ฝ้าย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ฝ้าย งานวิจัยและสรรพคุณ 31 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ฝ้ายดอน, ฝ้ายอเมริกัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium hirsutum Linn.
ชื่อสามัญ Cotton, Upland cotton
วงศ์ MALVACEAE


ถิ่นกำเนิดฝ้าย

ฝ้าย มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณภาคใต้ของเม๊กซิโกรวมถึงประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอเมริกากลาง จากนั้นจึงได้มีการนำไปปลูกยังที่ต่างๆ ทั่วโลก และเนื่องจากฝ้าย พันธุ์นี้มีผลผลิตสูง เมื่อเทียบกับฝ้ายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงยังมีความทนต่อสภาพอากาศในหลายๆ ภูมิภาคของโลก จึงทำให้ฝ้ายชนิดนี้เป็นฝ้ายที่มีการปลูกกันมากที่สุด


ประโยชน์และสรรพคุณฝ้าย

  1. ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง
  2. แก้กษัยลม
  3. ช่วยลดระดับไขมันเลือด
  4. แก้แผลหนอง เรื้อรัง
  5. แก้โรคผิวหนัง
  6. แก้กลากเกลื้อน
  7. แก้ฝีหนอง
  8. แก้ไข
  9. ช่วยขับเสมหะ
  10. แก้หลอดลมอักเสบ
  11. แก้ตัวบวม
  12. ใช้ห้ามเลือด
  13. ช่วยขับประจำเดือนในสตรี
  14. ใช้รักษาอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่
  15. แก้ริดสีดวง ถ่ายเป็นเลือด
  16. แก้ตกขาว
  17. ช่วยบำรุงไต 
  18. ใบใช้รักษาโรคนิ่ว
  19. แก้ท้องร่วง
  20. แก้โรคบิด
  21. แก้การตกเลือด
  22. ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  23. รักษาอาการปวดหัว
  24. แก้ท้องผูก
  25. จุกเสียดในลำไส้
  26. แก้โรคหอบหืด
  27. แก้ท้องเสีย
  28. ใช้รักษาโรคติดเชื้อราในผู้หญิง
  29. ช่วยลดอาการร้อน
  30. แก้ไอ
  31. รักษานิ่ว

           มีการนำปุยฝ้าย หรือ เส้นใยจากเมล็ด มาใช้ทอเป็นผ้าฝ้าย ทำเครื่องนุ่งห่ม ทำเส้นด้าน สำลี ผสมในกระดาษพิมพ์ ส่วนขนปุยสั้นๆ ที่ติดอยู่ที่เมล็ดจะนำมาใช้ทำพรม ผ้าสักลาด ผ้าซับน้ำ ส่วนเปลือกเมล็ด มีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ยาเทียม และพลาสติก ส่วนเนื้อเมล็ด สามารถนำมาสกัดน้ำมัน ใช้เป็นน้ำมันประกอบอาหาร ทำเนยเทียม ใช้เป็นส่วนผสมของขนมปัง หรือ ส่วนผสมของไส้กรอก ใช้เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมการผลิตยา เครื่องสำอาง เครื่องหนัง สิ่งทอ และพลาสติกเป็นต้นวูบวาบของวัยทอง

ฝ้าย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับสรรพคุณทางยาของฝ้ายนั้นในตำรายาไทย และตำรายาพื้นบ้านระบุว่า มีสรรพคุณเช่นเดียวกันกับฝ้ายขาว (ฝ้ายตุ่น) ได้แก่ รากมีรสชุ่ม เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ มีวิธีใช้ดังนี้

  • ใช้บำรุงกำลัง แก้กษัยลม แก้หอบ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ แก้บวม ใช้ขับประจำเดือนในสตรี โดยนำรากแห้ง 15-35 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ริดสีดวง ถ่ายเป็นเลือด บำรุงไต แก้อาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ แก้ตกขาวในสตรี โดยนำเมล็ด 6-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม
  • รักษานิ่ว โดยใช้ใบฝ้าย ผสมกับใบมะนาวป่า (มะนาวผี) ใบไพล ใบขมิ้น ใบมะม่วง และใบตะไคร้ นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ประจำเดือนมาผิดปกติ (สีดำข้นคล้ำ) โดยนำเมล็ดฝ้ายใช้ผสมกับ แก่นฝาง แก่นข่อย หัวตะไคร้ และเลือดแรด นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • น้ำมันจากเมล็ดช่วยลดระดับไขมันเลือด แก้แผลหนอง เรื้อรัง แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน แก้ฝีหนอง แก้ไข ช่วยขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ แก้หอบ แก้ตัวบวม ใช้ห้ามเลือด ขับประจำเดือนในสตรี เมล็ดใช้รักษาอาการอั้นปัสสาวะไม่อยู่ แก้ริดสีดวง ถ่ายเป็นเลือด แก้ตกขาว บำรุงไต แก้ประจำเดือนผิดปกติในสตรี

