เปราะหอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

เปราะหอม งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เปราะหอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านแผ่นดินเย็น, ว่านตีนดิน (ภาคเหนือ), หอมเปราะ, เปราะหอมขาว, เปราะหอมแดง (ภาคกลาง), เปราะ (ภาคใต้), ว่านหอม (พิษณุโลก), กระชายหอม, เสน่ห์จันทร์หอม (ตาก), ซู (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia galanga linn.
ชื่อสามัญ Sand ginger, Resurrection lily, Aromatic ginger
วงศ์ ZINGIBERACEAE

ถิ่นกำเนิดเปราะหอม

เปราะหอมเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียโดยมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอินเดีย ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาบสมุทรมลายู และชาว รวมไปถึงในจีนตอนใต้ และไต้หวัน โดยมักพบเปราะหอม ในป่าไผ่ ป่าดิบ และป่าผลัดใบ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาค แต่พบได้มากทางภาคเหนือ

ประโยชน์และสรรพคุณเปราะหอม 

  1. แก้หวัดคัดจมูก
  2. ขับลมในลำไส้
  3. แก้เสมหะ
  4. ช่วยเจริญไฟธาตุ
  5. แก้ลงท้อง
  6. แก้ท้องเฟ้อ
  7. แก้กำเดา
  8. แก้โลหิตซึ่งเจือด้วยลมพิษ
  9. แก้เด็กนอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ตาเหลือก ตาช้อนเหลือบดูสูง
  10. แก้เกลื้อนช้าง
  11. ขับเลือดเน่าของสตรี
  12. แก้ท้องขึ้น
  13. แก้อีสุกอีใส
  14. แก้กลาก และเกลื้อนช้าง
  15. แก้ปวดศีรษะ
  16. ช่วยบำรุงหัวใจ
  17. บำรุงประสาท
  18. ช่วยในการนอนหลับ
  19. ช่วยลดความเครียดได้
  20. ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ
  21. ช่วยบรรเทาอาการปวด
  22. แก้อาการปวดเมื่อย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ทั้งเปราะหอมขาว และเปราะหอมแดง ใช้เหง้าสด 10-15 กรัม หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ หัวสดใช้ 1/2-1 กำมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ดื่ม 1-2 ครั้ง ช่วยรักษาอาการต่างๆ ตามสรรพคุณที่กล่าวไปข้างต้น ใบเปราะหอม ใช้คั้นเอาน้ำทาแก้กลาก และเกลื้อนช้าง ใช้เป็นยาแก้ปวดศีรษะ คลายเครียด ด้วยการใช้ทั้งหัว และใบเปราะหอม นำมาโขลก ใส่น้ำพอชุ่ม แล้วเอาไปชุบนำมาใช้คลุมหัว หรือ จะใช้เฉพาะหัวนำมาตำคั้นเอาน้ำไปผสมกับแป้ง หรือ ว่านหูเสือ ก็จะได้แป้งดินสอพองไว้ทาขมับแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้หัวตากแห้งบดผสมลงในยาหอม ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงประสาท หัวเปราะหอมนำมาต้ม หรือ ชงกิน จะช่วยในการนอนหลับ และช่วยลดความเครียดได้ น้ำคั้นจากใบ และเหง้าใช้ป้ายคอ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ช่วยบรรเทาอาการปวด ด้วยการใช้หัวนำมาโขลก หรือ ทุบใส่น้ำให้พอชุ่ม นำผ้ามาชุบแล้วใช้พันบริเวณที่มีอาการปวดบวม หรือ นำมาใช้ทำเป็นลูกประคบ และนำมาเคี่ยวกับน้ำมันไว้ใช้ทาแก้อาการปวดเมื่อยก็ได้


