แห้วจีน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย
แห้วจีน งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ
ชื่อสมุนไพร แห้วจีน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แห้ว (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Eleocharis dulcis (Burmann.f.) trin.
ชื่อสามัญ Water chestnut, Chinese water chestrut
วงศ์ CYPERACEAE
ถิ่นกำเนิดแห้วจีน
แห้วจีน เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยมีการคาดการกันว่าอยู่ในประเทศจีน จากนั้นจึงได้มีการนำไปปลูกยังเขตร้อนต่างๆ หลายประเทศ สำหรับในประเทศไทย ได้มีการนำแห้วจีน มาปลูกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2493 โดยนำพันธุ์แห้วจีนมาทดลองปลูกในแปลงที่เคยทำนาข้าวที่ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะถูกเพลี้ยรบกวนต่อมาจึงได้มีการนำมาปลูกครั้งที่ 2 ที่ อ.ครีประจันต์ ปรากฏว่าได้ผลดี จึงได้มีการปลูกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันได้มีการปลูกแห้วจีนในหลายพื้นที่ แต่แหล่งปลูกแห้วจีนที่ใหญ่ที่สุด คือ จ.สุพรรณบุรี
ประโยชน์และสรรพคุณแห้วจีน
- แก้ร้อนใน
- แก้กระหายน้ำ
- ช่วยลดไข้
- บำรุงธาตุ
- สมานแผลในทางเดินอาหาร
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของร่างกาย
- ช่วยกระตุ้นการย่อยอาหาร
- ช่วยขับน้ำนมของสตรีมีบุตร
- เป็นยาอายุวัฒนะ
- บำรุงครรภ์
- บำรุงกำลัง
- แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
- แก้อาการไอ
- ช่วยเพิ่มความอยากอาหารในเด็ก
- ช่วยขับปัสสาวะ
- แก้ท้องผูก
- ช่วยละลายเสมหะ
- บำรุงปอด
- ช่วยลดความดันโลหิต
- แก้พิษหัด
- บำรุงตับ
- แก้อาการเมาสุรา
ประโยชน์หลักๆ ของแห้วจีน คือนำมารับประทานทั้งในรูปแบบอาหารคาวและของหวาน โดยมีการนำส่วนของหัวแห้วจีนมาล้างทำความสะอาดก่อนนำมาต้ม 30-40 นาที แล้วจึงนำมารับประทาน ซึ่งจะมีความกรอบและมีรสหวาน หรือ นำมาประกอบอาหารคาวหวานได้หลายชนิด เช่น ไก่ผัดแห้ว แกงเขียวหวานบวบเนื้อแห้ง ผัดโหงวก๊วย ผัดขิงไก่ 5 เซียน ตะโก้แห้ว ทับทิมกรอบ แห้วลอยแก้ว เป็นต้น อีกทั้งมีการนำแห้วจีน มาทำเป็นแห้วจีนในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง ส่งขายทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการนำหัวแห้วจีนดิบมาปอกเปลือก ก่อนสับให้มีขนาดเล็ก แล้วตากให้แห้งหลังจากนั้น นำมาบดเป็นแป้งสำหรับประกอบอาหาร หรือ ทำขนมหวาน ซึ่งจะมีคุณสมบัติคล้ายแป้งข้าวโพด ส่วนใบแห้วจีนก็สามารถนำมาตากให้แห้งและทอเป็นเสื่ออ่อนได้อีกด้วย
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
- ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ กระตุ้นการทำงานของร่างกาย กระตุ้นน้ำย่อย บำรุงกำลัง บำรุงครรภ์ บำรุงน้ำนม ขับปัสสาวะ แก้ท้องผูก บรรเทาอาการไอ ละลายเสมหะ ลดไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ สมานแผลทางเดินอาหาร โดยใช้หัวแห้วจีน มาต้มรับประทาน หรือ ใช้ประกอบอาหารรับประทานเป็นประจำ
- ใช้บำรุงตับ บำรุงปอด แก้พิษเมาสุรา แก้คลื่นเหียนอาเจียน แก้โรคกระเพาะอาหาร แก้พิษหัด โดยใช้หัวแห้วจีนมาคั้นเอาน้ำดื่ม
ลักษณะทั่วไปของแห้วจีน
