อัลบูมิน

อัลบูมิน

ชื่อสามัญ Albumin

ประเภทและข้อแตกต่างอัลบูมิน

อัลบูมิน (Albumin) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในเลือด และยังเป็นโปรตีนที่มีปริมาณมากที่สุดในพลาสม่า คือ ประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณโปรตีน ทั้งหมดในพลาสม่า ซึ่งอัลบูมินจัดเป็น simple protein ที่มีขนาดอณูเล็กประมาณ 6,000 ดาลตัน แต่มีหมู่โพล่าร์และประจุลบสุทธิมาก จึงทำให้สามารถ ละลายน้ำได้ดี และมีจุดไฟฟ้าเสมอ (pI) ต่ำกว่าพลาสม่าโปรตีนอื่นๆ ในการทำอีเล็คโตรโฟรีสิสจึงสามารถ เคลื่อนที่ไปได้ไกลที่สุดรองลงมาจาก prealbumin โดยอัลบูมินนี้จะทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด และซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกายให้สมบูรณ์แก่ร่างกาย ส่วนประเภทของอัลบูมิน นั้นประกอบด้วย โอแวลบูมิน (ovalbumin) ที่จัดเป็นฟอสโฟไกลโคโปรตีน (phospoglycoprotein) มีจุดไอโซอิลเลกตริก (isoelectric point) ที่ pH 4.6 และตกตะกอนที่ pH 4.6-4.8 สามารถทนความร้อนได้ดี โคแนลบลูมิน (conalbumin) มีจุดไอโซอิลเลกตริกที่ pH 6.6 ทนความร้อนได้น้อยกว่า แต่สูญเสียสภาพธรรมชาติได้ดีกว่าโอแวลบูมิน โอโวมิวคอยด์ (ovomucoid) ไอโซอิลเลกตริกที่ pH 3.9-4.3 ในสภาวะที่เป็นกรดจะทนความร้อนได้ดี แต่จะสูญเสียสภาพอย่างรวดเร็วหากอยู่ในสารละลายด่างที่อุณหภูมิ 80 องศาเซียลเซียส ไลโซโซม (lysosome) มีจุดไอโซอิลเลกตริกที่ pH 10.7 มีสมบัติเป็นสารกันเสีย แต่ถูกทำลายได้ด้วยความร้อนจากการหุงต้ม หรือ พาสเจอไรซ์ที่อุณหภูมิ 63.5 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 10 นาที โอโวอินฮิบิเตอร์ (ovoinhibitor) ซิสตาติน (cystatin)

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาอัลบูมิน

ความจริงแล้วอัลบูมิน จะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากกรดอะมิโนในเซลล์ตับ และส่งออกมาสู่พลาสม่าตับ โดยอัลบูมินในพลาสม่านั้นจะมีอายุกึ่งชีพ ประมาณ 20 วัน ในบางครั้งร่างกายอาจจะสังเคราะห์อัลบูมินได้น้อยกว่าจำนวนที่ต้องการใช้หากร่างกายได้รับกรดอะมิโนน้อยเกินไป ซึ่งจะทำให้ระดับของอัลบูมินในเลือดลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้ภูมิต้านทานต่ำ และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนง่ายขึ้น 

           ดังนั้นร่างกายจึงจำเป็นได้รับอัลบูมิน ที่อยู่ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติเสริมอีกทางหนึ่ง โดยแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่มีการศึกษาวิจัยว่าเป็นแหล่งของอัลบูมินที่ดีที่สุด คือ ไข่ โดยเฉพาะในไข่ขาว ซึ่งนอกจากนี้โปรตีนอัลบูมินแล้ว ยังมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และจำเป็นต่อการสังเคราะห์อัลบูมินอีกด้วย ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยถึงแหล่งอาหารที่มีอัลบูมินเพิ่มเติมพบว่าในถั่วเหลือง และน้ำนมก็มีโปรตีนอัลบูมินอยู่เช่นกัน แต่จะมีในปริมาณที่น้อยกว่าไข่ขาว

