อะดิโพเนคทิน

อะดิโพเนคทิน

ชื่อสามัญ  Adiponectin

ประเภทและข้อแตกต่างสารอะดิโพเนคทิน

สารอะดิโพเนคทินเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากเนื้อเยื่อไขมันที่มีความสำคัญกับร่างกายชนิดหนึ่ง โดยเป็นฮอร์โมนประเภทโปรตีนมีขนาด 30 กิโลดาลต้น (kDa) ประกอบด้วยกรดอะมิโน 244 ตัว มีชื่อเรียกอื่นคือ AdipoQ, adipocyte complement-related protein หรือ Acrp30, apM1 หรือ GBP-28 ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้ถูกค้นพบในปี ค.ศ.1995 โดยปกติแล้วอะดิโพเนคทินในพลาสมาจะอยู่ในรูปของสารเชิงซ้อนมัลทิเมอร์ (multimer complex) ในคนปกติจะสามารถพบอะดิโพเนคทิน ในพลาสมาปริมาณค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับฮอร์โมนชนิดอื่นๆ โดยพบประมาณ 5-10 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร (µg/ml) ส่วนโครงสร้างของสายโปรตีน อะดิโพเนคทินประกอบด้วย 3 โดเมน ได้แก่ N-terminal variable domain, collagenous domain และ C-terminal globular domain อะดิโพเนคทินมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับ collagens VIII, collagens X และ complementary factor C1q

            สำหรับประเภทของอะดิโพเนคทินนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ Full-lengthadiponectin ซึ่งพบเป็นปริมาณมากในเลือด ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ตามน้ำ หนักโมเลกุล ได้แก่

  • low molecular weight (LMW) trimer ที่เกิดจากการรวมตัวของ 3 monomers  
  • medium molecular weight (MMW) hexamer ที่เกิดจากการรวมตัวของ 2 trimers โดยอาศัยพันธะไดซัลไฟด์เชื่อมบริเวณ N-terminal cysteine residues
  • high molecular weight (HMW) multimer ที่เกิดจากการรวมตัวของ 2 hexamers ซึ่งอาศัยพันธะไดซัลไฟด์เช่นกัน

           ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ globular adiponectin ซึ่งพบปริมาณน้อยในเลือดเกิดจากการตัด N-terminal variable domain และ collagenous domain ออกจาก full-length adiponectin (proteolytic cleavage) โดยเอนไซม์ leukocyte elastase ทำ ให้โครงสร้างของ globular adiponectin มีเฉพาะ globular domain เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยรายงานว่า adiponectin แต่ละรูปแบบนั้นมีฤทธิ์แตกต่างกัน และ HMW multimer เป็นรูปแบบที่มีฤทธิ์ต่อความไวของอินซูลิน และมีฤทธิ์ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้มากกว่ารูปแบบอื่น

           นอกจากนี้ลักษณะของอะดิโพเนคทิน ในร่างกายมนุษย์ยังมีความแตกต่างกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย (sexual dimorphism)โดยระดับของอดิโพเนคทินในเลือดของเพศหญิงสูงกว่าเพศชายประมาณ 40% เนื่องจากผลของฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนในเพศชาย และมีสัดส่วนของอดิโพเนคทินชนิด HMW มากกว่าอีกด้วย

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารอะดิโพเนคทิน

ฮอร์โมนอะดิโพเนคทิน เป็นฮอร์โมนที่สร้างได้โดยร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะสร้างจากเนื้อเยื่อไขมัน ซึ่งเป็นแหล่งหลักในการสร้าง แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการสร้างอะดิโพเนคทิน จากเซลล์อื่นๆ ได้เช่น ไขกระดูก (bone marrow), เนื้อเยื่อทารกในครรภ์ (fetal tissue), เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyocyte), เซลล์บุโพรงหลอดเลือดในตับ (hepatic endothelial cells) แต่อย่างไรก็ตามแหล่งสำคัญที่ผลิตอะดิโพเนคทินในผู้ใหญ่ คือ เนื้อเยื่อไขมัน

            นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า แหล่งอาหารก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการสร้างฮอร์โมนอะดิโพเนคทิน กล่าวคือ หากร่างกายมีการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของธาตุสังกะสี และแมกนีเซียม ก็จะช่วยทำให้ร่างกายเพิ่มการสร้างฮอร์โมนอะดิโพเนคทินได้ ซึ่งแหล่งของอาหารนั้นรวมถึงอาหารประเภทต่างๆ ดังนี้ ผักใบเขียว ถั่วเปลือกแข็ง ธัญพืช โกโก้ น้ำมันมะกอก กล้วยน้ำวา อะโวคาโด้ และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น อีกทั้งยังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยพบว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารประเภทกากใยสูง และการควบคุมน้ำหนัก ยังสามารถช่วยเพิ่มการสร้างฮอร์โมนอะดิโพเนคทินได้อีกด้วย

อะดิโพเนคทิ

ปริมาณที่ควรได้รับสารอะดิโพเนคทิน

สำหรับปริมาณของอะดิโพเนคทินที่ควรได้รับต่อวันนั้น ไม่สามารถกำหนดเกณฑ์ที่จะได้รับจากอาหารได้ เพราะอาหารที่รับประทานเข้าไปจะไม่มี และไม่อยู่ในรูปของฮอร์โมนอะดิโพเนคทิน โดยตรงแต่อยู่ในรูปของธาตุอาหารอื่นที่จะเข้าไปช่วยเสริมในการสร้างฮอร์โมนอะดิโพเนคทิน แต่มีรายงานการศึกษาวิจัยว่าปริมาณของฮอร์โมนอะดิโพเนคทิน ในคนที่มีภาวะปกติจะความเข้มข้นของ อะดิโพเนคทินในเลือดอยู่ในช่วง 5-30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และระดับของ ApN ในเลือดจะมีการเปลี่ยนแปลงตามจังหวะรอบวัน (circadian rhythm) โดยระดับ ของฮอร์โมนอะดิโพเนคทินจะสูงสุดในช่วงเช้า และต่ำสุดในช่วงกลางคืน ซึ่งปริมาณอะดิโนเนคทินทั้งหมดในเลือดคิดเป็น 0.01% ของปริมาณโปรตีนทั้งหมดในเลือด

ประโยชน์และโทษสารอะดิโพเนคทิน

ฮอร์โมนอะดิโพเนคทินมีบทบาทเกี่ยวข้องกับกระบวนการเมแทบอลิซึมของสารอาหารโดยเฉพาะเมแทบอลิซึมของน้ำตาล และกระบวนการแคแทบอลิซึมของกรดไขมัน โดยลดการนำกรดไขมันอิสระเข้าสู่เซลล์ และยังช่วยเพิ่มกระบวนการออกซิเดชันของกรดไขมันในตับ และกล้ามเนื้อ ที่สำคัญอะดิโพเนคทิน มีความสำคัญในการเพิ่มความไวต่ออินซูลิน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน และฮอร์โมนอะดิโพเนคทินยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกบการอักเสบ โดยอะดิโพเนคตินมีส่วนยับยั้งการแสดงออกของโมเลกุลที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ  เช่น vascular cell adhesion molecule-1 (VCAM-1), intercellular adhesion molecule-1 (ICAM-1) และ selectin ซึ่งถูกกระตุ้นโดย TNF-α อีกทั้งยังมีบทบาทในการเพิ่มการสร้างไนตริกออกไซด์ทำให้หลอดเลือดขยายตัวลดการเกิดการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด (platelet aggregation), มีส่วนในการยับยั้งการทำงานของแมโครฟาจ (macrophage) และลดการสะสมของโฟมเซลล์ (foam cells), ลดระดับของ plasminogen activator inhibitor-1 (PAI-1) ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะลิ่มเลือด (thrombi) และการแตกของ atherogenic plaques ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดต่างๆ, โรคความดันโลหิตสูง รวมถึงความผิดปกติของหัวใจได้อีกด้วย

