พุดจีบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
พุดจีบ งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ
ชื่อสมุนไพร พุดจีบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พุดสวน, พุดลา, พุดซ้อน (ภาคกลาง), พุดป่า (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Taberna Montana divaricata (L.)R.Br.ex Roem&Schult.
ชื่อสามัญ Crape jasmine, coffee rose, Pinwhell flower, Crepe gardenia
วงศ์ APOCYNACEAE
ถิ่นกำเนิดพุดจีบ
พุดจีบ จัดเป็นพืชในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียใต้บริเวณประเทศอินเดีย ศรีลังกา เนปาล และบังกลาเทศ ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคใกล้เคียงและได้กลายเป็นพืชประจำถิ่นในพม่า ไทย ลาว เวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบพุดจีบ ได้ทางภาคเหนือและภาคกลาง แต่พบได้มากในภาคเหนือ บริเวณป่าดิบชื้น หรือ ตามบ้านเรือนที่นำมาปลูกประดับบ้าน
ประโยชน์และสรรพคุณพุดจีบ
- ใช้แก้ไอ
- ช่วยขับพยาธิ
- ช่วยลดความดันโลหิต
- ใช้แก้โรคผิวหนัง
- แก้กลากเกลื้อน
- ช่วยลดไข้ ลดพิษไข้ ขับพิษไข้
- ช่วยลดความร้อนในตัว
- ช่วยขับพิษไข้
- ใช้บำรุงร่างกาย
- แก้ปวดฟัน
- ช่วยระงับการปวด
- แก้ท้องเสีย
- ใช้เป็นยาถ่าย
- แก้ผดผื่นคันตุ่มคัน
มีการนำพุดจีบมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้ มีการนำพุดจีบมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนหย่อม สวนสาธารณะ และตามอาคารสถานที่ต่างๆ เนื่องจากดอกพุดจีบ มีสีขาวกลีบดอกบิดเวียนสวย มีกลิ่นหอมและมีกิ่งก้านทรงพุ่มสวยงาม อีกทั้งด้วยความหอมของดอกจึงมีการนำดอกมาสกัดเอาสารที่ให้ความหอมมาใช้เป็นหัวน้ำหอมสำหรับผสมในผลิตภัณฑ์ด้านความสวยงามต่างๆ เนื้อไม้พุดจีบ มีการใช้ทำผงธูป ผลพุดจีบสุกใช้ย้อมผ้า โดยมีรายงานว่าจะให้สีส้มแดงสวยงาม นอกจากนี้ดอกตูมและดอกบานยังสามารถนำมาร้อยเป็นมาลัยได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้เป็นบำรุงร่างกาย ช่วยระงับปวด แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ขับพยาธิ โดยนำรากพุดจีบมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ลดไข้ ลดพิษไข้ ขับพิษไข้ โดยนำเนื้อไม้พุดจีบมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้ไอ โดยนำใบพุดจีบมาตำกับน้ำตาลชงกับน้ำดื่ม
- ใช้ขับพยาธิ ลดความดันโลหิต ด้วยการใช้ลำต้นพุดจีบ หรือ กิ่ง 1 กำมือนำมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้อาการปวดฟัน โดยนำรากพุดจีบสดมาเคี้ยวอมน้ำไว้สักครู่แล้วบ้วนทิ้ง
- ใช้แก้ผดผื่นตุ่มคัน โดยนำรากพุดจีบมาฝน แล้วนำมาใช้ทาผิวบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ผื่นคัน โดยนำดอกพุดจีบมาคั้นน้ำใช้ทาบริเวณที่เป็น
ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุว่าใช้ลดไข้ ขับพยาธิ โดยนำต้นพุดจีบ และรากสดพุดจีบ 20-30 กรัม ล้างให้สะอาดสับเป็นชิ้นต้นในน้ำเดือด 500 มิลลิลิตร กรองเอาน้ำดื่มวันละ 3 เวลา 3-5 วัน ใช้แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ผื่นคัน โดยนำดอกพุดจีบสด 10-20 กรัม มาโขลกให้ละเอียดผสมเหล้าโรงเล็กน้อย แล้วคั้นเอาแต่น้ำทาและพอกบริเวณที่เป็นวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น
ลักษณะทั่วไปของพุดจีบ
พุดจีบ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก หรือ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ทรงพุ่มโปร่งแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มเตี้ย มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน มักจะแตกเป็นร่องเล็กๆ กิ่งก้านค่อนข้างเกลี้ยง ทุกส่วนของต้นจะมีน้ำยางเหลวๆ สีขาว
ใบพุดจีบ เป็นใบเดี่ยวออกตรงข้างกันบริเวณกิ่งและปลายยอด ใบมีลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือ รูปใบหอกมีขนาดกว้าง 3-5 เซนติเมตร และยาว 8-12 เซนติเมตร โคนใบสอบปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นคลื่น แผ่นใบบางเป็นคลื่นมีสีเขียวเข้มหลังใบเรียบลื่นเป็นมันส่วนท้องใบสีอ่อนกว่า
