โคลงเคลงขน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โคลงเคลงขน งานวิจัยและสรรพคุณ 9 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โคลงเคลงขน

ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น  โคลงเคลงญวน(ทั่วไป), พญารากขาว (ภาคกลาง), เอ็นอ้า(ภาคอีสาน) ,ม่ายะ(ภาคตะวันออก),มังเคร่ช้าง,เหร,เบร์, มะเร,กะเร(ภาคใต้)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Melastoma saigonens (Kuntae) Merr.

ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Melastoma villosum Aubl., Desmoscelis villosa(Aubl.) Naudin

ชื่อสามัญIndian rhododendron , Malabar melastome

วงศ์ MELASTOMA TACEAE

ถิ่นกำเนิด  โคลงเคลงขนจัดเป็นพืชในวงศ์โคลงเคลง (MELASTOMA TACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นใน ไทย พม่า เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และกัมพูชา สำหรับในประเทศพบได้ในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคอีสานและภาคใต้ บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าละเมาะทั่วไป รวมถึงที่ดอนและแหล่งป่าชายเลนเสื่อมโทรมที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจึงถึง  200 เมตร

ประโยชน์/สรรพคุณ โคลงเคลงขนถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยในตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณของโคลงเคลงขนเอาไว้ว่า

  • ราก : มีรสขม ใช้บำรุงธาตุ บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงตับและน้ำดี เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยให้เจริญอาหาร ใช้ดับพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด
  • ใบ : ใช้แก้บิด มวนท้อง แก้ท้องร่วง แก้ระดูขาวในสตรี
  • ดอก : ใช้เป็นยาระงับประสาท ใช้ห้ามเลือดในผู้ป่วย ริดสีดวงทวาร

รูปแบบ/ขนาดวิธีใช้

  • ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ บำรุงตับไตและน้ำดี แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยเจริญอาหาร เพิ่มภูมิต้านทานโรค ใช้ดับพิษไข้ แก้ร้อนในกระหายน้ำ โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือดโดยนำรากโคลงเคลงขนมาผสมกับรากตับเต่าต้น และหญ้าชันกาดทั้งต้นแล้วนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้คอพอกโดยนำรากโคลงเคลงขน นำมาต้มกับข้าวสารเจ้า ใช้กินครั้งเดียวนวันข้างแรม
  • ใช้แก้ท้องร่วง แก้โรคบิด แก้ระดูขาวในสตรี โดยนำใบสดมาตำหรือคั้นเอาน้ำรับประทาน หรือจะนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้

ลักษณะทั่วไป  โคลงเคลงขนจัดเป็นไม้พุ่ม ทรงพุ่มแน่นทึบ แตกกิ่งก้านสาขามากในระดับต่ำ ลำต้นตั้งตรง สูงได้ประมาณ 1-4 เมตร แตกกิ่งมาก เปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมม่วงเปลือกบางเรียบ ยอดอ่อนและกิ่งก้านสีน้ำตาลแดงและจะมีขนละเอียดสีน้ำตาลอ่อนยาวขึ้นปกคลุมหนาแน่น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามตามกิ่งก้าน ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอก หรือรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 2-3 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร โคนใบสอบโค้งมนปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียว ด้านล่างสีซีดกว่ามีขนนุ่มละเอียดทั้งสองด้าน บนเส้นใบมี 3 เส้น แตกออกจากโคนใบไปจรดปลายใบ และมีก้านใบยาว 0.4-0.8 เซนติเมตรมีขนขึ้นปกคลุม ดอกออกเป็นดอกช่อ กระจุกขนาดใหญ่บริเวณปลายกิ่ง ใน 1 ช่อดอกจะประกอบไปด้วยดอกย่อย 3-6 ดอก ดอกย่อยจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 เซนติเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบสีชมพูหรือสีม่วงและมีขนขึ้นปกคลุม ดอกมีเกสรตัวผู้ 10 อัน(ยาว 5 อัน สั้น 5 อัน) ผลเป็นผลสด และเป็นผลเดี่ยว ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนขึ้นปกคลุมผลอ่อนมีสีน้ำตาลอมเขียว เมื่อแก่เป็นสีม่วง ส่วนเนื้อในผลเป็นสีม่วง เมื่อผลแก่จะแตกออกตามขวางอย่างไม่เป็นระเบียบ ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมากนน็็้ฯ