ผลของอะดิโพเนคทินที่เป็นประโยชน์ในลักษณะต่างๆ

อะดิโพเนคทิน 

           คำย่อ: AMP = adenosine  monophosphate;  HDL-C = high-density lipoprotein  cholesterol;  Apo B = apolipoprotein B; Lp (a) = lipoprotein a; CRP = C reactive protein; IL-6 = interleukin-6; TNF-α= tumor necrosis factor α; PAI-1 = plasminogen activator inhibitor-1, ICAM = intercellular adhesion molecule; VCAM = vascular cell adhesion molecule; EC = endothelial cells; VSMC = vascular smooth muscle cells; PA = plasminogen activator

           ส่วนการลดลงของระดับฮอร์โมนอะดิโพเนคทินในร่างกายนั้น มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่า อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบเมแทบอลิลิก และระบบหลอดเลือดหัวใจ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) โรคหลอดเลือดหัวใจ (coronary heart disease) ภาวะตับอักเสบไขมันมาก (steatohepatitis) ภาวะดื้ออินซูลิน  ภาวะตับคั่งไขมันที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver) นอกจากนี้การลดลงของอดิโพเนคทินยังทำให้มีการเพิ่มขึ้นของสารต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดภาวะท่อเลือดแดง และหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารอะดิโพเนคทิน

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนอะดิโพเนคทิน พบว่าออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับที่ผิวเซลล์ โดยตัวรับของอดิโพเนคทินมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ตัวรับอดิโพเนคทิน 1 (adiponectin  receptor 1, AdipoR1) ตัวรับอดิโพเนคทิน 2 (adiponectin receptor 2, AdipoR 2) ซึ่งตัวรับสองชนิดนี้เป็นตัวรับหลักที่เกี่ยวข้องกับเมแทบอลิซึมของกลูโคส และไขมัน ตัวรับ AdipoR1พบที่กล้ามเนื้อโครงร่าง และตัวรับชนิด AdipoR2 พบได้ที่ตับ โดยหลังจากที่ adiponectin เข้าจับกับตัวรับ AdipoR1 และ AdipoR2 แล้วจะเกิดกระบวนการถ่ายโอนสัญญาณ (signal transduction) ต่างๆ ตามมา ได้แก่ การกระตุ้น p38-mitogen activated protein kinase (p38-MAPK), adenosine monophosphate protein kinase (AMP kinase) และ peroxisome proliferator-activated receptor-α (PPAR-α) และจากการกระตุ้นดังกล่าวทำให้เกิดผลลัพธ์ คือ เพิ่มการเคลื่อนย้ายตัวขนส่งกลูโคส (glucose transporter-4 translocation ; GLUT-4 translocation) ไปที่เยื่อหุ้มเซลล์ของกล้ามเนื้อลายนำไปสู่การเพิ่มการเก็บกลับกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อลาย และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ phosphoenolpyruvate carboxykinase (PEPCK) และ glucose-6-phosphatase (G6Pase) ทำให้ลดการสร้างกลูโคสใหม่ (gluconeogenesis) ที่ตับ และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetyl coenzyme-A carboxylase (ACC) ทำ ให้เพิ่มการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของกรดไขมัน (fatty acid oxidation) ที่เซลล์ตับ และกล้ามเนื้อลาย

