โรคอาร์เอสวี/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial virus infection)

โรคอาร์เอสวี/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial virus infection)

โรคอาร์เอสวี คืออะไร โรคอาร์เอสวี หรือโรคไวรัสอาร์เอสวี หรือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจอาร์เอสวี(Respiratory syncytial virus infection ย่อว่า RSV infection) เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสชื่อ Respiratory syncytial virusซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ร่างกายผลิตสารคัดหลั่งจำนวนมาก เช่น เสมหะ เป็นต้น เชื้อไวรัสนี้แพร่กระจายผ่านการไอหรือจาม โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการเบื้องต้นคล้ายเป็นหวัด คือ ปวดศีรษะ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล 

            สำหรับการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV, Respiratory Syncytial Virus) จะพบการติดเชื้อได้ตลอดทั้งปี ซึ่งโรคนี้จัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างในเด็กเล็กที่พบได้มากที่สุดโรคหนึ่ง โดยมีการคาดการณ์ว่าในเด็กอายุสองขวบทุกคนจะต้องเคยติดเชื้อชนิดนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง  จริง ๆ แล้วไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้ทางเดินหายใจอักเสบในผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่มักจะพบมากในเด็กเล็ก

            ทั้งนี้ เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus :RSV) พบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ 1955(พ.ศ.2498) ในลิงชิมแปนซีที่ป่วยด้วยอาการหวัดทั้งฝูง ทำให้มีชื่อเรียกว่า Chimpanzee Coryza Agent (CCA) ก่อนจุพบว่าสามารถติดต่อไปสู่คนได้ โดยสามารถแยกเชื้อได้จากเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปีที่มีอาการปอดบวมและเมื่อต้นปี พ.ศ. 2553 นิตยสารแลนเซต ประเทศอังกฤษ รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสRSV ว่า ทำให้เด็กเป็นปอดบวม หรือปอดอักเสบ เสียชีวิตปีละ 2 แสนราย ซึ่งร้อยละ 99 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว 33.8 ล้านคน ไวรัสอาร์เอสวีเป็นสาเหตุการตายของเด็กเล็กอันดับ 1 เฉพาะในอเมริกาเด็กเสียชีวิตปีละ 2,500 กว่าคน  สำหรับประเทศไทยนั้นมีรายงานว่าเฉพาะปี พ.ศ. 2552 มีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ราว 1 ใน 4 ติดไวรัสชนิดนี้ รวมกว่า 1 หมื่นราย

สาเหตุของโรคอาร์เอสวี  โรคอาร์เอสวี เกิดจากเชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus  (RSV) ซึ่งเป็นไวรัสในสกุล Pneumovirus และอยู่ในวงศ์ Paramyxoviridae โดยเป็นไวรัสที่พบในคน โดยมักพบอยู่ในโพรงหลังจมูก และจากการศึกษาพบว่าไวรัสนี้สามารถก่อโรคได้ในสัตว์หลายประเภท เช่น หนู แกะ เป็นต้น  โดยทั่วไปไวรัสอาร์เอสวีแบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย(Subtype) คือ ชนิด เอและชนิดบีโดยชนิดย่อย A, มักมีความรุนแรงสูงกว่าชนิดย่อย B   ไวรัสอาร์เอสวี ขณะอยู่ในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานปกติ ไวรัสนี้สามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้นานประมาณ 1 สัปดาห์ นับจากวันที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการ แต่หากอยู่ในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำจะแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้นานถึง 4 สัปดาห์

อาการของโรคอาร์เอสวี  ไวรัส RSV  ชนิดนี้มีระยะฟักตัวประมาณ 1– 6 วันหลังจากได้รับเชื้อ โดยส่วนมากมักไม่ค่อยแสดงอาการรุนแรงในผู้ใหญ่ อาการที่พบในผู้ใหญ่โดยทั่วไปมักคล้ายคลึงกับอาการของโรคหวัด คือ ปวดหัว มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ไอแบบไม่มีเสมหะ มีอาการคัดจมูก โดยอาการเหล่านี้มักหายได้เองใน 1–2 สัปดาห์  แต่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะมีอาการที่รุนแรงคือผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำมักก่อให้เกิดอาการรุนแรง นอกจากนี้ผู้ป่วยอีกกลุ่มที่พบการติดเชื้อโรคนี้ได้บ่อยและมีอาการรุนแรงคือ เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ โดยเฉพาะในเด็กทารกจะมีอัตราความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้โรคมีความรุนแรงสูง

ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจจะมีอาการเริ่มต้นเช่นเดียวกับอาการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนบนคือ มีอาการคล้ายหวัดธรรมดา แต่หลังจากนั้น 1–2 วันอาจจะมีอาการแสดงของการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างได้แก่ มีไข้ ไอรุนแรง หายใจลำบากโดยอาจมีอาการหายใจเร็ว หรือมีเสียงวี๊ดขณะหายใจ

ในเด็กเล็กซึ่งยังสื่อสารไม่ได้จะต้องอาจจะต้องอาศัยการสังเกตอาการ โดยในช่วงแรกจะมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ซึมลง และทานอาหารได้น้อย หลังจากนั้น 1–3 วัน จะมีอาการไอ มีไข้ หายใจลำบาก หายใจตื้น สั้นๆ เร็วๆ และอาจจะมีเสียงตอนหายใจด้วย ในรายที่อาการรุนแรงมากอาจมีอาการตัวเขียวหรือภาวะ cyanosis เกิดเนื่องมาจากการขาดออกซิเจนทำให้สีผิวออกม่วงๆ โดยมักจะเริ่มเห็นจากริมฝีปากหรือที่เล็บ นอกจากนี้แล้วการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีอาจจะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆที่พบมากคือ หูชั้นกลางอักเสบ (otitis media) หรือในภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่างอื่นๆ เช่น หลอดลมอักเสบหรือปวดบวมได้

กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคอาร์เอสวี

  • ผู้ที่มีภูมิคุ้นกันของร่างกายต่ำมาก
  • เด็กคลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะรายที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 35 สัปดาห์
  • ผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีโรคหัวใจ โดยเฉพาะชนิดที่มีความผิดปกติในการไหลเวียนเลือด ที่เรียกว่า Cyanotic heart disease
  • ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • เด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า 5 กิโลกรัม

แนวทางการรักษาโรคอาร์เอสวีโดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยโรคอาร์เอสวีจากลักษณะทางคลินิก เช่น ใช้เครื่องช่วยฟัง (Stethoscope) เพื่อฟังเสียงหวีดในระบบทางเดินหายใจ เสียงการทำงานของปอด หรือเสียงผิดปกติจากส่วนอื่น ๆ ในร่างกายและอาศัยการซักประวัติผู้ป่วยโดยวินิจฉัยจาก อายุผู้ป่วย ประวัติอาการโรค การระบาดในแหล่งที่พักอาศัย การระบาดในโรงเรียน เป็นต้น แต่ในบางกรณีถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจต้องวินิจฉัยแยกโรคจากการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น หรือจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จึงจะมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เช่น

  • วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry) เพื่อตรวจสอบระดับออกซิเจน
  • ตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว ตรวจหาไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ
  • เอกซ์เรย์หน้าอก เพื่อตรวจหาโรคปอดบวม
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่งในจมูก

ในปัจจุบันบางโรงพยาบาลอาจจะมีการตรวจยืนยันหาเชื้อด้วยวิธี RSV Rapid Ag-detection test ซึ่งได้ผลการทดสอบภายในไม่กี่ชั่วโมง   เนื่องจากโรค อาร์เอสวี เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสจึงทำให้ไม่มียารักษาอาการโดยเฉพาะ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ ยาขยายหลอดลม เป็นต้น ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการรุนแรง เช่น เหนื่อย หอบ มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำลง อาจมีการให้ยาพ่นขยายหลอดลม ร่วมกับการให้ออกซิเจน ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจจะต้องมีการใส่ท่อช่วยหายใจหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ นอกจากนี้อาจจะต้องมีการให้สารน้ำทดแทนเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำโดยเฉพาะในเด็ก ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้ออื่นๆ มักจะได้รับยาฆ่าเชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมตามอาการ

การติดต่อของโรคอาร์เอสวี การติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวีเกิดจากการติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจเช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เป็นต้น และไวรัสชนิดนี้สามารถทนอยู่นอกร่างกายได้หลายชั่วโมง ดังนั้นนอกจากการได้รับเชื้อผ่านการไอจามใส่กันแล้ว ยังสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสแล้วนำเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก ปากและเยื่อบุดวงตาได้ ภายหลังการได้รับเชื้อผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ตั้งแต่หลังติดเชื้อ 2–3 วันไปจนถึง 2–3 สัปดาห์ ดังนั้นในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการแสดงควรลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นโดยการใส่ผ้าปิดปาก ส่วนผู้ที่ต้องคลุกคลี่กับผู้ป่วยก็ต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆ รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเช่นกัน

การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรค อาร์เอสวี 

  • พักผ่อนให้เต็มที่ หยุดงาน หยุดโรงเรียน จนกว่าไข้จะลงปกติแล้ว 48 ชั่วโมง
  • ล้างมือบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำภ
  • แยกเครื่องใช้ต่างๆ จากคนในบ้าน
  • ไม่ไปในที่แออัด/ที่ชุมชน
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • กินอาหารมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่
  • กรณีที่พบแพทย์แล้ว ให้กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำจะช่วยทำให้สารคัดหลัง เช่น เสมหะ หรือน้ำมูก ไม่เหนียวจนเกินไป และไม่ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
  • นั่งหรือนอนในตำแหน่งที่หายใจได้สะดวก เช่น นั่งตัวตรง ไม่ห่อตัว ใช้หมอนที่ไม่นุ่มหรือแข็งเกินไป
  • ใช้ยาหยอดจมูก เพื่อช่วยลดอาการบวมของจมูก อาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและดูดน้ำมูกเพื่อทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น
  • ถ้าอาการต่างๆเลวลง ให้รีบไปโรงพยาบาล เช่น ไข้สูงขึ้น ไอมากขึ้น มีเสมหะมากขึ้น เสมหะเปลี่ยนเป็นสีอื่น เช่น เขียว น้ำตาล เทา

การป้องกันตนเองจากโรคอาร์เอสวี เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสในช่วงที่แพร่ระบาดได้มาก จึงต้องมีการป้องกันตนเองดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาด ล้างมือบ่อย ๆ เช่น ก่อนมื้ออาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
  • ทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะทิชชูที่ใช้แล้ว ควรทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด
  • ไม่ควรใช้แก้วน้ำร่วมกับผู้อื่น ควรใช้แก้วน้ำของตัวเอง และหลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำที่ผู้ป่วยใช้แล้ว
  • ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นหวัด โดยเฉพาะโรงเรียน หรือในที่ชุมชนที่มีคนหนาแน่น ในช่วงระบาดของโรค
  • เมื่อต้องอยู่ในอากาศที่หนาวเย็น ควรทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ

สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคอาร์เอสวี เนื่องจากโรคอาร์เอสวี เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสและสามารถติดต่อได้ทางสารคัดหลั่งของร่างกายโดยการ ไอ จาม รดกัน ซึ่งจะเกิดการฟุ้งกระจายของละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยซึ่งหากผู้ที่อยู่ใกล้ชิด สูดเอาละอองนั้นไปก็จะเกิดการติดต่อกันรวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ ที่ปนเปื้อนในสิ่งของต่างๆ ของผู้ป่วยด้วย ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุ,อาการ รวมถึงการติดต่อคล้ายกับโรคหวัดมาก นอกจากนั้นยังเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจเหมือนกันอีกด้วย ดังนั้นสมุนไพรที่จะช่วยป้องกัน/รักษาโรคอาร์เอสวีนั้น จึงเป็นสมุนไพรชนิดเดียวกันกับโรคหวัด (อ่านหัวข้อสมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/รักษาโรคหวัดในเรื่องโรคหวัด)

 

 

 

เอกสารอ้างอิง

  1. อาจารย์ ดร.ภก.ปิยทิพย์ ขันตยาภรณ์.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.ไวรัสร้ายของลูกน้อย.โรคอาร์เอสวี (RSV).ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ดร.นพ.นพพร อภิวัฒนากุล.ไวรัส RSV เชื้ออันตรายที่คล้ายไข้หวัด. Rama Channal. ภาควิชากุมรเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. Dawson-Caswell,M., and Muncle, JR, H. Am Fam Physician.2011;83(2):141-146
  4. Mayo Foundation for Medical Education and Research. Respiratory syncytial virus (RSV). [Accessed on July 2016] from: http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/respiratory-syncytial-virus/basics/definition/con-20022497.
  5. ไวรัส RSV-อาการ,สาเหตุ,การรักษา.พบแพทย์.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www”pobpad.com
  6. Krilov L.R. Respiratory Syncytial Virus Infection. [Accessed on July 2016] from: http://emedicine.medscape.com/article/971488-overview#showall.
  7. Falsey,A. et al. NEJM.2005;352(17): 1749-1762