กำจาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
กำจาย งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ
ชื่อสมุนไพร กำจาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ขี้คาก, กระจาย, หนามจาย (ภาคเหนือ), ขี้แรด (ภาคกลาง), หนามแดง, หนามหัน (ภาคตะวันออก), ฮาย, งาย (ภาคใต้), ตาฉู่แม, สื่อกีพอ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Caesalpinia digyna Rottl.
ชื่อสามัญ Teri pods
วงศ์ LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE
ถิ่นกำเนิดกำจาย
กำจาย จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียโดยมีเขตการกระจายพันธุ์เป็นบริเวณกว้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล รวมถึงในจีนตอนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ บริเวณป่าเบญจพรรณ และตามชายป่า หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป
ประโยชน์และสรรพคุณกำจาย
- ใช้แก้ไข้ ตัวร้อน
- ขับประจำเดือนในสตรี
- แก้กามโรค
- ใช้เป็นยาฝาดสมาน
- ใช้สมานแผล
- ช่วยห้ามเลือด
- ช่วยดับพิษฝี ถอนพิษฝี
- ช่วยถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- รักษาแผล สด แผลเรื้อรัง แผลเปื่อย
- ใช้แก้ท้องร่วง
- ช่วยให้ไม่ทำให้แผลเป็นรอยแผลเป็น
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าต้นกำจาย ไม่นิยมนำมาปลูกไว้ในบ้านเรือน เนื่องจากมีหนามที่แหลมคม ดังนั้นการใช้ประโยชน์ของกำจายจะเป็นการเก็บมาใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากำจายค่อนข้างจะน้อย โดยส่วนมากแล้วจะเก็บมาใช้เป็นยาสมุนไพร แต่ก็มีบางส่วนที่นำน้ำฝาดที่ได้จากผล หรือ ฝักสามารถมาใช้ในการย้อมผ้า แห และอวน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้แก้ไข้ ตัวร้อน ถอนพิษไข้ ขับประจำเดือนในสตรี ใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้แก้กามโรค โดยนำรากกำจายสด และรากมะขามป้อม มาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ดับพิษฝี ถอนพิษฝี ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย รักษาแผลสดแผลเรื้อรัง และแผลเปื่อย โดยนำรากมาตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น
- ใช้แก้ท้องร่วงใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยนำผล หรือ ฝักมาต้มกับน้ำดื่ม
- ใช้ห้ามเลือด สมานแผล ช่วยให้แผลหายเร็ว และไม่ทิ้งรอยแผลเป็น โดยนำฝัก หรือ ผลกำจาย มาห่อผ้าขาวบางแล้วตำคั้นเอาน้ำไปชะล้างบาดแผล
ลักษณะทั่วไปของกำจาย
กำจาย จัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงของต้นได้ 2.5-10 เมตร ลำต้นมีสีขาวนวลถึงน้ำตาลต้นอ่อนผิวเรียบแต่ลำต้นแก่และก้านใบมีหนามแหลมแข็งโค้งคล้ายหนามกุหลาบ และบริเวรกิ่งอ่อนมีขนสั้นขึ้นปกคลุมทั่วไป
ใบกำจาย เป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ออกแบบเรียงสลับ มีก้านใบยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยมีประมาณ 8-12 คู่ ออกเรียงตรงข้ามกัน มีขนาดกว้าง 3-4 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปขอบขนานโคนใบเบี้ยว ปลายใบมน แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ใบอ่อนมีขนนุ่ม เมื่อใบแก่ขนจะร่วงหมด หูใบเรียวแคบ ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ร่วงได้ง่ายก้านใบย่อยมีขนาดสั้นมาก
ดอกกำจาย ออกแบบช่อกระจะซึ่งจะออกบริเวณง่ามใบและปลายกิ่งช่อดอก ยาว 15-20 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน โดยกลีบนอกจะใหญ่กว่ากลีบอื่น โคนติดกันเป็นรูปถ้วยตื้นๆ และมีกลีบดอก 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน สีเหลือง ค่อนข้างกลมปลายหยักเว้า มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของดอก 5-7 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ส่วนก้านชูอับเรณูมีขนเป็นปุย รังไข่เกลี้ยง หรือ มีขนประปราย มีออวุล 3-4 เม็ด ก้านดอกยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร
ผลกำจาย ออกเป็นฝักลักษณะแบน กว้าง 1.5-2 เซนติเมตร และยาว 3.5-5 เซนติเมตร เป็นรูปรีแกมขอบขนาน ตรงกลางป่องเล็กน้อย ปลายเป็นจะงอย แหลมมีขอบเป็นสัน ฝักดิบเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่จะไม่แตกอ้า ด้านในฝักมีเมล็ดมีประมาณ 2-3 เมล็ด มีลักษณะค่อนข้างกลมสีน้ำตาลมีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 12 มิลลิเมตร
การขยายพันธุ์กำจาย
กำจายสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าถูกนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เนื่องจากเป็นพันธุ์ไม้ที่มีหนาแหลมคม ไม่เหมาะที่จะนำมาปลูกไว้ในบ้านเรือน จึงไม่เป็นที่นิยม สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกกำจาย นั้นก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดกำจาย จากส่วนราก พบว่ามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น bergenin, caesalpinine A, cesalpinine C, intricatinol, isointricatinol, E-8-methoxybonducelline, Bonducellin, isobonducellin, Z-8 methoxybonducelline, e‐eucomine และ z‐eucomine เป็นต้น
การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกำจาย
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากรากของกำจายระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ อาทิเช่น
ฤทธิ์รักษาเบาหวานชนิดที่ 2 มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเบาหวานชนิดที่ 2 ในหนูแรทเพศผู้ของสารเบอร์จีนินซึ่งเป็นสกัดจากรากกำจาย ในขนาด 2.5, 5 และ 10 มก./กก. โดยเมื่อป้อนให้หนูปกติและหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin กิน นาน 14 วัน พบว่าสารเบอร์จีนินขนาด 10 มก./กก. สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด (oral glucose tolerance test) ของหนูปกติในนาทีที่ 30 และนาทีที่ 60 และลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting blood glucose) ของหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานได้ในวันที่ 14 ของการศึกษาเท่านั้น และสารสกัดเบอร์จีนินทุกขนาดสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลรวมถึง คอเลสเตอรอลชนิด LDL และยังช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL แต่ไม่มีผลต่อระดับกลัยโคเจนในตับ นอกจากนี้ยังลดการออกซิไดซ์ของไขมัน และเพิ่มระดับเอนไซม์ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide dismutase (SOD) และ catalase (CAT) ในตับด้วย จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารเบอร์จีนินในรากกำจายมีฤทธิ์ต้านเบาหวาน ลดไขมันในเลือด และต้านอนุมูลอิสระ ในหนูแรทที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2ได้
ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีการศึกษาและทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากรากของกำจาย โดยใช้แบบจำลองมาตรฐาน ในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัดเมทาอนลของรากของกำจาย Caesalpinia digyna (CDM) มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระและการยับยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมัน เมื่อป้อนสารสกัดให้หนูทดลองทางปากที่ 100, 200 และ 400 มก./กก. ของน้ำหนักตัว เป็นเวลา 7 วัน
นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นระบุว่าสารสกัดจากรากของกำจายยังมีฤทธิ์ ลดไข้ ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อจุลชีพ อีกด้วย
การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกำจาย
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้กำจายเป็นสมุนไพร โดยเฉพาะในรูปแบบการรับประทานเนื่องจากกำจายมีสรรพคุณในการขับประจำเดือนในสตรี ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ สำหรับคนที่มีสุขภาพปกติ ก็ควรระมัดระวังการใช้กำจาย เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง กำจาย
- ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “กำจาย (Kamchai)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 48.
- สารเบอร์จีนีน (bergenine) ในรากกำจายมีฤทธิ์รักษาเบาหวานชนิดที่ 2. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
- ราชบัณฑิตยสถาน. 2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
- Somendu K. Roy, Amit. Srivastava, M Jachak. Sanjay, Analysis of homoisoflavonoids in Caesalpinia digyna by HPLC-ESI-MS, HPLC and method validation. Natural Product Commun. 7 (9) (2012)
- Smitinand, T. and Larsen, K., eds. 1984. Flora of Thailand (Vol.4: 1). Bangkok: TISTR Press.
- Kumar Rajesh, Patel Dinesh K, Prasad Satyendra K, Laloo Damiki, Krishnamurthy Sairam, Hemalatha S. Type 2 antidiabetic activity of bergenin from the roots of Caesalpinia digyna Rottler. Fitoterapia. 2012;83(2):395-401.
- Emon Nazim Uddin, Jahan Israt, Sayeed Mohammed Aktar. Investigation of antinociceptive, anti-inflammatory and thrombolytic activity of Caesalpinia digyna (Rottl.) leaves by experimental and computational approaches. Adv. Traditional Med. 2020:1–9.
- Mahato Shashi B, Sahu Niranjan P, Müller Eveline, Luger Peter. Stereochemistry of a macrocyclic spermidine alkaloid from Caesalpinia digyna Rottl. X-Ray determination of the structure of caesalpinine C (celallocinnine) Journal of the Chemical Society, Perkin Transactions. 1985;2(2):193-196.