           ส่วนตัวรับอีกชนิดหนึ่งเป็นตัวรับในกลุ่ม T-cadherin (T-Cad) เป็นตัวรับสำหรับอะดิโพเนคทิน ในรูปเฮกซะเมอร์ และรูปที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง โดย T-cadherin พบได้ทั่วไปในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบ เนื้อเยื่อบุโพรงหลอดเลือด และระบบประสาท แต่ไม่พบที่เซลล์ตับโครงสร้างของ T-cadherin จะไม่มี transmembrane และ cytoplasmic domains ดังนั้นการจับของ adiponectin ที่ T-cadherin จึงไม่เกิดกระบวนการถ่ายโอนสัญญาณ ทำให้สันนิษฐานว่า T-cadherin อาจมีบทบาทเป็นตัวรับร่วม (co-receptor) หรือ เป็นโปรตีนที่จับกับ ApN (adiponectin -binding protein) และยังมีอีกการวิจัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ และสัตว์ทดลองพบว่า ฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนมีผลยับยั้งการหลั่ง adiponectin ที่เกิดจากการกระตุ้นการหลั่งโดยระดับ adiponectin ที่ต่ำลง

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ฮอร์โมนอะดิโพเนคทินอีกหลายฉบับ ได้แก่ อะดิโพเนคทินกับการควบคุมสมดุลกลูโคส และความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน adiponectin มีผลเพิ่มการเก็บกลับกลูโคสเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อลาย ลดการสร้างกลูโคสที่เซลล์ตับ ลดการเก็บกรดไขมันเข้าสู่เซลล์ตับ เพิ่มการเกิดปฏิกิริยาบีตาออกซิเดชันของกรดไขมันที่เซลล์ตับและกล้ามเนื้อลาย เพิ่มการสลายไขมันในเซลล์กล้ามเนื้อลาย ทั้งหมดที่กล่าวมานำ ไปสู่การลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และเพิ่มความไวของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน

         อะดิโพเนคทินต่อการต้านภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง adiponectin มีผลกระตุ้นการสร้าง และการทำงานของเอนไซม์ nitric oxide synthase ที่เยื่อบุโพรงหลอดเลือด ทำให้เพิ่มการสร้างไนตริกออกไซด์ ApN ยับยั้ง cell adhesion molecule ลดการเคลื่อนที่ และการรวมตัวของโมโนไซต์ที่ผนังหลอดเลือดยับยั้งการแสดงออก (expression) และการทำงานของตัวรับ scavenger receptor class A1 (SR-A1) บนแมโครฟาจ ทำให้ลดการนำ oxidized LDL เข้าสู่แมโครฟาจ ยับยั้งการเกิด foam cell และยับยั้งการกระตุ้นโดย growth factor ที่เซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด ทำให้ลดการเจริญของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด

           อะดิโพเนคทินต่อการต้านการอักเสบเมื่อ adiponectin เข้าจับกับตัวรับ AdipoR1 และ AdipoR2 ที่โมโนไซต์ แมโครฟาจ และเยื่อบุโพรงหลอดเลือด ทำให้ยับยั้งการสร้าง proinflammatory cytokines และ chemokines จากทั้งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันและเยื่อบุโพรงหลอดเลือด ซึ่งเซลล์ดังกล่าวจะถูกกระตุ้นให้สร้าง proinflammatory cytokines และ chemokines เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้น นอกจากนี้ ApN มีผลลดระดับ TNF-α, interleukin-6 (IL-6) และ CRP และควบคุมการทำงานของ inflammatory cell และใน พ.ศ.2550 มีการศึกษาระดับของอะดิโพเนคทินในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนช่วงอายุ 49–65 ปี ชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่อ้วน (obese) และไม่อ้วน (non-obese) โดยใช้ค่าดัชนีมวลกายเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาโดยกำหนดให้ ค่าดัชนีมวลกาย ≥30 kg/m2 จัดเป็นกลุ่มอ้วน และใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือดสูง (ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มอ้วนเท่ากับ 125.30 ±58.43 mg/dl และกลุ่มไม่อ้วนเท่ากับ  131.78 ±93.10 mg/dl) โดยใช้วิธี commercially available RIA kit และจากการศึกษาพบว่ากลุ่มอ้วนระดับของอะดิโพเนคทินลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มไม่อ้วน (8.45 vs 10.47 µg/mL, P = 0.01) นอกจากนี้ระดับอะดิโพเนคตินในผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกัน ยังถูกพยากรณ์โดยระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และยังช่วยในการพยากรณ์โรคหลอดเลือดสมองในหญิงอ้วนได้อีกด้วย

