ผกากรอง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ผกากรอง งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผกากรอง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าสามแร้ง, คำขี้ไก่ (ภาคเหนือ), เบญจมาศป่า, ก้ามกุ้ง (ภาคกลาง), ดอกไม้จีน (ตราด), ขี้กา (ปราจีนบุรี), ไม้จีน (ชุมพร), สามสิบ (จันทบุรี), ยี่สุน (ตรัง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lantana camara Linn.
ชื่อสามัญ Latana, Cloth of gold, Hedge flower
วงศ์ VERBENACEAE

ถิ่นกำเนิดผกากรอง

ผกากรอง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบลาตินอเมริกา หรือ ทวีปอเมริกาใต้ โดยมีหลักฐานที่บันทึกเอาไว้ว่าผกากรองเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอุรุกวัยในทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาได้มีการเผยแพร่พันธุ์โดยการนำไปปลูกในเขตร้อน ต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีการสันนิษฐานว่าผกากรองเข้ามาในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากไม่ปรากฏชื่อผกากรองในวรรณคดีไทยยุคกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นในปัจจุบันพบได้ทั้งทุกภาคของประเทศบริเวณป่าละเมาะ ตามที่รกร้างว่างเปล่า หรือ ตามข้างถนน โดยจะพบที่ความสูงได้ถึง 1,450 ม. จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสพรรคุณผกากรอง

  1. แก้ไข้
  2. แก้บวม
  3. ขับเหงื่อ
  4. ช่วยขับลม
  5. แก้แผลผื่นคันที่เกิดจากชื้น หิด
  6. ช่วยรักษาฝี
  7. แก้อักเสบ
  8. ห้ามเลือด
  9. แก้วัณโรคแก้อาเจียนเป็นเลือด
  10. แก้ปวดท้อง
  11. แก้เด็กซึมเซาง่วงนอนเสมอ
  12. แก้หวัด
  13. แก้ปวดศีรษะ
  14. แก้วิงเวียนศีรษะ
  15. แก้ปวดฟัน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ผกากรอง

ใช้แก้อาการปวดศีรษะ แก้อาเจียนวิงเวียนศีรษะแก้ไข้ ขับลมชื้น แก้ปวดกระเพาะ โดยใช้รากแห้ง 15-35 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม แต่หากเป็นรากสดให้ใช้ 35-70 กรัม ใช้แก้เด็กซึมเซา ง่วงนอนเสมอ โดยใช้ดอกผกากรอง แห้งหนัก 1 บาท ผสมกับดอกทานตะวันแห้ง 1 ดอก นำมาต้มกับน้ำ ใช้แก้อาการปวดท้องอาเจียน โดยใช้ดอกผกากรองสดหนัก 1 บาท หรือ 6-10 กรัม ใส่เกลือเล็กน้อยแล้วนำมาดื่ม ใช้แก้ไข้เรื้อรัง แก้หวัด ตัวร้อน ด้วยการใช้รากแห้งหนัก 4 บาท นำมาต้มกับน้ำเป็นยาดื่ม แก้โรคผิวหนังผื่นคัน แก้อาการคัน แก้อาการปวดแสบปวดร้อน ผิวหนังที่เกิดจากการเป็นฝี โดยนำรากมาฝนแล้วทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้โรคปวดตามข้อ โดยนำใบมาต้มกับน้ำ ผสมกับน้ำอาบ หรือ ทำเป็นลูกประคบก็ได้ ใช้รักษาโรคผิวหนัง ฝีหนอง โดยนำใบมาตำแล้วพอกหรือนำมาต้มกับน้ำใช้ล้างแผลหรือบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของผกากรอง

ผกากรอง จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยขนาดเล็ก สูง ประมาณ 1-2 เมตร ทรงพุ่มมีลักษณะค่อนข้างกลมลำต้นเป็นแบบสี่เหลี่ยมเป็นร่องอาจมีหนามเล็กน้อย แตกกิ่งก้านสาขามาก ทั่วทั้งต้นมีขนปกคลุม

           ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงสลับข้ามตั้งฉาก ลักษณะใบคล้ายแผ่นหนัง รูปไข่ กว้าง 2-6 ซม. ยาว 3-10 ซม. โคนใบกลมถึงรูปลิ่มกว้าง ปลายใบแหลม ขอบใบจักฟันเลื่อยแกมหยักมน ผิวใบด้านบน มีขนสากแกมขนแข็งเอน มีรอยย่นเล็กน้อย ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด มักมีโคนขนปุ่มตลอดเส้นใบเห็นเด่นชัด เมื่อขยี้ใบดมมีกลิ่นฉุนมาก

