มะกอก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

มะกอก งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะกอก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะกอกป่า, มะกอกไทย, มะกอกบก (ทั่วไป), กอก (ภาคใต้), กอกเขา (นครศรีธรรมราช), กรกไพ้, ไพแซะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Spondias pinnata (L.f)Kurz
ชื่อสามัญ Hog plum
วงศ์ ANACARDIACEAE

ถิ่นกำเนิดมะกอก

มะกอก เป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ อาทิเช่น ประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ และศรีลังกา ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ หลายแห่ง สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักพบได้ในป่าที่รกร้างว่างเปล่าและในป่า เช่น ป่าเบญจาพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ที่มีความสูง 50-500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณมะกอก

  • บำรุงธาตุในร่างกาย
  • ช่วยแก้ธาตุพิการ
  • แก้กระเพาะอาหารพิการ
  • ช่วยแก้โรคขาดแคลเซียม
  • ช่วยดับพิษกาฬ
  • แก้หูอักเสบ ปวดหู
  • แก้ร้อนใน
  • ช่วยแก้เลือดออกตามไรฟัน
  • ช่วยแก้อาเจียน
  • ช่วยแก้อาการสะอึก
  • แก้หอบ
  • แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  • แก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย
  • แก้บิด
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยแก้ดีพิการ
  • ช่วยสมานแผล
  • แก้โรคปวดตามข้อ
  • แก้ไข้หวัด
  • รักษาแผลพุพอง
  • ดับพิษไข้

           ในประเทศไทยมะกอกถูกนำมา ใช้ประโยชน์ในฐานะผักพื้นบ้านอย่างหนึ่งมากกว่าใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่นนำใบอ่อน (ยอด) และช่อดอกของมะกอกมากินเป็นผักทั้งดิบและสุก ซึ่งใบอ่อนมะกอกมีกลิ่นหอม รสเปรี้ยวใช้ได้ทั้งเป็นผักจิ้ม สำหรับผลมะกอก นิยมใช้ผลสุก ที่มีรสเปรี้ยวอมฝาด ชุ่มคอ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้แต่งกลิ่นอาหารและใช้รสเปรี้ยว ใช้แต่งรสน้ำปลาจิ้มพวกเนื้อหรือปลาย่าง ใช้เป็นส่วนประกอบของส้มตำลาว โดยจะให้กลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนส้มตำตำรับอื่นๆ  ส่วนผลดิบในบางพื้นที่ ยังมีการนำมาดองเป็นมะกอกดองอีกด้วย  สำหรับเนื้อไม้มะกอกซึ่งเป็นไม้เนื้ออ่อน ก็มีการนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น ทำกล่องไม้ขีด ทำไม้จิ้มฟัน ทำกล่องใส่ของ หีบศพ และยังมีการนำเนื้อไม้มะกอก มาสับเป็นเยื่อที่ใช้ผลิตกระดาษอีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีการใช้มะกอก 

ใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย  แก้ธาตุพิการ เพราะน้ำดีไม่ปกติ แก้เลือดออกตามไรฟัน ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ แก้ผิด ใช้เป็นยาฝาดสมาน โดยนำผลแก่มารับประทานมะกอก สด ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย ใช้บำรุงธาตุ แก้บิด แก้ร้อนใน แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ โดยใช้ใบอ่อนสดๆ มาเคี้ยวกิน  ใช้แก้ร้อนใน แก้สะอึก แก้หอบ โดยใช้เมล็ดมาเผาไฟแล้วนำมาแช่กับน้ำดื่ม ใช้ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน กระหายนน้ำโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ท้องเสีย ใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ แก้บิดปวดมวน โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้อาการปวดหู โดยใช้ใบสดมาคั้นเอาน้ำหยอดหูข้างที่ปวด

