ดีหมี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ดีหมี งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ดีหมี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะดีหมี, ดินหมี, จ๊ามะไฟ (ภาคเหนือ), กาไล, กำไล, กาดาวกระจาย, คัดไล (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cleidion spiciflorum (Burm.f.)Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cleidion javanicum Blume
วงศ์ EUPHORBIACEAE


ถิ่นกำเนิดดีหมี

ดีหมี จัดเป็นพืชประจำถิ่นของเขตร้อนในทวีปเอเชีย โดยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งกระจายอยู่ในบริเวณประเทศอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย และในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในมาเลเซียถึงปาปัวนิวกินีพบได้ในป่าดิบแล้ง และป่าผลัดใบ สำหรับในประเทศไทยพบดีหมี ได้มากในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย เลย ขอนแก่น สระบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และพัทลุง บริเวณป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และป่าดงดิบริมน้ำ ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400-1,200 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณดีหมี

  1. ใช้แก้ปวดท้อง
  2. ช่วยขับเหงื่อ
  3. แก้กระหายน้ำ
  4. ใช้ดับพิษไข้
  5. ใช้ปวดศีรษะ
  6. แก้มะเร็ง
  7. แก้ตับพิการ
  8. แก้โรคผิวหนัง
  9. แก้ผื่นคัน
  10. ใช้เป็นยาระบาย
  11. ใช้แก้ไข้ป่า (มาเลเรีย)
  12. แก้ลมพิษในกระดูก
  13. ใช้ดับพิษร้อน
  14. แก้ตับอักเสบ
  15. ใช้เมล็ดเป็นยาแก้อาการผิดปกติของท้องและลำไส้
  16. ใช้เปลือกลำต้นต้มอาบให้เด็กอ่อนแก้โรคหิด
  17. แก้อาการร้อนใน

           ในภาคเหนือ และอีสานมีการนำใบสดของดีหมี นำไปลวกกินเป็นเมี่ยง

ดีหมี

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้แก้มะเร็ง ตับพิการ ดับพิษไข้ แก้ปวดศีรษะ แก้ปวดท้อง ขับเหงื่อ แก้กระหาย้ำ โดยนำเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ลมพิษในกระดูก โดยนำรากมาต้มกับน้ำอาบ
  • แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แกไข้ ขับเหงื่อ แก้อาการปวดศีรษะ โดยนำแก่นมาต้มดีหมี กับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้โรคผิวหนัง แก้ผื่นคัน โดยนำมา หรือ เปลือกต้นมาต้มกับน้ำอาบ
  • ใช้ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ขับเหงื่อ แก้ปวดศีรษะ แก้ตับพิการ แก้ตับอักเสบ โดยนำทั้งต้น (ราก เปลือก ลำต้น ใบ กิ่ง ผล) มาต้มกับน้ำดื่ม
  • ส่วนในปต่างประเทศ เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ ใช้เปลือกลำต้นต้มดื่ม เป็นยาแก้ปวดท้อง ใช้เมล็ดเป็นยาแก้อาการผิดปกติของท้องและลำไส้ ในหมู่เกาะโซโลมอนใช้เปลือกลำต้นต้มอาบให้เด็กอ่อนแก้โรคหิด ส่วนเมล็ดเคี้ยวกินแก้ไข้หวัด


ลักษณะทั่วไปของดีหมี

ดีหมี จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรงแตกกิ่งก้านทึบ เปลือกลำต้นบางสีน้ำตาลอมเทาผิวเกลี้ยง ใบเป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ รูปวงรี หรือ รูปใบหอก มีขนาดกว้าง 3-8 เซนติเมตร และยาว 10-25 เซนติเมตร โคนใบแหลม ปลายใบเรียวแหลมกว่าโคนใบ ส่วนขอบใบหยักคล้ายฟันเลื่อย แผ่นใบบางสีเขียวเข้มเรียบเป็นมัน หลังใบสีอ่อนกว่า และมีขนละเอียดขึ้นเป็นกระจุกเล็กๆ ที่ซอกของเส้นใบด้านล่าง และมีเส้นใบข้างละ 5-7 คู่ สำหรับก้านใบจะยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ แบบแยกเพศต่างต้น โดยดอกเพศผู้จะเป็นช่อยาวห้อยลง ยาวประมาณ 8-25 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงประมาณ 3-4 กลีบ แยกจากกัน ไม่มีกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ 30-80 อัน เรียงเป็นรูปทรงกลมบนฐานรูปกรวย ส่วนดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยว ออกบริเวณซอกใบ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม ไม่มีกลีบดอกเมื่อดอกบาน จะมีความกว้าง 2-3 มิลลิเมตร และมีก้านเกสรเพศเมียอยู่กลางดอก 2-3 อัน ผลเป็นผลแห้งและแตก ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ผิวผลจะแบ่งเป็นพู 2 พู ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาลอมแดง ถึงน้ำตาลเข้ม เมื่อผลแก่จะแห้งและแตก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลมเกลี้ยง สีขาว ประมาณ 2-3 เมล็ด

ดีหมี

ดีหมี

การขยายพันธุ์ดีหมี

ดีหมีสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง แต่การขยายพันธุ์ของดีหมี โดยส่วนมากนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากดีกมีนั้นสามารถพบได้ทั่วไป ตามป่าผลัดใบ หรือ ป่าดิบแล้ง โดยมักพบขึ้นปนอยู่กับไผ่ต่างๆ จึงทำให้การนำมาใช้ประโยชน์จะเป็นการเก็บมาจากป่ามากกว่าการปลูกใช้เอง สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งรวมถึงการปลูกต้นดีหมี นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับไม้ยืนต้นทั่วไป ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ดีหมีเป็นพืชที่ชอบดินที่ค่อนข้างชื้น และชอบแสงแดดรำไร


