กระแตไต่ไม้ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

กระแตไต่ไม้ งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระแตไต่ไม้
ชื่ออื่นๆและชื่อท้องถิ่ ใบหูช้าง, สไบนาง, กาบหูช้าง (ภาคกลาง), กูดขาฮอก, กูดอ้อม, กูดไม้ (ภาคเหนือ), หำฮอก (ภาคอีสาน), กระปรอก (จันทบุรี), กระปรอกว่าว, หัวว่าว (ประจวบคีรีขันธ์), เดากาโล๊ะ (มลายู), พุดฮงแดะ, เช้าวรนะ (กะเหรี่ยง), สะโบง (ส่วย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Drynaria quercifolia (L.)J.Sm
ชื่อสามัญ Oak-leaf fern
วงศ์ POLYPODIACEAE

ถิ่นกำเนิดกระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้ เป็นพรรณไม้จำพวกเฟิร์น ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย (บริเวณใกล้ๆเส้นศูนย์สูตของทวีปเอเชีย) โดยเชื่อกันว่ามีการกระจายพันธุ์บริเวณตั้งแต่ ศรีลังกา อินเดีย พม่า ลาว เวียดนาม ไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย พีจิ และบริเวณแถบเขตศูนย์สูตรของออสเตรเลีย

            สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบได้ตามต้นไม้ หรือ โขดหิน ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าชายเลต ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 1000 เมตร

ประโยชน์และสพรรคุณกระแตไต่ไม้

  1. เป็นยาสมานคุมธาตุ
  2. ช่วยบำรุงเลือด
  3. ช่วยขับปัสสาวะ
  4. แก้ปัสสาวะพิการ
  5. ช่วยขับพยาธิ
  6. แก้ไตพิการ
  7. แก้นิ่ว
  8. ช่วยขับระดูขาว
  9. แก้เบาหวาน
  10. แก้แผลพุพอง
  11. แก้ซาง
  12. ช่วยบำรุงเลือด
  13. แก้ประจำเดือนไหลไม่หยุด
  14. แก้งูสวัด
  15. แก้ริดสีดวงจมูก
  16. แก้กระหายน้ำ
  17. แก้ปวดประดงเลือด
  18. แก้ปวดเส้น
  19. เป็นยาห้ามเลือด
  20. รักษามะเร็งในปอด
  21. แก้หอบหืด
  22. รักษาอาการไม่สบาย และอ่อนเพลียของสตรีขณะอยู่ไฟหลังคลอด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กระแตไต่ไม้

ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว แก้ไตพิการ ขับระดูขาวของสตรี แก้เบาหวาน โดยใช้เหง้ากระแตไต่ไม้ ต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ประจำเดือนไหลไม่หลุด แก้ซาง โดยใช้ราก และแก่นต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ริดสีดวงจมูก แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้มะเร็งปอด ปอดพิการ โดยใช้เหง้ามาต้มกับน้ำต้มหรือฝนกับน้ำดื่มก็ได้ ใช้แก้ปวดประดงเลือด โดยใช้เหง้าสดมารับประทานโดยนำเหง้ามาเอาขนออกแล้วปอกจนได้เนื้อสีขาวนำมาตากแดดแล้วบดรับประทาน ใช้แก้หอบหืดโดยใช้เหง้าผสมกับหัวข้าวเย็นต้นกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ขนจากเหง้ามาบดให้ละเอียดแล้วใช้สูบก็ได้ ใช้แก้บวมแก้ไข้สูง แก้ซางโดยใช้ใบมาต้มกับน้ำอาบ ใช้บำรุงเลือดโดยนำเหง้า 3-4 เหง้า ผสมกับลำต้นเอื้องเงิน 1 ต้น ต้มน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2-3 ครั้ง

