ผักเป็ด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักเป็ด งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร  ผักเป็ด

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  ผักเป็ดขาว,ผักเป็นไทย(ทั่วไป),ผักเปียวแดง(ภาคเหนือ),บะอุ่ม,ผักหอม(ลั๊วะ,ไทยใหญ่),เหลียนจือเฉา,เจี๋ยฮวา(จีน)

ชื่อวิทยาศาสตร์Alternanthera sessilis (L.)R.Br.ex DC.

ชื่อสามัญSessile joyweed., Dwarf copperleaf.

วงศ์AMARANTHACEAE

ถิ่นกำเนิด  ผักเป็ดเป็นพืชในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลาง ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยคาดการณ์ว่าผักเป็ดได้เข้ามาในประเทศมานานมากแล้ว โดยมีหลักฐานในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.2516 บรรยายเกี่ยวกับผักเป็นเอาไว้ว่า "ผักเป็ด เป็นต้นโตกว่าผักเบี้ย มันขึ้นที่บก เขาเก็บมากินบ้าง เก็บมาทำยาบ้าง" ปัจจุบันผักเป็ดสามารถพบได้ทั่วประเทศ แต่จะพบมากในภาคกลางบริเวณที่ชื้นแฉะตามที่รกร้างทั่วไปหรือตามที่ชื้นข้างทางที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1,000 เมตร

ประโยชน์/สรรพคุณ  ผักเป็ดถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้

ในประเทศไทยมีการนำผักเป็ดมาใช้เป็นผัก หรือกินเป็นอาหารตั้งแต่อดีตแล้ว โดยนำมาปรุงอาหารหรือนำมาใช้เป็นผักสดสำหรับจิ้มน้ำพริกปลาร้า หรือนำไปชุบแป้งทอดนำมาจิ้มน้ำพริก ส่วนในประเทศศรีลักกา เกาะมาดากัสการ์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา และมาเลเซีย ก็มีการนำผักเป็ดมาใช้รับประทานเป็นผัก เช่นกัน นอกจากจะนำผักเป็ดมาเป็นอาหารของคนแล้วยังสามารถนำผักเป็ดมาใช้เป็นอาหารของสัตว์ได้ดี เช่น หมู วัว เป็ด ไก่ กระต่าย หรือนำมาผสมเป็นอาหารของปลาก็ได้ เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูง สำหรับสรรพคุณทางยาของผักเป็ดนั้น พบว่ามีสรรพคุณมากมาย โดยในตำรายาไทยตำรายาพื้นบ้านและตำรายาจีนได้ระบุถึงสรรพคุณของผักเป็ดเอาไว้ว่า ทั้งต้น และรากมีรสเอียนชุ่ม ขมเล็กน้อย ใช้เป็นยาดับพิษโลหิต ฟอกโลหิตประจำเดือน แก้ประจำเดือนขัดช่อง ขับน้ำนม แก้กำเดา และบำรุงโลหิต ทั้งต้นใช้แก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ แก้ไอ เจ็บคอ อาเจียนเป็นเลือด ใช้เป็นยาระบาย แก้ถ่ายเป็นเลือด ขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้บวมน้ำ ใช้พอกแผลฝี หนอง แก้ผดผื่นคัน ต้นและใบแก้อาการปวดหัวไมเกรน ขับเมือกในลำไส้ ทำให้เลือดหมุนเวียนดี แก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้พอกแผล