            ดอก เป็นแบบช่อกระจุกแน่น คล้ายซี่ร่มโดยจะออกบริเวณซอกใบ เป็นแบบช่อเดี่ยว ขนาด 1-1.5 ซม. มีก้านช่อดอกยาว 2-9 ซม. ซึ่งในแต่ละช่อจะประกอบด้วยดอกย่อยช่อละ 20-25 ดอก และมีใบประดับรูปแถบถึงรูปสามเหลี่ยมแคบ วงกลีบเลี้ยงเป็นเยื่อ แยกเป็นสองพูตื้น วงกลีบดอกสีเหลือง หม่น ส้ม หรือ ส้มแดง พบบ้างที่เป็นสีชมพู ม่วงอ่อนแกมชมพู หรือ ขาว มีคอหลอดดอกสีเหลือง กลีบดอกแบบรูปดอกเข็ม หลอดดอกตั้ง หรือ โค้งลงเล็กน้อย ยาว 8-10 ซม เป็นรูปปากแตร่กาง ดอกสมมาตรด้านข้างเล็กน้อย เป็นสี่พู เกสรเพศผู้ไร้ก้าน รังไข่คล้ายรูปขอบขนาน

           ผล เป็นรูปทรงกลม เป็นผลสดแบบมีเนื้อ ออกผลเป็นกลุ่มหรือเป็นพวง ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร ผลเมื่อยังอ่อนเป็นสีเขียว เนื้อนิ่ม เมื่อสุกแล้วจะเป็นสีม่วงดำ ฉ่ำน้ำภายในผลมีเมล็ด 2 เมล็ด

ผกากรอง

ผกากรอง

การขยายพันธุ์ผกากรอง

ผกากรอง สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำซึ่งในธรรมชาติจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการอาศัยเมล็ดที่แก่จัดในการขยายพันธุ์ ส่วนการขยายพันธุ์โดยมนุษย์ในปัจจุบันนั้นใช้วิธีการปักชำ เนื่องจากสะดวกและรวดเร็วกว่า อีกทั้งผกากรองยังเป็นพืชที่มีความแข็งแรงทนทานมากจึงมักปักชำติดเกือบทุกต้น และสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม คือ อยู่กลางแจ้ง ได้รับแสงแดดพอเพียง โดยผกากรอง จะชอบสภาพค่อนข้างแห้งแล้ง ดินร่วนปนทราย ระบายน้ำดี

องค์ประกอบทางเคมีผกากรอง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของผกากรองพบว่า มีสารออกฤทธิ์ต่างๆดังนี้

           ใบของผกากรอง มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีสารประกอบจำพวก sesquiterpene และ oxydenated monoterpene เป็นองค์ประกอบหลัก ได้แก่ β-caryophyllene และ 1,8-cineoleอีกทั้งยังพบสาร ladene A, β-sitosterol, citral, linalool, terpineal ส่วนน้ำมันจากใบผกากรอง พบสารβ-caryophyllene, geranyl acetate, terpinyl acetate, bornyl acetate, humulene, lantanolic acid และ D-limonene เป็นต้น นอกจากนี้ในส่วนของใบและผลแก่ของผกากรองยังพบสารที่มีความเป็นพิษอีกหลายชนิด เช่น lantadene A, B, C, corchorin, glycosides corchoroside A และ B เป็นต้น

 โครงสร้างผกากรอง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของผกากรอง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของผกากรอง น้อยมาก ซึ่งโดยงานศึกษาวิจัยส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาพิษของผกากรองมากกว่า แต่ทั้งนี้มีรายงานการศึกษาพิษทางเภสัชวิทยาของผกากรองในต่างประเทศ ระบุว่า สารสกัดจากใบผกากรองมีฤทธิ์ในการกระตุ้นลำไส้ และมดลูก อีกทั้งยังสามารถช่วยแก้หอบหืดในหนูทดลองได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของผกากรอง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาของผกากรองมากมายหลายฉบับดังนี้ สารที่พบในผกากรอง คือ สารกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ lantadine A หรือ rehmannic acid, lantadene B และ lantadene C ที่พบได้ในผลแก่ และใบ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากผกากรองมักไม่แสดงอาการพิษทันที แต่จะเกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 2-3 ชั่วโมง โดยมีอาการพิษที่เกิดขึ้นได้แก่ อาเจียน ท้องเสีย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ขาดออกซิเจน หายใจช้าและลำบาก รูม่านตาขยาย กลัวแสง กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน โคม่า และการตอบสนองของกล้ามเนื้อ tendon ถูกกด และโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเป็นเด็ก อายุประมาณ 2-6 ขวบ ซึ่งรับประทานผลที่แก่แต่ยังไม่สุกเข้าไป อาการที่พบ อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่ประสานกัน มึนงง อาเจียน หายใจลึกแต่ช้า ม่านตาขยาย ตัวเขียว หมดสติและตายได้ในที่สุด