ลักษณะทั่วไปของเปราะหอม

เปราะหอม จัดเป็นไม้ลงหัว หรือ พืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดินประเภทไรโซม (Rhizome) ลักษณะเป็นเหง้าแง่งกลมรูปไข่สีเหลืองอ่อนมีเยื่อบางๆ รูปสามเหลี่ยมหุ้มโคน เหง้าแก่สีน้ำตาล เนื้อในหัวสีขาว หรือ ขาวเหลือง มีสีเหลืองเข้มตามขอบนอก และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ข้ามปีหรือหลายปี ใบเป็นใบเดี่ยว แทงขึ้นมาจากหัวหรือเหง้าใต้ดินประมาณ 2-3 ใบ โดยใบอ่อนมีลักษณะม้วนเป็นกระบอกออกมาแล้วค่อยแผ่ราบบนหน้าดิน หรือ วางตัวอยู่ในแนวราบเหนือพื้นดินเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลม หรือ เป็นรูปไข่ป้อม มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ส่วนโคนใบมน หรือ อาจเว้าเล็กน้อย บางครั้งอาจพบว่าขอบใบมีสีแดงคล้ำๆ มีขนอ่อนๆ อยู่บริเวณท้องใบ โดยท้องใบนั้นหากมีสีแดงจะเรียกว่าเปราะหอมแดง หากมีสีขาวจะเรียกว่าเปราะหอมขาว ส่วนก้านใบมีลักษณะเป็นกาบ มีความยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ ซึ่งดอกตรงกลางระหว่างใบ โดยมีดอกย่อยได้ตั้งแต่ 6-10 ดอก แต่ดอกจะทยอยบานครั้งละ 1-2 ดอก ดอกมีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ลักษณะดอกมี 4 กลีบ 2 กลีบ บนมีสีขาว 2 กลีบ ล่างแต้มด้วยสีม่วงเหลือง ผลเป็นแบบผลแห้งแตกได้ ภายในมีเมล็ดกลม 12 เมล็ด

เปราะหอม

เปราะหอม

การขยายพันธุ์เปราะหอม

เปราะหอมสามารถขยายพันธุ์โดยการใช้เหง้า หรือ หัวซึ่งเปราะหอมขยายพันธุ์คล้ายกับกระชาย โดยการนำหัวที่มีอายุ 1-2 ปี ขุดมาประมาณเดือนมกราคม แล้วนำมาใส่ภาชนะโปร่งๆ ไว้ในที่ร่ม ไม่ต้องล้างน้ำ พอถึงช่วงประมาณปลายเดือนเมษายน เปราะหอมจะเริ่มแตกตาขึ้นมาบ้างแล้วจึงเตรียมใช้ปลูกต่อไป

            ทั้งนี้เปราะหอม เป็นพืชชอบแสงแดดน้อย จึงปลูกตามสวนผลไม้ เช่น ส่วนกล้วย และสวยยางพารา เป็นต้น โดยการทำแปลงเล็กๆ เราจะฟันดินขึ้นยกเป็นแปลง ขนาดกว้าง 1 เมตร ความยาว แล้วแต่พื้นที่และหว่านปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักก็ได้แล้วสับรวมผสมกันคลุกเคล้าให้ทั่วแปลง

            ส่วนวิธีการปลูกจะนำหัวเปราะหอมที่เตรียมไว้ที่หัวติดกัน แยกออกเป็นหัวเดียว นำไปฝังบนแปลงที่เตรียมไว้ห่างกัน 15-20 เซนติเมตร แล้วกลบดินนำฟาง หรือ หญ้าแห้งมาคลุมไว้ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ สำหรับการเก็บเกี่ยวสามารถเก็บเกี่ยว (ขุด) ได้เมื่อมีอายุได้ 1 ปีขึ้นไป โดยนิยมขุดประมาณเดือน ธันวาคม-เมษายน เพราะเป็นช่วงที่เหง้าสะสมสารอาหาร และสารออกฤทธิ์มากที่สุด


