น้อยโหน่ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
น้อยโหน่ง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ
ชื่อสมุนไพร น้อยโหน่ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น น้อยหน่าหนัง, น้อยแน่หัวหนัง, มะโหน่ง, มะเหนืองแฮ้ง (ภาคเหนือ), หนอนลาว (ภาคอีสาน), น้อยหนัง, มะดาก (ภาคใต้), เร็งนก (ภาคกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona reticulata Linn.
ชื่อสามัญ Bullocks heart, wild sweetsop
วงศ์ ANNONACEAE
ถิ่นกำเนิดน้อยโหน่ง
น้อยโหน่ง จัดเป็นพืชในวงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) เช่นเดียวกันกับน้อยหน่า โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางเช่นใน เม็กซิโก กัวเตมาลา ปานามา คอสตาริกา และนิการากัว เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทย ชื่อกันว่ามีการนำน้อยโหน่ง เข้ามาครั้งแรกตั้งแต่ในปลายสมัยอยุธยา ปัจจุบันสามารถพบน้อยโหน่งได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบการปลูกน้อยโหน่งไว้บริเวณบ้าน หรือ ตามสวนและไร่
ประโยชน์และสรรพคุณน้อยโหน่ง
- ใช้แก้ท้องร่วง
- แก้อาการบิด
- แก้ตานซาง
- แก้ลมจุกเสียด
- ใช้แก้พยาธิในร่างกายและพยาธิผิวหนัง
- ใช้ห้ามเลือด
- ช่วยสมานแผล
- แก้ฟกช้ำบวม
- ใช้เป็นยาฆ่าเหา
- แก้กลาก เกลื้อน
- แก้คุดทะราด
- แก้หิด
- ใช้แก้โรคเรื้อน
- แก้เหงือกบวม
- รักษาโรคท้องร่วง
- แก้อักเสบ
- ช่วยต้านมาลาเรีย
ส่วนในอินเดียก็มีการใช้น้อยโหน่ง เป็นยาสมุนไพรเช่นกัน โดยใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ รักษาโรคท้องร่วงและบิด แก้อักเสบ รักษาแผล และต้านมาลาเรีย
ผลน้อยโหน่งสุกใช้รับประทานเป็นผลไม้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเนื่องจากรสชาติไม่หวานเท่ากับน้อยหน่าและมีการนำใบสดน้อยโหน่งมาใช้เป็นสีย้อมผ้าและยังช่วยให้สีที่ได้ติดทนทาน โดยใบสดจะให้สีดำและสีน้ำเงิน ส่วนเมล็ดน้อยโหน่ง ก็ยังสามารถนำไปใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ตานซาง แก้ลมจุกเสียด โดยนำผลน้อยโหน่งดิบมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้โรคเรื้อน แก้เหงือกบวม โดยนำรากน้อยโหน่งสดมาต้มกับน้ำดื่มและใช้กลั้วปาก
- ใช้ห้ามเลือด ช่วยสมานแผล โดยนำเปลือกต้นน้อยโหน่งมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้สมานแผล ฆ่าพยาธิผิวหนัง เช่น หิด กลากเกลื้อน เรื้อน คุดทะราด โดยนำเมล็ดน้อยโหน่ง มาตำให้แหลกพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้ฟกช้ำบวม ฆ่าพยาธิผิวหนัง โดยนำใบน้อยโหน่งสดมาตำพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้ฆ่าเหาโดยนำใบน้อยโหน่งสดมาตำพอกบนศีรษะประมาณ 15 นาที แล้วล้างออก
ลักษณะทั่วไปของน้อยโหน่ง
น้อยโหน่ง ไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลางลำต้นสูง 5-8 เมตร ทรงพุ่มโปร่งแตกกิ่งมาก กระจายรอบต้น เปลือกต้นมีสีเทา ผิวลำต้นขระขระ
ใบน้อยโหน่งเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตามกิ่ง ใบมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก โคนและปลายใบแหลมขอบใบเรียบ ใบมีสีเขียวสดผิวใบย่นมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน ใบมีกลิ่นฉุนเฉพาะตัวคล้ายน้อยหน่า
ดอกน้อยโหน่ง ออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ อาจออกเป็นช่อกระจุกๆ ละ 2-3 ดอก ลักษณะของดอกน้อยโหน่ง คล้ายๆ กับดอกน้อยหน่า คือ มีกลีบดอก 3 กลีบ เป็นสีเหลืองแกมเขียวโดยกลีบดอกจะค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมแบบเอียนๆ
ผลน้อยโหน่ง เป็นผลกลมลักษณะเป็นรูปกรม หรือ รูปทรงหัวใจ ผลจะใหญ่กว่าน้อยหน่า ผิวเปลือกเหนียวบางเรียบ ไม่มีปุ่มโปนออกมาเหมือนน้อยหน่า ผลดิบจะมีเปลือกสีเขียวจางๆ ปนแดงเรื่อๆ เมื่อสุกจะเป็นสีแดงอมน้ำตาลเข้ม เนื้อข้างในผลมีเนื้อหนาสีขาว มีรสหวานเล็กน้อย แต่หวานไม่เท่าน้อยหน่าและจะมีเมล็ดสีดำลักษณะคล้ายเมล็ดน้อยหน่า
การขยายพันธุ์น้อยโหน่ง
น้อยโหน่ง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันทั้งสองวิธี สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกน้อยโหน่งนั้น สามารถทำได้ดังนี้ เริ่มจากคัดเลือกเมล็ดน้อยโหน่ง ที่แก่จัดมาเพาะในถุงดำขนาด 10x15 จำนวน 3 เมล็ดต่อถุง โดยมีวัสดุเพาะ คือ ดินร่วนและแกลบดำในอัตราส่วน 1:3 จากนั้นใช้เวลาเพาะ 1-4 เดือน เมื่อครบกำหนดจึงนำต้นกล้าลงมาปลูกในหลุมที่มีขนาด กว้างxยาวxลึก เท่ากับ 50x50x50 เซนติเมตร จากนั้นนำดินที่มีส่วนผสมของปุ๋ยคอก ปุ๋ยร็อคฟอสเฟตมากลบหลุม โดยให้กลบพูนโคนต้นกล้า ปักหลักผูกเชือดยึดนำฟางข้าวมาคลุม รดน้ำให้ชุ่ม
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากสวนใบของน้อยโหน่ง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญจำนวนมากอาทิเช่น annonaretin A, taraxerol, kaurenoic acid, β-sitosterol, 6β-hydroxystigmast-4-en-3-one, 16α-hydro-19-al-ent-kauran-17-oic acid, 17-acetoxy-16β-ent-kauran-19-oic acid, rolliniastatin, annoreticuin, bullatacin, squamosine, reticullacinone, molvizarin และ trans-isomurisolenin เป็นต้น นอกจากนี้น้อยโหน่ง ยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
คุณค่าทางโภชนาการของน้อยโหน่ง (100 กรัม)
- พลังงาน 101 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 1.7 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 25.2 กรัม
- ไขมัน 0.6 กรัม
- เส้นใย 2.4 กรัม
- วิตามิน B1 0.08 มิลลิกรัม
- วิตามิน B2 0.1 มิลลิกรัม
- วิตามิน B3 0.5 มิลลิกรัม
- วิตามิน B5 0.135 มิลลิกรัม
- วิตามิน B6 0.221 มิลลิกรัม
- วิตามิน C 19.2 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 30 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 0.71 มิลลิกรัม
- โซเดียม 4 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 18 มิลลิกรัม
- ฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม
- โพแทสเซียม 382 มิลลิกรัม
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของน้อยโหน่ง
มีรายงานผลการวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดน้อยโหน่ง จากส่วนใบของน้อยโหน่งระบุว่าสาร taraxerol ที่สกัดได้จากส่วนใบของน้อยโหน่ง มีฤทธิ์ลดการแสดงออกของตัวกลางที่ก่อให้เกิดการอักเสบเซลล์ในแมคโครฟาจได้ โดยจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของ TAK1 และ Akt จึงสามารถป้องกันการทำงานของ NF-κB ได้ส่วนkaurenoic acid ที่แยกได้จากสารสกัดส่วนใบของน้อยโหน่งมีฤทธิ์ยับยั้งการผลิต nitric oxide, ยับยั้งการปล่อย prostaglandin E2 cyclooxygenase-2 และยับยั้งการแสดงออกของ nitric oxide synthase ที่เหนี่ยวนำได้ในแมคโครฟาจ RAW264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำโดย LPS ได้
นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านความเป็นพิษระดับเซลล์ในเซลล์ที่แบ่งตัวและไม่แบ่งตัวที่กำหนดขั้นในเซลล์ทั้ง 2 เชื้อสาย โดยวิธี MTT assay ของสารสกัดเปลือกต้นใบและผลอ่อนของน้อยโหน่ง พบว่าสารสกัดจากผลอ่อนของน้อยโหน่งส่งผลในระดับปานกลาง ในส่วนของเฮลาพบว่าสารสกัดจากผลอ่อนของน้อยโหน่งมีผลสูงสุดที่ MTT50 เท่ากับ 0.86 และ 21 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรต่อเซลล์ ที่แบ่งตัวและไม่แบ่งตัวตามลำดับ อีกทั้งสารสกัดนี้ยังมีความสามารถในการเลือดฆ่าเซลล์ที่แบ่งตัวมากกว่าเซลล์ที่ไม่แบ่งตัวด้วยค่า selective index น้อยกว่า 1 จากนั้นจึงนำสารสกัดจากผลอ่อนของน้อยโหน่งมาใช้ศึกษาผลต่อการกลายพันธุ์ในเซลล์ AMC-K46 พบว่าสารสกัดจากน้อยโหน่งมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งเซลล์โดยให้ค่าดัชนีการแบ่งเซลล์เท่ากับ 0.75 โดยสารสกัดจะเข้าไปควบคุมการแบ่งตัวและทำให้ดัชนีการแบ่งตัวลดลงจากปกติ
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของน้อยโหน่ง
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สำหรับการใช้น้อยโหน่ง เป็นยาสมุนไพร เพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง น้อยโหน่ง
- เต็ม สมิตินันทน์. 2544. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. กรุงเทพฯ
- ไพโรจน์ ผลประสิทธิ์. น้อยหน่าและญาติๆ. คอลัมน์ชาวสวนควรรู้, วารสารเคหเกษตร ปีที่ 25 ฉบับที่ 12. ธันวาคม 2544. หน้า 99-104.
- ณรงค์ คูณขุนทด, 2544. การศึกษาทางอนุกรมวิธานของพรรณไม้วงศ์น้อยหน่าในป่าตะวันออก. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. กรุงเทพฯ
- ปิยะ เฉลิมกลิ่น 2544. พรรณไม้วงศ์กระดังงา บ้านและสวน.กรุงเทพฯ
- กมล คาสา, ผลของสารสกัดหยาบของพืชสมุนไพร บางชนิดในวงศ์กระดังงา. ต่อเซลล์เฮลาและเซลล์เชื้อสายจากน้ำคร่ำมนุษย์. วิทยานิพนธ์หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. ปีการศึกษา 2548.
- Kirtikar K.R., Basu B.D. Indian Medicinal Plants. International Book Distributors; Deharadun, India: 1987. pp. 68-69.
- Etse J.T., Waterman P.G. Chemistry in the Annonaceae, XXII. 14-Hydroxy-25-desoxyrollinicin from the stem bark of Annona reticulata. J. Nat. Prod. 1986;49:684-686. doi: 10.1021/np50046a023.
- Choi R.J., Shin E.M., Jung H.A., Choi J.S., Kim Y.S. Inhibitory effects of kaurenoic acid from Aralia continentalis on LPS-induced inflammatory response in RAW264.7 macrophages. Phytomedicine. 2011;18:677-682. doi: 10.1016/j.phymed.2010.11.010.
- Chang F.R., Chen J.L., Chiu H.F., Wu M.J., Wu Y.C. Acetogenins from seeds of Annona reticulata. Phytochemistry. 1998;47:1057-1061. doi: 10.1016/s0031-9422(97)00675-4.
- Yao X., Li G., Bai Q., Xu H., Lü C. Taraxerol inhibits LPS-induced inflammatory responses through suppression of TAK1 and Akt activation. Int.Immunopharmacol. 2013;15:316-324. doi: 10.1016/j.intimp.2012.12.032.
- Nes W.D., Norton R.A., Benson M. Carbon-13-NMR studies on sitosterol biosynthesized from [13C]mevalonates. Phytochemistry. 1992;31:805-811.
- Hisham A., Sunitha C., Sreekala U., Pieters L., De Bruyne T., Van den Heuvel H., Claeys M. Reticulacinone, an acetogenin from Annona reticulata. Phytochemistry. 1994;35:1325-1329. doi: 10.1016/S0031-9422(00)94847-7.
- Yoshida T., Feng W.S., Okuda T. Two polyphenol glycosides and tannins from Rosa cymosa. Phytochemistry. 1993;32:1033-1036. doi: 10.1016/0031-9422(93)85250-U.
- Hsieh T.J., Wu Y.C., Chen S.C., Huang C.S., Chen C.Y. Chemical constituents from Annona glabra. J. Chin. Chem. Soc. 2004;51:869-876.
- Maeda U., Hara N., Fujimoto Y., Shrivastava A., Gupta Y.K., Sahai M. N-fatty acyl tryptamines from Annona reticulata. Phytochemistry. 1993;34:1633-1635. doi: 10.1016/S0031-9422(00)90860-4.