เบญกานี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เบญกานี งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เบญกานี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เบญจกานี, ลูกเบญกานี (ทั่วไป), หม้อสือจื๋อ, หมดเจี๊ยะจี้(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Quercus infectoria G.Oliver.
ชื่อสามัญ Nutgall
วงศ์ FAGACEAE


ถิ่นกำเนิดเบญกานี

เบญจกานีเป็นรยางค์ของต้นโอ๊ค Aleppo ที่ถูกรบกวนโดยแมลงชนิด Quercvs infectoria G.Olver หรือ Cynips tinctoria โดยแมลงเหล่านี้ ที่จะทำการเจาะที่ลำต้น แล้ววางไข่เอาไว้จากนั้น ต้นไม้จะขับสารสร้างยางเหนียวมาหุ้มไข่ตัวแมลงให้เป็นรังของตัวอ่อน จนกระทั่งรังมีลักษณะเป็นก้อน และเมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเต็มที่จนบินออกจากรังไปแล้วทิ้งรั้งไว้ ซึ่งนี้เองที่เรียกว่า “เบญกานี” หรือ “เบญจกานี”

           ทั้งนี้เบญกานี มีถิ่น กำเนิดดั้งเดิมบริเวณยุโรปตอนใต้ ตั้งแต่กรีซ และหมู่เกาะทะเลอีเจียน ตะวันออกจนถึงตะวันออกกลาง ได้แก่ตุรกีไซปรัส อิหร่าน อิรัก เลบานอน ซีเรีย อิสราเอล และจอร์แดนเป็นต้น

ต้นโอ๊ค
ต้นโอ๊ค
 

ประโยชน์และสรรพคุณเบญกานี

  1. แก้ไอเป็นเลือด
  2. ช่วยหลอดลมอักเสบ
  3. แก้บิดมูกเลือด
  4. แก้ท้องร่วง ท้องเสีย
  5. แก้ปวดหน่วงเบ่ง
  6. แก้อาเจียน
  7. ใช้เป็นยาสมานแผลสด
  8. ใช้ห้ามเลือด
  9. แก้ตกเลือด
  10. แก้ปวดมดลูก
  11. แก้ลิ้นเป็นฝ้า
  12. แก้ลิ้นเป็นแผล
  13. แก้วริดสีดวงภายใน
  14. แก้อสุจิเคลื่อน 
  15. แก้ถ่ายเป็นเลือด
  16. แก้อาการปวดฟัน
  17. ใช้รักษาบาดแผลจากโรคเบาหวาน

           สารสกัดจากเบญกานี ถูกนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความข้นในสตูว์ หรือ ผสมเพื่อใช้ทำขนมปัง ใช้ตามเป็นสารเติมแต่งในอาหารและอาหารสัตว์ ใช้ผสมเป็นสีย้อมหมึกและผลิตภัณฑ์ยา

           อีกครั้งเบญกานี ยังเป็นสมุนไพรที่จัดอยู่ในตำรับ “ยามันทธาตุ” ที่ประกอบด้วยลูกเบญกานีและสมุนไพรอื่นๆ มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ แก้ธาตุไม่ปกติ นอกจากนี้ในมาเลเซียยังมีการนำเบญกานี มาใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นเป็นเครื่องดื่มสำหรับสตรีหลังคลอดบุตร เพื่อฟื้นฟูความยืดหยุ่นของผนังมดลูกและนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์กระชับช่องคลอดหลายชนิด ส่วนในอินเดียมีการนำเบญกานี มาใช้บดเป็นผงสำหรับขัดฟัน รักษาอาการปวดฟันและโรคเหงือกอักเสบอีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้ไอเป็นเลือด หลอดลมอักเสบ แก้อาเจียน แก้ตกเลือด ห้ามเลือดภายใน แก้ปวดมดลูก แก้อสุจิเคลื่อน โดยนำเบญกานี 6-15 กรัม มาบดเป็นผงชงกินกับน้ำร้อน
  • ใช้แก้ท้องร่วง ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด ถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้เบญกานี 35 กรัม นำมาบดให้เป็นผง แล้วทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดถั่วเหลือง รับประทานครั้งละ 10 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง
  • ใช้แก้อาการปวดฟัน โดยนำเบญกานี นำมาเผาไฟให้เกรียม แล้วบดเป็นผง ใช้ทาบริเวณที่ปวด
  • ใช้รักษาปาก หรือ ลิ้นเป็นแผล โดยนำเบญกานี มาเผาไฟให้เกรียม แล้วบดเป็นผงใช้ทาบริเวณที่เป็นแผล
  • ใช้เป็นยาสมานแผลสด ใช้ห้ามเลือดจากแผลสด โดยนำเบญกานี มาบดเป็นผงทาแล้วใช้ทาบริเวณที่เป็น
  • ใช้รักษาบาดแผลจากโรคเบาหวาน โดยนำลูกเบญกานีเอามาฝนกับน้ำสะอาดให้เข้มข้นจากนั้นล้างแผลด้วยน้ำด่างทับทิม แล้วใช้น้ำยาที่ได้จากการฝนลูกเบญกานีมาทาบริเวณแผล โดยไม่ต้องเขี่ยเอาหนองออก เมื่อน้ำยาแห้ง น้ำยาเบญกานีจะรวมตัวกับหนองจับกันเป็นแผ่นแข็งหุ้มบาดแผล เหมือนเคลือบแผลด้วยยางไม้ จากนั้นจึงนำผ้าชุบน้ำเช็ดออก


