นมควาย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

นมควาย งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ


ชื่อสมุนไพร นมควาย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น นมวัว, นมแมว (ภาคกลาง), นมแมวป่า, หมากผีม่วน (ภาคเหนือ), พีพวน, พีพวนน้อย, หำลิง, สีม่วน, ติงตัง (ภาคอีสาน), บุหงาใหญ่, หมากผีผวน (พิษณุโลก, กระบี่), กรีล, ลูกเตรียน (ศรีสะเกษ, สุรินทร์, เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Uvaria rufa Blume
วงศ์ ANONACEAE

ถิ่นกำเนิดนมควาย

นมควาย จัดเป็นพืชเขตร้อนที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมเป็นขนาดกว้างคือเริ่มจากภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้ในป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ หรือตามชายป่าดิบ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงความสูงประมาณ 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณนมควาย

  • แก้ไข้เนื่องจากกินของแสลง
  • แก้ไข้กลับไข้ซ้ำ
  • แก้อาการไข้ไม่สม่ำเสมอ
  • ใช้บำรุงโลหิต
  • ใช้แก้ผอมแห้งสำหรับสตรีที่อยู่ไฟไม่ได้หลังการคลอดบุตร
  • บำรุงน้ำนมในสตรีที่ให้นมบุตร
  • ใช้เป็นยากระตุ้นการคลอด
  • รักษากามโรค
  • ใช้เป็นยาถอนพิษ
  • ช้แก้เม็ดผื่นคันตามตัว
  • แก้ผดผื่นคัน
  • แก้โรคไตพิการ
  • ช่วยเร่งการคลอดบุตร เพิ่มการบีบตัวของมดลูก 
  • ใช้รักษาโรคหืด
  • ใช้แก้ต่อมลูกหมากโต 

           นมควาย ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการใช้เป็นอาหารโดยในชนบทมักจะนำผลสีส้มแดงเข้ม เนื้อในสีขาวซึ่งมีรสหวาน-อมเปรี้ยว กลิ่นหอมคล้ายลิ้นจี่สุกมากินเล่น โดยกินเฉพาะเนื้อสีขาว ส่วนผลอ่อน-ห่าม รสเปรี้ยวอมฝาด นำมาปลอกเปลือกออกแล้วนำมาคลุกกับน้ำปลา น้ำตาลหรือพริกป่นนำมาตำส้มก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ได้ หลากหลายชนิด ประโยชน์ด้านใช้ทำเป็นวัสดุใช้งาน โดยเถาของนมควาย เป็นเนื้อเหนียว สามารถใช้ทำขอบกระดั่ง ขอบอู่ ขอบสวิง กงลอบ กงไซ หรือ ใช้สานฝักมีดก็ได้ นอกจากนี้ใน ประเทศฟิลิปปินส์มีการนำรากของต้นนมควายไปแช่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ใช้เป็นยากระตุ้นการคลอดบุตรของสตรี อีกด้วย

นมควาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้นมควาย

ใช้เป็นยาแก้ไข้กลับหรือไข้ซ้ำ แก้ไข้ไม่สม่ำเสมอแก้ไข้อันเนื่องมาจากรับประทานของแสลงที่เป็นพิษเข้าไป โดยการนำแก่นและรากมาต้มรวมกันกับน้ำดื่ม ใช้รักษาต่อมลูกหมากโตโดยนำเถาแห้ง นำมาปิ้งเหลือง แล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆ ชงกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคไตพิการบำรุงน้ำนมสตรี โดยนำรากนมควาย พอประมาณนำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งวันละ 1-2 ครั้ง ใช้เป็นยาถอนพิษรักษาโรคหืดโดยนำผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการผอมแห้งแรงน้อยของสตรีและใช้บำรุงเลือด โดยใช้รากนมควาย เหง้าต้นเอื้องหมายนา รากหญ้าคา และลำต้นอ้อยแดง อย่างละเท่ากัน นำมาต้มน้ำจนเดือด ใช้ดื่มขณะอุ่นๆ ใช้เป็นยาทาแก้ผดผื่นคันเต็มตัวโดยนำผลสุกมาบดกับน้ำทาบริเวณที่เป็น รากนมควายกะจำนวนพอประมาณนำมาต้มกับน้ำจนเดือด ใช้ดื่มครั้งละแก้ว วันละ 1-2 ครั้ง เป็นยาแก้โรคไตพิการได้ดีในระดับหนึ่ง

