แสลงใจ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

แสลงใจ งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แสลงใจ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตูมกาแดง, กะจี้, เม็ดกะจี้, กะกลิ้ง, โกศกะกลิ้ง (ภาคกลาง), แสลงทม, แสลงเบื่อ, แสลงเบือ, แสลงโทน (ภาคอีสาน), แม่เฉียนจื่อ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Strychnos nux-vomica L.
ชื่อสามัญ Strychnine plant , Sneake wood , Nux-vomica
วงศ์ LOGANIACEAE-STRYCHNACEAE

ถิ่นกำเนิดแสลงใจ

แสลงใจ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย บริเวณเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเขตการกระจายพันธ์ตั้งแต่ อินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย สำหนับในประเทศไทยมักพบตามป่าเบญจาพรรณแล้ง หรือ ป่าเต็งรังทุกภาคของประเทศ โดยมักพบในที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-500 เมตร

ประโยชน์และสพรรคุณแสลงใจ

  1. เป็นยาระบาย
  2. แก้ท้องขึ้น
  3. แก้ไข้มาลาเรีย
  4. แก้ปวดเมื่อยปวดตามข้อ
  5. แก้อักเสบจากงูกัด
  6. แก้ไข้
  7. ช่วยบำรุงร่างกาย
  8. แก้พิษสัตว์กัดต่อย
  9. ช่วยบำรุงหัวใจให้เต้นแรง
  10. ช่วยบำรุงประสาท
  11. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  12. ช่วยขับน้ำย่อย
  13. แก้อัมพาต
  14. แก้อิดโรย
  15. แก้โรคในปากในคอ
  16. ช่วยขับปัสสาวะ
  17. แก้ลมพานไส้
  18. แก้ริดสีดวงทวาร
  19. แก้เหน็บชา
  20. แก้กระษัย
  21. ช่วยขับพยาธิ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้แสลงใจ

ใช้แก้ไข้ บำรุงร่างกาย แก้พิษภายใน แก้ปวดเมื่อย โดยใช้เปลือกต้น หรือ แก่นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องขึ้น ช่วยระบาย แก้ไข้มาลาเรีย โดยใช้รากมาต้มกันน้ำดื่ม ใช้แก้อัมพาต แก้ไข้ บำรุงหัวใจให้เต้นแรง บำรุงธาตุ บำรุงประสาท ขับปัสสาวะ แก้กษัย แก้เหน็บชา แก้ลมพานไส้ แก้ปวดเมื่อย ขับพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้เมล็ด หรือ โกศกะกลิ้งมาเข้าเครื่องยา แต่ทั้งนี้ทุกส่วนของแสลงใจมีความเป็นพิษมาก การเตรียมยาควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ส่วนทิงเจอร์นักสะวอมมิกา (Tincture Nux vomica) ซึ่งเป็นยาน้ำสีเหลืองทำจากเมล็ดของต้นแสลงใจ ใช้รับประทานครั้งละ 5-15 หยด เพื่อให้ได้สรรพคุณ เป็นยาบำรุงประสาท ทำให้กระเพาะ และลำไส้ขย้อนอาหาร และขับน้ำไฟธาตุ แก้โรคอัมพาต เส้นตาย และเนื้อชาไม่รู้สึก ใช้เป็นยาบำรุงความกำหนัด บำรุงธาตุ เป็นยาระบายอย่างอ่อน และตามตำรายาจีนใช้โกฐกะกลิ้งที่ผ่านการสะตุโดยคั่วกับทรายร้อนจนพองกรอบ บดเป็นผงละเอียด ในขนาด 300-600 มิลลิกรัม ใช้แก้โรครูมาตอยด์ ชา และอัมพาต

            นอกจากนี้ในปัจจุบันคณะกรรมการอาหาร และยากำหนดให้ใช้โกฐกะกลิ้งในตำรับยาแผนโบราณได้ในขนาดไม่เกินครั้งละ 60 มิลลิกรัม (ยกเว้นในกรณีที่เป็นยาใช้ภายนอก)