ลักษณะทั่วไปของเบญกานี

เบญกานี มีลักษณะเป็นก้อนแข็งค่อนข้างกลมมีขนาดประมาณ 10 ถึง 25 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม หรือ สีน้ำตาลอมเทา ด้านหนึ่งจะมีขั้วลักษณะคล้ายจุกขนาดเล็ก ผิวขรุขระเป็นมันเงา มีรูเข้าไปข้างในได้และมีรสชาติฝาด โดยมักจะพบเบญกานีติดกับลำต้น หรือ กิ่งของต้นก่อ (หรือ ต้นโอ๊ก) ชนิด Quercus infectoria ซึ่งจัดเป็นต้นไม้ขนาดเล็กสูง 1 ถึง 2 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นพุ่ม โค้งงอ

           ใบเบญกานี เป็นใบเดี่ยวกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 5-7 เซนติเมตร ใบเรียบขอบใบเป็นยักษ์ ผิวใบจะมองเห็นก้านใบชัดเจนและมีก้านใบสั้น

เบญกานี

การขยายพันธุ์เบญกานี

ไม่มี

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเบญกานี ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ต่างๆ หลายชนิดดังนี้ gallotannin, Gallic acid, Tannic acid, syringic acid, β-sitosterol, Isocryptomerin, amentoflavone, hexamethyl ether, methyl betulate, methyl oleanate และ hexagalloyl glucose เป็นต้น

โครงสร้างเบญกานี

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเบญกานี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเบญกานี ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเชื้อ Methicillin - resistant Staphylococcus aureus (MRSA) ของเบญกานี พบว่า เบญกานีมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ MRSAได้โดยทำให้เซลล์แบคทีเรียมีลักษณะเป็น pseudomulticellular และผลของการเสริมฤทธิ์ร่วมกันของสารสกัดเบญกานี และยาปฏิชีวนะเพนิซิลลินที่อ่อนต่อเชื้อ MRSA ชี้ให้เห็นว่าสารสกัดจากเบญกานีอาจไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ staphylococcal autolysins และ b-lactamase โดยสารสกัดเบญกานี แสดงให้เห็นว่าสารแทนนิน ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อดื้อยา MRSA การต้านเชื้อแบคทีเรีย, การต้านเชื้อเชื้อราและการต้านเชื้อไวรัส ทำให้เกิดลักษณะของ pseudomulticellular ของแบคทีเรียในสารสกัดเอทานอลของเบญกานี ทำให้เกิดการรวมตัวของเซลล์ และตอบสนองรวมกันกับความไวของเพนนิซิลลินต่อ b-lactamase พบว่าสารสกัดเข้าไปรบกวนการสร้างผนังเซลล์ในระบบ autolysins ของ staphylococcal และ b-lactamase

