พิลังกาสา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

พิลังกาสา งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร พิลังกาสา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักจ้ำ, ผักจ้ำแดง (เชียงใหม่), ราม (สงขลา), ตาเป็ดตาไก่ (ชุมพร), ตีนจำ (เลย), มะจ้ำหรือตาไก่ (ภาคใต้), กะเบา, กระเบาข้างแข็ง (ภาคกลาง), กูลา (ปัตตานี), ตั้วโฮ่งจิ๊ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia polocephala Wall. Ex A.DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ardisia pendulifera Pit. Var., Tinus polycephala (Wall. Ex A. DC.) Kuntze).
ชื่อสามัญ Seashore ardisia, Duck’s eyes
วงศ์ NYRSINACEAE


ถิ่นกำเนิดพิลังกาสา

พิลังกาสาในบทงานนี้เป็นคนละชนิดกับ พิลังกาสาที่เป็นชื่อพ้องของพรรณไม้อื่นๆ อาทิเช่น พิลังกาสาที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ardisia alliptica Thunb. โดยในชนิดนี้จะเรียกว่า “รามใหญ่” ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตร์ที่คล้ายคลึงกับพิลังกาสา และมีสรรพคุณทางยาที่เหมือนกันรวมถึงพิลังกาสาชนิดที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ardisia sanguinolenta Blume ซึ่งชนิดนี้ จะเรียกว่า “มะจ้ำก้อง” ส่วนถิ่นกำเนิดของพิลังกาสา ที่กล่าวถึงในบทความนี้มีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบขึ้นประปรายทั่วไปในป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ถึงป่าดิบเขาที่ระดับความสูงถึง 1,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล พบได้ในพม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย รวมถึงจีนตอนใต้ และเวียดนาม ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าสามารถพบพิลังกาสาได้โดยทั่วไปโดยพบกระจายพันธุ์โดยทั่วไปตั้งแต่หมู่เกาะริวกิวของประเทศญี่ปุ่น และกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงอินเดียภาคใต้

ประโยชน์และสรรพคุณพิลังกาสา

  • ใช้รักษากามโรค
  • รักษาโรคหนองใน
  • ใช่พอกปิดแผล
  • แก้พิษงู ใช้ถอนพิษงูกัด
  • แก้โรคเรื้อน กุดถัง
  • โรคผิวหนัง
  • ใช้รักษาแก้ไข้
  • แก้ไขในกองอติสารโรค
  • แก้โรคกระดูกของสตรี
  • แก้ธาตุพิการ
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยฆ่าพยาธิผิวหนัง
  • ใช้แก้ไอ
  • ช่วยรักษาโรคตับพิการ
  • แก้ลม
  • แก้ท้องเสีย
  • เป็นยาฆ่าเชื้อโรค

           นอกจากนี้ยังมีการนำพิสาลังกามาใช้ประโยชน์อื่นๆ อีกเช่น ยอดอ่อน ใบอ่อนและผลอ่อน มีรสฝาดมัน เปรี้ยวอมหวาน สามารถนำมาใช้รับประทานเป็นผักสด จิ้มน้ำพริก หรือ นำมาลวกจิ้มน้ำพริกก็ได้ อีกทั้งยังนิยมนำต้นพิลังกาสา มาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคาร สถานที่ต่างๆ หรือ ตามสวนสาธารณะทั่วไป เพราะสามารถปลูกได้ง่าย และ ดูแลง่าย อีกทั้งดอกยังมีความสวยงามและออดอกดกเป็นกลุ่มใหญ่ ได้ตลอดปีอีกด้วย

พิลังกาสา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้พิลังกาสา

ใช้แก้กามโรค หนองใน โดยใช้รากของพิลังกาสา พอประมาณนำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงโลหิต แก้ธาตุพิการ แก้ไข ผลสุกนำมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นรูปกลอนกิน หรือใช้บดเป็นผงยา 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำครึ่งแก้วดื่มก็ได้ แก้โรคกระดูของสตรีโดยการนำผลสุกมาตากแห้งบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นลูกกลอนกิน ใช้แก้อาการไอ แก้ลม แก้ตับพิการ โดยนำใบมาตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผงรับประทานกับน้ำ ใช้แก้ท้องเสีย โดยใช้ใบสดมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ปิดแผล แก้แผลอักเสบ โดยใช้รากมาฝนพอกปิดแผล ฯลฯ