องค์ประกอบทางเคมี

ในเปราะหอม พบสารเคมีหลายชนิด เช่น chlorogenic acid, vanillic acid, Uinnanic acid, Cinnamic acid ethyl ester เป็นต้น นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยยังน้ำมันหอมระเหยที่ประกอบด้วย cinnamic acid, borneol, camphor, cineol, camphene, anistic acid

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเปราะหอม

โครงสร้างเปราะหอม

ที่มา : Wekipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเปราะหอม

           ฤทธิ์กระตุ้นการนอนหลับ การศึกษาฤทธิ์กระตุ้นการนอนหลับของสารสกัดเฮกเซนของเปราะหอม และสารบริสุทธิ์ 2 ชนิดได้แก่ compound 1: ethyl trans-p-methoxycinnamate และ compound 2: ethyl cinnamate โดยให้สารสกัดในขนาด 0.001, 0.01, 0.1, 0.5, 1, 1.5 และ 10 มิลลิกรัม อีกทั้งใช้ lavender oil ความเข้มข้น 0.05 มิลลิกรัม เป็นสารมาตรฐาน ทดสอบในหนูถีบจักรเพศผู้อายุ 5 สัปดาห์ ละลายสารทดสอบด้วย triethylcitrate และหยดลงบนกระดาษกรอง ที่วางไว้ในแท็งค์ ให้หนูสูดดมสารทดสอบภายในแทงค์ และทำการติดตามการตอบสนองทางด้านพฤติกรรมของหนูในการเดินข้ามจากด้านหนึ่งของแท็งค์มายังอีกบริเวณหนึ่ง เป็นเวลา 60 นาที ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเฮกเซนของเปราะหอมในขนาด 1.5 และ 10 มิลลิกรัม แสดงฤทธิ์กระตุ้นการนอนหลับ (ทำให้หนูหยุดอยู่ที่มุมแท็งค์ ลดการเคลื่อนไหว) ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.01 และ p < 0.05, ตามลำดับ) นอกจากนี้ compound 1 และ 2 ยังมีฤทธิ์ กระตุ้นการนอนหลับ เมื่อให้ในขนาด 0.0014 มิลลิกรัม และ 0.0012 มิลลิกรัม ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส การทดสอบสารสกัดน้ำ และเมทานอลของเปราะหอม ในการยับยั้งเชื้อ human immunodeficiency virus type 1 reverse transcriptase (HIV-1 rt) และ proteases จาก human immunodeficiency virus type 1 (HIV-1), hepatitis C virus (HCV) และ human cytomegalovirus (HCMV) จากผลการทดลองพบว่า สารสกัดเมทานอลสามารถยับยั้ง protease ทั้งสามชนิดได้ดี (Protease เป็นเอนไซม์ที่สำคัญของไวรัสในการแยก gag-pol polyprotein ให้เป็น reverse transcriptase, protease และ integase ซึ่งเป็นโปรตีนที่สำคัญของไวรัส HIV การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์นี้จะยับยั้งการติดเชื้อได้) การทดสอบสารบริสุทธิ์ 4-methoxy cinnamic acid ethyl ester และ 4-methoxy cinnamic acid ที่แยกได้จากเปราะหอม ต่อการยับยั้ง alpha-glucosidase (เนื่องจากอนุภาคไวรัสเมื่อเข้าสู่ร่างกายในขั้นแรกจะมีการเกาะติดระหว่างไกลโคโปรตีนของเชื้อ gp120 กับ CD4 receptor ซึ่งเป็น T-helper lymphocyte ของ host ในขั้นตอนนี้ถ้ายับยั้งการทำงานของ alpha-glucosidase ทำให้การสังเคราะห์ไกลโคโปรตีนของเชื้อไม่สมบูรณ์) จากการทดสอบพบว่า สารบริสุทธิ์ทั้ง 2 ชนิด สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ alpha-glucosidase ได้สูงกว่าสารมาตรฐาน 1-deoxynojirimycin โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.05±0.03 และ 0.04±0.01 mM, deoxynojirimycin มีค่า IC50 เท่ากับ 5.60±0.42 mM

