โซเดียม

โซเดียม

ชื่อสามัญ Sodium

ประเภทและข้อแตกต่างสารโซเดียม

สารโซเดียม (Na+ ) เป็นแร่ธาตุธรรมชาติที่ร่างกายต้องการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตโซเดียมได้เองได้จำเป็นต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น โดยโซเดียมจัดเป็นแร่ธาตุที่แตกตัวเป็นอิเล็กโทรไลต์ที่สำคัญของของเหลวภายนอกเซลล์ เป็นไอออนที่มีประจุบวก (cation)* และมีอิทธิพลต่อการกระจายของน้ำในร่างกาย ซึ่งโซเดียมในร่างกายส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะที่เป็นอิเล็กโทรไลต์ เป็นไอออนประจุบวก (cation) ที่มีอยู่มากที่สุดในของเหลวภายนอกเซลล์ (พลาสมา) โดยมีแรงดึงน้ำหรือมีค่าออสโมลาริตีอยู่ระหว่าง 280 ± 10 มิลลิออสโมล แต่ทั้งนี้เมื่อพูดถึงโซเดียมหลายคนอาจจะคิดว่าเป็นสารชนิดเดียวกับเกลือ แต่ความจริงแล้ว เกลือคือสารประกอบโซเดียมคลอไรด์ (sodium chloride) ที่มีองค์ประกอบของโซเดียมร้อยละ 40 และคลอไรด์ร้อยละ 60 โดยน้ำหนัก ดังนั้นการพูดถึงเกลือ 1 กรัม หมายถึงโซเดียม 0.4 กรัม หรือเกลือ 2.5 กรัม มีโซเดียม 1 กรัม สำหรับประเภทของโซเดียมนั้นหากจะแบ่งเป็นประเภทของโซเดียมที่อยู่ในร่างกายจะสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ โซเดียมที่สามารถการแลกเปลี่ยนได้ (exchangeable sodium) ซึ่งโซเดียมประเภทนี้จะมีอยู่ ร้อยละ 71 ของโซเดียมทั้งหมดโดยอยู่ในน้ำเลือด น้ำภายนอกเซลล์ที่ไม่ใช่น้ำเลือด น้ำที่อยู่ระหว่างเซลล์ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และเนื้อเยื่อกระดูก ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ โซเดียมที่ไม่มีการแลกเปลี่ยน (Nonexchangeable sodium) ซึ่งจะมีอยู่ร้อยละ 29 ของโซเดียมทั้งหมดโดยส่วนใหญ่อยู่ที่กระดูก นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทของโซเดียม จากสารประกอบโซเดียมอื่นๆ ที่ร่างกายได้รับจากกระบวนการเติมในกระบวนการผลิตอาหารได้อีกด้วย ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้

โซเดียมที่มีอยู่ในสารประกอบต่างๆ

  สารประกอบโซเดียม

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารโซเดียม

จากที่กล่าวมาข้างต้นว่าโซเดียมเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องได้รับจากแหล่งอาหารซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาหารเกือบทุกชนิดจะมีโซเดียมเป็นองค์ประกอบ แต่จะมีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันขึ้นกับชนิดอาหารและการปรุงแต่ง ดังนั้นจึงสามารถแบ่งลักษณะแหล่งอาหารที่มีโซเดียมที่ร่างกายจะได้รับเป็น 3 ลักษณะ คือ

  1. อาหารตามธรรมชาติ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว นม ผัก และผลไม้ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอาหารแต่ละชนิดมีปริมาณโซเดียม ที่แตกต่างกัน โดยอาหารประเภทน้ำนม และเนื้อสัตว์จะมีโซเดียมมากกว่าอาหารประเภทผักและผลไม้
  2. การบริโภคอาหารสำเร็งรูป และอาหารที่ใช้เกลือในการถนอมอาหาร เช่น ปลากระป๋อง ปลาเค็ม ไข่เค็ม อาหารแปรรูปต่างๆ เช่น เบคอน ลูกชิ้น แฮม ไส้กรอก แหนม อาหารสำเร็จรูปจำพวกบะหมี่ โจ๊ก รวมทั้งขนมขบเคี้ยวต่างๆ
  3. การเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ ในอาหาร เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ้วดำ ซีอิ้วขาว เต้าเจี้ยว ผงปรุงรส น้ำมันหอย และซอสปรุงรสชนิดต่างๆ เป็นต้น