            ส่วนอาการพิษที่เกิดขึ้นในสัตว์ มีพิษกึ่งเฉียบพลันในสัตว์ที่กินใบผกากรอง คือ ซึม ไม่อยากอาหาร ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย หลังจากนี้ 2-3 วัน จะพบอาการเหลือง และขาดน้ำตามเนื้อเยื่อเมือก กล้ามเนื้ออักเสบ ตาอักเสบ ผิวหนังไวต่อแสง ทำให้กล้ามเนื้อที่เรียกว่า pink nose เจ็บ อาการอักเสบนี้อาจลุกลามไปถึงโพรงจมูก ตา ปาก เกิดเป็นแผลบวม ปลายจมูกแข็ง หนังตาบวม คันหน้า จนสัตว์เลี้ยงถูบ่อยทำให้เป็นแผล หรือ ตาบอดได้ โดยมากได้รับพิษประมาณ 1-4 อาทิตย์ อาจตายได้ เนื่องจากไตล้มเหลว ปัสสาวะไม่หยุด อดอาหาร ขาดน้ำ ไม่มีการขับถ่าย มีปริมาณ bilirubin สูงในเลือด จึงเหลือง เอนไซม์ในตับสูงแสดงว่ามีการอักเสบในตับ เมื่อชันสูตรจากซากสัตว์พบว่า มีอาการดีซ่าน ตับบวม ถุงน้ำดีโต เนื่องจากผนังบวม ไต้เหลือง บวม ฉ่ำน้ำ และลำไส้ใหญ่ไม่เคลื่อนไหว สำหรับพิษเรื้อรังในสัตว์ที่เกิดขึ้นตามมา นอกจากทำให้เกิดอาการแพ้แสงแดดของผิวหนังแล้ว  จะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังอื่นๆ เช่น ผิวหนังบริเวณปากหรือจมูก หู คอ ไหล่ ขา หรือส่วนของอื่นๆ อาจเป็นสีเหลือง บวม แข็ง แตก และเจ็บ ผิวหนังลอกและเปิด อาจเกิดการอักเสบไปจนถึงเยื่อบุผิวเมือกบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอาการเยื่อบุตาอักเสบอาจพบเห็นเป็นบางครั้งในระยะที่ได้รับพิษเฉียบพลัน และอาจเกิดผลกระทบต่อผิวหนัง เยื่อบุรอบๆตา และที่ตาด้วย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ผกากรองเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้ดังนี้ สตรีมีครรภ์ห้ามใช้ผกากรองเป็นสมุนไพรสำหรับรับประทาน และผกากรองเป็นพืชมีพิษในการนำไปใช้เป็นสมุนไพรควรระมัดระวังโดยในการเตรียมตัวยาควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น อีกทั้งการใช้ควรใช้ตามขนาดและปริมาณ ที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนใบ และผลของผกากรอง มีสารพิษกลุ่มไตรเทอร์ปีน หากรับประทานเข้าไปจะทำให้อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อไม่ประสานกัน มึนงง อาเจียน ม่านตาขยาย ตัวเขียว ท้องเดิน หมดสติ ปละตายในที่สุด

เอกสารอ้างอิง ผกากรอง
  1. เต็ม สมิตินันท์ “ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง) พิมพ์ที่ฟันนี่ พับบลิซซิ่ง กรุงเทพฯ 2523 หน้า 201-202.
  2. เดชา ศิริภัทร. ผกากรอง: ความงามที่มากับความทนทานข้ามทวีป. คอลัมม์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 295. พฤศจิกายน 2547.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ผกากรอง ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 332.
  4. วุฒิ วุฒิธรรมเวช “สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย” พิมพ์ที่ โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์ กรุงเทพฯ 2540 หน้า 282.
  5. วงศ์สถิต ฉั่วสกุล. ผกากรอง...สมุนไพร ในวรรณคดี. เรื่องน่ารู้ของพรรณไม้. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. สมพร ภ.หิรัญรามเดช “ตำราสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 ว่าด้วยสมุนไพรที่เป็นพิษ” พิมพ์ที่กรองโรงพิมพ์กรมสารบัญทหารเรือ กรุงเทพฯ 2535 หน้า 73-74.
  7. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์. พืชพิษ. ในรุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล และคณะ (บรรณาธิการ). สมุนไพร. ยาไทยที่ควรรู้. กรุงเทพมหานคร: บริษัทอัมรินทร์พิ้นติ้งแอนด์พลับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) 2542.
  8. วันทนา งามวัฒน์ “สารพิษในพืชและอาการพิษในสัตว์ทดลอง” กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2530 หน้า 18.
  9. ศูนย์ข้อมูลสมุนไพรและพืชพิษ กลุ่มงานพัฒนาคุณภาพและวิชาการ สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2542.
  10.  Bruneton J. Toxic Plants Dangerous to Humans and Animals. Hampshire: Intercept Ltd., 1999.
  11. Sharma OP, Makkar HPS, Dawra RK.A review of the noxious plant Lantanacamara. Toxicon 1988; 26:975-87.
  12. Singh, R.P. 1996. Monograph on promising pest control plant species of asia and pacific. RAP Publication: 1996/24pp. 51-52
  13. Mitchell J, Rook A. Botanical Dermatology: plants and plant Products Injurious to the Skin. Vancouver: Greengrass, 1979.
  14. Atkins S. VERBENACEAE. In: Santisuk T, Larsen K, eds. Flora of Thailand., Volume ten Part two. Bangkok: Diamond Printing Co. Ltd., 2010:258-63.
  15. Jose, D.m. and J.E. Thoppil. 2000. Chemical composition of the Essential Oil of Lantana camara L. Acta Pharm. 50: 259-262.