ผักเป็ดน้ำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักเป็ดน้ำ งานวิจัยและสรรพคุณ 26 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักเป็ดน้ำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักเป็ด, หญ้าผักเป็ด (ทั่วไป), คงซินเจี้ยน, คงซินเหลี่ยนจือเฉ่า, คงซิมเกี่ยง (จีน), มาลาเนชา (อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alternanthera philoxerides (Mart.) Griseb.
ชื่อสามัญ Alligator weed
วงศ์ AMARANTHACEAE


ถิ่นกำเนิดผักเป็ดน้ำ

ผักเป็ดน้ำ จัดเป็นพืชในวงศ์บานไม่รู้โรย (AMARANTHACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณเขตอบอุ่นและเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ ในบริเวณแม่น้ำปารานาที่ไหลผ่าน อาร์เจนตินา, บราซิล, ปารากวัย และอุรุกวัย ต่อมาจึงได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบผักเป็ดน้ำ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณตามแอ่งน้ำต่างๆ หรือ ตามชายฝั่งแม่น้ำลำคลองที่มีน้ำไหลตลอดปี ซึ่งในปัจจุบันผักเป็ดน้ำได้ถูกจัดเป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกราน ที่สำคัญของเกษตรกรอีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณผักเป็ดน้ำ

  1. ใช้ขับปัสสาวะ
  2. แก้ไข้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้
  3. แก้ไข้หัด
  4. แก้โรคสมองอักเสบ
  5. แก้วัณโรค
  6. แก้ไอเป็นเลือด
  7. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  8. แก้อีสุก อีใส
  9. แก้หนองใน
  10. แก้ไข้เลือดออกในระยะแรก
  11. แก้งูสวัด
  12. แก้งูกัด
  13. แก้ผื่นคันมีน้ำเหลือง
  14. รักษาแผลมีน้ำเหลือง
  15. รักษาฝีแผลเนื้อร้าย
  16. รักษาหัด
  17. แก้ไข้หวัดใหญ่
  18. แก้ไข้เลือดออก
  19. รักษาโรคโลหิตจาง
  20. รักษาอาการท้องร่วงและบิด
  21. รักษาอาการจากโรคเลือดบางชนิด
  22. ใช้แก้ไข้
  23. รักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
  24. ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
  25. ใช้สมานแผล
  26. ช่วยขับชื้นในร่างกาย

           มีการนำยอดอ่อนของผักเป็ดน้ำ มาใช้เป็นอาหาร เช่น การนำมาลวกรับประทานกับน้ำพริก หรือ นำไปชุบแป้งทอดกับไข่ รวมถึงยังมีการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้องต่างๆ อีกด้วย

ผักเป็ดน้ำ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้เป็นยาแก้ไข้ ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้หวัด แก้หัด ทำให้เลือดเย็น ขับปัสสาวะ ขับชื้นในร่างกาย แก้หนองใน โดยนำต้นผักเป็ดน้ำสด 40-75 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาวัณโรค ไอเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด โดยนำต้นผักเป็ดน้ำสด 120 กรัม ผสมกับน้ำตาลกรวด 15 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ต้นผักเป็ดน้ำสด 75-100 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มก็ได้
  • ใช้แก้อีสุก อีใส โดยการนำต้นผักเป็ดน้ำ มาต้มกับน้ำดื่ม แล้วใช้ต้นผักเป็ดน้ำสดตำให้แหลก ใช้พอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาแผลมีน้ำเหลือง หรือ เป็นผดผื่นคัน โดยใช้ต้นผักเป็ดน้ำสดตำให้ละเอียดแล้วนำมาผสมกับน้ำซาวข้าว คั้นเอาแต่น้ำใช้ทาบริเวณที่เป็น หากใช้รักษาฝี ให้นำต้นผักเป็ดน้ำสด นำมาตำผสมกับน้ำผึ้งทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้งูสวัด รักษาโรคผิวหนังผดผื่น ฝีหนอง โดยนำต้นผักเป็ดน้ำ สดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้พิษงู ให้นำต้นผักเป็ดน้ำสด 150-250 กรัม มาตำคั้นเอาแต่น้ำรับประทาน ส่วนกากที่เหลือนำมาพอกบริเวณที่ถูกงูกัด
  • ส่วนในประเทศจีน ใช้ผักเป็ดน้ำเป็นยาแผนโบราณสำหรับโรค เช่น หัด ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก
  • ในอินเดียใช้รักษาโรคโลหิตจาง รักษาอาการท้องร่วงและบิด
  • ในบังกลาเทศ ยังมีการใช้รักษาอาการจากโรคเลือดบางชนิด ใช้แก้ไข้ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด กระตุ้นการหลั่งน้ำนม และใช้สมานแผลอีกด้วย 