ปริมาณพลังงาน สารอาหารหลักรวมทั้งโซเดียมในอาหารตามหลักการอาหารแลกเปลี่ยน

โซเดียม

ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรสต่างๆ

ปริมาณโซเดียม

           ทั้งนี้อาหารตามธรรมชาติ อาหารที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปจะมีโซเดียม อยู่น้อยกว่าอาหารที่ผ่านการแปรรูปแล้วอาหารประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้ มักมีโซเดียมน้อยกว่าอาหารประเภทเนื้อสัตว์

โซเดียม

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารโซเดียม

ในการกำหนดปริมาณสารอาหารโซเดียม อ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทยที่ ในแต่ละช่วงอายุจะคล้ายคลึงกับที่รายงานโดย Food and Nutrition Board, Institute of Medicine ซึ่งระบุว่าการศึกษาในเรื่องความต้องการโซเดียมของร่างกายยังมีไม่มากพอที่จะกำหนดเป็นค่าความต้องการ {(Recommended Dietary Allowance (RDA)} จึงได้กำหนดเป็นค่าประมาณของโซเดียมที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย {(Adequate Intake (AI)} แทน ค่า AI ของโซเดียมแบ่งตามกลุ่มอายุได้ดังนี้

ปริมาณโซเดียมอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับกลุ่มบุคคลวัยต่างๆ

โซเดียม

          ทั้งนี้ยังมีการศึกษาวิจัยในประเทศบราซิล พบว่ามนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้ตั้งแต่ระดับการบริโภคโซเดียมเพียง 0.2 กรัมต่อวัน (10 มิลลิโมลต่อวัน) จนถึงการบริโภคโซเดียมที่สูงมากถึง 10.3 กรัมต่อวัน (450 มิลลิโมลต่อวัน) ในประเทศญี่ปุ่นตอนเหนือจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของร่างกายในการปรับให้มีการสูญเสียโซเดียมมากน้อยตามปริมาณที่ได้รับ

ประโยชน์และโทษสารโซเดียม

หน้าที่ที่สำคัญของโซเดียม คือ รักษาระดับความเข้มข้นของออสโมลาริตีในของเหลวภายนอกเซลล์ ในขณะที่โปตัสเซียมรักษาระดับของออสโมลาริตีของของเหลวภายในเซลล์ออสโมลาริตีของของเหลวภายนอก และภายในเซลล์จะเท่ากันด้วยความสมดุล โดยการให้น้ำผ่านเข้าหรือออกจากเซลล์ ปริมาณน้ำภายนอกเซลล์จะต้องมีเพียงพอ โดยเฉพาะส่วนของของเหลวในหลอดเลือดเพื่อให้เลือดไหลเวียนนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ในอวัยวะต่างๆ ได้

           สำหรับในภาวะปกติร่างกายจะรักษาความสมดุลของการครองธาตุโซเดียม เช่น เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความต้องการ ร่างกายจะขับออกทางไต และเมื่อร่างกายได้รับโซเดียมน้อยเกินไปจะมีการดูดซึมกลับของโซเดียมเข้าสู่ร่างกายเพื่อรักษาสมดุล แต่ในบางภาวะร่างกายอาจมีปริมาณของโซเดียมน้อยหรือมากเกินไปดังนี้

