บุนนาค ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บุนนาค งานวิจัยและสรรพคุณ 40 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร บุนนาค
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นากบุด (ภาคใต้), สารภีดอย (ภาคเหนือ, เชียงใหม่), ปะนาดอ (ปัตตานี, มาเลเซีย), ถ๊ำก่อ (กะเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน), ถ้าก่อ (ไทยใหญ่, ฉาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mesua ferra Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mesua nagassarium (Burm. f.) Kosterm.
ชื่อสามัญ Iron wood, Mesua, Gangaw, Indian rose chestnut
วงศ์ Guttiferae


ถิ่นกำเนิดบุนนาค

บุนนาคเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเทือกเขาหิมาลัยตั้งแต่ทางทิศตะวันออกของประเทศเนปาล ไปจนถึงตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย แล้วต่อมามีการกระจายพันธุ์ไปในบริเวณใกล้เคียง เช่น ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และสิงค์โปร

           สำหรับในประเทศไทยมักจะพบบุนนาค ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่าดิบชื้นในภาคเหนือ และภาคใต้ ในระดับความสูงจกน้ำตั้งแต่ 20-700 เมตร โดยในปัจจุบันได้มีการนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสวน และบ้านเรือนทั่วไป นอกจากนี้ต้นบุนนาคยังจัดเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิจิตรอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณบุนนาค 

  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยขับลม
  • แก้ลมกองละเอียด
  • แก้วิงเวียน
  • แก้หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
  • ช่วยชูกำลัง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงหัวใจให้แช่มชื่น
  • แก้ร้อนใน
  • แก้กระสับกระส่าย
  • ช่วยรักษาอาการร้อนอ่อนเพลีย
  • แก้กลิ่นสาบในร่างกาย
  • แก้ไอ
  • แก้ไข้
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ดับกระหาย
  • แก้ริดสีดวงทวาร(ยาพอก)
  • ช่วยบำรุงครรภ์
  • ใช่เป็นยากระตุ้นการทำงานของร่างกาย
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ 
  • ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค (น้ำมันจากเมล็ด)
  • ช่วยรักษาโรคปวดตามข้อ (น้ำมันจากเมล็ด)
  • ใช้ทารักษาโรคผิวหนัง (น้ำมันจากเมล็ด)
  • ช่วยรักษาบาดแผลสด พอกบาดแผลสด
  • แก้พิษงู
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • แก้ผื่นคัน
  • แก้หิด
  • ใช่คุมกำเนิด
  • ช่วยกระจายหนอง
  • ช่วยขับเหงื่อ (ต้มรวมกับขิง
  • แก้ลักปิดลักเปิด 
  • แก้สะอึก
  • แก้รัตตะปิตตะโรค
  • แก้โลหิตกำเดา
  • แก้ไข้สัมประชวร (ไข้เรื้อรัง ทำให้ร่างกายซูบผอม เบื่ออาหาร ไม่มีแรง) 
  • แก้ลมจุกแน่นในอก
  • แก้พิษหัด
  • แก้พิษสุกใส

           มีการนำส่วนต่างๆ ของบุนนาค มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ใช้ทำอาหาร ใช้ทำหมอนรองรางรถไฟ ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เสาเรือน สะพาน เครื่องเรือน ต่างๆ ด้ามเครื่องมือ และเครื่องใช้ในการเกษตรต่างๆ ได้ดอก และเมล็ดของบุนนาคสามารถนำมาใช้กลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมาใช้ในการอบเครื่องหอมได้เป็นอย่างดี และยังใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่ น้ำหอม และเครื่องสำอางได้

บุนนาค

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ช่วยชูกำลัง แก้กระหาย แก้ร้อน แก้อาการกระสับกระส่าย บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ช่วยแก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน โดยการนำดอกแห้งของบุนนาค มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ดอกแห้ง 2-3 กรัม ชงกับน้ำร้อนดื่มก็ได้ รักษาโรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน แก้หิด แก้ปวดเมื่อยตามข้อ และแผลเล็กๆ น้อยๆ โดยใช้ น้ำมันจากเมล็ด ทาบริเวณที่เป็น