           จึงสรุปได้ว่าเบญกานี มีฤทธิ์ที่กว้างในการต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการดื้อยา Methicillinresistant Staphylococcus aureus โดยเบญกานีมีสาระสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ แทนนินซึ่งมีกลไกในการทำลายเซลล์ของ Staphylococcus aureus และเบญกานียังมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ MRSA ได้โดยทำให้เซลล์แบคทีเรียมีลักษณะเป็น pseudomulticellular และ ผลของการเสริมฤทธิ์ร่วมกันของสารสกัดเบญกานีที่ใช่ร่วมกับยาปฏิชีวนะเพนิซิลลิน ทำให้เชื้อ MRSA มีฤทธิ์อ่อนลงและยังมีการทดสอบฤทธิ์ของเบญกานี ในการรักษาโรคท้องร่วง ท้องเสีย หรือ โรคบิดในตำรับยาไทยแผนโบราณ ที่มีต่อการเจริญของเชื้อ Blastocystis hominis ในหลอดทดลองโดยการสกัดด้วย n-Hexane, dichloromethane และ methanol พบว่าลูกเบญกานีส่วนที่สกัดด้วย methanol ที่ความเข้มข้น 2000 µg/ml จะให้ผลในการยับยั้งการเจริญของ B.hominis ในหลอดทดลองได้ โดยสามารถยับยั้งการเจริญของ B.hominis  คิดเป็น 76% นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าเบญกานียังมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ต้านไวรัส และต้านการอักเสบได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเบญกานี

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

มีข้อควรระวังในการใช้เบญกานี เป็นสมุนไพร คือ ผู้ที่เป็นบิดถ่ายแล้วมีอาการแสบร้อน และผู้ที่มีอาการท้องผูก ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้


เอกสารอ้างอิง เบญกานี
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. เบญกานี, หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 312.
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด, 2519.ไม้เทศเมืองไทย สรรพคุณของยาเทศและยาไทย.สำนักพิมพ์เกษมบรรณกิจ,กรุงเทพฯ.
  3. อรุณพร อิฐรัตน์,2532.สมุนไพรไทย-เทศ ภาควิชาเภสัชเวท, และเภสัชพฤกษาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หน้า 68.
  4. เบญกานี Nutgall หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 213.
  5. จินดาพร ภูริพัฒนาวงษ์. 2539. เภสัชเวทกับตำรายาแผนโบราณ. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. หน้า 218-219.
  6. ณลิตา ไพบูลย์. ฤทธิ์ต้านเชื้อสแตปฟิโลคอคคคัสออเรียสชนิดดื้อยาเมทิซิลินของลูกเบญกานี. วารสารหมอยาวิจัยปีที่ 4 ฉบับที่ 1. มกราคม-มิถุนายน 2561. หน้า 21-32.
  7. นงเยาว์ สว่างเจริญ, กิจจา สว่างเจริญ. ผลของสารสกัดจากพืชสมุนไพรบางชนิดต่อเชื้อ Blastocystis hominis ในหลอดทดลอง. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. 2543. 30 หน้า.
  8. สุวรรณา เสมศรี, ธิดารัตน์ ขาวอ่อน, จิรารัตน์สุขเกษม, วิชาญ จันทร์วิทยานุชิต, หนึ่งฤทัย นิลศรี, สุรีย์พร หอมวิเศษวงศา. ฤทธิ์ของสารสกัดใบกะเม็ง ใบสาบเสือ ใบบัวบก และลูกเบญกานี ต่อระบบการแข็งตัวของเลือด. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. 2560;3(2):42-53.
  9. Chusri SPV. (2008). Detailed studies on Quercus infectoria Olivier (nutgalls) as an alternative treatment for methicillin-resistant Staphylococcus aureus infections. Journal of Applied Microbiology, 1(1), 1-8.
  10. Dar MS; Ikram M (1979). "Studies on Quercus infectoria; isolation of syringic acid and determination of its central depressive activity". Planta Medica. 35 (2). Planta Med.: 156-161.
  11. Shaikh I. MT, Shahid S. C., Mohd A. (2013). Oak galls: The medicinal balls. Journal of Pharmaceutical and Scientific Innovation, 1(1), 18-21.
  12. Janpen B. SP, Weerachai K. and et al. (2009). The study of prevalence of Staphylococcus aureus contamination in health personal’s mobile phone at Srinagarind Hospital. Srinagarind Medical Journal, 2(1), 17-22.
  13. Al-Zahrani SHM. (2412). Antibacterial activities of gallic acid and gallic acid methyl ester on methicillin-resistant Staphylococcus aureus. Journal of American Science, 8(1), 7-12
  14. Lim, T. K. (2012). "Quercus infectoria". Edible Medicinal and Non-Medicinal Plants. pp. 16-26.
  15. Siriwong N CE. (2009). Antibiotic resistance in Staphylococcus aureus and controlling. Songklanagarind medical journal, 2(1), 347-358
  16. Danuta K. H-GS, Gabriele B. and et al. (2004). Mersacidin eradicates methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) in a mouse rhinitis model University of Bonn. Journal of Antimicrobial Chemotherapy, 1(1), 1-17.