           ภาวะที่ร่างกายขาดโซเดียม  โดยปกติกลไลของร่างกายจะรักษาความเข้มข้นของโซเดียมภายในเซลล์ไว้ที่ 10 มิลลิอีควิวาเลนท์ต่อลิตร ส่วนภายนอกเซลล์ (ในเลือด) จะมีความเข้มข้นที่135-145 มิลลิอีควิวาเลนท์ต่อลิตร แต่หากระดับโซเดียมในเลือดน้อยกว่า 135 มิลลิอีควิวาเลนท์ต่อลิตร จะเรียกภาวะนี้ว่าภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (hyponatremia) สำหรับค่าที่น้อยกว่า 100 มิลลิอีควิวาเลนท์ต่อลิตร จะทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากสาเหตุดังนี้

  1. ร่างกายมีการสูญเสียโซเดียมไปพร้อมกับการสูญเสียน้ำโดยการสูญเสียทางผิวหนัง เช่น การเสียเหงื่อมาก การถูกไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก การสูญเสียทางระบบทางเดินอาหาร เช่น อาเจียนอย่างรุนแรง อุจจาระร่วง หรือกินยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน การสูญเสียทางไต เช่น การได้รับยาขับปัสสาวะเป็นเวลานาน โรคไตที่เกิดจากประสิทธิภาพการทำงานลดลงหรือต่อมหมวกไตทำงานน้อยลง หรือ ความผิดปกติของระบบปัสสาวะ
  2. ระดับโซเดียม ในเลือดลดลงเนื่องจากการได้รับน้ำเพิ่มขึ้น โดยสามารถแบ่งได้เป็น
  • ทางปาก ดื่มน้ำมาก มักร่วมกับความบกพร่องในการขับถ่ายน้ำโดยเฉพาะภาวะไตวายเฉียบพลัน
  • ทางทวารหนัก เช่น การสวนด้วยน้ำ
  • ทางหลอดเลือดดำ เมื่อมีการให้อาหารทางหลอดเลือดดำ หรือ ให้สารละลายทางเส้นเลือด
  • ทางการหายใจ เช่น ทารกที่ต้องบริบาลในตู้อบที่มีความชื้นสูงเป็นเวลานาน

           นอกจากนั้นการเพิ่มขึ้นของเมตาบอลิสม เนื่องจากการอักเสบทางร่างกายมีผลทำให้น้ำในร่างกายเพิ่มขึ้นส่งผลให้ตรวจพบระดับของโซเดียมในเลือดลดลงด้วย

  1. ร่างกายมีระดับโซเดียมในเลือดลดลงเนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับถ่ายน้ำออกได้ตามปกติ เช่นโรคหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง โรคไตวาย และโรคตับ เป็นต้น

           ภาวะร่างกายมีโซเดียมสูงในภาวะนี้ค่าของโซเดียมในเลือดสูงกว่าค่าปกติมากกว่า 145 มิลลิอีควิวาเลนท์ต่อลิตร เรียกว่าภาวะโซเดียมในเลือดสูง (hypernatremia) มักพบในเด็กเล็กที่มีความผิดปกติในการควบคุมระดับน้ำภายในร่างกาย เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด การได้รับอาหารที่มีโซเดียมหรือเกลือมากแต่รับน้ำไม่เพียงพอ การเสียน้ำมากทางการหายใจขณะหอบหรือเกิดจากความผิดปกติของต่อมไฮโปทัลลามัส (hypothalamus) เป็นต้น