           นอกจากนี้ยังมีการใช้ดอก และเกสรของบุนนาคมาเข้าเครื่องยาต่างๆ หลายตำรับอาทิเช่น ตำรับยาเขียวหอมที่มีขนาดการใช้ ดังนี้

           ชนิดผงผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำ ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการเด็ก อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยาทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

           ชนิดเม็ด ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการเด็ก อายุ 6-12 ปี  รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ


ลักษณะทั่วไปของบุนนาค
  

บุนนาค จัดเป็น ไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลา สูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดทึบ และแคบ ทรงพุ่มใหญ่เป็นรูปเจดีย์ต่ำๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นๆ หลุดร่วงง่าย เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย เนื้อไม้สีแดงคล้ำ เป็นมันเลื่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม มีขนาดกว้าง 1.2-4 เซนติเมตร ยาว 5-13 เซนติเมตร รูปร่างมนรีแคบ หรือ รูปหอกสอบเข้าหากันทั้ง 2 ด้าน ใบอ่อนมีสีชมพูแดง ห้อยลงเป็นพู่ ใบแก่ด้านบนเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวลสีเทา เส้นใบข้างมีมากมาย แต่เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบ ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ เป็นคู่ที่ซอกใบ หรือ ปลายกิ่ง เมื่อบานเต็มที่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 5-10 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ ซ้อนกัน รูปไข่กลับกว้าง ปลายบาน และเว้า โคนสอบ เมื่อบานเต็มที่กลีบจะแผ่กว้างออก มีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นหอมไปได้ไกล ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ดอกห้อยลง ก้านดอกมีความยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร เกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน สีเหลืองส้ม เป็นฝอย อับเรณูสีส้ม ก้านเกสรตัวเมียสีขาวยาว รังไข่มี 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม กลีบเลี้ยงแข็ง และหนา อีกทั้งยังอยู่คงทนจนกระทั่งเป็นผลก็ยังคงติดอยู่ที่ผล ผลเป็น รูปไข่ ดอกจะแข็งมาก ปลายโค้งแหลม ปลายไม่แตก ที่ผิวผลมีรอยด่างสีน้ำตาล ผลรูปไข่ แข็ง มีขนาดกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร สีส้มแก่ หรือ สีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยแข็งห้อหุ้ม และมีหยดของยางเหนียว ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงหนารองรับ 4 กลีบ ติดอยู่ และขยายโตขึ้นเป็นกาบหุ้มผล เมล็ดมีลักษณะแบน แข็งมี 1-4 เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้  มีลักษณะสีแดงคล้ำ เป็นมันเลื่อม เสี้ยนค่อนข้างสน เนื้อค่อนข้างหยาบ แข็งเหนียว ทนทานดีมาก เลื่อย ผ่า ตบแต่งยาก ขัดชักเงาได้ดี ความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.12 (14%) เนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 1,513 กก. ความแข็งแรงประมาณ 2,293 กก./ตร.ซม. ความทนทานตามธรรมชาติประมาณ 15 ปี สามารถนำไปอาบน้ำยาได้ง่าย

บุนนาค

การขยายพันธุ์บุนนาค

บุนนาคเป็นพรรณไม้ที่มีการเจริญเติบโตช้า ซึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งแต่การเพาะเมล็ดจะได้ผลดีกว่าการตอน เพราะไม่กลายสายพันธุ์ และมีอายุยืนนาน โดยมีวิธีการ คือ นำเมล็ดมาเพาะในขุยมะพร้าว รดน้ำให้ชุ่ม เมื่อครบ 15 วัน จึงแยกไปชำในถุง โดยใช้ดินผสมปุ๋ยคอกเป็นวัสดุปลูก วางไว้ในร่ม รดน้ำสม่ำเสมอ เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ 7 ถึง 8 เดือน หรือ เมื่อสูงได้ประมาณ 50 เซนติเมตร จึงสามารถนำลงปลูกได้ 