           ส่วนในลาตินอเมริกา และแอฟริกาใช้ เมล็ดสดฝ้าย นำมาคั่วใช้รักษาหลอดลมอักเสบ ท้องร่วง โรคบิด และการตกเลือด แก้ไข้ ดอกใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใบนำมาแช่น้ำสมสายชูทาบริเวณหน้าผากเพื่อรักษาอาการปวดหัว แก้ท้องผูก จุกเสียดในลำไส้ รากใช้ต้มแก้โรคหอบหืด ท้องเสีย และโรคบิด เปลือกหุ้มเมล็ดใช้รักษาโรคติดเชื้อราในผู้หญิง แก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติและลดอาการร้อน


ลักษณะทั่วไปของฝ้าย

ฝ้าย จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีสีเขียว หรือ น้ำตาล มีขนละเอียดขึ้นปกคลุมหนาแน่น แตกกิ่งที่บริเวณมุมใบโดยจะแตกกิ่งเวียนรอบต้น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ใบมีลักษณะเป็นสีเขียวเป็นรูปไข่กว้าง มีขนาดกว้างและยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร โคนใบเว้าลึก ปลายใบแยกเป็น 3-5 แฉก ขอบใบเรียบมีขนเล็กๆ สีขาวขึ้นปกคลุมทั้งแผ่นใบ และมีเส้นใบ 5 เส้น ออกจากโคนใบ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกบริเวณซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบดอกบางมี 5 กลีบมีสีเหลืองอ่อน แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมชมพูหลังจากดอกบานเต็มที่กลีบดอกออกเรียงซ้อนกันแต่กลีบกว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร ตรงกลางดอกมีเกสรเพศผู้อยู่มาก ผล หรือ สมอฝ้าย เป็นผลแห้งรูปกลมปลายแหลมมีร่องพูตามยาวเมื่อผลแก่แตกออกได้ตามพูเป็น 3 ฝา ด้านในผลมีเมล็ดมีขนยาวสีขาวห่อหุ้มอยู่หลายเมล็ด ซึ่งขนที่หุ้มเมล็ดอยู่ คือ ปุยฝ้าย โดยปุยฝ้าย คือ ส่วนของเซลล์ผิวของเปลือกเมล็ดซึ่งมีรูปร่ายาวคล้ายเส้นผม ซึ่งเส้นใยฝ้าย ที่ได้นี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ นั่นเอง

ฝ้าย

ฝ้าย

การขยายพันธุ์ฝ้าย

ฝ้ายสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีดังนี้

           การขยายพันธุ์ฝ้าย เริ่มจากการเตรียมดิน โดยไถพลิกดิน ตากให้แห้ง พร้อมกำจัดวัชพืช ประมาณ 7-14 วัน จากนั้นหว่านปุ๋ยคอก อัตรา 4-5 ต้น/ไร่ แล้วไถพรวนดินอีกครั้ง และตากดิน 3-5 วัน แล้วค่อยทำการไถยกร่องกว้างประมาณ 150 เซนติเมตร สำหรับการปลูกให้ทำการขุดหลุมบนร่องที่เตรียมไว้ โดยมีความลึกหลุมประมาณ 10-15 เซนติเมตร และเว้นระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 60-80 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมประมาณ 1 หยิบ แล้วทำการหยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด รดน้ำให้ชุ่ม ส่วนอายุการเก็บเกี่ยวฝ้ายจะอยู่ในช่วง 110-160 วันหลังการปลูก


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากเมล็ด ดอก และใบ ของฝ้าย ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น 3-glucoside-7-rhamnoside, Kaempferol, quercetin, hyperoside ส่วนสารสกัดจากรากของฝ้าย พบสาร triterpenoid aldehydes, gossypol, 6-methoxygossypol and 6, 6′ -dimethoxygossypol นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยของฝ้ายยังพบสาร α-bergamotene, caryophyllene, bisabolene, farnesene, humulene and copanene เป็นต้น

โครงสร้างฝ้าย

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฝ้าย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากฝ้ายระบุว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการอาทิเช่น 

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีรายงานว่าสารที่พบในเมล็ดฝ้าย Gossypol มีฤทธิ์ต้านการแพร่กระจายในเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง เช่น มะเร็ง ต่อมหมวกไต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม และเนื้องอกในมดลูก เป็นต้น