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารโซเดียม

            มีผลการศึกษาวิจัยกลไกการรักษาปริมาณโซเดียมและการขับโซเดียมในร่างกายพบว่ากลไกของร่างกายในการรักษาปริมาณของโซเดียมในร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเซลล์จะรักษาความเข้มข้นของโซเดียม (Na+ ) ภายในเซลล์ไว้ที่ 10 มิลลิอีควิวาเลนต์ต่อลิตร และจะไม่ยอมให้ผ่านเข้ามาอีกส่วนภายนอกเซลล์ จะมีความเข้มข้นอยู่ที่ 135 - 150 มิลลิอีควิวาเลนต์ต่อลิตร อีกทั้งการควบคุมปริมาณของโซเดียมให้อยู่ในภาวะสมดุลจึงขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ของไตและกลไกการทำงานที่เกิดจากฮอร์โมนของต่อมหมวกไตและต่อมพิทุอิทารี (pituitary gland) ซึ่งไตทำหน้าที่ขับถ่ายโซเดียมโดยกรองผ่านโกลเมอรูลัส (glomerulus) ปริมาณของโซเดียมส่วนเกินจะถูกกรองผ่านออกไปพร้อมกับน้ำ ขณะเดียวกันบริเวณท่อไตจะมีการดูดกลับของโซเดียมพร้อมกับน้ำเข้าสู่ร่างกายใหม่ตลอดความยาวของท่อไต การดูดกลับจะเกิดมากที่สุดบริเวณส่วนต้นของท่อไต ฮอร์โมนอัลโดสเตอโรน (aldosterone) จะออกฤทธิ์ที่ท่อไตช่วยให้มีการดูดกลับของโซเดียม และขับโพแทสเซียม ออกที่ท่อไตส่วนปลายฮอร์โมนอัลโดสเตอโรนและฮอร์โมนที่ยับยั้งการขับปัสสาวะ (antidiuretic hormone) ควบคุมปริมาณของโซเดียมและรักษาภาวะสมดุลระหว่างโซเดียมและน้ำโดยวิธีการง่าย ๆ ดังนี้ คือ เมื่อปริมาณของโซเดียมในของเหลวภายนอกเซลล์ลดลง ต่อมอะดรีนัล (adrenal gland) จะส่งฮอร์โมนอัลโดสเตอโรนไปที่ไต เพื่อให้มีการดูดกลับของโซเดียม เมื่อปริมาณของโซเดียมภายนอกเซลล์เพิ่มขึ้น อัลโดสเตอโรนจะลดลง มีผลทำให้โซเดียมถูกขับออกมาทางปัสสาวะ นอกจากนี้เมื่อโซเดียมในของเหลวภายนอกเซลล์สูงขึ้น ค่าออสโมลาริตีของน้ำภายนอกเซลล์จะสูงขึ้นด้วย กระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนที่ยับยั้งการขับปัสสาวะ ดังนั้นเมื่อโซเดียมในของเหลวภายนอกเซลล์ลดลง จะมีผลทำให้ออสโมลาริตีของน้ำภายนอกเซลล์ลดลงด้วย

           นอกจากนี้ร่างกายยังสามารถกำจัดโซเดียม ส่วนเกินได้ 3 รูปแบบ คือ เหงื่อ ปัสสาวะ และอุจจาระ (ส่วนใหญ่จะขับออกทางปัสสาวะ) โดยการขับออกเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมปริมาณของโซเดียม (Na+ ) ที่บริโภคเข้าไป

           การขับโซเดียม (Na+ ) ในรูปแบบเหงื่อร่างกายจะสูญเสียโซเดียม (Na+ ) ทางเหงื่อวันละประมาณ 25 mmol การขับโซเดียม (Na+ ) ออกทางเหงื่อนั้นเป็นผลจากร่างกายต้องการขับความร้อนออกมา (โดยใช้น้ำเป็นตัวนำความร้อน) เพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้ปกติ การที่โซเดียม (Na+ ) ถูกขับออกมากับเหงื่อจึงไม่มีผลต่อการควบคุมจำนวนโซเดียม (Na+ ) ในร่างกาย

           การขับโซเดียม (Na+ ) ในรูปแบบปัสสาวะผ่านทางไตการขับโซเดียม (Na+ ) ออกทางไตเป็นทางสำคัญและร่างกายมีกลไกควบคุมการขับถ่ายอย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุด โดยจะขับโซเดียม (Na+ ) ออกในรูปของปัสสาวะ ซึ่งโซเดียม (Na+ ) ประมาณร้อยละ 50 ของโซเดียม (Na+ ) ส่วนเกินจะถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะทันทีในวันแรก ส่วนที่เหลือจะถูกขับถ่ายออกหมดใน 3-4 วันต่อมา ในทางตรงข้ามถ้าร่างกายไม่ได้รับโซเดียม  ติดต่อกันนานถึง 7 วันไตจะสงวนโซเดียมไว้ จนปริมาณที่ออกมาทางปัสสาวะลดลงเหลือวันละ 5-10 mmol ได้

