ถอบแถบเครือ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
ถอบแถบเครือ งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ
ชื่อสมุนไพร ถอบแถบเครือ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขางขาว, ขางน้ำครั่ง, เครือไหลน้อย,ขี้อ้ายเครือ(ภาคเหนือ),เครือหม้วย (ภาคอีสาน),กะลำเพาะ,ทอบแทบ(ภาคกลาง),ลาโพ,หมากสง(ภาคใต้),ลำเพาะ,ตองตีน(ภาคตะวันออก)
ชื่อวิทยาศาสตร์Connarus semidecandrus Jack.
วงศ์ CONNARACEAE
ถิ่นกำเนิด ถอบแถบเครือจัดเป็นพืชในวงศ์ถอบแถบ(CONNARACEAE)ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียโดยมีเขตการกระจายพันธุ์ใน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่รกร้างว่างเปล่า ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ และตามป่าผลัดใบหรือตามริมฝั่งแม่น้ำ ที่มีความสูงเท่ากับระดับน้ำทะเลจนถึง 1000 เมตร
ประโยชน์/สรรพคุณ ถอบแถบเครือสามารถนำมาใช้รับประทานได้โดยมีการนำยอดอ่อนที่มีรสมันฝาดเล็กน้อย มารับประทานเป็นผักสดกับลาบ ก้อย หรือนำมาลวกรับประทานร่วมกับน้ำพริกก็ได้เช่นกัน เช่นเดียวกันกับประเทศอินโดนีเซียที่นำใบอ่อนและยอดอ่อนของถอบแถบเครือมารับประทานเป็นผักสด สำหรับสรรพคุณทางยาของถอบแถบเครือนั้นตามตารายาไทย และตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณทางยาของถอบแถบเครือเอาไว้ว่า ทั้งต้นมีสรรพคุณใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ใช้เป็นยาระบาย ขับพยาธิ ใช้เป็นยาแก้พิษต้านซาง ถ่ายเสมหะ รากมีรสเอียนเบื่อ ใช้ถ่ายเสมหะ แก้อัมพฤกษ์ แก้หิด เปลือก(เปลือกเถา) รสเบื่อ ใช้แก้ปวดท้อง ใบใช้แก้ท้องผูก แก้เจ็บหน้าอก ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ส่วนในฟิลิปปินส์ ใช้รากต้มดื่มแก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ใช้เป็นยาบำรุงมดลูก และในกัมพูชาใช้รากรักษากาฬโรค เป็นต้น
รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง เป็นยาพิษตานซาง ตานขโมย แก้ไข้ ถ่ายเสมหะ ขับพยาธิ ใช้เป็นยาระบาย โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ไข้ ถ่ายเสมหะ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ท้องผูก แก้เจ็บหน้าอก โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อัมพฤกษ์โดยนำรากถอบแถบเครือมาต้มร่วมกับรากกะตังใบแล้วนำน้ำที่ได้มาดื่ม
- ใช้แก้ปวดท้องโดยนำเปลือกเถามต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้หิดโดยนำรากสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยนำใบมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผล
ลักษณะทั่วไป ถอบแถบเครือจัดเป็นไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น โดยเป็นไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็กถึงใหญ่ สามารถเลื้อยขึ้นพาดพันไม้อื่นสูงได้ 2-6 เมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาลผิวค่อนข้างเรียบหรืออาจเป็นตุ่มเล็กๆ ทั่วทั้งเถา กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงสลับบริเวณปลายกิ่งโดยในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อย 3-7 ใบ ใบย่อยมีขนาดกว้าง 2-9 เซนติเมตร ยาว 4-25 เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรูปรียาวหรือรูปใบหอก โคนใบมนสอบแคบปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้มค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนังและเป็นมัน หลังใบเรียบลื่น ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่าหลังใบ ใบเรียบเป็นมันและเส้นใบมี 4-12 คู่ ดอกออกเป็นช่อบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง โดยช่อดอกมีความยาวมากถึง 35 เซนติเมตร และในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก ดอกเป็นกระจุก ดอกย่อยมีขนาดเล็กมีกลีบดอก 5 กลีบ สีขาวและเปลือกเป็นสีขาว น้ำตาล เมื่อดอกแก่กลีบดอกเป็นรูปหอกหรือรูปขอบขนานแคบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอกมีเกสรยื่นออกมกและมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นรูปไข่หรือรูปรี ปลายทู่หรืออาจแหลม ด้านในเกลี้ยง ด้านนอกมีขนนุ่ม ผลมีลักษณะเป็นกระเปาะสั้น ไม่มีเนื้อ ทรงกระบอกเบี้ยว มีสันเล็กน้อย กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 1.5-3.5 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงติดคงทน เปลือกผลค่อนข้างบาง ผิวผลด้านนอกเรียบเกลี้ยง ด้านในมีขนนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม และเมื่อผลแก่จัดจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มสีเหลืองอมส้มที่โคนเมล็ดส่วนตัวเมล็ดมีสีดำ ผิวเรียบมัน