ลักษณะทั่วไปของผักเป็ดน้ำ

ผักเป็นน้ำ จัดเป็นพันธุ์ไม้น้ำ หรือ พันธุ์ไม้ล้มลุกมีอายุยาว 1 ปี ลำต้นมักเลื้อยทอดไปตามผิวน้ำ หรือ พื้นดินแตกกิ่งก้านสาขามาก โดยลำต้นจะมีความสูงประมาณ 1 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลวงแบ่งเป็นข้อๆ และจะมีรากติดตามข้อ เมื่อข้อลำต้นทอดไปกับดินรากจะแทงลงดินเพื่อแตกกิ่งก้านต่อไป

           ใบผักเป็นน้ำ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามบริเวณข้อลำต้นเป็นคู่ๆ ใบมีลักษณะเป็นรูปรียาว หรือ รูปไข่กลมรีมีขนาดกว้าง 1-1.8 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร โคนใบและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบผิวใบบาง มีสีเขียวเส้นกลางใบนูนและมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไปตามขอบใบทั้งสองด้าน ก้านใบสั้น

           ดอกผักเป็นน้ำ ออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ ออกเป็นกระจุกบริเวณส่วนยอดของลำต้น หรือ ตามง่ามใบ ดอกผักเป็นน้ำ มีลักษณะกลมคล้ายถ้วย มีกลีบดอกสีขาวรูปสามเหลี่ยมเรียงซ้อนกันจำนวนมาก ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้าน และเกสรเพศเมีย 1 ก้าน ส่วนก้านช่อดอกยาว 1-4 เซนติเมตร

           ผลผักเป็นน้ำ เป็นผลแห้งมีลักษณะแบนกลมรี ขอบหนาและเป็นหนามเล็กน้อย ภายในผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด

ผักเป็ดน้ำ
ผักเป็ดน้ำ

การขยายพันธุ์ผักเป็ดน้ำ

ผักเป็ดน้ำสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการแยกต้นปลูก แต่เนื่องจากผักเป็ดน้ำเป็นพืชน้ำที่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็วจนกลายเป็นวัชพืช โดยถูกจัดให้เป็นวัชพืชต่างถิ่นรุกราน (invasive alien species) ที่สร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศธรรมชาติและยังเป็น 1 ใน 100 ชนิด พืชต่างถิ่นรุกรานตามคู่มือ Global Invasive Species Database (GISD) ดังนั้นจึงไม่พบการนำผักเป็ดน้ำ มาปลูก ส่วนการขยายพันธุ์ของผักเป็ดน้ำนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติโดยการอาศัยเมล็ดและการทอดเลื้อยไปแตกกิ่งก้านใหม่เป็นหลัก


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนเหนือดินของผักเป็ดน้ำ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารกลุ่มอัลคาลอยด์ ได้แก่ phaeophytin A, β-Carboline, N-cis-Feruloyl-tyramine สารกลุ่มแอนทราควิโนนได้แก่ rubiadin, 2-hydroxy-3-methyl anthraquinone สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ได้แก่ luteolin, demethyl torsion flavone D, Chrysoeriol-7-O-rhamnoside สารกลุ่มซาโปนินได้แก่ Pheloxeroideside A, B, C สารกลุ่มสเตียรอยด์ได้แก่ β-sitosterol, α-spinasterol และสารกลุ่มเทอร์พีนอยด์ได้แก่ ursolic acid, phytol, cycloelane และ oleanolic acid เป็นต้น

โครงสร้างผักเป็ดน้ำ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผักเป็ดน้ำ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดผักเป็นน้ำ จากส่วนต่างๆ ของผักเป็ดน้ำ ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลายประการดังนี้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียของสารสกัดเมทานอลจากใบต่อเชื้อ E.coli สายพันธุ์อื่น และ Micrococcus luteus พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียทั้งสองสายพันธุ์โดยที่ความเข้มข้น 60 µg/mL มีโซนยับยั้งที่ 52.14 และ 34.0 มม. และมีค่า MIC ที่ 11.23 และ 16.23 µg/mL ตามลำดับ

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดเมทานอลจากผักเป็ดน้ำ เพื่อฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดผ่านการทดสอบความทนต่อกลูโคสในช่องปากในหนูที่ได้รับกลูโคสพบว่าในขนาดยา 400 มก./กก. ระดับกลูโคสในซีรั่มลดลง 65.6% โดยผลการลดน้ำตาลในเลือดโดยรวมขึ้นอยู่กับขนาดยา ซึ่งระดับกลูโคสในซีรั่มที่ยับยั้งได้ที่ 50, 100, 200 และ 400 มก./กก.(น้ำหนักตัว) จะอยู่ที่ 36.3, 58.6, 65.0 และ 65.6% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับยาลดน้ำตาลในเลือดที่รู้จักกันดีอย่างกลิเบนตลาไมด์ในขนาดยา 10 มก./กก(น้ำหนักตัว) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งได้ 42.7%