อัลบูมิน

ปริมาณที่ควรได้รับอัลบูมิน

สำหรับในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนด ปริมาณที่ร่างกายควรได้รับอัลบูมินต่อวันว่ามีปริมาณเท่าใด แต่ทางการแพทย์มีการใช้อัลบูมินในรูปแบบของยาฉีดมารักษาผู้ป่วยที่มีภาวะโปรตีนในเลือดต่ำ ผู้ที่สูญเสียเลือดมาก ภาวะตับวาย การผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยมีขนาดการใช้ดังนี้
           ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด (Neonatal Hperbilirubinemia) ให้ในปริมาณ 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้ก่อนการเปลี่ยนถ่ายเลือด ความเร็วในการให้ ไม่เกิน 5 มิลลิลิตรต่อนาที (สำหรับสารละลายความเข้มข้น 5%) หรือ 1-2 มิลลิลิตรต่อนาที (สำหรับสารละลายความเข้มข้น 20%)
           ภาวะโปรตีนอัลบูมิน ในเลือดต่ำ (Hypoproteinaemia) ผู้ใหญ่ ไม่เกิน 2 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ความเร็วในการให้ ไม่เกิน 5 มิลลิลิตรต่อนาที (สำหรับสารละลายความเข้มข้น 5%) หรือ 1-2 มิลลิลิตรต่อนาที (สำหรับสารละลายความเข้มข้น 20%)
           ภาวะช็อกจากการสูญเสียน้ำ และเกลือแรอย่างเฉียบพลัน (Acute Hypovolaemic Shock) ผู้ใหญ่ เบื้องต้นให้สาร Albumin 25 กรัม แล้วค่อยๆ เพิ่มหรือลด ตามการตอบสนองของผู้ป่วย ความเร็วในการให้ไม่เกิน 5 มิลลิลิตรต่อนาที (สำหรับสารละลายความเข้มข้น 5%) หรือ 1-2 มิลลิลิตรต่อนาที (สำหรับสารละลายความเข้มข้น 20%) เด็กไม่เกิน 1 กรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วค่อยๆ เพิ่ม หรือ ลด ตามการตอบสนองของผู้ป่วย ความเร็วในการให้ ไม่เกิน 5 มิลลิลิตรต่อนาที (สำหรับสารละลายความเข้มข้น 5%) หรือ 1-2 มิลลิลิตรต่อนาที (สำหรับสารละลายความเข้มข้น 20%)
           นอกจากนี้ยังมีการตรวจหาค่าอัลบูมินในกระแสเลือดว่ามีระดับปกติหรือไม่ ซึ่งระดับของอัลบูมินจะบ่งชี้ถึงภาวะทางโภชนาการของร่างกายในระยะยาว โดยค่าเฉลี่ยนของระดับ albumin ในพลาสม่าผู้ใหญ่ปกติเท่ากับ 3.5-5.5 ก./ดล.ซึ่งหากค่าอัลบูมินในเลือดต่ำ หรือ สูงกว่าค่าปกตินี้แสดงว่าร่างกายมีภาวะทางโภชนาการที่ผิดปกติ และอาจมีภาวะการเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้

