บานไม่รู้โรยป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

บานไม่รู้โรยป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร บานไม่รู้โรยป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บานไม่รู้โรยดอกขาว, บานไม่รู้โรยดิน (ภาคกลาง), กุนหยีดิน, กุนนีดอกขาว, กุนหยินขาว (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gomphrena celosioides Mart
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gomphrena decumbens, Gomphrena serrata, Gomphrena dispersa.
ชื่อสามัญ Gomphrena weed, Wild globe everlasting
วงศ์ AMARANTHACEAE


ถิ่นกำเนิดบานไม่รู้โรยป่า

บานไม่รู้โรยป่า จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้ บริเวณประเทศ บราซิล อาร์เจนตินา โบลิเวีย อุรุกวัย ปารากวัย และเอกวาดอร์ เป็นต้น ต่อมาจึงได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ของโลก เช่น ในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา ออสเตรเลีย และอเมริการเหนือ สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง โดยสามารถพบบานไม่รู้โรยป่า ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่จะพบได้มากทางภาคเหนือ บริเวณริมถนนหนทาง ที่รกร้างว่างเปล่า ที่เป็นที่เปิดโล่ง มีแสงแดดจ้าตลอดวัน


ประโยชน์และสรรพคุณบานไม่รู้โรยป่า

  1. ใช้แก้ไข้ทับระดู
  2. แก้เบาหวาน
  3. แก้กามโรค
  4. แก้หนองใน
  5. ช่วยขับนิ่ว ใช้เป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  6. ช่วยขับปัสสาวะ
  7. แก้ระดูขาว
  8. ใช้รักษาแผล
  9. ใช้แก้ไอ
  10. แก้ไอกรน
  11. แก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  12. แก้หอบหืด
  13. แก้โรคลมชักในเด็ก
  14. แก้บิด
  15. แก้ผดผื่นคัน
  16. ใช้รักษาโรคตับ
  17. ใช้โรคผิวหนัง
  18. แก้อาการปวดประจำเดือน
  19. แก้ติดเชื้อในหลอดลม
  20. แก้โรคไต
  21. ใช้เป็นยาแก้ปวด
  22. แก้โรคท้องร่วง

บานไม่รู้โรยป่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับปัสสาวะ รักษาโรคหนองใน กามโรค ขับระดูขาวให้แห้ง แก้ไข้ทับระดู รักษาโรคบิด โดยนำบานไม่รู้โรยป่า ทั้งต้น ต้มกินดื่ม
  • ใช้แก้ไอ แก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่วยขับนิ่ว ขับปัสสาวะ โดยนำรากบานไม่รู้โรยป่า มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ไอ ไอกรน หอบหืด แก้บิด ขับปัสสาวะ โดยใช้ดอกบานไม่รู้โรยป่า มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคลมชักในเด็ก โดยใช้ดอกบานไม่รู้โรยป่า 10 ดอก นำมาตุ๋นกับตั๊กแตนแห้ง 7 ตัว รับประทาน
  • ใช้เป็นยาพอกรักษาแผล โดยนำลำต้นและดอกบานไม่รู้โรยป่า นำมาตำพอกบริเวณที่เป็น
  • ช่วยรักษาแผลผื่นคัน โดยนำดอกดอกบานไม่รู้โรยป่ามาต้มกับน้ำอาบ
  • นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีการนำบานไม่รู้โรยป่า มาใช้เป็นสมุนไพร ใช้รักษาโรคตับ โรคผิวหนัง อาการปวดประจำเดือน ติดเชื้อในหลอดลม โรคไต ใช้เป็นยาแก้ปวด โรคท้องร่วง และใช้เป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ


ลักษณะทั่วไปของบานไม่รู้โรยป่า

บานไม่รู้โรยป่า จัดเป็นพืชล้มลุกมีความสูงได้ 30-60 เซนติเมตร มักจะแตกกิ่งก้านสาขาบริเวณโคนต้นแล้วเลื้อยราบไปกับพื้นดิน ส่วนปลายยอดจะชูขึ้น ลำต้นกลมอวบน้ำ ตรงข้อลำต้นพองออกเล็กน้อย เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวแกมขาว มีขนสีขาวคล้ายสำลีขึ้นปกคลุม