ดอกพุดจีบ ออกเป็นช่อแบบกระจุก บริเวณซอกใบและปลายกิ่งโดยใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยช่อละประมาณ 2-3 ดอก ดอกย่อยสีขาว มีลักษณะเป็นคลื่นหมุนเวียนซ้อนกัน โดยโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นรูปไข่มีลักษณะเป็นแฉกเรียวแหลมยาว 2-7 มิลลิเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้าง ดอกมีกลิ่นหอม
ผลพุดจีบ เป็นผลแห้ง เป็นแบบฝักคู่ติดกัน ลักษณะเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม หรือ รูปรีเบี้ยว โป่งพองตรงกลางฝักโค้งยาว 2.5-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลมส่วนขอบฝักเป็นสันนูน ด้านในผลมีเนื้อผลเป็นสีแดง เมื่อฝักแก่จะแตกออกตามแนวสัน ภายในฝักมีเมล็ดรูปรีเบี้ยวขนาด 0.7-1 เซนติเมตร มีสันตามยาว
การขยายพันธุ์พุดจีบ
พุดจีบสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การปักชำ การตอนกิ่ง และการใช้เมล็ด แต่มีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการตอนกิ่ง โดยวิธีการตอนกิ่งและการปลูกพุดจีบ นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่งและการปลูก “พุดซ้อน” ซึ่งเคยได้กล่าวมาแล้วในบทความ “พุดซ้อน” ทั้งนี้พุดจีบเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ชอบความชื้นและแสงแดดในระดับปานกลาง
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนรากของพุดจีบระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่นพบสารกลุ่ม bis-monoterpenoid indole alkaloids 2 ชนิด คือ conophylline 19, 20-dihydrotabernamine, 3-R/S-hydroxyvoacamine และ 19,20-dihydroervahanine A สารกลุ่ม bisindole alkaloids 2 ชนิด คือ tabernaelegantine A และ conodurine, Tabernaricatine A, conophylline
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนเหนือดินของพุดจีบ ระบุว่าพบสาร B-amyrin, tryptamine, coronarine, kaempferol, ajmalicine, pericalline, tabernaricatine A-E,F,G, voacamine, Conophylline และ vasharine เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพุดจีบ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของพุดจีบ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยและทดสอบส่วนสารสกัดพุดจีบ แบบหยาบจากส่วนต่างๆ ของพุดจีบ ต่อการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) ที่ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) โดยใช้วิธีการทดสอบแบบ Ellman’s colorimetric method พบว่า ส่วนสกัดหยาบของลำต้นและรากมีฤทธิ์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase ได้ดีมากแต่ส่วนสกัดหยาบของใบและดอกมีฤทธิ์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase ที่ต่ำกว่าสองส่วนแรก โดยพบว่า ส่วนสกัดหยาบของลำต้นและราก มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase เท่ากับ 94.72 ± 2.09% และ 99.72 ± 0.26% ตามลำดับ และมีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ เช่น HCT-15 (Colon), HT-29 (Colon), 502713 (Colon), MCF-7 (Breast), PC-3 (Prostrate) ของส่วนสกัดหยาบชั้นต่างๆ ได้แก่ สารสกัดจาก hexane, chloroform, ethyl acetate and methanol จากใบของพุดจีบ พบว่าส่วนสกัดหยาบชั้น ethyl acetate แสดงฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ 502713 (Colon) ที่ความเข้มข้น 10 mg/ml ในขณะที่ส่วนสกัดหยาบชั้น chloroform แสดงฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ได้ทั้งสามชนิด [HCT-15 (Colon), HT-29 (Colon), 502713 (Colon)] ที่ความเข้มข้น 30 mg/ml
อีกทั้งยังได้มีรายงานการศึกษาสาร conophylline ซึ่งเป็นสารกลุ่ม bismonoterpenoid indole alkaloids ที่แยกได้จากพุดจีบ พบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์การยับยั้งเซลล์มะเร็งตับอ่อนของหนูที่ดีมากและยังสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็ง HL-60, SMMC-7721, A-549, MCF-7, และ SW480 cells ที่ค่า IC50 เท่ากับ 0.17, 0.35, 0.21, 1.02, และ 1.49 mM ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยโดยได้ทำการศึกษาทดลองใช้สารสกัดพุดจีบในหนูทดลอง โดยให้สารสกัดทางปากในขนาด 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัมในหนูทดลองที่ถูกให้ corn oil 1กรัม/กิโลกรัม จนหนูเกิดภาวะอ้วนผลการทดลองพบว่าสารสกัดของพุดจีบมีผลต้านอนุมูลอิสระและ Lipid peroxidation และช่วยทำให้ไขมันในเลือดลดลงได้