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ ศึกษาฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยจากเปราะหอมโดยทดสอบกับเชื้อ 7 ชนิด คือ E. coli, S.aureus, P.aeruginosa, B.subtills, S.faecalis, C.albicans และ M. gypseum พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากเปราะหอมสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อที่ทำให้เกิดแผลฝีหนอง S. aureus ได้ดี และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ E.coli (ที่ทำให้เกิดท้องเสีย อาหารเป็นพิษ) จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีพบว่าน้ำมันหอมระเหย จากเปราะหอมมีองค์ประกอบหลักทางเคมี คือ (Z)-ethyl cinnamate ร้อยละ 46.60, 1,8’ cineole ร้อยละ 17.40 และ delta-3-carene ร้อยละ 11.19

             การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ของน้ำมันหอมระเหยในเหง้าของเปราะหอมที่กลั่นด้วยน้ำ วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยวิธี gas chromatography สารสำคัญที่แยกได้ ได้แก่ ethyl-p-methoxycinnamate (31.77%), methylcinnamate (23.23%), carvone (11.13%), eucalyptol (9.59%) และ  pentadecane (6.41%) การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียด้วยวิธี agar disc diffusion พบว่าสามารถต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยให้ค่า inhibition zone เท่ากับ 8.0-31.0 มิลลิเมตร สำหรับการทดสอบความเป็นพิษต่อไรทะเล (Brine shrimp toxicity test) ให้ค่าความเข้มข้นที่ทำให้ไรทะเลตายครึ่งหนึ่ง LC50 เท่ากับ 26.84 μg/ml ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยไม่มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ DPPH ในหลอดทดลอง ซึ่งเป็นวิธีทางเคมี (IC50>100 μg/ml)

           ฤทธิ์แก้ไข้ บรรเทาปวด อักเสบ การทดสอบฤทธิ์ระงับปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ ของสารสกัดเมทานอลของเปราะหอมขนาด 50, 100 และ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหนูถีบจักร และหนูขาวเพศผู้ โดยทดสอบฤทธิ์ระงับปวดด้วยวิธี writhing, formalin, hot plate และ tail flick ทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วยการฉีด carrageenan บริเวณอุ้งเท้าหลังของหนู เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดการบวม และใช้ cotton pellet เพื่อเหนี่ยวนำการสร้าง granuloma ส่วนการศึกษาฤทธิ์ลดไข้ใช้ brewer’s yeast เหนี่ยวนำให้เกิดไข้ เมื่อให้สารสกัดเปราะหอมขนาด 50,100 และ 200  มิลลิกรัม/กิโลกรัมทางปาก พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิด abdominal writhing ได้  42.75% ,59.57%  และ 70.60% ตามลำดับ และลดเวลาการเลียอุ้งเท้าบริเวณที่ฉีด formalin ในช่วงต้น  หรือ อาการปวดแบบเฉียบพลัน (early phase) ได้ 28.77%, 32.56% และ 53.48% และช่วงปลาย หรือระยะอักเสบ (late phase) ได้ 68.94%, 78.76% และ 78.50% ตามลำดับ สารสกัดทุกขนาดทำให้ระยะเวลาเริ่มการตอบสนองต่อความเจ็บปวดของสัตว์ทดลองเพิ่มขึ้น ทั้งใน hot plate และ tail flick tests โดยเริ่มตอบสนองต่อความเจ็บปวดที่เวลา 45 นาที เมื่อให้ naloxone (2 มก/กก) สามารถต้านฤทธิ์ระงับปวดของ morphine (5 มก/กก) และสารสกัด (200 มก/กก) ในการทดสอบ hot plate และ tail flick test ได้ ส่วนการทดลองเพื่อศึกษาฤทธิ์ในการลดไข้ พบว่าสารสกัดไม่มีฤทธิ์ในการลดไข้ เมื่อทดลองด้วยวิธีการฉีด brewer’s yeast เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดไข้ในหนูขาว ในการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลัน เมื่อให้สารสกัดเมทานอลเปราะหอม ขนาดสูงสุด 5 mg/kg  พบว่าไม่ทำให้สัตว์ทดลองตาย และไม่แสดงอาการความเป็นพิษจากสารสกัดเปราะหอม โดยสรุปสารสกัดเมทานอลจากเปราะหอม มีฤทธิ์ระงับปวดทั้งในระบบประสาทส่วนกลางระดับสมองและไขสันหลัง โดยสารสกัดออกฤทธิ์บางส่วนที่ opioid receptor และระบบประสาทส่วนปลาย จากผลการทดลองในการศึกษาในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สารสกัดเมทานอลของเปราะหอมมีฤทธิ์ระงับปวด และต้านการอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการลดไข้