           ใบบานไม่รู้โรยป่า เป็นใบเดี่ยว ออกบริเวณลำต้นและกิ่ง โดยจะออกเรียงตัวแบบตรงข้ามสลับตั้งฉาก ใบมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ หรือ รูปรี มีขนาดกว้าง 0.5-1 เซนติเมตร และยาว 2-3 เซนติเมตร โคนใบเป็นรูปลิ่ม ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบบางมีสีเขียว ผิวใบมีขนขึ้นปกคลุมทั้งสองด้าน ผิวด้านบนมีขนขึ้นประปราย ส่วนผิวด้านล่างมีขนเยอะกว่า

           ดอกบานไม่รู้โรยป่า เป็นแบบช่อเชิงลด โดยจะออกเป็นช่อกระจุกแน่น บริเวณปลายยอด ใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกย่อยจะมีกลีบเลี้ยงสีเขียว ที่โคนเชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ส่วนกลีบดอกย่อยมีสีขาว ที่โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 2 แฉก ออกวางซ้อนกันเป็นชั้นๆ ดอกบานไม่รู้โรยป่า มีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน และมีก้านชูเกสรสั้นๆ เชื่อมติดกันเป็นหลอดเยื่อบางๆ ส่วนเกสรเพศเมีย มีสีเขียวมีอยู่ 1 อัน และมีรังไข่ลักษณะเป็นรูปไข่อยู่เหนือวงกลีบ

           ผลบานไม่รู้โรยป่าเป็นผลเดี่ยว ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อผลแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลถึงสีดำและแห้งแบบผลกระเปาะ เมื่อผลแห้งแก่แล้วจะไม่แตก มีเปลือกแข็งด้านในผลมีเมล็ดเดียว เมล็ดมีลักษณะแบนสีน้ำตาล ขนาดยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร

บานไม่รู้โรยป่า
บานไม่รู้โรยป่า

การขยายพันธุ์บานไม่รู้โรยป่า

บานไม่รู้โรยป่า สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยการขยายพันธุ์ของบานไม่รู้โรยป่านั้นจะเป็นการขยายพันธุ์แบบใช้เมล็ดในธรรมชาติ ไม่พบว่ามีการนำบานไม่รู้โรยป่า มาปลูก เนื่องจากมีอัตราการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วมาก จนทำให้ถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง ทั้งนี้บานไม่รู้โรยป่าเป็นพืชที่ขึ้นได้ดีในทุกสภาพดิน และยังทนแล้งได้ดีมากอีกด้วย


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนเหนือดินขอบบานไม่รู้โรยป่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ดังนี้

           ส่วนเหนือดินพบสาร vanillic acid, 4-hydroxy-benzoic acid, 4-hydroxy-3-methoxybenzoic acid, stigmasterol, sitosterol, campesterol,chlorophyll, xanthophyll, squalene, phellandren, lutein, germacrene D, caryophyllene, p-cymene, α-humulene, sitosterol รวมถึงอนุพันธ์ของ ent-kaurenic acid และ eudesmanolides ส่วนสารสกัดจากเมทานอลของส่วนเหนือดินของบานไม่รู้โรยป่า พบสาร aurantiamide, aurantiamide acetate และ 3-(4-hydroxyphenyl)methylpropenoate เป็นต้น

โครงสร้างบานไม่รู้โรยป่า

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของบานไม่รู้โรยป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชศาสตร์ของสารสกัดบานไม่รู้โรยป่า จากส่วนเหนือดินของบานไม่รู้โรยป่า ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีรายงานผลการศึกษาวิจัย ฤทธิ์ต้านโรคข้ออักเสบและลดอาการปวดของสารสกัดเอธานอล จากส่วนเหนือดินของบานไม่รู้โรยป่า ในหนูสวิส ซึ่งจะประเมินโดยอาการบวมที่อุ้งเท้า อาการปวดเมื่อยจากการเคลื่อนไหว อาการปวดเมื่อยจากความเย็น เยื่อหุ้มปอดอักเสบที่ชักนำให้เกิดจากคาร์ราจีแนน การอักเสบของข้อที่เกิดจากไซโมซาน การอักเสบของเยื่อบุช่องท้องที่เกิดจากไซโมซานและแบบจำลองการทดลองการยึดเกาะและการกลิ้งที่เกิดจากคาร์ราจีแนน ผลการศึกษาพบว่าปริมาณสารสกัดทุก ขนาด (300, 700 และ 1000 มก./กก.) มีฤทธิ์ลดการเกิดอาการบวมน้ำได้อย่างมีนัยสำคัญในทุกช่วงเวลาที่ประเมิน ในขณะที่อาการปวดเมื่อยต่างๆ ตามกลไกลดลงหลัง 3 ชั่วโมง จากการฉีดคาร์ราจีแนน อาการปวดเมื่อยตามความเย็นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 3 ชั่วโมง (700 มก./กก.) และ 4 ชั่วโมง (700 และ 1,000 มก./กก.) หลังการฉีดคาร์ราจีแนนและสารสกัดที่ 1,000 มก./กก. พบว่าลดจำนวนเม็ดเลือดขาวทั้งหมด โดยไม่รบกวนการซึมผ่านของโปรตีนในแบบจำลองเยื่อหุ้มปอดอักเสบที่เกิดจากคาร์ราจีแนน ส่วนสารสกัด ขนาด 300 มก./กก. ยังสามารถลดการเคลื่อนย้ายของเม็ดเลือดขาว ในอาการบวมน้ำที่ข้อที่เกิดจากไซโมแซน ได้อย่างมีนัยสำคัญ