           สำหรับการปลูกให้ขุดหลุมให้มีขนาดหลุมปลูก 50x50x50 เซนติเมตร แล้วใช้ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักผสมกับดินร่วนใน อัตรา 1 : 3 ผสมดินปลูก แล้วกลบดินรดน้ำให้ชุ่ม และการให้น้ำทุกๆ 2–3 วัน เพราะแม้ว่าบุนนาค จะเป็นพรรณไม้ที่ชอบแดดจัดแต่ก็ชอบดินที่มีความชื้นสูงเช่นกัน โดยบุนนาค ที่เริ่มปลูกใหม่ จะใช้เวลาถึง 6 ปี ในการออกดอกครั้งแรก ดังนั้นในปัจจุบันจึงนิยม ซึ้อต้นบุนนาคที่โต และพร้อมจะออกดอกแล้วมาปลูกโดยการขุดล้อมมากกว่าการเพาะเมล็ดเพื่อปลูกเอง

องค์ประกอบทางเคมีบุนนาค

ต้น พบ oleoresin ผลพบแทนนิน เมล็ดพบ mesuol และ mesuone ดอกพบน้ำมันหอมระเหยและสารที่มีรสขม คือ mesuol และ mesuone นอกจากนี้ยังพบสารสารกลุ่ม coumarins สารกลุ่ม flavonoids, xanthenes สารกลุ่ม triterpene เช่น β-amyrin และกรดไขมัน เช่น palmiticacid, palmitoleic acid, oleic acid             

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของบุนนาค

โครงสร้างบุนนาค

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของบุนนาค

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ปกป้องตับสารสกัดเมทานอลจากดอกบุนนาคความเข้มข้น 100 และ 200 mg/kg ในหนูเม้าส์เพศเมียสายพันธุ์วิสตาร์ โดยให้หนูดื่มน้ำที่ผสมเชื้อแบคทีเรีย  Staphylococcus aureus เป็นเวลา 1 วัน หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ ติดตามผลค่าต่างๆ ได้แก่ ระดับเอนไซม์ตับ aspartate aminotransferase (AST) และ alanine aminotransferase (ALT) ตรวจการทำงานของไต โดยตรวจวัดระดับ creatinine phosphorkinase (CPK), alkaline phosphatase (ALKP), creatinine, urea ตรวจวัดระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ super oxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidise (GPX) และ glutathione reductase (GR) ผลการทดสอบพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของเอนไซม์ SOD และ AST พบการทำงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเอนไซม์ CAT, GPX, GR และ AST และไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการทำงานของ CPK และ Creatinine ดังนั้นสรุปได้ว่ามีการเพิ่มระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระได้บางชนิด ส่วนการทำงานของตับ และไต ยังมีผลทั้งในทางที่ดีขึ้น และลดลงได้ นอกจากนี้การทดสอบสารสกัดเอทานอลของดอกบุนนาคความเข้มข้น 100 μg/ml พบว่าสามารถยับยั้งการทำงานของ nitric oxide ซึ่งเป็นสารทำให้เกิดการอักเสบได้ 96.03%