ลักษณะทั่วไปของมะกอก

มะกอก จัดเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดกลาง เรือนยอดโปร่งเป็นพุ่มกลม ลำต้นกลมตั้งตรง สูง 15-25 เมตร เปลือกต้น สีเทา หนา เรียบ มีกลิ่นหอม มีรูอากาศตามลำต้น เปลือกต้นในมีสีน้ำตาลอมชมพู เนื้อไม้สีขาว ไม่มีแก่น ส่วนกิ่งอ่อนมีรอยแผลจากการหลุดร่วงของใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว แบบปลายใบคี่ มีก้านใบหลักยาวประมาณ 5-25 เซนติเมตร ส่วนใบย่อยจะมี 9-13 ใบ โดยจะออกเรียงตรงข้ามกัน 4-6 คู่ และมีใบย่อยเดี่ยวบริเวณปลายใบอีก 1 ใบ ซึ่งใบย่อยจะมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา เป็นมันและหยาบ โคนใบมน ปลายใบเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ แต่จะไม่เรียบไม่สม่ำเสมอกัน ใบมีเส้นกลางใบ และเส้นแขนงใบมองเห็นชัดเจน ใบอ่อนมีสีแดงเข้ม จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และเขียวเข้มตามอายุ ส่วนก้านใบจะสั้นประมาณ 0.2-0.8 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ซึ่งใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยลักษณะกลมขนาดเล็กจำนวนมาก โดยดอกย่อยจะมีสีเขียวสดจากนั้นเมื่อบานจะมีสีเขียวครีม มีกลีบดอก 5 กลีบ เป็นรูปรี ปลายกลีบดอกแหลม มีขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร และมีกลีบเลี้ยงดอกอยู่ ที่มีลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก 5 กลีบ ผลเป็นผลสด เนื้อฉ่ำน้ำมีความหนาของเนื้อผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ลักษณะผลเป็นรูปไข่ หรือ กลมรี ขนาดผล 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 3-5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง เป็นมัน ผลอ่อนมีสีเขียวสด ผลแก่ หรือ ผลสุกมีสีเขียวอมเหลือง หรือ สีเหลือง และมีจุดประสีน้ำตาลอมดำกระจายทั่ว ด้านในมีเมล็ดขนาดใหญ่ 1 เมล็ด เมล็ดเป็นรูปไข่ มีสีเหลือง หนา แข็ง และเป็นเสี่ยวขรุขระ  มีขนาดใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ผล

ใบมะกอก  มะกอก 

มะกอก

การขยายพันธุ์มะกอก

มะกอกสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน และการปักชำ แต่ส่วนมากมักจะนิยมใช้การเพาะเมล็ด เพราะทำให้ได้ต้นใหญ่ ติดผลมาก และอายุยืนยาว เหมาะสำหรับปลูกตาม ไร่ นา ส่วนการตอน และการปักชำ ไม่เป็นที่นิยม เพราะติดรากยาก อายุต้นนั้น และการแตกกิ่งน้อย  สำหรับการเพาะเมล็ดมะกอกมีวิธีการดังนี้

          เลือกเมล็ดจากผลมะกอก ที่แก่จัดที่ร่วงจากต้น แล้วนำมาตากแดดจนแห้ง ก่อนนำผลมาห่อด้วยผ้าหรือหนังสือพิมพ์ เก็บไว้ในที่ร่ม นาน 2-3 เดือน เพื่อให้เมล็ดพักตัว เมื่อถึงต้นฤดูฝน ให้นำผลมะกอกที่เก็บไว้มาปอกเปลือกผลออกให้หมด ก่อนนำไปแช่น้ำอุ่นนาน 5-10 นาที และแช่น้ำอุณหภูมิปกติ นาน 6-12 ชั่วโมง จากนั้น นำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะชำ ทั้งนี้ ควรใช้ถุงขนาดใหญ่ 8-10 นิ้ว เพาะ เนื่องจาก รากมะกอกในระยะหลังงอกจะเติบโตเร็ว และมีความยาวมาก เมื่อเพาะกล้าจนต้นกล้าสูง 15-20 เซนติเมตร จึงย้ายลงปลูกในแปลง หรือบริเวณที่ต้องการ