ประโยชน์และโทษอัลบูมิน

บทบาทหน้าที่หลักในร่างกายของอัลบูมิน มีอยู่หลายประการ ได้แก่ ช่วยรักษาแรงดันออสโมติคของเลือด โดยเฉพาะแรงดันออสโมติคในส่วนที่เกิดจากโปรตีนใน พลาสม่า ที่เรียกว่า oncotic pressure ซึ่ง oncotic pressure ในพลาสม่าถึงร้อยละ 80 ได้มาจากอัลบูมิน เนื่องจากอัลบูมิน เป็นโปรตีนที่มีปริมาณสูงที่สุดในพลาสม่าปกติ ทั้งยังมีประจุสุทธิมากจึงสามารถอุ้มน้ำไว้กับอณูได้มากอีกด้วย ดังนั้นในภาวะที่ร่างกายมีระดับอัลบูมิน ในพลาสม่าลดลง จึงทำให้ oncotic pressure ลดต่ำลง และอาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่สุทธิของน้ำออกนอก หลอดเลือด (น้ำถูกขับออกนอกหลอดเลือดมากขึ้น และถูกดูดกลับเข้าสู่หลอดเลือดน้อยลง) ผลที่เกิดขึ้นทำให้ ปริมาตรของเลือดลดลง และมีน้ำสะสมอยู่ใน interstitial compartment จนเกิดอาการบวมน้ำ (edema) ขึ้นได้ในที่สุด อนึ่งระดับพลาสม่าโปรตีนที่ต่ำที่สุดที่ยังไม่ทำให้เกิดอาการบวมน้ำเรียกว่า edema level ในคนปกติเท่ากับ 5.5 กรัมของพลาสม่าโปรตีน หรือ 2.5 กรัมของอัลบูมิน อีกทั้งอัลบูมินยังช่วยในการขนส่งสารต่างๆ ในกระแสโลหิต เช่น ฮอร์โมน cortisol, กรดไขมัน, แคลเซียม, บิลิรูบิน ตลอดจนยาบางชนิด โดยอัลบูมิน จะช่วยขนส่งสารต่างๆ เหล่านี้จากแหล่งสังเคราะห์ หรือ เนื้อเยื่อที่มีการ ดูดซึมไปยังเนื้อเยื่อเป้าหมาย เพื่อการออกฤทธิ์, เมตาบอลิซึม หรือการสลายสารนั้นๆ ต่อไป เช่น อัลบูมินมีบทบาทหน้าที่ในการขนส่งกรดไขมันสายยาว เช่น oleic acid, stearic acid, palmitic acid ซึ่งจัดเป็น hydrophobic molecule การจับกับ albumin จึงช่วยในการละลายของกรดไขมันดังกล่าวในพลาสม่า ซึ่งมีคุณสมบัติเป็น hydrophilic และ การขนส่งสารของ albumin ยังอาจมีบทบาทในการลดหรือทำลายพิษของสารบางชนิด ตัวอย่างเช่น การขนส่ง unconjugated bilirubin ซึ่งละลายน้ำได้น้อยมากไปยังตับ ซึ่งการจับกับอัลบูมินจะช่วยป้องกันไม่ให้ unconjugated bilirubin ผ่าน blood brain barrier เข้าสู่เซลล์สมองได้
           อีกทั้งอัลบูมินยังมีความสามารถในการจับกับยาหลายชนิด เช่น salicylates, penicillin ดังนั้นอัลบูมิน จึงมีบทบาทสำคัญในการละลายของยาในพลาสม่า ตลอดจนการออกฤทธิ์ของยาต่างๆ ในร่างกาย นอกจากนี้อัลบูมินยังทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ โดยอัลบูมินสามารถจับกับ H+ ที่เกิดขึ้นในร่างกาย จึงมีบทบาทช่วยลดความเป็นกรดในเลือดได้
           ส่วนความผิดปกติของระดับ อัลบูมินในเลือด อาจพบได้ในภาวะทางคลินิกหลายภาวะ เช่น Analbuminemia ซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่พบได้น้อยมาก โดยจะมีการถ่ายทอดแบบ autosomal recessive ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความบกพร่องในการสังเคราะห์ อัลบูมินจนไม่สามารถตรวจพบอัลบูมินในเลือดได้ หรือ ตรวจพบได้ในระดับที่ต่ำมาก อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าภาวะดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตแต่อย่างใด
           Microalbuminuria คือ ภาวะที่มีการขับอัลบูมิน ทางปัสสาวะในปริมาณระหว่าง 30-300 มิลลิกรัม ภายในเวลา 24ชม. หรือ ปริมาณ 30–30 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัม ของครีอาตินีน และจะต้องพบ 2 ใน 3 ครั้ง ของปัสสาวะที่เก็บต่างเวลากัน ภาวะนี้สามารถบ่งชี้ถึงการเสื่อมหน้าที่ของไตที่ในระยะเริ่มแรกได้ อนึ่งการตรวจไมโครอัลบูมินในปัสสาวะนี้ เป็นการวัดระดับของอัลบูมินในปริมาณที่น้อยกว่าการตรวจหาโปรตีนหรืออัลบูมินปัสสาวะด้วยวิธีทั่วไป (ที่มีปริมาณมากกว่า 300 มิลลิกรัม ในปัสสาวะ 24ชม. หรือ มากกว่า 30 ไมโครกรัมต่อมิลลิกรัมครีอาตินีน) อย่างไรก็ดีภาวะไมโครอัลบูมินนูเรียที่ไม่เกี่ยวกับภาวะไตเสื่อมหน้าที่ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ได้ เช่น ภาวะไข้สูง ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปน การติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ  กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขณะมีประจำเดือน มีตกขาว การตั้งครรภ์ ภาวะหัวใจวาย การออกกำลังกายอย่างหนัก และมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
           Hypoalbuminemia คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับ อัลบูมินในเลือดต่ำกว่าปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายประการ อาทิ การสังเคราะห์โดยตับที่น้อยลง เช่น ภาวะทุโภชนาการ, ภาวะความผิดปกติในการทำงานของตับ เป็นต้น การสูญเสีย albumin ออกนอกร่างกาย เช่น การสูญเสียทางปัสสาวะที่พบในโรคไตบางชนิด, การสูญเสียที่ทางเดินอาหารที่พบได้ในภาวะความผิดปกติของเยื่อบุผนังลำไส้บางชนิด, การสูญเสียทางผิวหนัง พบได้ในผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก เป็นต้น การสลาย albumin ที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ภาวะต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ ส่วนการเพิ่มขึ้นของระดับ albumin ในเลือดอาจพบได้ในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งส่งผลให้ความเข้มข้นของ albumin ในเลือดสูงขึ้น แต่ปริมาณสุทธิไม่เปลี่ยนแปลง

