รัก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

รัก งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ


ชื่อสมุนไพร รัก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ดอกรัก, รักดอก, รักดอกขาว, รักดอกม่วง (ภาคกลาง), ปอเถื่อน (ภาคเหนือ), รักขาว, รักซ้อน (เพชรบูรณ์), อรัก (อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Calotropis gigantea R.Br., Calotropis didantea(L.) dryander ex. W.T. Aiton
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calotropis gigantean (L.) R.Br.ex Schult, Asclepias gigantean Linn
ชื่อสามัญ Crow flower, Giant indian milkweed
วงศ์ Asclepiadoideae-Asclepiadaceae


ถิ่นกำเนิดรัก

สำหรับถิ่นกำนิดของต้นรัก เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่อินเดีย ธิเบต อินเดีย หรือทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ด้วย ส่วนในประเทศไทยรักก็ได้แพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่สมัยโบราณแล้วโดยเชื่อว่ามาจากประเทศอินเดียเพราะมีการเรียกชื่อที่คล้ายกัน และในปัจจุบันก็สามารถพบต้นรัก ได้ทั่วทุกาคของประเทศอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณรัก

  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • แก้ไอ
  • แก้หอบหืด
  • แก้หวัด
  • แก้กลากเกลื้อน
  • ช่วยบำรุงทวารทั้ง 5 แก้ไข้
  • แก้อาการปวดหู
  • แก้ปวดฟัน
  • ใช้เป็นยาถ่าย
  • แก้ริดสีดวงในลำไส้
  • ช่วยถ่ายพยาธิไส้เดือน
  • ช่วยขับเลือด
  • ใช้ฆ่าเชื้อแผลสด
  • แก้โรคเรื้อน
  • แก้ไข้
  • แก้ไข้เหนือ
  • ทำให้อาเจียน
  • แก้บิด
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย
  • ช่วยขับเสมหะ

           ต้นรัก ถูกนำมาใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบแต่ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีคือการนำส่วนของดอกมาร้อยเป็นพวงมาลัยไว้สำหรับงานมงคลต่างๆ ส่วนในต่างประเทศพบว่าในอินเดียมีการนำน้ำจากผลมาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มส่วนเส้นใยจากลำต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็น เชือก ด้าย แห และใช้เป็นเส้นใยแทนนุ่นได้อีกด้วย

รัก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้รัก

ช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ แก้หวัด หอบหืด โดยใช้ดอกรัก มาตากแห้งแล้วมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงทวารทั้งห้า แก้ไข้ ขับเหงื่อ โดยใช้เนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ แก้ไข้เหนือ แก้บิด ขับเหงื่อ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับเสมหะ ทำให้อาเจียนโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ริดสีดวงทวาร แก้คุดทะราด โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาถ่ายขับพยาธิ โดยใช้น้ำยางทาที่ตัวปลาช่อนแล้วนำไปย่างไฟรับประทาน

ลักษณะทั่วไปของรัก

รัก จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็กถึงขนาดกลางมีความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร แตกกิ่งก้านที่โคนต้นจำนวนมาก โดยจะแตกกิ่งก้านแผ่ออกทางต้นข้าง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลอ่อน หรือ สีเทา แตกเป็นร่องตามยาว เนื้อไม้อ่อนแต่กิ่งจะไม่มีเนื้อไม้ และมีขนสีขาวปกคลุมอยู่หนาแน่น ทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม มีขนาดใหญ่ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี หรือ รูปรีแกมขอบขนาน สีเขียวปนเทาปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบมีขนละเอียดปกคลุม ใบกว้างราว 10-13 เซนติเมตร ยาวราว 20-25 เซนติเมตร

           ดอก ออกตามซอกใบ หรือ ใกล้ส่วนยอด หรือ ตามปลายกิ่งโดยจะออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม ซึ่งแต่ละช่อจะมีดอกย่อย สีขาว สีม่วง หรือ สีม่วงแดง จำนวนมาก ดอกผิวเกลี้ยง 5 กลีบ แต่ละกลีบเป็นรูปรีถึงรูปใบหอก ใบแหลม กว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร และยาว 1-1.5 เซนติเมตร หลอดกลีบดอกสั้น โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน มีรยางค์เป็นรูปมงกุฎขนาดใหญ่มี 5 แฉก อยู่ตรงกลางดอก และมีก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร

           ผล รักออกเป็นฝัก รูปร่างกลมยาว หรือ รีโค้งปลายฝักแหลมหรืองอ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร เมื่อยังอ่อนเปลือกสีเขียว เมื่อแก่จัดเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วแตกออก ด้านในมีเมล็ดเล็กๆ อยู่ภายในมาก โดยลักษณะของเมล็ดแบน มีสีน้ำตาล ยาว 5-7 มิลลิเมตร และมีขนสีขาวยาว 2.5-4 เซนติเมตร ติดอยู่เป็นกระจุกที่ปลายเมล็ด

รัก

ผลรัก

การขยายพันธุ์รัก

ต้นรัก สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำแต่วิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน คือ การปักชำ เนื่องจากทำได้ง่ายและประหยัดเวลามากกว่า โดยเริ่มจากการเตรียมดินใส่ถุงที่จะปักชำจากนั้นเลือกกิ่งพันธุ์ดอกรัก ที่สมบูรณ์โดยเลือกกิ่งที่ไม่แก่ และไม่อ่อนจนเกินไป ตัดกิ่งยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร แล้วนำมาปักชำในดินที่เตรียมไว้โดยทำมุม 45 องศา จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม และหมั่นดูแลรดน้ำกิ่งพันธุ์มีรากงอกและมีใบขึ้นมา 3-4 ใบ จึงสามารถนำลงปลูกได้ให้ขุดหลุมปลูกขนาด 30x30x30 เซนติเมตร โดยเว้นระยะห่างระหว่างต้น และแถว 3 เมตร เพื่อง่ายต่อการรักษาต้นดอกรักและเก็บเกี่ยว