           ฤทธิ์ต้านทานความเจ็บปวด มีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านทานความเจ็บปวดของสารสกัดเมทานอลจากทุกส่วนของผักเป็ดน้ำ โดยสังเกตจากการลดการหดตัว ของอาการปวดท้องที่เกิดจากกรดอะซิติกในหนูเผือกสวิสพบว่า เมื่อใช้ขนาดยา 400 มก.(น้ำหนักตัว) การหดตัวลดลง 44.8% โดยผลดังกล่าวขึ้นอยู่กับขนาดยาและเมื่อใช้ขนาดยาอื่นๆ ที่ 50, 100 และ 3200 มก.(น้ำหนักตัว) จำนวนการหดตัวลดลง 31.0, 32.7 และ 37.9% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับยาแอสไพรินในขนาดยา 200 และ 400 มก.(น้ำหนักตัว) ที่ลดจำนวนการหดตัวลง 37.9 และ 67.2%

           ฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกัน มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันของสารสกัดเมทานอลจากส่วนเหนือดินของผักเป็ดน้ำ โดยใช้การทดสอบการแพร่กระจายของเซลล์ม้าน พบว่าสารสกัดไม่แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์โฮสต์และมีความเข้มข้น 200 µg/mL สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์ม้ามอย่างมีนัยสำคัญ


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักเป็ดน้ำ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักเป็ดน้ำ ระบุว่ามีความเป็นพิษน้อยมาก โดยได้มีการนำสารสกัดน้ำของส่วนเหนือดินของผักเป็ดน้ำ มาทดสอบกับหนูซึ่งได้ฉีดเข้าทางเส้นเลือดในขนาดที่เกินกว่า 455.4 กรัมต่อน้ำหนักตัวของหนู (กิโลกรัม) จะทำให้หนูทดลองจำนวนครึ่งหนึ่งตาย


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ห้ามนำผักเป็ดน้ำที่เจริญเติบโตในแหล่งน้ำที่เป็นพิษมาใช้รับประทาน หรือ ใช้ทำยาสมุนไพร เพราะพืชชนิดนี้สามารถสะสมไอคอนของโลหะหนักจากสารพิษทางน้ำได้ดี ซึ่งอาจทำให้อันตรายต่อชีวิตได้ สำหรับการใช้ผักเป็ดน้ำ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง ผักเป็ดน้ำ
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม, ผักเป็ดน้ำ. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 504-506.
  2. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์, ผักเป็ดน้ำ, หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 354.
  4. คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์. ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษามหาราชา. 5 ธันวาคม พุทธศักราช. 2542.
  5. Khatun, M.; Hassan, M.A.; Islam, S.N.; Rahman, M.O. Taxonomy of the leafy vegetables in Bangladesh. Bangladesh J. Plant Taxon. 2013, 20, 95-123.
  6. Khamphukdee, C.; Monthakantirat, O.; Chulikhit, Y.; Buttachon, S.; Lee, M.; Silva, A.M.S.; Sekeroglu, N.; Kijioa, A. Chemical constituents and antidepressant-like effects in ovariectomized mice of the ethanol extract of Alternanthera philoxeroides. Molecules 2018, 23, 2202.
  7. Khatun, F.; Zaman, F.; Mossiab, T.; Mostafa, F.; Zaman, M.; Rehana, F.; Nasrin, D.; Jamal, F.; Nahar, N.; Rahmatullah, M. Evaluation of antinociceptive and antihyperglycemic activities in methanol extracts of whole plants of Alternanthera philoxeroides (Mart.) Griseb. (Amaranthaceae) in mice. Pak. J. Pharm. Sci. 2012, 25, 583-587
  8. Zhou, B.-N.; Gabor, B.; Cordell, G.A. Alternanthin, a glycosylated flavonoid from Alternanthera philoxeroides. Phytochemistry 1988, 27, 3633-3636.
  9. Rattanathongkom, A.; Sripanidkulchai, B.O.; Kanchanapoom, T. Immunomodulatory activity of chikusetsusaponin Iva from Alternanthera philoxeroides. Isan J. Pharm. Sci. 2008, 4, 113-120.
  10. Bhattacharjee, A.; Ghosh, T.; Sil, R.; Datta, A. Isolation and characterisation of methanol-soluble fraction of Alternanthera philoxeroides (Mart.) evaluation of their antioxidant, α-glucosidase inhibitory and antimicrobial activity in vitro systems. Nat. Prod. Res. 2014, 28, 2199-2202.