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของพุดจีบ
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาแบบเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังของสารสกัดจากส่วนรากของพุดจีบ โดยได้ศึกษาความเป็นพิษของสมุนไพรจากรากพุดจีบในสัตว์ทดลอง โดยใช้วิธีการ Limit test และศึกษาความเป็นพิษชนิดกึ่งเรื้อรังตามหลักการของ OECD โดยผลการทดลองพบว่า หนูทดลองที่ได้รับสารตัวละลายและสารสกัดรากพุดจีบขนาด 2 ก./กก. เพียงครั้งเดียว พบว่า ไม่มีการตายในการระหว่างการศึกษา ไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตและไม่ทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ผิดปกติ นอกจากนี้พบว่าเมื่อป้อนให้แก่หนูทดลองในขนาด 5, 100 หรือ 500 มก. /กก. ติดต่อกันนาน 90 วัน ไม่มีหนูทดลองตาย ไม่มีการแสดงอาการผิดปกติ แต่อาจเกิดความผิดปกติที่ไตของหนูตัวเมียบางตัวและอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของหนูทดลองบ้างในบางกลุ่ม ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่ามีรายงานการทดสอบความเป็นพิษสารสกัดเอทานอล 95% จากกิ่งแห้งของพุดจีบ โดยการฉีดเข้าช่องท้องของหนูถีบจักรในขนาด 50 หรือ 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาระบุว่าไม่พบความเป็นพิษในสารสกัดของพุดจีบ แต่สำหรับการใช้พุดจีบเป็นสมุนไพร ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง พุดจีบ
- ดร.นิจศิริ เรืองรังสี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. พุดจีบ (Phut Chip) หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 197.
- คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก .2549.สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. พิมพ์ครั้งที่ 1. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 464 น.
- เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก พุดซ้อน.หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด140 ชนิด. หน้า 131-132.
- อนันต์ อธิพรชัย, รุ่งนภาพ แซ่เอ็ง, โครงการสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากพืชสกุล Tabernaemontana. รายงานฉบับสมบูรณ์.คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา. ตุลาคม 2559. 36 หน้า
- สุธิรา เลิศตระกูล. (2551). การศึกษาพิษแบบเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรังของสารสกัดสมุนไพรจากรากพุดจีบ Acute and sub-chronic toxicity studies of a crude extract from the root of Tabernaemontana divaricata. มหาวิทยาลัยนเรศวร
- Chaiyana, W.; Schripsema, J.; Ingkaninan, K.; Okonogi, S. 2013. 3'-R/S-Hydroxyvoacamine, a potent acetylcholinesterase inhibitor from Tabernaemontana divaricata. Phytomedicine 20, 543-548.
- Zhang, H.; Li, D.; Cao, H.; Lu, X.; Chu, Y.; Bai, Y.; Jin, Y.; Peng, S.; Dou, Z.; Hua, J. 2013. Conophylline Promotes the Proliferation of Immortalized Mesenchymal Stem Cells Derived from Fetal Porcine Pancreas (iPMSCs). Journal of Integrative Agriculture. 12, 678-686.
- Middleton,D.J.(1999).Apocynaceae.In Flora of Thailand Vol.7(1):31-32.
- Thind, T. S.; Agrawal, S. K.; Saxena, A. K.; Arora, S. 2008. Studies on cytotoxic, hydroxyl radical scavenging and topoisomerase inhibitory activities of extracts of Tabernaemontana divaricata (L.) R.Br. ex Roem. and Schult. Food and Chemical Toxicology. 46, 2922-2927.
- Ingkaninan, K.; Changwijit, K.; Suwanborirux, K. 2006. Vobasinyl-iboga bisindole alkaloids, potent acetylcholinesterase inhibitors from Tabernaemontana divaricata root. J. Pharm. Pharmacol. 58, 847-852.
- Bao, M.- F.; Yan, J.- M.; Cheng, G.- G.; Li, X.- Y.; Liu, Y.- P.; Li, Y.; Cai, X.- H.; Luo, X.- D. 2013. Cytotoxic indole alkaloids from Tabernaemontana divericata. J. Nat. Prod. 76, 1406-1412.