ลักษณะทั่วไปของนมควาย

นมควาย จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งมักทอดเลื้อย พาดไปบนต้นไม้อื่น ยาว 1.5-4 เมตร เปลือกลำต้นสีม่วงอมเทากิ่งก้านและยอดอ่อนปกคลุมด้วยขนละเอียดสีน้ำตาลแดงหนาแน่นแต่เมื่อเถาแก่จะไม่มีขน

            ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาวรี หรือ รูปรีแกมรูปขอบขนาน ใบมีขนาดกว้าง 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-15 เซนติเมตร โคนใบมน หรือ เว้า ปลายใบเรียวแหลมเป็นติ่ง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษมีเส้นใบประมาณ 8-15 คู่ หลังใบมีขนรูปดาวแข็ง ส่วนท้องใบมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงอยู่หนาแน่นและมีก้านใบยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก 2-3 ดอก บริเวณก้านตรงข้ามใบ หรือ เหนือซอกใบ โดยจะมีช่อดอกยาว 1.1-1.5 ซม. และมีก้านช่อดอกยาว 1.3 มม มีขนขึ้นกระจายหนาแน่นส่วนก้านดอกย่อยยาว 0.5-0.8 ซม. 1 ใบ กว้าง 3-6 มม. ยาว 3-13 มม. เป็นรูปสามเหลี่ยมปลายมนติดตรงกลางก้านดอกและมีกลีบเลี้ยง 3 กลีบ บางคล้ายกระดาษ เชื่อมติดกันที่โคนเล็กน้อยปลายแยกเป็น 3 แฉก ส่วนกว้างที่โคน 5-6 มม. ยาว 3-4 มม. ส่วนกลีบดอกมี 6 กลีบ ดอกสีแดงสดแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเลือดนก รูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง 4-6 มม. ยาว 8-10 มม. แยกจากกัน (อาจมี 8 กลีบ) แยกเป็น 2 วง วงละ 2 กลีบ ขนาดเท่าๆ กัน ดอกมีกลิ่นหอม ปลายกลีบดอกมนหรือกลม มีขนทั้งสองด้าน เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบมักโค้งลงไปทางก้านดอก

           ผล ออกเป็นผลกลุ่ม โดยในแต่ละช่อผลมีผลย่อยประมาณ 4-20 ผล ผลย่อยมีลักษณะกลมรี หรือ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 1-1.1 ซม. ยาวประมาณ 1.7-4 ซม. ผิวผลย่นและมีขนสีน้ำตาลสั้นปกคลุม ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด เนื้อในผลเป็นสีขาว ซึ่งในแต่ละผลจะมีเมล็ดจำนวนมากประมาณ 14-18 เมล็ด โดยจะเรียงตัวเป็น 2 แถว ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีปลามน โคนเว้า ส่วนขอบเรียบ ผิวเมล็ดเกลี้ยงเป็นสีน้ำตาลมัน ขนาดกว้างประมาณ 1-2 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร

ดอกนมควาย

นมควาย

การขยายพันธุ์นมควาย

นมควาย จัดเป็นผลไม้ป่าจึงยังไม่มีการนำมาปลูกตามไร่ตามสวนหรือบริเวณรอบบ้าน ซึ่งการขยายพันธุ์โดยส่วนมากก็จะเป็นการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดตามธรรมชาติ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำเมล็ดนมควายมาเพาะขยายพันธุ์เนื่องจากนมควายในธรรมชาติ เริ่มหายากเนื่องจากป่าที่เป็นที่เกาะอาศัยของเถานมควายถูกบุกรุกทำลาย ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดมีดังนี้ ก่อนอื่น นำเมล็ดนมควายมาเพาะเริ่มจากล้างและเอาเนื้อออกให้เหลือแต่เมล็ด นำไปผึ่งลมพอแห้ง (ห้ามตากแดด) จากนั้นนำไปเพาะในวัสดุเพาะโดยฝังเมล็ดให้ลึก 0.3-0.5 ซม. รดน้ำพอชุ่ม หลังจากเพาะเมล็ดประมาณ 1 เดือน เมล็ดจะงอกเป็นต้นสูง 5-10 ซม. แล้วจึงแยกลงในถุงดำ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน ก็สามารถนำไปปลูกได้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัย สารสกัดโดยการแยกสารสกัดชั้นเอทิลอะซิเตตของส่วนเหนือดินของนมควาย พบว่ามีสาระสำคัญดังนี้ สาร tonkinenin, zeylenol, urarigranol B, uvarigranol F, gradifloracin grandiflorone, 1-eizeylenol, 2-o-benzoyl-3-o-debenzoylzeylenone, 1,6-desoxypipoxide และ tingtanoxide ใบมีการรายงานการแยกสารสกัดชั้นคลอโรฟอร์ม พบสาร ellipeisol zeylenol kweichonol, microcarpin A, microcarpin B, anabellamide และ ferrodiol และมีการแยกสารสกัดเอทิลอะซิเตตจากส่วนใบของนมควาย สารกลุ่ม flavonol glycoside คือ rutin astragalin isoquercitrin Kaempferol 3-o-B-D-galactopyranoside, isoquercitrin-6-acetate

