มะม่วง
มะม่วง
ชื่อสมุนไพร มะม่วง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น , หมากม่วง (ภาคอีสาน) , ลูกม่วง (ภาคใต้) , บะม่วง (ภาคเหนือ) , หมักโม่ง (เงี้ยว-ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica L.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mangifera austroyunnanensis Hu
ชื่อสามัญ Mango
วงศ์ ANACARDIACEAE
ถิ่นกำเนิดมะม่วง
มะม่วงจัดเป็นผลไม้เมืองร้อนตระกลูเดียวกับมะปราง มีถิ่นกำเนิดแถบภาคตะวันออกของอินเดีย ต่อมาได้กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง รวมถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ปัจจุบันสามารถพบมะม่วงได้ในเขตร้อนต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮาวาย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาตะวันออกและใต้ อียิปต์ อิสราเอล และตอนใต้ของอเมริกาและมีสายพันธุ์กว่า 50 สายพันธุ์ สำหรับในประเทศไทยมะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยได้ส่งออกมะม่วงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากฟิลิปปินส์ และเม็กซิโกและสามารถเพาะปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนมากจะมีการปลูกมากในภาคเหนือและภาคกลาง
ประโยชน์และสรรพคุณมะม่วง
- ใช้บำรุงธาตุ
- ใช้บำรุงกระเพาะอาหาร
- ช่วยทำให้กระปรี้กระเปร่า
- แก้ร้อนในกระหาย้ำ
- แก้บิดมูกเลือด
- ใช้เป็นยาระบายช่วยในการขับถ่าย
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้วิงเวียนศีรษะ
- ช่วยแก้เบาหวาน
- แก้ลำไส้อักเสบ
- แก้ท้องอืด
- แก้ตานขโมยในเด็ก
- ใช้ล้างบาดแผล สมานแผล
- แก้ไข้ตัวร้อน
- แก้จมูกอักเสบ
- แก้คอตีบ
- ใช้ขับพยาธิ
- แก้ปวดเมื่อยปวดประจำเดือน
ลักษณะทั่วไปมะม่วง
มะม่วงจัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่นอยู่ในทุกส่วน สูงประมาณ 10-15 ม. ซึ่งขนาดของลำต้นจะขึ้นอยู่กับพันธุ์และอาจะ แต่โดยทั่วไปแล้วลำต้นจะมีลักษณะตรง ผิวลำต้นสีเทาหรือเกือบดำ เปลือกอ่อนมีสีเขียว เปลือกแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระแข็งมีเกล็ดมากและมีกิ่งก้านสาขาขนาดใหญ่ แข็งแรง ลักษณะทรงพุ่มเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปไข่ ส่วนเนื้อไม้เมื่ออายุน้อยจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลือกเป็นสีน้ำตาลแกมแดง
สำหรับระบบรากเป็นแบบรากแก้ว โดยความยาวของรากมีตั้งแต่ 6-8 เมตร (หรือมากกว่า) และมีรากดูดอาหารนั้นอยู่หนาแน่ในบริเวณผิวดิน ลึกประมาณ 30-60 เซนติเมตร และแผ่กว้างออกประมาณ 750 เซนติเมตร แต่ถ้าหากขาดการพรวนดินพูนโคนเป็นเวลานานก็จะทำให้รากมะม่วงเจริญโผล่ขึ้นมาบนดิน ใบเป็นแบบใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับบริเวณปลายกิ่งมีใบเกิดถี่ ใบเป็นรูปหอกยาวแกมของขนาน เรียวยาว โดยยาวประมาณ 8-40 ซม. กว้าง 2-10 ซม.(แล้วแต่สายพันธุ์) ฐานใบค่อยๆ กว้างออกคล้ายรูปลิ่มแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ไม่มีขน ไม่มีหูใบ ใบอ่อนสีออกแดง แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นมัน ก้านใบยาว 1-10 เซนติเมตร ดอกออเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ซึ่งจะออกตามปลายกิ่งหรือตาดอกที่อยู่ปลายกิ่งโดยในช่อดอกหนึ่งๆ จะมีช่อย่อยหลายช่อ และบริเวณก้านช่อดอกจะมีสีเขียวออกแดงและมีขน ในแต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอก 2 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ และดอกสมบูรณ์เพศอยู่ร่วมช่อดอกเดียวกัน ส่วนกลีบดอกโดยทั่วไปมี 5 กลีบแยกกัน และมีร่องสีเหลืองเข้มบริเวณโคนกลีบดอก ในระหว่างวงกลีบดอก และวงเกสรเพสผู้จะมีแผ่นจานกลมคั่นอยู่ ส่วนสีของดอกนั้นดอกมีหลายสีแตกต่างกัน ได้แก่ แดง ชมพู หรือขาว แล้วแต่สายพันธุ์ และสำหรับ (ดอกสมบูรณ์เพศ คือ ดอกที่มีทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน และสามารถเจริญกลายเป็นผลได้เมื่อได้รับการผสมเกสร) กลีบเลี้ยงจะมี 4-5 กลีบ แยกกัน ลักษณะโค้งนูนมีสีเขียวอมเหลือง และมีขนแข็งขนาดยาวปกคลุม ผลเป็นแบบผลสดโดยจะออกเป็นผลเดี่ยว โดยขนาดของรูปร่าง รูปทรงสีปริมาณเสี้ยน รสชาติ และกลิ่น จะมีความต่างในแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งขนาดความยาวของผลจะมีตั้งแต่ 5-20 เซนติเมตร ความกว้าง 4-8 เซนติเมตร ส่วนรูปร่างของผลมีตั้งแต่กลมไปจนถึงรูปไข่ค่อนข้างยาว สีเปลือกด้านนอกของผลประกอบด้วยส่วนผสมของสีต่างๆ เช่น เขียว เหลือง แดงและม่วง เนื้อในเมื่อยังอ่อน เนื้อแน่นแข็งรสหวานหรือเปรี้ยงแล้วแต่สายพันธุ์ แต่เมื่อผลสุกเนื้อจะอ่อนนุ่ม มีรสชาติหวานหอม เมล็ดอยู่ถัดจากเนื้อ มีขนาดใหญ่ไปจนถึงเกือบไม่มีเมล็ด (แล้วแต่สายพันธุ์) เมล็ดจะมีสีขาวขุ่นมีเส้นใยขึ้นปกคลุม เปลือกหุ้มเมล็ดมีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น คือ ชั้นนอก (testa) และชั้นใน (tegmen)
การขยายพันธุ์มะม่วง
มะม่วงสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง การเพาะเมล็ด และการเปลี่ยนยอด โดยการปลูกช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้มะม่วงตั้งตัวได้เร็วเนื่องจากอากาศและดินมีความชุ่มชื้นดี และเป็นการสะดวกที่ไม่ต้องรดน้ำในระยะแรก ส่วนระยะการปลูกมีอยู่ 2 ลักษณะคือ การปลูกชิดและการปลูกห่าง แต่ในปัจจุบันจะนิยมการปลูกระยะห่างมากกว่าเพราะลงทุนต่ำกว่าและดูแลรักษาง่ายกว่า ซึ่งปกติแล้วมักจะใช้ระยะปลูกประมาณ 6-10 x 6-10 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ไร่ละประมาณ 16-25 ต้น
สำหรับหลุมปลูกควรให้มีขนาดความกว้าง x ยาว x ลึก ไม่น้อยกว่า 30x30x30 ซม. โดยหากดินในพื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์ต้องขุดหลุมปลูกให้มีขนาดใหญ่ จากนั้นนำดินที่ขุดไปผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก หรือนำดินที่อุดมสมบูรณ์มาใส่เพื่อให้มะม่วงในระยะแรกเจริญเติบโตได้ดี ส่วนการปลูกนั้นเมื่อขุดหลุมเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วก็นำต้นกล้าลงปลูกจากนั้นกลบดินที่ผสมปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกให้พูนสูงกว่าระดับดินเดิม 20-30 ซม. จากนั้นกลมดินให้แน่นรดน้ำให้ชุ่ม แล้วใช้ไม้รวกปักแล้วใช้เชือกมัดยึดกับลำต้นเพื่อกันลมโยก ถ้าแสงแดดจัดอาจพรางแสงด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ทางมะพร้าว เป็นต้น
องค์ประกอบทางเคมี
มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในส่วนต่างๆของมะม่วงพบว่ามีสารสำคัญ lycopene , β-carotene เช่น anthocyanins และยังพบสารประกอบ phenolicที่สําคัญซึ่งพบในเปลือก เนื้อ และเมล็ดมะม่วง ได้แก่ mangiferin, gallic acid , caffeic acid และ tannin เป็นต้น
ที่มา : Wikipedia
นอกจากนี้ผลของมะม่วงยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงดิบ 100 กรัม
- พลังงาน 60 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม
- น้ำตาล 13.7 กรัม
- ใยอาหาร 1.6 กรัม
- ไขมัน 0.38 กรัม
- โปรตีน 0.82 กรัม
- วิตามิน A 54 ไมโครกรัม
- วิตามิน B1 0.03 มิลลิกรัม
- วิตามิน B2 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามิน B3 0.67 มิลลิกรัม
- วิตามิน B6 0.2 มิลลิกรัม
- วิตามิน B9 43 ไมโครกรัม
- วิตามิน C36 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 11 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.16 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 168 มิลลิกรัม