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากต้น รวมถึงน้ำมันหอมระเหยจากใบและผลของดีหมี ระบุว่าพบสารออฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น สารสกดัจากต้นดีหมี พบสาร clerodane polyoxygenated spiciflorin, columbin, scopoletin, 3-acetyl aleuritolic acid, lupeol และ 3,3 4-O-trimethylellagic acetyl aleuritolic acid, ส่วนน้ำมันมันหอมระเหยจากใบดีหมี พบสาร ethyl linoleolat, iso-phytol, trans-phytol และ hexadecanoic acid เป็นต้น สำหรับน้ำมันหอมระเหยจากผลดีหมีพบสาร hexadecanoic acid, linoleic acid, phthalic acid, 9,12,15-Octadecatrien-1-ol และ phytol

โครงสร้างดีหมี

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของดีหมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดดีหมี จากต้น น้ำมันหอมระเหยจากใบ และผลของดีหมี ระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการดังนี้

           สารสกัดเมธานอลจากใบดีหมี น้ำมันหอมระเหยของผล และใบดีหมี ฤทธิ์ด้านแบคทีเรียสามชนิด คือ Staphylococcus aureus, Escherichia coli และ Pseudomonas aeruginosa และมีการศึกษาความเข้มข้นต่ำสุดของน้ำมันหอมระเหยที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดยวิธี disc diffusion พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากผลดีหมีมีฤทธิ์ต้นแบคทีเรียดีโดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งแบคทีเรีย (MIC) ทั้งสามชนิด คือ S.aureus, E. coli and P.aeruginosa ที่ความเข้มข้นเท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร จากนั้นจึงศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดหยาบ และน้ำมันหอมระเหยของดีหมีโดยวิธี ABTS และ DPPH พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากผลดีหมีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี ABTS โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.71 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และยังพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบดีหมียังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยวิธี DPPH โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 27.05 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ส่วนการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารสกัด และน้ำมันหอมระเหยของดีหมี โดยวิธี REMA พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากส่วนใบดีหมี มีฤทธิ์ต้านมะเร็งทั้งสามชนิด คือ มะเร็งช่องปาก (KB-Oral cavity cancer) มะเร็งทรวงอก (MCF7-Breast cancer) และมะเร็งปอด (NCI-H187-Small cell lung cancer)

           ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่ง ได้ศึกษาองค์ประกอบทางเคมี และฤทธิ์ทางชีวภาพของน้ำมันหอมระเหยจากใบของต้นดีหมี และวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยที่ได้มา โดยวิธีของ GC- (FID) และ GC-MS เป็นน้ำมันรวมทั้งหมด 92.60% จากนั้นนำทดสอบฤทธิ์ต้านแบคทีเรียโดยวิธี Agar diffusion method พบว่าสามารถฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus และ P. aeruginosa โดยมีค่า MIC เท่ากับ 25.00 mg/mL และ12.50 mg/mL


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของดีหมี

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ข้อควรระวังในการใช้ดีหมี เป็นสมุนไพร คือ สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ดีหมีเป็นยาสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทาน เนื่องจากมีการระบุไว้ในสรรพคุณของตำรายาแผนโบราณของไทย ว่าใบของดีหมีมีพิษ และน้ำต้มจากใบของดีหมีอาจทำให้เกิดภาวะการแท้งบุตรได้


เอกสารอ้างอิง ดีหมี
  1. เอื้อมพร วีสมหมาย และปณิธาน แก้วดวงเทียน. (2552).ไม้ป่ายืนต้นของไทย 1 (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ เอชเอ็น กรุ๊ป จำกัด
  2. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ดีหมี ”. หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา. หน้า 72.
  3. ก่องกานดา ชยามฤต. (2548). พืชมีประโยชน์วงศ์เปล้า. กรุงเทพฯ: ประชาชน
  4. สุธรรม อารีกุล. (2552). องค์ความรู้ เรื่องพืชป่าที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของประเทศไทย เล่ม 1. เชียงใหม่: มูลนิธิโครงการหลวง.
  5. พรนภา ขาวประเสริฐ. ประสิทธิภาคการเสริมฤทธิ์ของ 3-ACETYL ALEURITOLIC ACID จากต้นดีหมี (Cleidion spiciflorum (Burm.f.) Merr) และยาปฏิชีวนะในการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียฉวยโอกาสบางชนิด. วิทยานิพธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. สาขาวิชาชีววิทยาศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. ปีการศึกษา 2561. 84 หน้า
  6. Sanseera, D., Niwatananun, W., Liawruangrath, B., Liawruangrath, S., & Baramee, A., & Pyne, S. G. (2012). Chemical composition and biological activities of the essential oil from leaves of Cleidion javanicum Bl. Journal of Essential Oil Bearing Plants, 15(2), 186-194.
  7. Naengchomnong, W., Pinho, P. M., Kijjoa, A., Sawangwong, P., Gonzalez, M. J., Silva, A. M. S., Eaton, G., & Herz, W. (2006). Clerodanes and other constituents of Cleidion spiciflorum. Phytochemistry, 67, 1029-1033