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องอัลบูมิน

ในปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัย พบว่าการให้ยาในกลุ่ม Angiotensin Converting Enzyme Inhibitor (ACE Inhibitor) เช่น ยา Enalapril  ซึ่งเป็นกลุ่มยาลดความดันโลหิตสูง จะมีผลช่วยลด ปริมาณอัลบูมิน ในปัสสาวะในรายที่มีการตรวจพบภาวะไมโครอัลบูมินนูเรียได้ และสามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ยืนยันได้ว่าภาวะไมโครอัลบูมินนูเรีย นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตอย่างเฉียบพลันของประชากรทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงอีกด้วย

โครงสร้างอัลบูมิน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

⦁ ในการใช้อัลบูมิน ทั้งในรูปแบบยาฉีดเพื่อรักษาโรค และรูปแบบยารับประทาน เพื่อป้องกัน และรักษาโรคต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์จึงจะใช้ได้ และต้องเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ให้สารชนิดนี้แก่ผู้ป่วย ดังนั้นจึงไม่ควรซื้อมาใช้เองเพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
⦁ สำหรับสตรีมีครรภ์ อัลบูมิน เป็นสารที่ห้ามใช้โดยเด็ดขาด เพราะสารชนิดนี้มีอันตรายต่อเด็กทารกในครรภ์ แต่หากจำเป็นต้องใช้ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สั่งใช้เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง อัลบูมิน

⦁ นีโลบล เนื่องตัน. เคมีของเลือด. ใน: นีโลบล เนื่องตัน, บรรณาธิการ, ชีวเคมี. ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ฉบับพิมพ์ครั้งที่  5. กรุงเทพฯ: บริษัทธรรมสาร จำกัด, 2542: 575-649.
⦁ ศ.พญ.เนื่องตัน,พญ.นันตรา สุวันทารัตน์ .การวัดระดับไมโครอัลบูมิน ในปัสสาวะ (Microalbuminuria) .ภาควิชาเคมีคณะแพทย์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล.
อัลบูมิน.พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.pobpad.com
⦁ Lindsay BJ. Amino acids and Proteins. In: Bishop ML, Fody EP, Schoeff L, eds. Clinical chemistry principles, procedures, correlations. 5th ed. Baltimore: Lippincott Williams & Wilkins, 2005: 179-218.
⦁ Kashima, A.; Mochizuki, S.; Noda, M.; Kobayashi, K. (1 June 1999). “Crystal structure of human serum albumin at 2.5 A resolution”. Protein Engineering Design and Selection.