เห็ดกระถินพิมาน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เห็ดกระถินพิมาน งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เห็ดกระถินพิมาน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เห็ดพิมาน, เห็ดเกือกม้า, เห็ดตีนหมี (ไทย), ซางฮวง, ซองเจน (จีน), ซางฮวาง (เกาหลี), มิชิม่าโกมุ (ญี่ปุ่น)
ชื่อวิทยาศาสตร์ ความจริงแล้วเห็ดกระถินพิมานเป็นชื่อของกลุ่มเห็ดที่ส่วนใหญ่อยู่ในสกุล Phollinus โดยมีรายงานว่าสามารถจัดจำแนกเห็ดในกลุ่มนี้ได้ถึง 287 สกุล (genera) 310 ชนิด (species) 6 ชนิดย่อย (subspectes) 42 วาไรตี้ (variety) และ 69 ฟอร์ม (formas) แต่เห็ดกระถินพิมานที่มีการใช้เป็นยาอยู่ก็มีไม่น้อยกว่า 20 ชนิด แต่ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง 2 ชนิด ที่เป็นที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ เป็นยาสมุนไพรในปัจจุบัน คือ 1.ชนิด Phellinus rimosus (Berk.) Pilat 2.ชนิด Phellinus linteus (Berk.& M.A. curtis) Teng.
วงศ์ HYMENOCHAE TACEAE


ถิ่นกำเนิดเห็ดกระถินพิมาน

สำหรับถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของเห็ดกระถินพิมานนั้นเชื่อกันว่าอยู่บริเวณเขตอบอุ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ได้แก่ ในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เนื่องจากมีหลักฐานบันทึกการใช้ประโยชน์จากเห็ดกระถินพิมานในการบำรุงสุขภาพและเป็นยามานานกว่า 2,000 ปี แต่ในปัจจุบันสามารถพบเห็ดกระถินพิมาน ได้ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบเห็ดกระถินพิมานได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศโดยมักจะพบขึ้นอยู่บนต้นกระถินพิมาน รวมถึง ไม้ในวงศ์ขนุน วงศ์ไม้ยาง “วงศ์ถั่ว” ในป่าดิบเขาและป่าดิบแล้งที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูง


ประโยชน์และสรรพคุณเห็ดกระถินพิมาน

  1. ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
  2. แก้พิษไข้กาฬ
  3. แก้เริม
  4. แก้งูสวัด
  5. แก้ไฟลามทุ่ง
  6. แก้ดับพิษฝี
  7. แก้อักเสบ
  8. แก้ปวด
  9. แก้พิษในหู
  10. แก้แผลเน่าแผลเปื่อย น้ำเหลืองเสีย
  11. ใช้แก้เบาหวาน
  12. ช่วยปรับธาตุ
  13. ช่วยลดความดันโลหิต
  14. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ
  15. ใช้เป็นยาปรับสมดุลของร่างกาย
  16. ช่วยฟอกโลหิต
  17. รักษาอาการปวดท้องและรักษาอาการท้องร่วงเรื้อรัง
  18. ใช้ฟอกเลือดของสตรีและสร้างพลังงานให้กับอวัยวะภายใน
  19. รักษาหลอดเลือดอุดตัน
  20. รักษาอาการอักเสบของผิวบริเวณต่อมไขมัน
  21. แก้ตกเลือด
  22. แก้อาการอักเสบในระบบย่อยอาหาร ลำไส้ใหญ่และส่วนของไส้ตรง
  23. แก้อาการบวมที่อัณฑะและรังไข่
  24. แก้อาการบวมของอวัยะภายใน
  25. แก้อาการกล้ามเนื้อตึงบริเวณหน้าท้องรอบสะดือ
  26. ใช้แก้อาการน้ำลายไหลไม่หยุดในเด็ก
  27. รักษาอาการท้องเสีย
  28. รักษามะเร็งในช่องปาก
  29. รักษาเนื้องอกในสมอง
  30. รักษามะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก
  31. ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง
  32. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

           นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการใช้เห็ดกระถินพิมานเป็นยาสมุนไพรอาทิเช่น

           ในประเทศจีนมีการใช้เห็ดกระถินพิมานในตำรายาจีนโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นกล่าวไว้ว่าเห็ดกระถินพิมาน จัดเป็นเห็ดในกลุ่มสมุนไพรชั้นสูง ใช้เป็นยาปรับสมดุลของร่างกาย ฟอกโลหิต รักษาอาการปวดท้องและรักษาอาการท้องร่วงเรื้อรัง ส่วนในตำรา Ben Cao Gang Mu ระบุว่าเห็ดกระถินพิมาน เป็นเห็ดที่มีคุณสมบัติเป็นยาเย็นไม่มีพิษ มีประสิทธิภาพในการกำจัดพิษได้ปานกลาง ใช้ฟอกเลือดของสตรีและสร้างพลังงานให้กับอวัยวะภายใน

           ในเกาหลีมีการใช้เห็ดกระถินพิมานชงดื่มเป็นชาบำรุงกำลังและใช้ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น หลอดเลือดอุดตัน อาการอักเสบของผิวบริเวณต่อมไขมัน ตกเลือด แก้อาการอักเสบในระบบย่อยอาหาร ลำไส้ใหญ่และส่วนของไส้ตรง อาการบวมที่อัณฑะและรังไข่ อาการบวมของอวัยะภายในและอาการกล้ามเนื้อตึงบริเวณหน้าท้องรอบสะดือ

           ในอินเดียมีการใช้เห็ดกระถินพิมาน ลดอาการปวดแสบปวดร้อน เจ็บข้อมือ แก้ปวดหัว รักษาอาการผิดปกติที่ฟัน ลิ้นและลำคอ ใช้แก้อาการน้ำลายไหลไม่หยุดในเด็ก รักษาอาการท้องเสีย รักษามะเร็งในช่องปาก รักษาเนื้องอกในสมอง มะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษไข้กาฬ แก้น้ำเหลืองอักเสบ โดยฝานเห็ดกระถินพิมานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำมาต้มกับน้ำโดยใช้ไฟอ่อน ประมาณ 1-8 ชั่วโมง กรองเอาเฉพาะน้ำดื่มตอนท้องว่างช่วงเช้าหลังตื่นนอน หรือ ดื่มก่อนนอน โดยหากเป็นช่วงเช้าให้ดื่มก่อนอาหาร 30 นาที ในกรณีที่เป็นโรคกระเพาะให้ดื่มหลังอาหาร 2 ชั่วโมง
  • ใช้รักษาเบาหวาน โดยนำเห็ดกระถินพิมานชนิด Phellinus linteus (Berk. & M.A. Curtis) Teng ประมาณ 50 กรัม ต้มรวมกับในอินทนิลน้ำ 7 ใบ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 1 ครั้ง ตอนเช้าเมื่อต้มได้ 7 วัน ยาจะจืด ให้เปลี่ยนยาใหม่
  • ใช้ปรับธาตุ ฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง ลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือด โดยใช้เห็ดกระถินพิมานชนิด Phellinus rimosus ครึ่งขีด ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ให้น้ำเหลือ 1 ใน 3 กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ 3 เวลาก่อนอาหาร
  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ โดยนำเห็ดกระถินพิมาน ชนิด Phellinus rimosus 1 ขีด บดให้เป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นให้เป็นก้อนขนาดเท่าผลมะเขือพวง กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2 เวลา ก่อนอาหารเข้าและก่อนนอน
  • ใช้แก้เริมไฟลามทุ่ง ขยุ้มตีนหมา งูสวัด แก้ฝีอักเสบ โดยใช้เห็ดกระถินพิมาน ชนิด Phellinus rimosus ไปชุบน้ำ แล้วนำมาฝนทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้พิษในหู แก้ปวดหู ใช้แก้บาดแผลเปื่อย แผลเน่า โดยนำเห็ดกระถินพิมานมาฝนกับน้ำปูนใส ใช้หยอดหู หรือ ทาบาดแผลที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของเห็ดกระถินพิมาน