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้ 

  • ใช้ลดไข้ บำรุงสายตา แก้ท้องเสีย บำรุงน้ำนมหลังคลอด แก้ปวดเกร็งช่องท้อง แก้ช่องท้องอักเสบ แก้หลอดลมอักเสบ แก้หอบหืด แน่นหน้าอก โดยนำใบผักเป็ดมารับประทาน หรือนำมาต้มน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ไอ เจ็บคอ อาเจียนเป็นเลือด ขับปัสสาวะ แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้บวมน้ำ โดยนำทั้งต้นแห้ง 15-35 กรัมมาต้มกับน้ำดื่ม หากเป็นต้นสดใช้ 70-100 กรัม นำมาตำหรือคั้นเอาน้ำรับประทาน
  • ใช้แก้ปวดไมเกรน ขับเมือกในลำไส้ ช่วยให้เลือดหมุนเวียนดี โดยนำต้นและใบมาต้มกับน้ำดื่ม ถ่ายเป็นเลือด
  • ใช้แก้การโดยใช้ต้นสดผสมกับจุ๋ยหงู่ซิก เหลาะตี้จินเซียน อย่างละ 60 กรัม นำไปตุ๋นรวมกันกับเนื้อหมูรับประทาน
  • ใช้แก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อยจ โดยใช้ต้นสด 100 กรัม นำมาตำให้พอแหลกผสมกับเหล้าโรงเล็กน้อย คั้นเอาน้ำรับประทานส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบาดแผล
  • ใช้แก้พิษฝี มีหนอง แก้ผดผื่นคัน โดยนำต้นสดตำพอกหรือต้มเอาน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไป ผักเป็ดจัดเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนขนาดเล็ก อายุปีเดียวลำต้นมีสีแดงและสีขาวอมเขียวตั้งตรงหรืออาจเลื้อยก็แล้วแต่สภาพแวดล้อม โดยลำต้นมีความสูงประมาณ 10-19 เซนติเมตร ตามข้อของลำต้นจะมีรากและระหว่างข้อต่อมีร่องและมีขนปกคลุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน บริเวณข้อของลำต้น ใบมีขนาดกว้าง 0.2-2 เซนติเมตร ยาว 1-8 เซนติเมตร ลักษณะของใบมีรูปร่างไม่แน่นอน ซึ่งมักจะขึ้นอยู่กับสภาพดิน และสภาพแวดล้อม โดยจะมีทั้งใบแคบ ยาว เรียว ปลายแหลม หรือปลายมน หรืออาจมีใบเป็นรูปไข่กลับก็ได้ แผ่นใบบางเป็นมันเงามีสีเขียว ขอบใบเรียบหรือเป็นหยักเล็กน้อย ไม่มีก้านใบหรือมีแต่จะขนาดสั้นมาก ดอกออกเป็นช่อกลมๆ ขนาดเล็กบริเวณง่ามใบ ช่อดอกยาว 0.5-1 เซนติเมตร โดยในช่อดอกหนึ่งจะมีดอกย่อย 1-4 ดอก ลักษณะของดอกย่อยจะมีกลีบดอก สีขาวหรือสีม่วงแดงจำนวน 5 กลีบ มีเกสรเพศผู้ 3 ก้านและเกสรเพศเมีย 1 ก้าน ซึ่งในแต่ละกลีบดอกจะมีใบเป็นเยื่อบางๆ สีขาว 2 อัน ผลเป็นผลแห้งขนาดเล็กมากพบอยู่ในดอกลักษณะเป็นรูปไตหรือรูปหัวใจกลับ มีขนาดกว้างประมาณ 2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร

การขยายพันธุ์  ผักเป็ดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันไม่นิยมนำผักเป็ดมาปลูกหรือขยายพันธุ์เนื่องจากผักเป็ดจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เพราะมีความแข็งแรงทนทานและขยายพันธุ์ได้เองอย่างรวดเร็ว ทั้งบนบกและในน้ำตื้นๆ หรือหากมีมากอาจเกาะกันเป็นกอสวะลอยน้ำได้เช่นเดียวกับผักตบชวาหรือผักบุ้ง ดังนั้นการขยายพันธุ์ผักเป็ดจึงเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติเท่านั้น ทั้งนี้ผักเป็นจัดเป็นพันธุ์ไมกลางแจ้งชอบแดดจัด แต่ก็ชอบดินร่วนที่มีความชื้นแฉะ และยังสามารถขึ้นในที่น้ำขังในระดับตื้นได้

องค์ประกอบทางเคมี  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของใบผักเป็ดและสารสกัดจากใบของผักเป็ดพบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น ส่วนใบของผักเป็นพบสาร 3β-Oβ-Dglucopyranosyluronic, 2β-Oβ-Dglucopyranosyloleanolic acid, stigmasterol และ βsitosterol β-carotene, ricinoleic acid, myristic  acid, palmitic, stearic, oleic and linoleic acids, α-spiraterol and uronic acid, cycloeucalenol, choline, oleanolic acid, lupeol, campesterol , ferulic acid, catechin, vanillic acid, and epigallocatechin, gallic acid และ chlorogenic acid ส่วนสารสกัดจากส่วนใบพบสาร  saponin, flavonoids,  stigmasterol, beta-sitosterol, betacarotene iron,-catechin, rutin, ellagic acid และ quercetin เป็นต้น นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบยังพบสาร  1,1,1,5,5,5-hexamethyl-3,3-bis[trimethylsilyl)oxy]trisiloxane (15.43%), S,S-dioxide trans-2-methyl-4-Npentylthiane (11.27%), didodecylphthalate (10.62%) และ tetrahydro-2,5-dimethoxy furan (10.01%)

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา ของสารสกัดจากส่วนต่างๆของผักเป็ด ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

มีรายงานผลการศึกษาระบุว่า สารสกัดเอธานอลของ ผักเป็น มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ 70% ในการทดสอบการต้านอนุมูลอิสระแบบ DPPH  และมีรายงานฤทธิ์ต้านการอักเสบในสัตว์ทดลองของสารสกัดของผักเป็ด พบว่าสารสกัดจากใบผักเป็ดในขั้นคลอโรฟอร์มา 200 mg/kg ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีที่สุด และยังพบว่าสารสกัดเหนือดินชั้นน้ำและเอทานอล 125-500 mg/kg มีฤทธิ์ต้านเบาหวาน อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยทดสอบสารสกัดเมทานอลด้วยวิธี  phosphomolybdate ได้สูงสุดที่ 12.044 mM เมื่อเทียบกับ ascorbic acid ต่อกรัมของสารสกัด และ DPPH (IC50 587.093 ug/mL) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าส่วนผสมของสารไดแอสเทอริโอเมอร์ของไอโอโนนที่พบในสารสกัดจากส่วนเหนือดินของผักเป็ดยังมีฤทธิ์ต้านจุลชีพต่ำต่อเชื้อ Pseudomonas aeruginosa และ Trichophyton mentagrophytes อีกด้วย