             ฤทธิ์รักษาแผล การศึกษาฤทธิ์ในการรักษาแผลของสารสกัดเอทานอลของเปราะหอม ในแผลผ่าตัด (excision wound) แผลเปิดที่เกิดจากการตัดผิวหนังส่วน full thickness ออกไป (incision wound) และแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) การทดลองแบ่งสัตว์ทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ได้รับ 2 มล.ของ gum acacia 2% กลุ่มที่ 2 ได้รับสารสกัดเปราะหอม 300 mg/kg กลุ่มที่ 3 ได้รับยามาตรฐาน dexamethasone 0.17 mg/kg  กลุ่มที่ 4 ได้รับ dexamethasone 0.17 mg/kg และ สารสกัดเปราะหอม 300 mg/kg มีพารามิเตอร์ในการติดตามผลการทดลอง คือ การเพิ่มขึ้นของ breaking strength (incision wound; บ่งบอกถึงความแข็งแรงของแผล) การสร้างเซลล์เยื่อบุผิว การปิดของแผล (excision wound) การเพิ่มขึ้นของเนื้อเยื่อ (granulation tissue), breaking strength, hydroxyproline content (กลุ่มแผลที่มีเนื้อตาย) การสร้างคอลลาเจนที่แผล วัดจากปริมาณ hydroxyproline ผลการทดลองพบว่า กลุ่มแผล incision wound ที่ได้รับ dexamethasone มี breaking strength ลดลง แต่หากได้รับ dexamethasone ร่วมกับสารสกัดเปราะหอมจะมี breaking strengthเพิ่มขึ้น กลุ่มแผลผ่าตัดพบการเพิ่มขึ้นของเปอร์เซ็นต์การปิดของแผล เฉพาะกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเปราะหอม และลดระยะเวลาในการการสร้างเซลล์เยื่อบุผิว และในแผลทั้งสามประเภทนั้นพบว่าใช้ระยะเวลาในการหายของแผลเมื่อให้สารสกัดเปราะหอมเร็วกว่า dexamethasone

            ฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็ก น้ำเปราะหอมต้ม ความเข้ม 1:5 ทำให้กล้ามเนื้อเรียบของลำไส้เล็กหย่อนตัว และมีฤทธิ์ยับยั้งการหดตัวของลำไส้เล็กที่เนื่องจาก Ach และ Histamine ได้


การศึกษาทางพิษวิทยาของเปราะหอม

           การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเหง้าด้วยเอทานอล 50% โดยให้หนูกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (คิดเป็น 1,515 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนู ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ

           การศึกษาด้านพิษวิทยาของสารสกัดเปราะหอม โดยการศึกษาด้านการระคายเคืองต่อผิวหนัง โดยใช้สารสกัดเฮกเซนจากเหง้าเปราะหอม ปริมาณ 0.5 ml (ความเข้มข้น 250 mg/ml) ทาบนผิวหนังกระต่าย เป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วเช็ดออก จากนั้นสังเกตอาการบวม แดง ที่ผิวหนัง ตั้งแต่เวลา 30-60 นาที หลังให้สารทดสอบ และหลังจากนั้นอีก 24, 48, 72 ชั่วโมง พบว่าไม่เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังในช่วงเวลาที่ทดสอบ การทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดเอทานอลจากเหง้าเปราะหอม โดยให้สารสกัดขนาด 5 g/kg แก่หนูแรท ครั้งเดียว ไม่พบการตาย หรือ การเกิดพิษใดต่อร่างกาย รวมทั้งอวัยวะและเนื้อเยื่อ การทดสอบพิษกึ่งเฉียบพลัน โดยให้สารสกัดขนาด 25, 50 และ 100 mg/kg ทุกวัน เป็นเวลา 28 วัน ผลการศึกษาไม่พบความผิดปกติของน้ำหนักตัว อวัยวะ และเนื้อเยื่อ ค่าชีวเคมีในเลือด และระดับเอนไซม์ตับปกติ แต่การให้ในขนาด 50 และ 100 mg/kg พบว่าทำให้ระดับ lymphocyte (เม็ดเลือดขาว) ลดลง 


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจากรายงานการศึกษาทางพิษวิทยา และการทดสอบต่างๆ ไม่พบความเป็นพิษของเปราะหอม แต่ในการใช้เปราะหอมควรศึกษาข้อมูล และระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่น

เอกสารอ้างอิง เปราะหอม
  1. ณาตยา ธนะศิริวัฒนา, สุนิดา ณ ตะกั่วทุ่ง, ธนนันต์ ฐานะจาโร. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านจุลชีพของน้ำมันหอมระเหยจากเปราะหอม กระชายดำ และเฒ่าหนังแห้ง.โครงการพิเศษคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.1997.
  2. สุภิญญา ติ๋วตระกูล, สุปรียา ยืนยงสวัสดิ์, โสภา คำมี และ ลัทธยา อัศวจารุวรรณ.การศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันหอมระเหยจากเหง้าเปราะหอม. วารสารสงขลานครินทร์ ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.2548;27(Suppl 2):503-507.
  3. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2546. ประมวลผลงานวิจัยด้านพิษวิทยา ของสถาบันวิจัยสมุนไพร เล่ม 1.โรงพิมพ์การศาสนา:กรุงเทพมหานคร.
  4. Tara SV, Chandrakala S, Sachidananda A, Kurady BL, Smita S, Ganesh S. Wound healing activity of alcoholic extract of Kaempferia Galanga in wistar rats. Indian J Physiol Pharmacol.2006;50(4):384–390.
  5. วุฒิ วุฒิธรรมเวช.(2540). สารานุกรมสมุนไพร: รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
  6. Sookkongwaree K. HIV-1 reverse transcriptase inhibitors from family Zingiberaceae. Doctoral Philosophy in Chemistry. Bangkok, Chulalongkorn University; 2004.
  7. Kanjanapothi D, Panthong A, Lertprasertsuke N, Taesotikul T, Rujjanawate C, Kaewpinit D, et al. Toxicity of crude rhizome extract of Kaempferia galanga L. (Proh Hom). J Ethnopharmacology. 2004;90:359–365.
  8. Huang L, Yagura T, Chen S. Sedative activity of hexane extract of Keampferia galanga L. and its active compounds. J Ethnopharmacology. 2008;120:123-125.
  9. Sae-Wong C. Studies on analgesic, antipyretic and anti-inflammatory activities of methanol extract of Kaempferia galanga L. in experimental animals . Master degree (Pharmacology).  Songkla Province, Prince of Songkla University; 2007.
  10. เปราะหอมขาว, เปราะหอมแดง. กลุ่มยาขับประจำเดือน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ(ออนไลน์).เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herds/herbs_26_9.htm.
  11. เปราะหอม .ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewage&pid=154
  12. เปราะหอม.กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medthai.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5866