           อีกทั้งยังมีรายงานอีกหลายฉบับได้ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่นสารสกัดจากทั้งต้นยังมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ต่อเชื้อ Staphylococcus aureus, Salmonella typhi และอีกการศึกษาหนึ่ง พบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตทและเมทานอลมีฤทธิ์ต่อเชื้อ Fasciola gigantica, Taenia solium และ Pheretima posthuman ส่วนสารสกัดเอธานอลจากส่วนใบของบานไม่รู้โรยป่า มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตในหนู และปกป้องกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า สารสกัดของบานไม่รู้โรยป่า ยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อในระบบขับถ่ายปัสสาวะและระบบทางเดินอาหาร อีกทั้งยังพบว่าสามารถยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้อีกด้วย


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของบานไม่รู้โรยป่า

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้บานไม่รู้โรยป่า เป็นยาสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) เนื่องจากอาจทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์กัน ซึ่งอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และทำให้เลือดหยุดไหลยาก


เอกสารอ้างอิง บานไม่รู้โรยป่า
  1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. ความหลากหลายทางชีวภาพพืชสมุนไพร ในประเทศไทย 2. กรุงเทพฯ: กรม, 2558. หน้า 132
  2. นพพล เกตุประสาท. หน่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์พืชพรรณ. ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
  3. เดชา ศิริภัทร. บานไม่รู้โรยความงามที่ยั่งยืนฝืนกาลเวลา. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่2 88. เมษายน 2546.
  4. เต็ม สมิตินันทน์. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. พ.ศ.2549.
  5. วราภรณ์ สุทธิสา และคณะ. (2562). วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 21 การคัดแยกแบคทีเรียส่งเสริมการเจริญเติบโตของข่าวจากดินบริเวณรอบรากต้นบานไม่รู้โรยป่า. ฉบับที่ 3. หน้า 86
  6. Vieira C. C. J., Mercier H., Chu E. P., and Figueiredo-Ribeiro R. C. L., Gomphrena species (globe amaranth): in vitro culture and production of secondary metabolites, Medicinal and Aromatic Plants VII. (1994) 2, 257-270,
  7. Onocha P.A., Ajaiyeoba E.O., Dosumu O.O., Ekundayo O. (2005) Phytochemical screening and biological activities of Gomphrena celosioides (C. Mart) extracts. J. Nigerian Soc. Exp. Biol. 5(2): 61-67.
  8. Dosumu O. O., Ekundayo O., Onocha P. A., and Idowu P. A., Isolation of 3-(4-hydroxyphenyl) methylpropenoateand bioactivity evaluation of Gomphrena celosioides extracts, EXCLI Journal. (2010) 9, 173-180.
  9. Tem Samitinand. Thai Plant Names. Revised Edition 2001.810 p. (260)
  10. Oluwabunmi I. J. and Abiola T., Gastroprotective effect of methanolic extract of Gomphrena celosioides on indomethacin induced gastric ulcer in Wistar albino rats, International Journal of Applied and Basic Medical Research. (2015) 5, no. 1,
  11. Nandini K.N., Palaksha M.N., Gnanasekaran D. (2018) A review of Gomphrena serrata. Int. J. Sci. Res. Methodol. 11(1): 104-110
  12. De Moura R. M. X., Pereira P. S., Januário A. H., França S. C., and Dias D. A., Antimicrobial screening and quantitative determination of benzoic acid derivative of Gomphrena celosioides by tlc-densitometry, Chemical and Pharmaceutical Bulletin. (2004) 52, no. 11, 1342-1344,