ลักษณะทั่วไปของแสลงใจ

แสลงใจ จัดเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูง 5-25 เมตร เปลือกลำต้น เรียบสีเทา และมักมีประสีเหลือง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้น และกิ่งมักคดงอ กิ่งอ่อนเกลี้ยง เหนียวปลายกิ่งมักมีติ่งหนาม ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงกันข้าม ใบมีลักษณะรูปไข่ หรือ กลมกว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ปลายใบกลมมน โคนใบหยกเว้าเล็กน้อยเนื้อใบหนาผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นใบที่แยกออกจากโคนใบไปสู่ปลายใบ 5 เส้น และมีเส้นแขนงใบที่แยกจากเส้นกลางใบ 5-8 เส้น เส้นใบเป็นแบบร่างแห เห็นได้ชัดเจนก้านใบสั้น 4-6 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกของแสง ตามซอกใบบริเวณปลายกิ่ง ช่อดอกมีลักษณะคล้ายร่มยาว 2.5-5.5 เซนติเมตร ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีเขียวอ่อน สีขาว หรือ สีเทาอมขาว มีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแตกออกเป็น 5 กลีบ ยาวประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขนนุ่มสั้น ด้านในเกลี้ยงโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดเล็กๆ ปลายกลีบดอกแหลม ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน  ผลเป็นแบบผลสดมีลักษณะกลม เกลี้ยง เส้นผ่าศูนย์กลาง 5.8 เซนติเมตร ผิวหนา และแข็ง ผลอ่อนเป็นสีเขียว ผลสุกสีส้มถึงสีแดง เมล็ด มีจำนวนมาก รูปกลมแบนคล้านกระดุม ขอบนูน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-3 เซนติเมตร หนา 3-6 มิลลิเมตร ผิวนอกมีขนสีนวลเหลือบสีเทาปกคลุมหนาแน่นคล้ายกำมะหยี่ เรียกว่าเม็ดกะจี้ แต่ในตำรายาไทย เรียกว่าโกฐกะกลิ้ง

แสลงใจ

แสลงใจ

การขยายพันธุ์แสลงใจ

แสลงใจ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการนำเมล็ดมาเพาะเป็นต้นกล้า ก่อนนำไปปลูก และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมคือการเพาะเมล็ด ซึ่งวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่

องค์ประกอบทางเคมีแสลงใจ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของแสลงใจ ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ดังนี้ 

            ส่วนของใบ, เปลือกต้น, เนื้อไม้ และรากพบสารกลุ่ม alkaloids เช่น Strychnine และBrucine, ส่วนเนื้อในผลพบสาร Loganin ในเมล็ดพบ Strychnine, Brucine, Vomicine, Icajine, Novacine, Isostrychnine, N-oxystrychnine, α-Colubrine, b-Colubrine, Pseudostrychnine, glycoside Loganin  นอกจากนี้ยังพบสารสำคัญอื่นๆ อีกเช่น Oleicacid, Palmitic acid, Arachic acid, Chlorogenic acid, Butyric acid เป็นต้น

โครงสร้างแสลงใจ

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแสลงใจ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของแสลงใจ ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ไว้ว่าสารในกลุ่ม alkaloids จำนวน 3 ใน 6 ชนิด ซึ่งแยกได้จากเมล็ดของแสลงใจ (Strychnos nux-vomica  L.) เมื่อนำมาทดสอบกับเซลล์มะเร็งของมนุษย์พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ โดยสาร strychnine ให้ผลกับ human carcinoma cell line KB, human leukemia cell line HL-60 และ human gastric carcinoma cell line BGC สาร pseudostrychnineให้ผลกับ human carcinoma cell line KB, human gastric carcinoma cell line BGC และ human hepatic carcinoma cell line BEL-7402 สาร icajine ให้ผลกับ human carcinoma cell line KB, human gastric carcinoma cell line BGC

            นอกจากยังมีรายงานทางคลินิก โดยการทดลองใช้เมล็ดแสลงใจรักษาอาการประสาทกล้ามเนื้อสามเหลี่ยมบนใบหน้าแข็งชา ด้วยการนำเมล็ดแสลงใจมาหั่นเป็นแผ่นๆ แล้ววางบริเวณใบหน้าที่มีอาการชา หรือ กระตุก โดยเปลี่ยนยาทุกๆ 7-10 วัน จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่าสามารถรักษาคนไข้ให้หายดีได้ประมาณ 80%