เห็ดกระถินพิมานทั้ง 2 ชนิด มีลักษณะแข็งกระด้างคล้ายเนื้อไม้และมีอายุหลายปีเกาะเจริญเติบโตอยู่บนต้นไม้ โดยเห็ดกระถินพิมาน จะงอกออกมาข้างเดียวเป็นรูปครึ่งวงกลม ไม่มีก้านดอกเห็ดใต้หมวกดอกเห็ดเป็นรูพรุนสีน้ำตาล หรือ น้ำตาลอมเหลือง ใต้หมวกดอกมีเนื้อหลายชั้นเป็นคลื่นมักงอกอยู่เหนือดิน 2-5 เมตร โดยเห็ดทั้ง 2 ชนิด ที่กล่าวถึงนี้ จะมีลักษณะคล้ายๆ กันมากจะแตกต่างแต่รายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยเท่านั้น

เห็ดกระถินพิมาน
เห็ดกระถินพิมาน

การขยายพันธุ์เห็ดกระถินพิมาน

ปัจจุบันมีการทดลองเพาะเชื้อเห็ดกระถินพิมานและเลี้ยงด้วยอาหารวุ้น PDA เช่นเดียวกับการเพาะเห็ดทั่วไป แต่เมื่อนำดอกเห็ดที่ได้มาสกัดเอาสาระสำคัญ พบว่ายังไม่ได้ปริมาณสาระสำคัญเท่ากับดอกเห็ดในธรรมชาติ ดังนั้นการเพาะเห็ดกระถินพิมาน จึงยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ทั้งนี้เห็ดกระถินพิมาน มักชอบขึ้นในแหล่งที่มีต้นไม้ในวงศ์กระถิน วงศ์ขนุน วงศ์ยาง และวงศ์ถั่ว รวมถึงต้นไม้ที่มีเยื่อไม้ กากไม้ อีกทั้งยังขึ้นได้ดีในบริเวณที่มีภูมิภาคอาการอบอุ่นและร้อน


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของเห็ดกระถินพิมานทั้ง 2 ชนิด ข้างต้นพบว่ามีสารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น polyphenols, flavonoids, phenolics, steroids, proteoglycan และ polysaccharide protein complex (PPC-Pr) ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าพบสาร b-glucan, Proteoglycan, Hispolon, caffeic acid, davallialactone, Interfungin A และ inoscavin A 

โครงสร้างเห็ดกระถินพิมาน

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเห็ดกระถินพิมาน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเห็ดจากเห็ดกระถินพิมานระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ ทางเภสัชวิทยาพบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ยับยั้งการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) สารสกัดน้ำ สารสกัดเมทานอล สารสกัดเอทิลอะซิเตท รวมถึงสารในกลุ่ม phenolic สารในกลุ่ม flavonoid และสาร PPC-Pr อีกทั้งยังพบฤทธิ์ปกป้องเนื้อเยื่อจากการถูกฉายรังสีในสารสกัดเอทิลอะซิเตทและสาร PPC-Pr พบฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ในสารสกัดน้ำและสารสกัดเอทิลอะซิเตท พบฤทธิ์ปกป้องตับและไตจากสารพิษในสารสกัดเอทิลอะซิเตท พบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งและเนื้องอกในสารสกัดเอทิลอะซิเตทสารสกัดเมทานอล สารสกัดน้ำ และสาร proteoglycan พบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพในสารสกัดเมทานอล สารในกลุ่ม polyphenols, flavonoids, quinones และ terpenes อีกทั้งยังพบฤทธิ์ต้านการอักเสบในสารสกัดน้ำ สารสกัดเอทิลอะซิเตท และสาร PPC-Pr แต่ทั้งหมดยังเป็นการศึกษาในระดับเซลล์และสัตว์ทดลองเท่านั้น อีกทั้งยังมีรายงานอีกฉบับหนึ่งระบุว่า จากสารสกัดเห็ดกระถินพิมาน มีฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยการเพิ่มกิจกรรมของ T-cells มาโครฟาจ (Macrophage) และ natural killer cells และ B-cells ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ต้านการแพ้ และต้านอนุมูลอิสระ ดังนั้นสารประกอบที่แยกได้จากสารสกัดเห็ดกระถินพิมานจึงแสดงการยับยั้งเส้นทางการส่งสัญญาณในเซลล์มะเร็งต่างๆ และพบว่าสารสกัดจากเห็ดกระถินพิมานมีส่วนในการชักนำให้เกิดกระบวนการอะพอพโทซิสในเซลล์มะเร็งในมนุษย์ 5 ชนิด ได้แก่ HepG2 (มะเร็งตับ), AGS และ SGC-7901 (มะเร็งกระเพาะอาหาร), Hela (มะเร็งปากมดลูก) และ A549 (มะเร็งปอด) และสามารถปิดการทำงานของจุดตรวจสอบที่อยู่ระหว่างรอยต่อของระยะ G0/G1 ในวัฏจักรของเซลล์ส่งผลทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งเซลล์ต่อไปได้และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้

           อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัย โดยได้ทำการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านมะเร็งของพอลิแซ็กคาไรด์ในสารสกัดเห็ดกระถินพิมาน ในหนูทดลองและหลอดทดลองที่มีเซลล์มะเร็ง HT-29 พบว่าการศึกษาในหนูปริมาตรและน้ำหนักของเนื้องอกลดลง อีกทั้งผลการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าพอลิแซ็กคาไรด์มีฤทธิ์เพิ่มวัฏจักรเซลล์ในระยะ S อีกทั้งยังเพิ่มการแสดงออกของ cyclin D1, cyclin E และ CDK2 ในเซลล์ HT-29

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดของเห็ดกระถินพิมานพบว่า สารสกัดจากเห็ดกระถินพิมานที่สกัดด้วยเอทิลอะซิเตทสามารถยับยั้ง Bacillus subtilis และ Streptococcus aureus บางสายพันธุ์ได้ โดยสารสกัดเห็ดกระถินพิมาน ชนิด Phellinus linteus สามารถสร้างสารยับยั้งได้สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสเตรบโตมัยชินที่ 400 ppm.


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเห็ดกระถินพิมาน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของสารสกัดของเห็ดกระถินพิมานระบุว่าจากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดเอทิลอะซิเตท สารสกัดเมทานอล และสารสกัดน้ำ ของเห็ดกระถินพิมาน พบว่ามีความเป็นพิษที่ค่อนข้างต่ำ