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆของมะกอก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น เปลือกต้น และสารสกัดเมธานอลจากเปลือกต้น พบสารในกลุ่ม flavonoids และ phenalic เช่น methyl gallate gallic acid และสารกลุ่ม alkaloids  เช่นเมทิลแกลเลท แกลลิค และ กลุ่ม แอลคาลอยด์ เปลือกผลแห้ง (Dry pericarp) และสารสกัดน้ำและเมธานอลจากส่วนเปลือกผลแห้ง พบสารในกลุ่ม Polyphenol เปลือกผล, ผล และเมล็ด (peel, pulp, seed) และสารสกัดอะซิโตน และเมธานอลจากเปลือกผล, ผล และเมล็ด พบสารในกลุ่ม phenolic  เช่น gallic acid ellagic acid  อีลาจิค และสารกลุ่ม flavonoids เช่น catechin rutin quercetin และสารกลุ่ม tannin รวมไปถึงสารกลุ่ม alkaloids เป็นต้น 

           อีกทั้งยังมีการนำเปลือกต้นมะกอก มาใช้ฟอกย้อมแห ย้อมตาข่าย ซึ่งยางเหนียว และสารสีจะช่วยให้แห หรือ ตาข่ายแข็งแรง และป้องกันสัตว์ หรือ แมลงกัดแทะ ส่วนสรรพคุณทางยาของมะกอกนั้น ตามตำรายาไทยยังได้ระบุถึงสรรพคุณเอาไว้ว่า ผล รสเปรี้ยวอมหวานเย็น เป็นยาฝาดสมาน แก้กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ แก้ธาตุพิการเพราะน้ำดีไม่ปกติ และกระเพาะอาหารพิการ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้บิด  เปลือกลำต้น รสฝาดเย็นเปรี้ยว ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ ฝาดสมานและเป็นยาเย็น ใช้ในโรคท้องเสีย และโรคที่เกี่ยวกับลำไส้ แก้สะอึก แก้บิดปวดมวน ระงับอาเจียน แก้ร้อนใน  ใบ รสฝาดเปรี้ยว แก้ปวดท้อง น้ำคั้นจากใบ แก้ปวดหู แก้หูอักเสบ เมล็ด รสเย็น แก้ร้อนใน แก้สะอึก แก้ผิดสำแดง สุมแก้หอบ ราก รสฝาดเย็น ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ทำให้ชุ่มคอ เปลือกต้นและแก่น เป็นยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ  ผล ใบ และเปลือกลำต้น แก้ร้อนใน ช่วยให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้หอบ บำรุงธาตุ และแก้บิด

โครงสร้างมะกอก 

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะกอก

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของมะกอก ระบุไว้ว่า

  • สารสกัดเมธานอลจากเปลือกต้น, สารสกัดเมธานอลและน้ำจากเปลือกผลแห้ง และสารสกัดอะซิโตน และเมธานอลจากเปลือกผล, ผล และเมล็ดของมะกอกเมื่อนำไปทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH พบว่ามีคุณสมบัติเป็นสามารถต้านอนุมูลอิสระ
  • สารสกัดเมธานอลจากเปลือกต้น และสารสกัดอะซิโตน และเมธานอลจากเปลือกผล, ผล และเมล็ดมะกอกมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ
  • ส่วนสารสกัดผลมะกอกด้วยแอลกอฮอล 80% พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ทั้งแกรมบวก และ แกรมลบ โดยแสดงผลที่ดีต่อการยับยั้ง เชื้อ Pseudomonas aeruginosaStaphylococcus epidermis
  • และอีกทั้งสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมะกอกสามารถเพิ่มการสังเคราะห์อินซูลินของตับอ่อนของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน (streptozotocin induced diabetic rats) ได้ รวมทั้งยังมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด (antihyperlipidemic) ในหนูที่เป็นเบาหวาน (diabetic rats) ด้วย นอกจากนี้ในสัตว์ทดลองยังพบว่าสารสกัดนี้สามารถเหนี่ยวนำให้มีการเพิ่มจำนวนของเบต้าเซล ซึ่งพาน้ำตาลเข้าเซล ลดเบาหวาน ในตับอ่อนของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานได้อีกด้วย 