การขยายพันธุ์ โคลงเคลงขนสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันไม่พบความนิยมนำโคลเคลงขนมาเพาะปลูกตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ ดังนั้นการขยายพันธุ์ของโคลงเคลงขนในปัจจุบัน จึงเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์ ซึ่งในธรรมชาติจะอาศัยผลของโคลงเคลงขนที่ร่วงหล่นหรือสัตว์มากินผลสุกแล้วถ่ายมูลออกมาทำให้เมล็ดเจริญเป็นต้นใหม่ สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกโคลงเคลงขนนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือ ดินของโคลงเคลงขนระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดดังนี้  naringinin, betulinic acid, catechin , rutin , luteolin , sinapic acid, gallic acid , ferrulic acid, syringic acid, caffic  acid, quercetin, kaempferol, kaempferol-3-O-D-glucoside, และ kaempferol-3-O-(2′′,6′′-diO-p-trans-coumaroyl)glucoside เป็นต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของโคลงเคลงขน พบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ยับยั้งการเกิดโรคเบาหวานในหลอดทดลอง ของสารสกัดจากเมล็ดของโคลงเคลงขนพบว่าสารสกัดหยาบที่ใช้เอทิลอะซีเตต (EA) บิวทานอล (BU) และสุดท้ายสารสกัดน้ำ (AQ) แสดงผลการยับยั้ง α-กลูโคซิเดสที่รุนแรงโดยมีค่า IC50 อยู่ในช่วง 4.42-11.95 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และมีการศึกษาฤทธิ์การยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในอาหาร 3 สายพันธุ์ คือ S. aureus, B.cereus และ E.coli จากสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของโคลงเคลงขน โดยได้ทำการทดสอบด้วยวิธี Agar well diffusion พบว่าสารสกัดจากส่วนผลก้าน และราก สามารถยับยั้งเชื้อ S.aureus ได้ ส่วนสารสกัดเอทานอลจากใบของโคลงเคลงขน ยังแสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดในหนูทดลองที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญ

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา  ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง  สำหรับการใช้โคลงเคลงขนเป็นยาสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด/ปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

อ้างอิงโคลงเคลงขน

  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี.ธวัชชัย งคละคุปต์ .โคลงเคลง(Klong Khleng)หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม.1.หน้า87.
  2. อนุวัตร ไทรทอง,มัณฑนา นวลเจริญ.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่2549,42-43.
  3. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.โคลงเคลงขน หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.หน้า151
  4. D. Susanti, H.M. Sirat, F. Ahmad, R.M. Ali, N. Aimi, and M. Kitajima, Food Chem., 103, 710 (2007); https://doi.org/10.1016/j.foodchem.2006.09.011.
  5. K. Balamurugan, A. Nishanthini and V.R. Mohan, Asian Pac. J. Trop. Biomed., 4, S442 (2014); https://doi.org/10.12980/APJTB.4.2014C122.
  6. F.H. Kamisan, F. Yahya, N.A. Ismail, S.S. Din, S.S. Mamat, Z. Zabidi, W.N.W. Zainulddin, N. Mohtarrudin, H. Husain, Z. Ahmad and Z.A. Zakaria, J. Acupunct. Meridian Stud., 6, 52 (2013); https://doi.org/10.1016/j.jams.2012.08.002.
  7. N.A. Roslen, N.A.M. Alewi, H. Ahamada and M.S.B.A. Rasad, Asian Pac J. Trop Biomed., 4, 545 (2014); https://doi.org/10.12980/APJTB.4.2014C658.