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดที่ได้จากส่วนต่างๆ ของต้นรัก พบว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น สารสกัดจากใบพบสาร Ferfural, 5-Methyl furfural, Phenyl acetaldehyde,2-Propyl-tetrahydropyrin-3-ol, Levomental, 5-Mercaptatetrazole, Methyl salicylate, Hydroxy methyl furfural, 1,5-Anhydro-d-mannital, 1,3-Di(cyclohexyl) butane, Pentadecanol ส่วนสารสกัดจากรากพบสาร Calotropnaphthalene, Calotropisesquiterpenal, Calotropisesterterpenol และสารสกัดน้ำมันจากเมล็ดพบสาร palmitic acid, limoleic acid, Loleic acid, arachidic acid, behenic acid, palmitoleic acid เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบสารที่ก่อให้เกิดพิษในส่วนของน้ำยางของรักอีกเช่น Calotoxin, Uscharin, Calotropin, Calactin อีกด้วย

โครงสร้างรัก

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของรัก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของต้นรัก ในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายประการ เช่น มีฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย ท้องร่วง ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเบาหวาน ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-amylase นอกจากนี้ในประเทศไทยยังมีการศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารสกัดน้ำยางของดอกรัก โดยวิธีการแพร่กระจายในแผ่นดิส พบว่า สามารถยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากได้ แต่ไม่มีประสิทธิผลเทียบเท่ากับยา Amphotericin B ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในปัจจุบัน


การศึกษาทางพิษวิทยาของรัก

มีการศึกษาวิจัยน้ำยางของต้นรัก ระบุว่ามีสารที่เป็นพิษอยู่หลายชนิดเช่น colotoxin, colotropin, calactin เป็นต้น โดยหากถูกผิวหนังอาจมีอาการมีรอยแดงและเป็นขุย แสบร้อน คัน แต่หากรับประทานจะมีอาการ จะทำเจ็บคอ ปวดท้อง น้ำลายไหล ปากเปื่อย อาเจียน ท้องร่วง รูม่านตาขยาย ชักและเสียชีวิต ภายในระยะเวลา 6-12 ชั่วโมง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เนื่องจากยางจากต้นรัก เป็นอันตรายต่อผิวหนังและดวงตาดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ ดังนั้นในการเก็บดอกรัก จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูง โดยจะแต่งกายอย่างรัดกุมมิดชิด สวมถุงมือยาง แว่นตา นอกจากนี้น้ำยางและใบยังมีสาร Digitalis ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Cardiac glycoside ที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจและเลือด หากรับประทานเข้าไปจะทำให้มีอาการระคายเคืองเยื่อบุปากและกระเพาะอาหาร แล้วจะอาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเดิน และปวดท้อง หากรับประทานเข้าไปมาก สารพิษจะถูกดูดซึมผ่านลำไส้และเป็นพิษต่อหัวใจได้
 

เอกสารอ้างอิง รัก
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์ “รัก (Rug)” หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 258.
  2. หน้า 112-113. รัก...ไม่รัก โดย “สถาปนิกต่างดาว” อนุสาร อ.ส.ท. ปีที่ 56 ฉบับที่ 7: กุมภาพันธ์ 2559.
  3. เดชา ศินิภัทร. รัก ชื่อนั้นสำคัญยิ่งนัก คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยาสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 272. ธันวาคม 2544.
  4. กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย. ประมวลสรรพคุณ สมุนไพร ไทยกรุงเทพฯ: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. 2555. หน้า 212.
  5. Kumar G, Karthik L, Bhaskara Rao KV, In vitro anti-candida activity of calotropis gigantean against clinical isolated of Candida. Journal of Pharmacy Research 2010; 3:539-542.
  6. Grover GK, Tadav S, Vats V, Medicinal plants of Indian with antidiabetic potencial. J. Ethnopharmacol. 2002;81:81-100.
  7. Nitianantham K, Shyamala M, Chen Y, Latha LY, Jothy SL, Sasidharan S. Hepatoprotective Potential of Clitoria ternatea Leaf Extract Against Paracetanol Induced Damage in Mice. Molecules 2011;16:10134-10145.
  8. Al-Mezaine, Hani S.; Al-Rajhi, Ali a, Al-Assiri, Abdullah; Wagoner, Michael D. “Calotropis procera keratitis”. American Journal of Opthalmology. 139: 199-202.
  9. Kumar G, Karthik L, Bhaskara Rao KV, Antibacterial activity of aqueous extract of Calotropis gigantean leaves-an in vitro study. International Journal of Pharmaceutical Sciences Review and Research 2010;4:141-144.
  10. Pathak AK, Argal A, Analgesic activity of Calotropis gigantean flower. Fitoterapia 2007;78:40-42.
  11. Manivannan R, Shopna R, Antidiabetic activity of Calotropis gigantean white flower extracts in alloxan induced diabetic rats, Journal of Drug Delivery and Therapeutics. 2017;7:106-111.