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้เห็ดกระถินพิมาน เป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้เห็ดหลินจือ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่ได้กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับและสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง เห็ดกระถินพิมาน
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. เห็ดกินได้และเห็ดมีพิษในประเทศไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.กรุงเทพ. 2539. 170 หน้า.
  2. พาณี เตชะเสน. ความรู้เรื่องเห็ด แบบชาวบ้าน.คอลัมน์อื่นๆ. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 18. ตุลาคม 2523
  3. กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข 2554. เห็ดเป็นยาเพื่อสุขภาพตามภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านสำนักการแพทย์พื้นบ้านไทย. องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ
  4. เห็ดกระถินพิมาน. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 30 ฉบับที่ 2. มกราคม 2556
  5. แฟรงค์ ชาญบุญญสิทธิ์, การใช้ประโยชน์จากกลุ่มเห็ดพิมานในการดูแลสุขภาพตามภูมิปัญญาการแพทย์ดั้งเดิม. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกปีที่ 18 ฉบับที่ 2. พฤษภาคม-สิงหาคม 2563. หน้า 245-258.
  6. พีรดนย์ พักต์เพียงจันทร์, อาร์ม อันอาตมงาม, จินตนา อันอาตม์งาม. การทดสอบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของเชื้อรา Phellinus sp. วารสารวิทยาศาสตร์การเกษตรและการจัดการปีที่ 4 ฉบับที่ 1. มกราคม-เมษายน 2564. หน้า 21-28
  7. ประกายทิพย์ สมจิตต์. ผลของสารสกัดสมุนไพรที่มีเห็ดกระถินพิมาน Phellinus linteus เป็นองค์ประกอบต่อการมีชีวิตของเซลล์วัฏจักรเซลล์อะพอพโทซิสและการแสดงออกของยีนในเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาพันธุศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีการศึกษา 2565. 90 หน้า
  8. ชลดา จัดประกอบ, พรพรรณ เหล่าวชิระสุสรรณ และเมธิน ผดุงกิจ 2556 ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของสารสกัดของสารสกัดเห็ดหิ้งเกือกม้า The 5 Annual Northeact Phamacy Research Conference of 2013. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม (ประเทศไทย)
  9. YangSZ. Thedivinefarmer’smateriamedica: A translationof theShen NongBen CaoJing. 7 thed.BluePoppy Press; 2008.
  10. Han JG, Hyun MW, Kim CS, Jo JW, Cho JH, Lee KH, Kong WS, Han SK, Oh J, Sung GH. Species identity of Phellinus linteus (sanghuang) extensively used as a medicinal mushroom inKorea. Journal of Microbiology. 2016;54(4):290-5
  11. Han, S. B., Lee, C. W., Jeon, Y. J., Hong, N. D., Yoo, I. D., Yang, K.-H., and Kim, H. M. 1999. The inhibitory effect of polysaccharides isolated from Phellinus linteus on tumor growth and metastasis. Immunopharmacology, 41(2), 157-164
  12. Yu-Cheng D, Li-Wei Z, Bao-Kai C, Yan-Qiu C, Cony D. Current advances in Phellinus sensu lato: Medicinal species, functions, metabolites and mechanisms. Appl MicrobiolBiotechnol. 2010;87(5):1587-93
  13. Yeong-il S. A Research on origin of provisions in Samhwaja-hyangyakbang (三和子鄕藥方) noted in Hyangyakjipseongbang(鄕藥集成方). TheKoreanMedicine Societyfor the HerbalFormulaStudy(대한한의학방제학회). 1997;5(1):85-98. (inKorean)
  14. Lemieszek, M., and Rzeski, W. 2012. Anticancer properties of polysaccharides isolated from fungi of the Basidiomycetes class. Contemporary Oncology/Współczesna Onkologia, 16(4), 285-289
  15. WuJN. AnIllustrated Chinesemateriamedica. NewYork: Oxford UniversityPress; 2005.p. 6.
  16. Index Fungorum Partnership. Index Fungorum. [Internet]. [cited 2019 Jun 5]; Available from: http://www. indexfungorum.org/
  17. Sliva, D. 2010. Medicinal mushroom Phellinus linteus as an alternative cancer therapy. Experimental and Therapeutic Medicine, 1(3), 407-411.
  18. WuWenjun 吴文俊,editor. Zhongguoshuxueshidaxi 中國數學史大系 (Unabridgedsystematichistoryof Chinese mathematics). 8 vols. Beijing; shifandazue Chubanshe; 1998-2000 (in Chinese).
  19. Weesapen W, Wuthisan S, Rawarin N, Nankantee A, Chanaweth A, Wanaudorn SA Traditional medicine in palm-leaf inscriptions, Wat Mahachai, Maha Sarakham province Volume 4. Palm leaf manuscript preservation in NortheasternofThailand, Mahasarakham University: Mahasarakham UniversityPress; 2006. (inThai)
  20. Li, Y.-G., Ji, D.-F., Zhong, S., Zhu, J.-X., Chen, S., and Hu, G.-Y. 2011. Anti-tumor effects of proteoglycan from Phellinus linteus by immunomodulating and inhibiting Reg IV/EGFR/Akt signaling pathway in colorectal carcinoma. International journal of biological macromolecules, 48(3), 511-517.