           สารสกัดเมทานอลที่ได้เปลือกลำต้นของนมควาย พบสารใหม่คือสาร caryophyllene oxide, glutinol และพบสารกลุ่ม flavonoid ตัวใหม่ คือ สาร 5,7-hydroxyflavonone benzyl benzoate, 5-hydroxy-7-methoxyflavone, 5-hydroxy-6,7-dimethoxyflavone, 2,5-hydroxy-7-methoxyflavanone เป็นต้น

นมควาย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของนมควาย

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของนมควาย ระบุว่าสาร isoquerc และสาร isoquercitrin-b-acetate มีฤทธิ์ยับยั้ง advanced glycation end-products อันเนื่องมาจากมีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานได้ดี เมื่อเทียบเท่ากับสารมาตราฐานเควอซิติน ที่ใช้ในการทดสอบ โดยสารทั้งสอง และสาร Quercetin แสดงฤทธิ์ยับยั้งด้วยค่า IC50 เท่ากับ 8.4 6.9 10.9 ตามลำดับ และสารสกัดชั้นคลอโรฟอร์ม ferudiol, anabellamide แสดงฤทธิ์ยับยั้งเชื้อวัณโรค สายพันธุ์ HRv ได้ดีที่ค่า MIC เท่ากับ 8ug/ml นอกจากนี้ยังมีการ นำสารสกัดจากชั้นเอทิลอะซิเตต และสารสกัดจากชันคลอโรฟอร์มที่แยกได้ทั้งหมดมาทดสอบฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง 9 ชนิด พบว่าสาร oxoanolobine, ergosta-4,6,8,22-tetraen-3-one แสดงฤทธิ์ความเป็นพิษต่อเซลล์ปอด ในระดับปานกลางด้วยค่า IC50 เท่ากับ 9.22+- 1.02 และ 10.21+-1.16 ug/ml ตามลำดับอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของนมควาย

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้นมควาย เป็นยาสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้สำหรับ เด็กสตรีมีครรภ์ หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้นมควายเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง นมควาย
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “นมควาย”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 385-386.
  2. ประไพรัตน์ สีพลไกร, รัตนาภรณ์ ตรัยสถิต. สรรพคุณทางยา สารเมแทบอไลต์ทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชสมุนไพรไทยบำรุงน้ำนมบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา ปีที่ 25. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2563. หน้า 1282-1284.
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “นมควาย”. หนังสือสมุนไพรไทยในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 122.
  4. พีพวนน้อย. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=252.
  5. Tudla, F.A., Aguinaldo, A.M., Krohn, K., Hussain, H., & Macabeo, A.P.G. (2007). Highly oxygenated cyclohexene metabolites from Uvaria rufa. Biochemical Systematics and Ecology,35,45-47.
  6. Macabeo, A.P.G., Tudla, F.A., Alejandro, G.J.D., Kouam, S.F., Hussain, Hidayat., Krohn, K. 2010. Benzoylated derivatives from Uvaria rufa. Biochem Syst Ecol, 38(4), 857-860.
  7. Singh, G. (2010). Plant systematics an integrated approach. (3rd ed.). India: Science Publishers.
  8. Nguyen, T.H., Ho, V.D., Do, T.T., Bui, H.T., Phan, V.K., Sak, K., & Raal, A. (2014). Natural Product Research, 29(3), 247-252.
  9. Deepralard, K., Kawanishi, K., Moriyasu, M., Pengsuparp, T., & Suttisri, R. (2009). Flavonoid glycosides rom the leaves of Uvaria rufa with advance glycation end-products inhibitory activity. Thai Journal of Pharmaceutical Science,33, 84-90.
  10. Rosandy, A.R., Din, L.B., Yaacob, W.A., Yusoff, N.I., Sahidin, I., Latip, J., Nataqain, S., & Noor, N.M. (2013). Isolation and characterization of compounds from the stem of Uvaria rufa(Annonaceae). Malaysian Journal of Analytical Sciences, 17(1), 50 -58.
  11. Zhang, C.-R., Yang, S.-P., Liao, S.-G., Wu, Y., & Yue, J.-M. (2006). Polyoxygenated cyclohexene derivatives from Uvaria rufa. Helvetica Chimica Acta,89, 1408-1416.