ็นโนไซด์

ในปัจจุบันรูปแบบการบริโภคสารจินเซ็นโนไซด์ นั้นสามารถแยกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ การรับประทานโสมในรูปแบบการต้ม ตุ๋น หรือ บดเป็นผง เพื่อให้ร่างกายได้รับสารจินเซนโนไซด์ที่มีอยู่ในโสม และการรับประทานสารสกัดโสมที่ได้สกัดสารจินเซนโนไซด์ออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ โดยในการบริโภคทั้ง 2 ลักษณะนั้น มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงปริมาณการรับประทานที่เหมาะสมและปลอดภัย คือ หากรับประทานในรูปแบบโสม คือ 2.7-4.5 กรัมต่อวัน หรือ หากรับประทานในรูปแบบโสมสกัด (สารสกัดจากโสม) สามารถรับประทานได้ ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อวัน และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องเกินกว่า 12 สัปดาห์ หรือ ควรบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์

ประโยชน์และโทษของสารจินเซ็นโนไซด์

สำหรับประโยชน์ของสารจินเซนโนไซด์นั้น ในปัจจุบันมีรายงานการวิจัยของสารจินเซนโนไซด์พบว่ามีผลดีต่อการทำงานของสมอง และระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงผลต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด เสริมสร้างการทำงานของต่อมไร้ท่อ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบและภูมิแพ้ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเพิ่มการไหลเวียนของเลือด บำรุงร่างกาย เสริมการนอนหลับ ต่อต้านเซลล์มะเร็งตับ โดยช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง และช่วยกระตุ้นภูมิต้านทางให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย โดยสารจินเซ็นโนไซด์ ชนิดต่างๆ จะมีกลไกออกฤทธิ์ต่อร่างกายดังตารางต่อไปนี้

โครงสร้างจินเซ็นโนไซด์ 

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารจินเซ็นโนไซด์

โครงสร้างของสารจินเซนโนไซด์ ที่มีความหลากหลาย และแตกต่างกัน จึงทำให้มีการศึกษาวิจัยค้นคว้าทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และระดับคลินิกในด้านต่างๆ ดังนี้

           ผลต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลาง มีการศึกษาวิจัยพบว่าจินเซ็นโนไซด์ Rb1 ออกฤทธิ์โดยการส่งเสริมการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง และระบบประสาทส่วนกลางที่มีชื่อว่า อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาท Cholinergic ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ และจดจำ นอกจากนี้จินเซ็นโนไซด์ Rg1 ส่งผลต่อสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonin) ที่เกี่ยวข้องกับการลดภาวะความเครียดเรื้อรังในสมองลดลง จึงส่งผลให้สมองทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมีงานวิจัยพบว่าจินเซ็นโนไซด์ชนิด Rg1 ช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ผนังหลอดเลือด และยับยั้งการแข็งตัวของผนังหลอดเลือดส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น และจินเซ็นโนไซด์ ชนิด Rd และ Re ก็ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสารสื่อประสาท GABA ในสมองที่มีความเกี่ยวข้องต่อสมองให้คลายความวิตกกังวล เกิดสมาธิตลอดจนกระบวนการคิด และประมวลผลข้อมูลได้

           ฤทธิ์ลดอาการต่างๆ ของสตรีวัยทอง มีการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอายุระหว่าง 45-60 ปี โดยให้รับประทานแคปซูลโสม 500 มก. (ประกอบด้วยสารสกัด ginsenosides 10 มก.) ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง นาน 12 สัปดาห์ พบว่าสามารถบรรเทาอาการวูบวาบที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือน ลดคอเลสเตอรอล ลดภาวะความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดในหญิงวัยหมดประจำเดือนได้

           ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาพบว่าจินเซ็นโนไซด์ในโสมส่งผลต่อการปรับสมดุลของของเหลวรวมทั้งความดันโลหิต ซึ่งพบว่าจินเซ็นโนไซด์ชนิด Rg1 และ Rg3 มีส่วนช่วยในการคลายการบีบตัวของผนังหลอดเลือดส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง อีกทั้งยังช่วยลดการแข็งตัวของหลอดเลือดอันเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดเสื่อมขณะที่ Rb1 และ Re ก็ช่วยฟื้นฟูการทำงานของสมอง และหัวใจที่เกิดภาวะหลอดเลือดอุดตันได้อีกด้วย