แห้วจีนจัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ตระกูลกก อายุปีเดียว มีรากเป็นแบบรากฝอย หัว มีลักษณะทรงกลม ค่อนข้างแบนแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ หัวชนิดแรกจะเกิดเมื่อต้นมีอายุ 6-8 สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นหัวขนาดเล็กทำหน้าที่แทงยอดเป็นต้นอ่อนขึ้นล้อมรอบต้นแม่ หัวชนิดที่สอง มีขนาดใหญ่ จะเกิดในช่วงแห้วจีน ออกดอก หรือ หลังออกดอกโดยจะแตกออกบริเวณโคนต้น ซึ่งจะทำมุม 45 องศา กับลำต้นลักษณะเปลือกหัวในช่วงแรกจะมีสีขาว จากนั้นพัฒนามีเกล็ดสีสีน้ำตาลไม้มาหุ้มซึ่งก็ คือ หัวแห้วจีนที่เรานำมารับประทานนั้นเอง
ลำต้นแห้วจีนตั้งตรง เป็นทรงกลม แข็ง อวบ ลำต้นกลวง สูง 1-1.5 เมตร เป็นแบบย่อส่วนเหลือเพียงกาบหุ้มไม่มีแผ่นใบ มีลักษณะกลม กลวง สีน้ำตาลแดง หรือ สีม่วงยาว 15-20 เซนติเมตร เส้นใบเรียงตัวแบบขนานกาบใบ (leaf sheath)
ดอกแห้วจีน ออกเป็นช่อแบบ spike บริเวณยอดลำต้น โดยแต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก โดยดอกย่อยเป็นช่อดอกสมบูรณ์เพศ โดยมีดอกตัวเมียเกิดก่อน ซึ่งจะแทงออกเมื่อลำต้นสูงประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วดอกตัวผู้จึงแทงออกตามมา ซึ่งดอกจะประกอบด้วย bract 1 อัน ห่อหุ้มอยู่ กลีบดอกเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปเป็นขน ( hair หรือ bristle) anther แบบ basifixed รังไข่แบบ superior มี 1 locule และ 1 ovule ผลแห้งมักเรียกเป็นเมล็ด โดยจะมีขนาดเล็ก สีน้ำตาลอมดำ
การขยายพันธุ์แห้วจีน
แห้วจีนสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้หัวพันธุ์ปลูก โดยการปลูกแห้วนั้น เรียกว่าการปักดำ โดยมีวิธีการเริ่มตั้งแต่การเตรียมหัวพันธุ์โดยใช้หัวแห้วจีนที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่ฝ่อ หรือ มีรอยกัดแทะของแมลงและมีขนาดตั้งแต่ 3 เซนติเมตร ขึ้นไป จากนั้นนำหัวแห้วจีนมาตากแดด 2-3 วัน แล้วนำมาแช่น้ำอีก 2-3 วัน จนหัวแทงยอดอ่อน จากนั้นนำลงหลบในแปลงเพาะ ที่เตรียมโดยการก่ออิฐชั้นเดียวกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามความเหมาะสมแล้วโรยด้วยขี้เถ้าแกลบ หรือ ขี้เถ้าแกลบผสมปุ๋ยคอกหนาประมาณ 5 เซนติเมตร โดยให้ระยะห่างระหว่างหัวและแถวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลบด้วยขี้เถ้าให้คลุมทุกหัว แล้วรดน้ำให้ชุ่มดูแลจนต้นกล้ามีอายุ 30-45 วัน หรือ มีความสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ก่อนย้ายลงปลูกในแปลงนาส่วนวิธีการปลูกแห้วจีน จะปลูกด้วยวิธีการปักตำ คล้ายกับวิธีการปักตำต้นข้าว โดยมีระยะปักตำตั้งแต่ 50x50 เซนติเมตร ถึง 70x70 เซนติเมตร ปักตำให้หัวแห้วจมมิดลงโคลน หลังจากการปักตำแล้วให้รักษาระดับน้ำให้คงที่ 10-15 เซนติเมตร โดยจัดทำร่องชักน้ำ หรือ ระบายน้ำไว้รอบแปลง เพื่อนำเข้า หากน้ำลดมาก หรือ สูบน้ำออกหากน้ำสูงมากเกินไปหลังการปลูก 6-8 เดือน ก็สามารถเก็บแห้วจีนมาบริโภคหรือจำหน่ายได้
องค์ประกอบทางเคมี
มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากหัวและใบของแห้วจีนระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น หัวแห้วจีน พบสาร xylonic acid, tartaric acid, 4-hydroxybenzaldehyde, cryptochlorogenic acid, pyrrole, pyrazine, vanillin, vanillic acid, ferulic acid ส่วนสารสกัดจากใบพบสาร Pentitol, imidazole, oxacyclotetradecan-2-one, butyric acid, acetin, d-manitol, 6-desoxy-1-altitrol, palmitic acid, mrthyl 2-furoate, butanedioic acid, hexadecanoic acid, cis-13-octadecenoic acid, octadecenoic acid เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแห้วจีน