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะกอก

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาจากสารสกัดจากเปลือกต้นมะกอก ระบุว่ามีการวิจัยพบว่า การให้สารสกัดจากเปลือกต้นมะกอก ซึ่งสกัดด้วยเอธานอล ทางปากในขนาด 100-2000 มิลลิกรัม/กิโลกรัมของน้ำหนักตัวหนู ทุกวันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ไม่พบความเป็นพิษทั้งแบบเฉียบพลัน (4 ชั่วโมงแรก) และเรื้อรัง (6 สัปดาห์) 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาที่ระบุว่า มะกอกไม่มีความเป็นพิษ แต่อย่างไรก็ตามในการใช้มะกอก เป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง มะกอก
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “มะกอก (Ma Kok)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 211.
  2. เดชา ศิริภัทร.มะกอก ผักพื้นบ้านที่ไม่ขอบคนเจ้าเล่ห์. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 180.เมษายน 2537
  3. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์.”มะกอกป่า” ในผลไม้111ชนิด:คุณค่าอาหารและการกิน.กรุงเทพมหานคร:แสงแดด, 2550,หน้า 134.
  4. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.“มะกอก Hog Plum”. หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา. หน้า 204.
  5. มะกอก.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargaeden.com/main.php?action=viewpage&pid=87
  6. มะกอก/มะกอกป่า (Hog plum) สรรพคุณและการปลูกมะกอก.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  7. Muhammad, Ashif, Rahman, Md. Shafiur, Kabir, ANM Hamidul, Kabir, Shaila, Hossain, Md. Khalid, Antibacterial and cytotoxic activities of Spondias pinnata (Linn. f.) Kurz fruit extract Jun-2011 Publisher: NISCAIR-CSIR, India
  8. Chetia B, Gogoi S. Antibacterial activity of the methanolic extract of stem bark of Spondias pinnata, Moringa oleifera and Alstonia scholaris. Asian Journal of Traditional Medicines: 2011; 6 (4). P 163-167.
  9. Hazra B, Biswas S, Mandal N. Antioxidant and free radical scavenging activity of Spondias pinnata. BMC Complementary and Alternative Medicine 2008: 2008; 8(63)
  10. Satpathy G, Tyagi YK, Gupta RK. Preliminary evaluation of nutraceutical and therapeutic potential of raw Spondias pinnata K., an exotic fruit of India. Food Research International: 2011; 44(7). P 2076-2087.
  11. Attanayake AP, Jayatilaka K, Pathirana C,  Mudduwa L. Antihyperglycaemic, antihyperlipidaemic and β cell regenerative effects of Spondias pinnata (Linn. f.) Kurz. bark extract on streptozotocin induced diabetic rats. European Journal of Integrative Medicine: 2014; 6(5). P 588-596.
  12. Chalise JP, Acharya K, Gurung N, Bhusal RP, Gurung R, Skalko-Basnet N, Basnet P. Antioxidant activity and polyphenol content in edible wild fruits from Nepal. International Journal of Food Sciences and Nutrition: 2010; 61(4). P 425-432
  13. Chaudhuri D, Ghate NB, Singh SS, Mandal N. Methyl gallate isolated from Spondias pinnata exhibits anticancer activity against human glioblastoma by induction of apoptosis and sustained extracellular signal-regulated kinase 1/2 activation. Pharmacognosy Magazine: 2015; 11(42). P 269-276