โครงสร้างของจินเซนโนไซด์กลุ่ม protopanaxadiol

โครงสร้างของจินเซนโนไซด์กลุ่ม protopanaxadiol 

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

            มีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร ginsenosides มีผลลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด เมื่อให้สารสกัดจากโสมแก่หนูทดลองก่อนการป้อนแอลกอฮอล์ 10 นาที ดังนั้นจึงควรระมัดระวังการรับประทาน ginsenosides รวมกับยาที่มีผลต่อการดูดซึม และเมตาบอลิซึมของแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ

            นอกจากนี้ควรระมัดระวังการใช้ สาร ginsenosides ร่วมกับยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เนื่องจาก สาร ginsenosides ฤทธิ์ลดน้ำตาล ซึ่งเมื่อร่วมกันอาจเสริมฤทธิ์ยา จนเป็นผลให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป อีกทั้งควรระวังการใช้ร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง thromboxane A2 และยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่ายในผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ควรระมัดระวังในการใช้ ginsenosides กับผู้ป่วยที่ เป็นความดันโลหิตสูง หรือ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับแข็งตัวของเลือดด้วย

เอกสารอ้างอิง จินเซนโนไซด์
  1. นฤรัชน์  ขัยแจ้ง, มนัสวีร์ เหลืองสุขฤกษ์, จินเซ็นโนไซด์ เสริมแกร่งสร้างสุขภาพ. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีที่ 66. ฉบับที่ 208 กันยายน 2561. หน้า 17-19
  2. กนกพร อะทะวงษา,ปัทมา สมศิลป์, Herb –Drug interaction. อันตรกิริยาระหว่างยากับสมุนไพร.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 29. ฉบับที่ 2 มกราคม2555. หน้า 1-20
  3. วิเชษฐ์ ลีลามานิตย์ เอกสารประกอบคำบรรยายเรื่องผัก และผลไม้ป้องกันมะเร็ง ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2557 (Thailand Research Expo 2014)” วิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน
  4. สุรพจน์ วงศ์ใหญ่.ผลทางเภสัชวิทยาของสารจินเซนโนไซด์ในโสมอเมริกาต่อสุขภาพ. วารสารพยาบาลทหารบกปีที่ 13. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2555. หน้า 90-95
  5. พนิดา ใหญ่ธรรมสาร.การดูแลตนเองของสตรีวัยทอง.จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 32. ฉบับที่ 3 เมษายน 2558. หน้า 1-4
  6. Qi L.W., Wang C.Z., and Yuan C.S., Ginsenosides from American ginseng: Chemical and pharmacological diversity (2011), Phytochemistry. June; 72 (8): 689–699
  7. MOHANAN, P., S. SUBRAMANIYAM., R. MATHIYALAGAN., and D.C. YANG. Molecular signaling of ginsenosidesRb1Rg1and Rg3and their modeofactions. Journal of Ginseng Research.2018.42.123-132
  8. Tsang D,Yeung H,Tso W & Peck H. (1985), Ginseng saponins influence on neurotransmitter uptake in rat brain synaptosomes. The Chinese University of Hong Kong, Planta Medica. 3: 221-24.
  9. Abebe W. Herbal medication: potential for adverse interactions with analgesic drugs. J Clin Pharm Ther 2002;27:391-401.
  10. Zhang J, Qu Z, LiuY, & Deng H. (1990).Preliminary study on antiamnesic mechanism of ginsenosides Rg1 and Rb1. Chinese Academy of Medical Sciences, Beijing, Chinese Medical Journal.103(11):932-8.
  11. Christensen, L.P. (2009). Ginsenosides Chemistry, biosynthesis, analysis, and potential health effects. Advance Food and Nutrition Research, 55, 1-99
  12. Attele, A.S., Wu J.A., & Yuan C. S. (1999). Ginseng pharmacology multiple constituents and multiple actions. Biochemical Pharmacology, 58: 1685-1693
  13. Koo MW. Effects of ginseng on ethanol induced sedation in mice. Life Sci 1999;64:153-60
  14. Scott I.G., Colligan B.P., Ren B.H. & Ren J. (2001). Ginsenosides Rb1 and Re decrease cardiaccontractioninadult ratventricular myocytes: role of nitric oxide, British JournalPharmacology,134(6):1159-1165.
  15. SMITH, I.,E.M. WILLAMSON,S.PUTNAM., J.FARRIMOND., and B.J. WHALLEY.Effects and mechanismsof ginseng and ginsenosides on cognition. Nutrition Reviews. 2016. 72(5). 319–333.
  16. Leung, K.W., & Wong, A.S.T. (2010). Pharmacology of ginsenosides: a literature review. Chinese medicine Journal, 5, 20.
  17. KangS,Schini-KerthV & Kim N. (1995). Ginsenosides of the protopanaxatriol group cause endothelium-dependent relaxationinthe rat aorta. Life Science 56: 1577-86