- สังกะสี 0.09 มิลลิกรัม
- เบตาแคโรทีน 640 ไมโครกรัม
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงกระเพาะอาหาร แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้วิงเวียนศีรษะ ปรับสมดุลร่างกาย ทำให้กระปรี้กระเปร่า แก้อาการบิดมูกเลือด ช่วยในการขับถ่าย ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ โดยการนำมะม่วงสุกมารับประทานเป็นผลไม้ เป็นประจำ
ใช้แก้ โรคเบาหวาน โดยใช้ใบมะม่วงมาล้างให้สะอาด (ประมาณ 15 ใบ) แล้วนำมาต้มในน้ำสะอาด 1 ถ้วย (ใช้ไฟอ่อน ๆ นาน 1 ชั่วโมง) ถ้าน้ำแห้งก็เดิมเรื่อย ๆ เมื่อเสร็จแล้วทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืน แล้วจึงนำมากรองเอาแต่น้ำดื่มติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน
แก้ซางตานขโมยในเด็ก แก้ท้องอืด แก้ลำไส้อักเสบ โดยใช้ใบมะม่วง ประมาณ 15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ภายนอก โดยใช้ล้างบาดแผลภายนอกก็ได้
ใช้แก้โรคคอตีบ แก้ไข้ตัวร้อนจมูกอักเสบ โดยใช้เปลือกต้นมะม่วงมาต้มกับน้ำดื่ม
ใช้ขับพยาธิ โดยใช้เมล็ดแก่มาตากแห้งแล้วต้มเอาน้ำดื่ม หรือจะบดให้เป็นผงนำมารับประทานก็ได้
แก้อาการปวดประจำเดือนและอาการปวดเมื่อยโดยการนำเปลือกผลดิบมาคั่วรับประทานร่วมกับน้ำตาล
ใช้สมานแผลสด โดยใช้ใบมะม่วงสดล้างให้สะอาดแล้วนำมาตำพอกบริเวณแผล
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
ฤทธิ์ลดเบาหวาน มีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร mangiferin จากใบมะม่วง เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ในขนาด 10 และ 20 มก./กก. วันละ 1 ครั้ง นาน 28 วัน จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดลงสูงสุด 49.77 และ 51.89% ตามลำดับ เมื่อให้สารนาน 14 วัน จะช่วยต้านการเกิดภาวะหลอดเลือดหนาและแข็ง (atherogenic) โดยจะลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ลด low density lipoprotein และเพิ่ม high density lipoprotein และจะเพิ่ม glucose talerance ในหนูขาวปกติที่ได้รับสารดังกล่าวนาน 14 วัน
ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีการทดสอบความสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสาร mangiferin จากเปลือกต้นมะม่วง โดยการป้อน mangiferin ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก. 60 นาที ให้หนูถีบจักรก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอล เปรียบเทียบกับยาที่ออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร N-acetylcysteine พบว่า ไม่พบการทำลายของ mucosa ในกระเพาะอาหารหนู และลดการเกิดแผลได้ 30, 35 และ 63% ตามลำดับ ในหนูที่ได้รับ mangiferin ส่วนหนูที่ได้รับ N-acetylcysteine ลดการเกิดแผลได้ 50% และเมื่อป้อน mangiferin ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก. 60 นาที ให้หนูถีบจักรก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารโดยการอดอาหาร 15 ชม. และได้รับ indomethacin เปรียบเทียบกับยาที่ออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร lansoprazole ขนาด 30 มก./กก. พบว่า สาร mangiferin ลดการเกิดแผลได้ 22, 24 และ 57% ตามลำดับ ส่วน lansoprazole ลดการเกิดแผลได้ 76% เมื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์ พบว่าสาร mangiferin ขนาด 30 มก./กก. จะช่วยเพิ่มปริมาณ non-protein sulfhydryl ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร แต่ N-acetylcysteine ออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ซึ่งเป็นผลการต้านอนุมูลอิสระ และการให้ mangiferin ขนาด 30 มก./กก. เข้าทางลำไส้เล็กส่วนต้นในหนูที่ผูกกระเพาะอาหารส่วนปลายของ pylorus เป็นเวลา 4 ชม. พบว่าสาร mangiferin ยังลดปริมาณสารคัดหลั่งทั้งหมดและกรดในกระเพาะอาหาร ในขณะที่ยา cimetidine ขนาด 100 มก./กก. สามารถลดการหลั่งกรดได้เพียงอย่างเดียว