           ฤทธิ์ต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน และฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน การทดสอบในหนู โดยสกัดสารฟลาโวนอยด์ จากน้ำมันในเมล็ดบุนนาคชื่อ mesuol แล้วนำมาทดสอบฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกัน พบว่าเมื่อให้ mesuol ร่วมกับ cyclophosphamide ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกัน ที่ใช้ในการรักษาเนื้องอก และมะเร็ง พบว่าการให้ยา cyclophosphamide ทำให้เกิดอนุมูลอิสระโดยเฉพาะอนุมูล superoxide ซึ่งอนุมูลเหล่านี้มีผลกดระบบภูมิคุ้มกันในหนู ผลการทดสอบพบว่า mesuol สามารถป้องกันการเหนี่ยวนำของ cyclophosphamide ในระบบมิคุ้มกัน และป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชันได้ (oxidative stress) ได้ในวันที่ 9 และ 16 โดย mesuol ทำให้ระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ GSH, CAT เพิ่มขึ้นได้ และมีผลต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันด้วยวิธีทางเคมีในการจับอนุมูลอิสระ DPPH (56.67 mmol/100 g), ABTS (35.22 mmol/100 g) และวิธี FRAP (เป็นการวัดความสามารถรวมในการรีดิวซ์สารประกอบเชิงซ้อนของเหล็ก Fe3+) (8.99 μmol/g) ดังนั้น mesuol จึงมีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดจากสมบัติการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัดเมทานอลของดอกบุนนาค ในหนูเมาส์ติดเชื้อ S. typhimurium ATCC 6539.2 พบว่าสารสกัดขนาด 4 mg/mouse สามารถลดอัตราการตาย และลดเชื้อแบคทีเรียในเลือด ตับ และม้าม ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการทดสอบในหลอดทดลองเพื่อศึกษาฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียพบว่าสารสกัดความเข้มข้น 50 μg/ml สามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ได้ 30 สายพันธุ์ ,Bacilllus spp., Salmonella spp., Pseudomonas spp., Streptococcus pneumonia, Sarcina lutea, Proteus mirabilis และ Lactobacillus arabinosus สารสกัดความเข้มข้น 100 และ 200 μg/ml สามารถยับยั้ง Staphylococcus ได้ 1 และ 2 สายพันธุ์ ตามลำดับ แต่มีสายพันธุ์ที่ดื้อต่อสารสกัดจำนวน 8 สายพันธุ์ และมีผลน้อยในการยับยั้ง Klebsiella, Vibrio cholera, Escherichia coli และ Shigella spp.

           การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียจากสารสกัดไดคลอโรมีเทนและเมทานอล (1:1 v/v) ของดอกบุนนาค ความเข้มข้น 500 และ 1000 μg/ml ทำการทดลองด้วยวิธี agar dilution-streak พบว่าสามารถต้านเชื้อได้แก่ B. cereus varmycoides, B. pumilus, B. subtilis, Bordetella bronchiseptica, Micrococcus luteus, Sta. aureus, Sta. epidermidis, E. coli, K. pneumoniae, P. aeruginosa, Str. faecalis, Candida albicans, Aspergillus niger และ Saccharomyces cerevisiae

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบข้อ สารสกัดจากเมล็ดบุนนาค ในหนูแรทสายพันธุ์วิสตาร์ ทดสอบด้วยวิธี Complete Freund’s Adjuvant (CFA)-induced arthritis โดยใช้ CFA ซึ่งเป็นเชื้อ Mycobacterium tuberculosis (strain H37Ra, ATCC-25177) ที่แห้ง และตายด้วยความร้อน ใช้ในการเหนี่ยวนำให้เกิดข้ออักเสบในหนู สังเกตผลในวันที่ 21 หลังให้สารทดสอบ ในขนาด 300 mg/kg  พบว่าสารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์, สารสกัดเอทิลอะซิเตต และสารสกัดเอทานอลของเมล็ดบุนนาค สามารถยับยั้ง CFA โดยมีค่าเปอร์เซ็นต์การยับยั้งเท่ากับ 60.42, 58.65 และ 54.89% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Diclofenac sodium ขนาด 50 mg ยับยั้งได้เท่ากับ 62.68%

           ฤทธิ์ต้านการชัก การป้อนสารสกัดเอทานอลของดอกบุนนาคความเข้มข้น 200, 400 และ 600 mg/kg แก่หนูเมาส์ ซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการชักด้วยวิธี Maximum electroshock seizure (MES) ผลการทดลอง พบว่าสารสกัดเอทานอลจากดอกบุนนาคสามารถยับยั้งการชักได้ และลดระยะเวลาที่เกิดการชักได้อย่างมีนัยสำคัญดังนี้ สารสกัดความเข้มข้น 200, 400 และ 600 mg/kg ยับยั้งได้ 100% (p < 0.01), 60% (p < 0.01) และ 100% (p < 0.001) ตามลำดับ 