           ส่วนในประเทศไทยมีการศึกษาความสัมพันธ์ของ adiponectin gene -11377C>G polymorphism ร่วมกับระดับของ อะดิโพเนคติน และภาวะเมแทบอลิกซินโดรม โดยใช้กลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะเมแทบอลิกซินโดรมซึ่งมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดปกติ (ค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในเลือด [Median (95 % CI)] เท่ากับ  95.0 (91.0-97.3) mg/dl) โดยใช้วิธี radioimmunoassay kit from Linco Research และจากการศึกษาพบว่า กลุ่มที่มีภาวะเมแทบอลิกซิโดรมระดับของอะดิโพเนคทินลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (7.9 vs 14.5 µg/mL, P < 0.001) และอะดิโพเนคตินมีความสัมพันธ์กบระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตินอกจากนี้ยังพบว่าการลดลงของอะดิโพเนคตินมีความเกี่ยวข้องกับ  gene -11377C>G Polymorphism ซึ่งยีนนี้จะพบได้มากในกลุ่มที่มีภาวะเมแทบอลิกซินโดรมอยางมีนัยสำคัญทางสถิติ

โครงสร้างอะดิโพเนคทิน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

สำหรับฮอร์โมนอะดิโพเนคทินเป็นฮอร์ดมนที่สร้างได้ในร่างกาย และไม่พบในแหล่งอาหารตามธรรมชาติ แต่สามารถรับประทานอาหารต่างๆ ที่เป็นแหล่งของแมกนีเซียม และสังกะสี เพื่อเพิ่มการสร้างฮอร์ดมนอะดิโพเนคทินได้ และในปัจจุบันส่วนมากมักจะพบผู้ที่มีภาวะฮอร์ดมนอะดิโพเนคทิน ในเลือดดำในผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง เบาหวาน ดังนั้นหากมีการดูแลตนเองให้ดี โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ และรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของแมกนีเซียม และสังกะสี รวมถึงอาหารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนอะดิโพเนคทินตามที่กล่าวมาแล้วในบทความที่แล้วมา เท่านี้ร่างกายก็จะมีการสร้างฮอร์โมนอะดิโพเนคทินเพื่อนำไปใช้อย่างเพียงพอแล้ว