           ฤทธิ์กล่อมประสาท มีรายงานการศึกษาวิจัย สารสกัดน้ำของเมล็ดฝ้าย ที่ผ่านการล้างพิษ พบว่ามีฤทธิ์คล้ายยากล่อมประสาทเนื่องจากเข้าไปกระตุ้น adenyl cyclase-cAMP ในระบบการถ่ายโอนสัญญาณสื่อประสาท โดยสารสกัดในขนาด 0.01, 0.03, 0.10, 0.30 มก./มล. ถูกบ่มโดยตรงจากเยื่อหุ้มสมองชินแนปติก จากเปลือกสมองด้านในหนู ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้แกสงให้เห็นว่าฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้า และวิตกกังวลของสารสกัดดังกล่าว เกิดจากการกระตุ้น AC-cAMP ในสัญญาณระบบการถ่ายโอนจึงช่วยปกป้องเซลล์ประสาทจากรอยโรคได้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานว่าสาร Gossypol มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลองและในร่างกาย โดยสาร Gossypol เข้าไปยับยั้งการเกิด microsomal peroxidation ในตับหนูที่เกิดจากการฟักตัวด้วย ferric/ascorbate นอกจากนี้ยังช่วยปกป้อง supercoiled plasmid DNA จากความเสียหายของ ferric/ascorbate ในลักษณะที่ขึ้นอยู่กับขนาดยา  

           ฤทธิ์ต้านจุลชีพ มีการศึกษาวิจัยระบุว่าสารสกัดของฝ้าย มีฤทธิ์ต้านเชื้อ และ Salmonella thyphimurium ส่วนสารกลุ่มฟลาโวนอยด์จากเมล็ดฝ้าย ฤทธิ์ต้านเชื้อ B. cerus, S. epidermidis, Salmonella typhimurium, E.coli และ Trichoderma viride อีกด้วย

           นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าสาร gossypol ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างอสุจิ ลดระดับไขมันในเลือด กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ทั้งในคน และในสัตว์ทดลอง โดยมีการศึกษาวิจัยในคน ซึ่งมีการให้กินน้ำมันที่บีบได้จากเมล็ด พบว่าให้ผลลดการสร้างตัวของอสุจิ ทำให้เป็นหมั่นชั่วคราว และจะกลับเข้าสู่สภาพเดิมเมื่อหยุดกิน


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของฝ้าย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ห้านใช้ฝ้าย เป็นสมุนไพรโดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เพราะมีสรรพคุณขับประจำเดือน ซึ่งอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้


เอกสารอ้างอิง ฝ้าย
  1. ล้านนา. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฝ้าย”. หนังสือสมุนไพร พื้นบ้าน หน้า 121.
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. ฝ้าย. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.หน้า 128-129.
  3. ฝ้าย ประโยชน์ และการปลูกฝ้าย. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  4. Stipanovic RD, Bell AA, Mace ME and Howell CR Antimicrobial terpenoids of Gossypium: 6-methoxygossypol and 6,6′ -dimethoxygossypol. Phytochemistry 1975; 14(4):1077-1081.
  5. Chaturvedi A, Singh S and Nag TN. Antimicrobial activity of flavonoids from in vitro tissue culture and seeds of Gossypium species. Romanian Biotechnological Letters 2010; 15(1): 4959-63.
  6. Hartwell JL. Plants used against cancer. A survey. Lloydia 1967-1971; 30-34.
  7. Han L and Wang YF. Gossypol in the treatment of endometriosis and uterine myeloma. Contrib Gynecol Obstet 1987; 16: 268–270.
  8. Li A, Bandy B, Tsang SS and Davison AJ. DNA-breaking versus DNA-protecting activity of four phenolic compounds in vitro. Free Rad Res 2000; 33:551–566
  9. Elliger CA. Sexangularetin 3-glucoside-7-rhamnoside from Gossypium hirsutum. Phytochemistry 1984; 23(5):1199-1201.
  10. Bell AA. Physiology of secondary products. In Cotton Physiology. Mauney JR and Stewart JM (ed.). The Cotton Foundation: Memphis, TN, USA, 1986:. 597-621.
  11. Haspel HC, Ren YF, Watanabe KA, Sonenberg M and Corin RE. Cytocidal effect of gossypol on cultured murine erythroleukemia cells is prevented by serum protein. Journal of Pharmacology and Experimental Therapeutics 1984; 229 (1): 218-225.
  12. Ali M. Textbook of Pharmacognosy. CBS Publishers and Distributors, New Delhi, 2007: 403-404.
  13. Liu GZ, Lyle KC and Cao J. Experiences with gossypol as a male pill. Am J Obstet Gynecol 1987; 157: 1079-1081.
  14. Wu T, Abdulla R, Yang Y and Aisa H. Flavonoids from Gossypium hirsutum flowers. Chemistry of Natural Compounds 2008; 44(3):370.