มีรายงานผลการศึกษาของหัวแห้วจีน ในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญต่างๆ ดังนี้ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดไขมันในเลือด ลดน้ำตาลในเลือด กระตุ้นน้ำย่อยและมีฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
การศึกษาทางพิษวิทยาของแห้วจีน
ไม่มีข้อมูล
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าการรับประทาน หรือ การใช้แห้วจีนจะมีการใช้มาตั้งแต่ในอดีต และยังไม่พบรายงานความเป็นพิษจากการบริโภคหัวแห้วจีน แต่อย่างไรก็ตามในการรับประทาน หรือ ใช้เป็นยาสมุนไพร ก็ควรระมัดระวังในการใช้โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรใช้ หรือ รับประทานในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ รับประทานต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
เอกสารอ้างอิง แห้วจีน
- ชานิมา สังข์ขำ 2522. การศึกษาการสันนิษฐานวิทยาและเซลล์ วิทยาในแห้วจีน กรุงเทพฯ วิทยานิพนธ์ ปริญญาโท มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- ผาณิต รุจิรพิสิฐ. 2550. องค์ประกอบทางเคมีและสมบัติทาเคมีกายภาพของสตาร์ช และกากสตาร์ช จากแห้วจีน. วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 27, 2: 162-172.
- พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถและคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9: พืชให้คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่เมล็ด. กทม. สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 130-132.
- เจริญ วัฒนาพันธุ์ 2501. การปลูกแห้วจีน กสิกร 31 (33:79) -201
- ผาณิต รุจิรพิสิฐ. องค์ประกอบทางเคมีและสมบัติทางเคมีกายภาพของแป้งฟลาวร์จากแห้วจีน. วารสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปีที่ 28. ฉบับที่ 1 มกราคม-มีนาคม 2551. หน้า 168-178.
- แห้ว/หัวจีน ประโยชน์ สรรพคุณและการปลูกแห้ว. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก www.puechkaset.com
- Zhang, J.; Yi, Y; Pan, D.; Zhou, G.; Wang, Y; Dang, Y; He, J.; Li, G.,; Cao, J. 1H NMR-based metabolomics profiling and taste of boneless dry-cured hams during processing. Food Res. Int. 2019, 122, 114-122.
- Rosyidah K., Rohman T., 2018 [Antioxidant activity of methanol extract of the Purun Tikus (E, dulcis) leaves]. JKPK 3:135-140.
- Zhang, J; Zhang, Y;Wang, Y; Xing, L.; Zhang, W. Influences of ultrasonic-assisted frying on the flavor characteristics of fried meatballs. Innoo. Food Sci. Emerg. Technol. 2020, 62, 102365.
- Okocha R. C., Olatoye I. O., Adedeji O. B., 2018 Food safety impacts of antimicrobial use and their residues in aquaculture. Public Health Reviews 39:21, 22 p.
- Tborodo, N.G., and Filemon Q. Abaya. 1939. Noteson the periminary cultural tria wite chinease water chesnuts. The Philippines Journal of Agriculture. 10: 397-402.
- Zhao, X.;Wei, Y; Gong, X; Xu, H,; Xin, G. Evaluation of umami taste components of mushroom (Suillus granulatus) of different grades prepared by different drying methods. Food Sci. Hum. Wellness 2020, 9, 192-198.
- Klancnik A., Piskernik S., Jersek B., Mozina S. S., 2010 Evaluation of diffusion and dilution methods to determine the antibacterial activity of plant extracts. Journal of Microbiological Methods 81(2):121-126.