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา  มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของผักเป็นระบุว่า เมื่อให้สารสกัดน้ำจากส่วนเหนือดินของ ผักเป็ดในหนูสวิสทางปาก ในปริมาณวันละ 16.9 มก. 33.8 มก. และ 67.7 มก.ติดต่อกัน เป็นเวลา 14 วัน พบว่าไม่ก่อให้เกิดอาการพิษรุนแรง ยกเว้นอาการท้องร่วงในสัตว์หนึ่งตัว ในกลุ่มที่ได้รับปริมาณสูง และสารสกัดดังกล่าวยัง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาในเนื้อเยื่อตับและไต มีการเสื่อมของเซลล์ตับในระดับปานกลางถึงรุนแรง และมีการเสื่อมของเซลล์ท่อไตในระดับปานกลาง

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง  แพทย์แผนโบราณของไทยจะนิยมเก็บยอดผักเป็ดก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และจะเลือกเก็บเฉพาะต้นที่ดอกยังไม่แก่ เนื่องจากหากดอกแก่สารอาหารในต้นและในใบจะมีน้อย และดอกจะดึงสารอาหารมาใช้ในการสร้างเมล็ด สำหรับการใช้ผักเป็ดเป็นสมุนไพรนั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

อ้างอิงผักเป็ด

  1. มาโนช วามานนท์,เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ.ในผักพื้นบ้าน.ความหมายและภูมิปัญญาของสามัญชนไทย.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข.2538,.133.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.ผักเป็ด,หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย.ฉบับพิมพ์ครั้งที่5.หน้า503-504
  3. เดชา ศิริภัทร.ผักเป็ด:ผักสามัญที่ไม่ไร้ความสำคัญ.คอลัมน์พืช.ผัก-ผลไม้.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่248.ธันวาคม2542.
  4. อุทัย สินธุสาร.ในสมุนไพรร้านเจ้ากรมเป๋อ,กรุงเทพฯ.2545,186-187.
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์.ผักเป็นขาว.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน.ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า352.
  6. นาฎศจี นวลแก้ว.โครงการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดจากผักพื้นบ้านไทย.รายงานการวิจัยสมบูรณ์.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ตุลาคม2556.245หน้า
  7. Tanaka, Y.; Van Ke, N. Edible Wild Plants of Vietnam: The Bountiful Garden. Thailand: Orchid Press. 2007, p. 21.
  8. Quattrocchi U. CRC world dictionary of medicinal and poisonous plants: Common names, scientific names, eponyms, synonyms, and etymology. Volume I A-B. Boca Raton, Florida: CRC Press, 2012; p. 219-219.
  9. Walter, T.M.; Merish, S.; Tamizhamuthu, M. Review of Alternanthera sessilis with reference to traditional Siddha medicine. Int. J. Pharmacog. Phytochem. Res. 2014, 6, 249-254.
  10. Ragasa, C.Y.; Tremor, N.; Redeont, J.A. Ionone derivatives from Alternanthera sessilis. J. Asian Nat. Prod. Res. 2002, 4, 109-115
  11. Güzel, Y. A new invasive weed record for Turkey: Alternanthera sessilis (Amaranthaceae) . Plant Prot. Bull., 2017, 57, 1, 65–72,.
  12. Igoli JO, Ogaji OG, Tor-Anyiin TA, Igoli NP. Traditional medicine practice amongst The Igede People of Nigeria. Our Nature. 2005;2(2):134-152.
  13. Vani, M.; Rahaman, S.K.A.; Rani, A.P. Detection and quantification of major phytochemical markers for standardization of Talinum portulacifolium, Gomphrena serrata, Alternanthera sessilis and Euphorbia heterophylla by HPLC. Pharmacog. J. 2018, 10, 439-446.
  14. Acharya E, Pokhrel B. Ethno-medicinal plants used by Bantar of Bhaudaha, Morang, Nepal. Our Nature. 2006;4(1):96-103.
  15. Khan, M.S.; Yusufzai, S.K.; Kaun, L.P.; Shah, M.D.; Idris, R. Chemical composition and antioxidant activity of essential oil of leaves and flowers of Alternanthera sessilis red from Sabah. J. App. Pharm. Sci. 2016, 6, 157- 161
  16. Kapundu, M.; Lami, N.; Delaude, C. Analysis of saponin from Alternanthera sessilis. Bull. Soc. Roy. Sci. Liege. 1986, 55, 605-606
  17. Gupta, R.; Singh, H.K. Detection and quantification of gallic acid in Alternanthera sessilis and Clerodendrum infortunatum by HPTLC. Int. J. Pharm. Pharmacol. 2016, 4, 467-471.