เอกสารอ้างอิง อะดิโพเนคทิน
  1. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์. Metabolic syndrome (โรคอ้วนลงพุง). สารราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ๒๕๔๙;๒๓:๕-๑๗.
  2. ต่อศักดิ์ อินทรไพโรจน์, ปัทมวรรณ เผือกผอง. ฮอร์โมนจากเนื้อเยื่อไขมัน: เลปทิน อะดิโพเนคทิน และ รีซิสทิน. ไทยไภษัชยนิพนธ์. 2554;6:1-18
  3. วิมล พันธุเวทย์.บทบาทของอะดิโพเน็กทินต่อกลุ่มอาการเมแทบอลิก.ธรรมศาสตร์เวชสารปีที่ 13.ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน2 556 หน้า 393-406
  4. Vaiopoulos AG, Marinou K, Christodoulides C, Koutsilieris M. The role of adiponectin in human vascular physiology. Int J Cardiol 2012;155:188-93.
  5. Matsuzawa  Y,  Funahashi  T,  Kihara  S,  et  al.  Adiponectin  and  metabolic syndrome. Arterioscler Thromb Vasc Biol 2004; 24: 29-33.
  6. Haluzik M, Parizkova J, Haluzik MM. Adiponectin and its role in the obesity-induced insulin resistance and related complications. Physiol Res 2004;53: 123-9
  7. Wasim H, Al-Daghri NM, Chetty R, et al. Relationship of serum adiponectin and resistin to glucose intoleranceand fat topography in South-Asians. Cardiovasc Diabetol 2006; 5: 10.
  8. Ricci R, Bevilacqua F. The potential role of leptin and adiponectin in obesity: a comparative review. Veterinary J 2012;191:292-8.
  9. Trujillo  ME  &  Scherer  PE.  Adiponectin--journey  from  an  adipocyte  secretory protein to biomarker of the metabolic syndrome. J Intern Med 2005; 257: 167-175
  10. Wang ZV, Scherer PE. Adiponectin, cardiovascular function, and hypertension. Hypertension 2008;51: 8-14
  11. Rolland YM, Haren MT, Patrick P, Banks WA, Malmstrom TK, Miller DK, et al. Adiponectin levels in obese and non-obese middle-aged African-American women. Obes Res Clin Pract. 2007;1(1):27-37
  12. Phillips SA, Kung JT. Mechanisms of adiponectin regulation and use as a pharmacological target. Curr Opin Pharmacol 2010;10:676-83.
  13. Fujimatsu  D,  Kotooka  N,  Inoue  T, et  al. Association  between  high molecular weight  adiponectin  levels  and  metabolic  parameters.  J  Atheroscler  Thromb 2009; 16: 553-559
  14. Di Chiara T, Argano C, Corrao S, Scaglione R, Licata G. Hypoadiponectinemia: A link between visceral obesity and metabolic syndrome. J Nutr Metab. 2012;2012:175245.
  15. Ziemke  F  &  Mantzoros  CS.  Adiponectin  in  insulin  resistance:  lessons  from translational research. Am J Clin Nutr 2010; 91: 258S-261S
  16. Okamoto Y, Kihara S, Funahashi T, Matsuzawa Y, Libby P. Adiponectin: a key adipokine in metabolic syndrome. Clin Sci 2006;110:267-78.
  17. Falcão-Pires I, Castro-Chaves P, Miranda-Silva D, Lourenço AP, Leite-Moreira AF. Physiological, pathological and potential therapeutic roles of adipokines. Drug Discov Today 2012;17:880-9.
  18. Yamauchi T, Kamon J, Minokoshi Y, Ito Y, Waki H, Uchida S, et al. Adiponectin stimulates glucose utilization and fatty-acid oxidation by activating AMPactivated protein kinase. Nat Med 2002;8:1288-95.
  19. Hara  K,  Yamauchi  T  &  Kadowaki  T.  Adiponectin:  an  adipokine  linking adipocytes and type 2 diabetes in humans. Curr Diab Rep 2005; 5: 136-140
  20. Kadowaki T, Yamauchi T. Adiponectin and adiponectin receptors. Endocr Rev 2005;20:439-51.
  21. Parul SS, Mazumder M, DebnathBC, et al. Serum adiponectin in patients with coronary heart disease. Mymensingh Med J 2011; 20: 78-82
  22. Nishizawa H, Shimomura I, Kishida K, Maeda N, Kuriyama H, Nagaretani H, et al. Androgens decrease plasma adiponectin, an insulin-sensitizing adipocytederived protein. Diabetes 2002;51:2734-41.
  23. Kizer JR, Barzilay JI, Kuller LH, et al. Adiponectin and risk of coronary heart disease  in  older  men  and  women.  J  Clin  Endocrinol  Metab  2008;  93:  3357-3364
  24. Ouchi N, Kihara S, Arita Y, Okamoto Y, Maeda K, Kuriyama H, et al. Adiponectin, an adipocyte-derived plasma protein, inhibits endothelial NF-κB signaling through a cAMP-dependent pathway. Circulation 2000;102:1296-301.
  25. Fang  X  &  Sweeney  G.  Mechanisms  regulating  energy  metabolism  by adiponectin in obesity and diabetes. Biochem Soc Trans 2006; 34: 798-801.
  26. Hopkins TA, Ouchi N, Shibata R, Walsh K. Adiponectin actions in the cardiovascular system. Cardiovasc Res 2007;74:11-8