ลักษณะทั่วไปของกระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้ จัดเป็นไม้ล้มลุกจำพวกเฟิร์น เลื้อยเกาะ บนต้นไม้หรือก้อนหิน ที่มีร่มเงาแสงแดดเล็กน้อย ลำต้นทอดนอนยาวได้ถึง 1 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-4 เซนติเมตร โดยมีเหง้าลักษณะเป็นหัวกลม ยาว ปกคลุมด้วยเกล็ดแคบสีน้ำตาลเข้มยาว 1 มิลลิเมตร ยาว 1.8 มิลลิเมตร มีขนยาวสีน้ำตาลปกคลุมคล้ายกำมะหยี่ และมีเนื้อในสีขาว และเขียว ใบออกเป็นใบเดี่ยว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแรกได้แก่ ใบที่ไม่สร้างสปอร์ โดยใบจะประกบต้นตั้งเฉียงกับลำต้น ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ฐานใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบมน หรือ แหลม ขอบใบเว้าเป็นแฉกตื้นๆ หุ้มอยู่บริเวณเหง้า มีความกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร และยาว 32 เซนติเมตร ผิวของใบอ่อนมีขนเป็นรูปดาว ซึ่งใบชนิดนี้จะมีสีเขียว เมื่อยังอ่อนหากแก่จะมีสีน้ำตาล ไม่หลุดร่วงจากต้น ส่วนชนิดที่สอง คือ ใบที่สร้างสปอร์ ซึ่งชนิดนี้จะอยู่สูงกว่าใบที่ไม่สร้างสปอร์ และชี้ขึ้นด้านบน ลักษณะของแผ่นใบจะเป็นรูปขอบขนาน หรือ เป็นรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม ส่วนฐานใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบมีลักษณะเว้าลึกเกือบถึงเส้นกลางใบ เป็นพู เรียงตัวกันแบบขนนกโดยใบมีความกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ยาวได้ถึง 80 เซนติเมตร ใบมีสีเขียวหม่นเป็นมัน เนื้อใบเหนียว มีก้านใบยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ที่โคนก้านใบจะมีเกล็ดสีน้ำตาลดำ และมีกลุ่มอับสปอร์ลักษณะเป็นรูปกลม หรือ เป็นรูปขอบขนาน เรียงเป็นสองแถวอยู่ระหว่างเส้นของใบย่อย ส่วนแอนนูลัสประกอบไปด้วยเซลล์เพียงแถวเดียว เรียงตัวในแนวตั้ง และไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

กระแตไต่ไม้  กระแตไต่ไม้

 กระแตไต่ไม้

การขยายพันธุ์กระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้สปอร์ เช่นเดียวกับเฟิร์นชนิดอื่นๆ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์ โดยใช้สปอร์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์ ส่วนการนำมาใช้ประโยชน์ก็จะเป็นการเก็บจากธรรมชาติมาใช้ เช่นเดียวกัน

องค์ประกอบทางเคมีกระแตไต่ไม้

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของกระแตไต่ไม้ ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น friedelin, epifriedelanol, β-amyrin, β-sitosterol, naringin และ β-sitosterol 3-B-D-glucopyranoside เป็นต้น

 โครงสร้างแตไต่ไม้ 

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของกระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้ เป็นพืชที่มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาน้อยมาก ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าพบเพียงข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยเพียงฉบับเดียวในอินเดียที่ระบุไว้ว่า กระแตไต่ไม้ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ, ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ต้านเชื้อจุลชีพ, ต้านอักเสบ และมีฤทธิ์สมานแผล


การศึกษาทางพิษวิทยาของกระแตไต่ไม้

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้กระแตไต่ไม้ เป็นสมุนไพรนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณมากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำไม่ควรใช้กระแตไต่ไม้เป็นสมุนไพร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย และขนาดในการใช้ที่แน่ชัดอย่างเพียงพอ

เอกสารอ้างอิง กระแตไต่ไม้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. 2558. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก.กรุงเทพมหานคร.เพื่อนพิมพ์.
  2. กระแตไต่ไม้.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=8
  3. กระแตไต่ไม้ .กลุ่มยารักษาเบาหวาน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_27.htm
  4. Islam M. J Econ Tax Bot 1983;4:861.
  5. Saxena HO, Brahmam M, Dutta PK. In: Jain SK, editor. Ethnobotanical studies in Orissa. Glimpses of Indian ethnobotany. New Delhi: Oxford and IBH Publishing Co, 1981:232244
  6. Viswanathan MB, Industry Meet cum Seminar on Biodiversity and Information on Medicinal and Aromatic Plants, NISCOM, New Delhi, 1995, Abstract, p. 60.
  7. Asha VV, Rajasekharan S, Jawahar CR et al. Aryavaidyan 1992;6:34
  8. Dagar JC, Dagar HS. J Econ Tax Bot 1987;9:317.