ฤทธิ์บรรเทาปวด มีการศึกษาฤทธิ์บรรเทาปวดของเปลือกต้นมะม่วง (Mangifera indica L.) ในหนูแรทที่เกิดความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน และบรรเทาอาการปวดจากการตอบสนองในระยะยาว (long-term secondary machano-hyperalgesia) จากการกระตุ้นด้วยการฉีดฟอร์มาลีน 5% ผลการศึกษาพบว่า เมื่อป้อนสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมะม่วง (MSBE) วันละ 125, 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว หรือป้อน MSBE ขนาด 250 มก./กก.น้ำหนักตัว ร่วมกับการฉีด ascorbic acid ขนาด 1 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้หนูแรท ติดต่อกัน 7 วันก่อนการฉีดฟอร์มาลีน สามารถบรรเทาอาการปวดแบบเฉียบพลันที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยฟอร์มาลีน และยังช่วยบรรเทาอาการปวดจากการตอบสนองในระยะยาวได้ต่อเนื่อง 7 วันหลังการฉีดฟอร์มาลีน โดยหนูแรทที่ได้รับ MSBE จะลดพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลีย การกัด และถอยหนีได้ในช่วงระยะเวลา 15-45 นาทีหลังการฉีด (phase II) และมีผลต่อเนื่องไปถึงระยะอาการปวดแบบเรื้อรังได้ นอกจากนี้การใช้ MSBE ร่วมกับ ascorbic acid มีผลช่วยลดอาการผงะหรือการถอยหนีของสัตว์ทดลองได้ดีกว่าการใช้ MSBE เพียงอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของ ascorbic acid นอกจากนี้เมื่อป้อน mangiferin ซึ่งเป็นสารสำคัญที่แยกได้จากสารสกัด MSBE ขนาด 12.5-50 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้แก่หนูแรทต่อเนื่องกัน 7 วัน หลังการฉีดฟอร์มาลิน ก็ให้ผลลดปวดได้เช่นเดียวกับการใช้ MSBE การศึกษานี้จึงชี้ให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมะม่วงและสาร mangiferin มีฤทธิ์บรรเทาปวด นอกจากนี้พืชชนิดอื่นที่มีสาร mangiferin เป็นองค์ประกอบน่าจะแสดงฤทธิ์บรรเทาปวดได้เช่นเดียวกัน
ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ในพิษงู มีการศึกษาฤทธิ์ต้านเอนไซม์ในพิษงูจากสารสกัดเอทานอลของเม็ดมะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่นด้วยเอทานอล โดยทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดต่อการทำงานของเอนไซม์ phospholipase A2 (PLA2) hyaluronidase และ L-amino acid oxydase (LAAO) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบในพิษของงูกะปะ และงูเห่า ในหลอดทดลอง (in vitro test) และศึกษาฤทธิ์ห้ามเลือด (anti-hemorrhagic) และฤทธิ์ยับยั้งการ9kp-v’เซลล์ผิวหนัง (anti-dermonecrotic) ในหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่า สารสกัดจากเม็ดมะม่วงมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ทั้งสามชนิด และยังมีฤทธิ์ห้ามเลือด และยับยั้งการตายของเซลล์ผิวหนัง ซึ่งเป็นผลจากพิษของงูกะปะและงูเห่าได้ นอกจากนี้ ได้ทำการศึกษาความสามารถในการจับกันระหว่างโมเลกุลของเอนไซม์กับสารสกัดเมล็ดมะม่วงด้วยวิธี Molecular docking พบว่าสารสกัดเมล็ดมะม่วงสามารถจับกับบริเวณ active site หรือบริเวณที่ใกล้เคียงกันของเอนไซม์ หรือสามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริเวณที่สำคัญต่อการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์ PLA2 และเลือกจับตำแหน่ง binding pocket ของเอนไซม์ LAAO จากพิษของงูกะปะและงูเห่า ทำให้เอนไซม์ไม่สามารถทำงานได้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยสาร mangiferin ที่สกัดได้จากใบมะม่วง เมื่อนำมาทดสอบในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (myocardial infarction) ด้วยการฉีดสาร isoproterenol (ISPH) ขนาด 200 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังหนูขาว พบว่าการฉีดสาร mangiferin ขนาด 100 มก./กก.