การขยายพันธุ์ ถอบแถบเครือสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมคือการปักชำ เนื่องจากเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย และต้นพันธุ์จะเจริญเติบได้เร็วกว่าการเพาะเมล็ด สำหรับวิธีการปักชำและการปลูกถอบแถบเครือนั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปักชำและการปลูกไม้เถาเลื้อยชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวถึงมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดเอทานอลจากทุกสส่วนของถอบแถบเครือ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น Ethanol, 2-(1-methylethoxy), acetate , Acetic acid , Trehalose , Dihydroxyacetone, Glycerin , Maltol ,2,6-Dimethoxyhydroquinone , 5-Hydroxymethylfurfural,1,2,3-Propanetriol, 1-acetate,2-Propanone, 1-hydroxy,Glyceraldehyde,2-Furanmethanol, Benzoic acid ,Catechol และ 2-Pyrrolidinone เป็นต้น
การศึกษาวิจับทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากทุกส่วนของถอบแถบเครือระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านผมร่วง ของสารสกัดเอทานอลจากส่วนเหนือดินของถอบแถบเครือ พบว่าสารสกัดดังกล่าวช่วยลดการแสดงออกของ androgenic receptor. และช่วยยับยั้งการตายของเซลล์ผม ด้วยการเพิ่มการแสดงออกของ Bcl-2 ในระดับ mRNA และโปรตีน อีกทั้งในการทดลองแบบ in vitro สารสกัดดังกล่าวยังมีผลยับยั้งกิจกรรมของ 5-α reductase และการแพร่กระจายของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารสกัดจากส่วนต่างของถอบแถบเครือยังมีฤทธิ์ ลดน้ำตาลในเลือด ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง และมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง สำหรับการใช้ถอบแถบเครือเป็นยาสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
อ้างอิงถอบแถบเครือ
- พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ.ถอบแถบเครือ.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ.หน้า118.
- วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, วิชิต เปานิล, รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ. สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. ใน: วงศ์สถิตย์ ฉั่วกุล, พร้อมจิต ศรลัมพ์, วิชิต เปานิล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.กรุงเทพมหานคร. อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จํากัด (มหาชน), 2539: น.1-262
- ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม.ถอบแถบเครือ.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย.ฉบับพิมพ์ครั้งที่5.หน้า324-325.
- วงศ์สถิต ฉั่วกุล.สมุนไพรพื้นบ้านแก้อัมพฤกษ์และอัมพาต.วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพปีที่5ฉบับที่3.กรกฎาคม-กันยายน2553.หน้า193-200.
- ดร.นิจศิริ เรืองรังสี ธวัชชัย มังคละคุปต์.ถอบแถบเครือ (Thopthaep Khruea)หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม1.หน้า135.
- Wantana, R.; Subhadhirasakul, S.; Kritawan, M.; Kaesorn, N.; Gomol, R.; Hiromitsu, T. Antipyretic activity of Connarus semidecandrus extract in rats. Songklanakarin J. Sci. Technol. 2000, 22, 191–198.
- Nunes Alves Paim, L.F.; Patrocínio Toledo, C.A.; Lima da Paz, J.R.; Picolotto, A.; Ballardin, G.; Souza, V.C.; Salvador, M.; Moura, S. Connaraceae: An updated overview of research and the pharmacological potential of 39 species. J. Ethnopharmacol. 2020, 261, 112980.
- Vidal JE. Connaraceae. In: Smitinand T, Larsen K (eds.). Flora of Thailand, Vol. 2 Part 2. Bangkok. Chutima Press, 1972: pp.25-26.
- Junsongduang, A.; Kasemwan, W.; Lumjoomjung, S.; Sabprachai, W.; Tanming, W.; Balslev, H. Ethnomedicinal knowledge of traditional healers in Roi Et, Thailand. Plants 2020, 9, 1177.
- Rideley, H.N. The flora of the Malay Peninsula. Nature 1923, 111, 6–7.