ลักษณะทั่วไปของพิลังกาสา

พิลังกาสา เป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-3 เมตร แต่บางที่สามารถพบได้สูงถึง 8 เมตร ลำต้นมีสีน้ำตาลเข้ม ผิวเกลี้ยงบาง แตกกิ่งก้านสาขาได้มาก ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับแบบวนรอบ ก้านใบเป็นสี่เหลี่ยมอ้วน ออกใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันเป็นคู่ๆ ตามข้อต้น ใบลักษณะเป็นรูปใบหอกยาว ปลายใบแหลม หรือ โค้งมนเล็กน้อย โคนสอบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร ใบหนา ผิวเรียบ และเกลี้ยง ด้านบนจะมีสีเขียวสดกว่าด้านล่าง ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง หรือ ตามส่วนของยอด โดยออกเป็นช่อกระจะห้อยลง ดอกย่อยออกแบบเรียงสลับแบบวนรอบช่อแน่น มีก้านดอกยาว 10-15 เซนติเมตร กลับเลี้ยงเรียงซ้อนกันมีขนละเอียด และมีต่อมเป็นประปราย กลีบดอกสีชมพู 5 กลีบ รูปไข่กว้าง ปลายแหลม โคนเรียงซ้อนกัน เกสรตัวผู้สีเหลือง อับเรณูแคบยาวมีจุดสีดำที่โคน ก้านเกสรเพศเมียยาวคล้ายเข็ม ผลออกเป็นกระจุกมีก้านช่อยาวห้อยย้อยลง และก้านผลยาวเรียงสลับรอบก้านช่อ ผลอ่อนเป็นสีแดง ค่อนข้างกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-9 มิลลิเมตร เมื่อแก่หรือสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ เนื้อค่อนข้างบางภายในมีเมล็ด 1 เม็ด

พิลังกาสา

การขยายพันธุ์ของพิลังกาสา

พิลังกาสาสามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดและตอนกิ่งแต่วิธีที่นิยมคือการเพาะเมล็ดโดยนำเมล็ดที่มีสีดำมาแช่น้ำ แล้วล้างให้สะอาดนำไปตากจนแห้ง แล้วนำไปเพาะในกระบะเพาะชำประมาณ 20-30 วัน จากนั้นเมล็ดพิลังกาสาจะงอกขึ้นเป็นต้นอ่อนสูงประมาณ 10-15 เซนติเมตร แล้วจึงแยกลงถุงเพาะชำที่ผสมดินกับปุ๋ยคอก และมะพร้าวสับ รดน้ำให้ชุ่มเอาไว้ในเรือนเพาะชำ เมื่อต้นสูงประมาณ 30-40 เซนติเมตร จึงสามารถนำไปปลูกลงแปลงต่อไป โดยพิลังกาสา ปลูกได้ทุกฤดูแต่ต้องมีน้ำเพียงพอดังนั้นจึงนิยมปลูกฤดูฝน สำหรับการเตรียมดินเริ่มจากขุดเป็นหลุมกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร ลึก 50 เซนติเมตร จากนั้นรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คลุกเคล้าให้เข้ากันกับดินปลูกและควรเว้นระยะห่าง 4-5 เมตร เมื่อเตรียมดินเรียบร้อยแล้ว จึงนำต้นกล้าพิลังกาสา อายุ 6-12 เดือน ลงปลูกกลบดิน และปักไม้ช่วยพยุงต้นผูกเชือกให้เรียบร้อย จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของพิลังกาสา พบว่า ทุกส่วนของต้นพิลังกาสามีสารอะไมริน (amyrin) และสารราพาโนน (rapanone) ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ ผลของพิลังกาสาสุก (ที่มีสีม่วงเข้มจนเกือบดำ) จะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงยังพบสารในกลุ่ม กรดฟีนอลิก (Phenolic acid) เช่น syringic acid และ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) เช่น isorhamnetin และ quercetin อีกด้วย

โครงสร้างพิลังกาสา

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพิลังกาสา

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของพิลังกาสา พบว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียโดยสามารถช่วยยับยั้ง platelet activating factor receptor binding มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากการทดลองในหลอดทดลอง มีฤทธิ์ต้านฮีสตามีน ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด และมีฤทธิ์ต้านอาการท้องเสียในสัตว์ ทดลองที่ถูกกระตุ้นให้ท้องเสียด้วยน้ำมันละหุ่ง โดยสามารถลดปริมาณการอุจจาระของสัตว์ทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

 

การศึกษาทางพิษวิทยาของพิลังกาสา

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้พิลังกาสาเพื่อมาเป็นยาสมุนไพรไทย ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หากต้องใช้พิลังกาสาเป็นสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง
 

เอกสารอ้างอิง พิลังกาสา
  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). สารานุกรมสมุนไพร. กรุงเทพมหานคร: โอเดียนสโตร์. หน้า 320.
  2. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: รวมสาส์น, 2538.
  3. พิลังกาสา. กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กันยายน 2558. หน้า 181-182.
  4. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. กรุงเทพฯ : บริษัทประชาชนจำกัด. 2544.
  5. พิลังกาสา . กลุ่มยาแก้โรคเรื้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_8.htm.