ที่แขวนลอยใน dimethyl sulphoxide (DMSO) ปริมาตร 2 มล. เข้าในช่องท้องหนูขาว วันละ 2 ครั้งติดต่อกันนาน 28 วัน สามารถป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดได้ โดยมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ lactase dehydrogenase (LDH) และ creatine phosphokinase (CK-MB) ในเลือด ทำให้กรดยูริกในเลือดลดน้อยลง ธาตุเหล็กอิสระลดลง แต่พลาสมาจับกับธาตุเหล็กได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้สาร mangiferin ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ โดยมีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidase (GPx), glutathione-s-transferase (GST) และ glutathione reductase (GR) ในเนื้อเยื่อหัวใจ และทำให้ระดับของสาร cerruloplasmin, glutathione, วิตามิน C และวิตามิน E ในเลือดเพิ่มมากขึ้น
การศึกษาทางพิษวิทยา
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการรับประทานมะม่วงสุก เพราะมีความหวานมากและมีน้ำตาลมากเช่นกัน โดยหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและเกิดอาการกำเริบได้
- มะม่วงเป็นพืชที่มีน้ำยางทุกส่วนของต้นและในน้ำยางก็มีสารที่ก่อให้เกิดการกระคายเคืองต่อผิวหนังได้ ดังนั้นการระมัดระวังอย่างให้โดยน้ำยางของมะม่วง แต่หากผิวหนังโดนน้ำยางมะม่วงแล้วให้รีบล้างออกโดยเร็วที่สุด
- มะม่วงดิบส่วนมากจะมีรสเปรี้ยว ดังนั้นไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ปวดมวนท้องถ่ายท้อง หรือท้องเสียได้
เอกสารอ้างอิง
- นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะม่วง ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 173 – 177
- ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
- ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. (2556). มะม่วง-การผลิตและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา, เชียงใหม่.
- ฤทธิ์บรรเทาปวดของสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมะม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดในมะม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ผศ.วัฒนา สวยาธิปัติ. ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ. สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
- ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่271 หน้า
- สาร mangiferin ในมะม่วงป้องกันผลในกระเพาะอาหาร.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- วนิสสา หวานเสนาะ. (2552). ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเอ็นเอเอ และเอทธีฟอน เพื่อการชักนำการหลุดร่วงของช่อดอกและช่อผลของมะม่วงน้ำดอกไม้. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
- ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ในพิษงูจากสารสกัดเมล็ดมะม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ดวงพร ภู่ผะภา.การประเมินปริมาณสารพฤกษาเคมีบางประการ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารกลุ่มฟิวอลิกของมะม่วงพื้นเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา.วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่43.ฉบับที่2 เมษายน-มิถุนายน 2558.หน้า267-283
- สาร mangiferin ลดเบาหวาน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์วิทยาลัยมหิดล.