การศึกษาทางพิษวิทยาของบุนนาค

การศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเพศเมียสายพันธุ์ Swiss albino โดยให้สารสกัดใบบุนนาค ที่สกัดด้วย methanol ขนาด 50 mg/kg, 500 mg/kg และ 2000 mg/kg ป้อนให้หนูเพียงครั้งเดียว บันทึกผลภายใน 24 ชั่วโมง และสังเกตผลต่ออีก 14 วัน โดยบันทึกค่าน้ำหนัก, พฤติกรรม, ค่าชีวเคมีในเลือด การกินน้ำ และอาหาร อัตราการตาย ผลการทดลองพบว่า สารสกัดทุกขนาดไม่ทำให้หนูตาย และไม่พบการเกิดพิษ

           ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งระบุว่าสารสกัดเอธานอล 50% ของส่วนเหนือดิน และเอธานอล 50% ของใบ ฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร มีค่าคาวเข้มข้นที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เป็น 500 มก/กก. และ 750 มก/กก. ตามลำดับส่วนสารสกัดน้ำ และแอลกอฮอล์ของดอกบุนนาค เมื่อฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักร มีค่า (LD50) เป็น 2.66 ก./กก. และ 1.66 ก/กก. ตามลำดับ เมื่อให้ทางปาก มีค่ามากกว่า 10.06 ก./กก. และ 4.01 ก./กก. ตามลำดับ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าการศึกษาทางพิษวิทยาจะพบว่าบุนนาคมีความเป็นพิษน้อยมาก แต่ในการนำบุนนาคมาใช้ประโยชน์ทางยาก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้องรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้บุนนาค ในการช่วยรักษาบำบัดโรคเสมอ ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยพบว่า กรดในน้ำมันจากเมล็ดบุนนาคมีพิษต่อหัวใจ ดังนั้นผู้ที่ใช้ประโยชน์จากน้ำมันเมล็ดบุนนาคจึงควรระมัดระวังเป็นต่อเนื่อง
 

เอกสารอ้างอิง บุนนาค
  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. 2540. เภสัชกรรมไทย:รวมสมุนไพร พิมพ์ครั้งที่ 2 โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์กรุงเทพมหานคร 480 หน้า
  2. รศ.ดร.สนั่น ศุภธีรสกุล, บุนนาค...พืชมงคล, ภาควิชาเภสัชเวท และพฤกษศาสตร์. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  3. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร. 2541.สมุนไพร. ไม้พื้นบ้าน(2) บริษัทประชาชนจำกัด กรุงเทพมหานคร 640 หน้า
  4. บุนนาค. ฐานข้อมูลเครื่องยา. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=80
  5. เขียวหอม. ฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thai-remedy.com/main.php?action=viewpage&pid=1 บุนนาค. กลุ่มพืชหอมเป็นยาบำรุงหัวใจ. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_03_b.htm
  1. บุนนาค. ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=67
  2. Chahar MK, Kumar DSS, Lokesh T, Manohara KP. In-vivo antioxidant and immunomodulatory activity of mesuol isolated from Mesua ferrea L. seed oil. International Immunopharmacology 2012;13:386–391.
  3. Verotta, L., Lovaglio,E., Vidari, G., Finzi, P.V., Neri, M.G., Raimondi, A., Parapini, S., Taramelli, D., Riva, A., and Bombardelli, E. 2004. 4-Alkyl- and 4-phenylcoumarins from Mesua ferrea as promising multidug resistant antibacterials, Phytochemistry 65 : 2867-2879.
  4. Udayabhanu J, Kaminidevi S, Thangavelu T. A study on acute toxicity of methanolic extract of Mesua ferrea L. in swiss albino mice. Asian J Pharm Clin Res 2014;7(3):66-67.
  5. Chahar MK, Kumar S, Geetha L, Lokesh T, Manohara KP. Mesua ferrea L.: A review of the medical evidence for its phytochemistry and pharmacological actions. African Journal of Pharmacy and Pharmacology. 2013;7(6):211-219.
  6. Jalalpure SS,  Mandavkar YD, Khalure PR, Gulab S, Shinde GS, Shelar PA, Shah AS. Antiarthritic activity of various extracts of Mesua ferrea L. seed. J Ethnopharmacology. 2011;138:700–704.