การศึกษาทางพิษวิทยาของแสลงใจ

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของเมล็ดแสลงใจ ระบุว่า หากได้รับสาร Strychnos จากเมล็ดแสลงใจ มากกว่า 5 มิลลิกรัม หรือ ประมาณ 30-50 มิลลิกรัมของผงยา จะทำให้มีอาการกระวนกระหาย หายใจลำบาก อาจเกิดอาการชัก และอาจทำให้ตายได้  สาร Strychnos และ brucine มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางอย่างแรง กระตุ้นการหายใจ และการไหลเวียนเลือด เมื่อได้รับในขนาดสูงจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว ชัก การหายใจเป็นอัมพาต และตาย โดยเริ่มต้นออกฤทธิ์ทการทำงานของไขสันหลังก่อน แล้วจะส่งผลกระทบไปยังสมอง

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ เพราะมีความอันตรายมากอีกทั้ง ทุกส่วนของแสลงใจ มีพิษ เป็นยาอันตรายมาก ในการนำมาทำเป็นยาต้องฆ่าฤทธิ์ ตามกรรมวิธีในหลักเภสัชกรรมไทย โดยผู้เชี่ยวชาญเสียก่อน และไม่ควรเตรียมยาเองเพราะหากทำผิดวิธีอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ 

           นอกจานี้ยังมีการศึกษาทางพิษวิทยาในส่วนของเมล็ด และดอก พบว่าหากรับประทานเข้าไปจะทำให้กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง กลืนลำบาก ขาสั่น ชักอย่างแรง หัวใจเต้นแรง ขากรรไกรแข็งและตายได้ ในกรณีไม่ตายพบว่ามีไข้ ตัวชา กล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจเต้นเร็ว และเหงื่อออกมากติดต่อกันหลายวัน ซึ่งในขนาดรับประทาน 60-90 มิลลิกรัม ก็สามารถทำให้ตายได้

เอกสารอ้างอิง แสลงใจ
  1. โยธาพิทักษ์.ชุน(แท่น ประทีปะจิตติ).ตำราแพทย์แผนโบราณชั้น 1.เล่ม 3 ว่าด้วยสรรณคุณยา.พระนคร.โรงพิมพ์เจตนาผล: 2573.หน้า 9
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โกฐกะกลิ้ง”.  หน้า 98.
  3. ชยันต์ พิเชียรสุนทร.วิเชียร จีรวงศ์.คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 5 คณะเภสัช.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์อมรินทร์.2547 หน้า 117-20
  4. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. “แสลงใจ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). หน้า 185.
  5. วุฒิ วุฒิธรรมเวช.สารานุกรมสมุนไพร.กรุงเทพฯ:โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮาส์. 2540. หน้า 114.
  6. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “แสลงใจ (Sa Laeng Jai)”.  หน้า 310.
  7. ชยันต์ พิเชียรสุนทร.วิเชียร จีรวงศ์.ที่มาของคำ “โกษฐ์” และโกษฐที่ใช้มากในยาไทย.วารสารราชบัณฑิตยสถาน. 2546.28.113-9.
  8. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “แสลงใจ ”. หน้า 790-791.
  9. โกศกะกลิ้ง.คณะอนุกรรมการจัดทำตำราอ้างอิงสมุนไพรไทย. ในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย. วารสารการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกปีที่ 5. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2550. หน้า 287-290
  10. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “แสลงใจ Nux-vomica Tree/Snake Wood”. หน้า 195.
  11. ฤทธิ์ต้านเนื้องอกของสารในกลุ่ม alkaloids จากเมล็ดแสลงใจ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  12. แสลงใจ (โกฏิกะกลิ้ง). กลุ่มสมุนไพรแก้ฟกช้ำ ข้อเคล็ด ปวดข้อ เส้นเอ็นพิการ. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_dat/herbs_28_5.htm
  13. Youngken HW. A Textbook of pharmacognosy. 6th ed. Philadelphia: The Blakiston Company; 1948. p. 661-5.
  14. Evans WC. Trease and Evanûs pharmacognosy. 14th ed. London: WB Saunders Company Ltd.; 1996. p. 391-3.
  15. Griffin O, Parnell J. Loganiaceae. ธวัชชัย สันติสุข. Larsen K, editors. Flora of Thailand. Vol. 6(3). Bangkok: The Royal Forest Department; 1997. p. 218-9.
  16. Pharmacopoeia of the Peopleûs Republic of China. Vol. I. English edition. Beijing: Chemical Industry Press; 2000. p. 152-3