          ในคนปกติทั่วไปจะมีปริมาณโซเดียม ในร่างกายคงที่ การกินเกลือในปริมาณระหว่าง 0-23 กรัม จะทำให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อย ประมาณไม่เกินร้อยละ 10 และในทุก 140 มิลลิโมลของโซเดียม ที่เพิ่มขึ้น ร่างกายจะเก็บน้ำไว้ได้ประมาณ 1 ลิตร ดังนั้นไตจึงเป็นอวัยวะที่มีสำคัญมากต่อการรักษาสถานภาพปกติของโซเดียม ในร่างกาย

           การขับโซเดียมในรูปแบบอุจจาระปกติร่างกายขับโซเดียมไอออน ออกทางอุจจาระน้อยมาก ประมาณวันละ 5-10 mmol แต่การเสียโซเดียมไอออนผ่านทางนี้ในจำนวนมากนั้น อาจเกิดได้ในรายที่มีอาการท้องเดินหรืออาเจียนอย่างรุนแรง เนื่องจากน้ำในระบบทางเดินอาหารมีความเข้มข้นของอิเล็คโตรไลท์ (electrolyte) สูงมากกว่าใน พลาสม่าและยังถูกขับออกมาจำนวนมากประมาณ 8 ลิตรต่อวัน ซึ่งการสูญเสียน้ำในทางเดินจำนวนมาก จะส่งผลให้มีการขับโซเดียมไอออนเพิ่มขึ้นด้วย

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระดับโซเดียม ต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ดังนี้

           โซเดียมกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญ มีการศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยติดตามทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนแรก เมื่อเติบโตเป็นวัยรุ่น โดยควบคุมปริมาณเกลือให้อยู่ในระดับที่ต่ำเท่ากับปริมาณในน้ำนมแม่ตลอดระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ในช่วงแรกเกิดจนถึง อายุ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นติดตามกลุ่มตัวอย่างอีกครั้งเมื่ออายุ 15 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเด็กที่มีการควบคุมปริมาณเกลือที่ได้รับให้เท่ากับในนมแม่ในช่วง 6 เดือนนั้น มีระดับความดันโลหิตต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ควบคุม

           มีผลการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ในบริเวณตะวันออกของประเทศ โดยการเก็บปัสสาวะ 24 ชั่วโมง จากผลการศึกษาพบว่ามีความสัมพันธ์กับระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ โดยผู้ที่มีปริมาณโซเดียมในปัสสาวะน้อยมีความดันโลหิตต่ำกว่าทั้งระยะบีบตัวและระยะคลายตัว รวมทั้งอัตราการเต้นของหัวใจก็จะช้าลงด้วยทั้งในกลุ่มเพศชายและหญิงส่วนในผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีความบกพร่องของการทำงานของอินซูลินนั้น การลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลง มีการศึกษาว่ามีผลต่อการเพิ่มระดับการทำงานของอินซูลินดีขึ้น

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความสัมพันธ์ของการได้รับโซเดียมปริมาณสูงและการได้รับโพแทสเซียมปริมาณต่ำ ต่อโอกาสเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) ซึ่งในปัจจุบันมีหลักฐานการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการได้รับโซเดียมและโพแทสเซียม ต่ออัตราการตายอยู่น้อย การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ prospective cohort ในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นตัวแทนของประเทศ จำนวน 12,267 คน และติดตามกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเฉลี่ย 14.8 ปี หากมีการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (จากสถิติอัตราการตายตั้งแต่ปี 1988–2006) จะนำค่าอัตราส่วนของโซเดียมต่อโพแทสเซียม จากข้อมูลการตำรวจ NHANES มาร่วมวิเคราะห์ พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างเสียชีวิตจำนวนทั้งหมด 2,270 คน โดยมีสาเหตุจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจำนวน 825 คน และโรคหัวใจขาดเลือด (ischemic heart disease) จำนวน 443 คน และเมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจมีผลต่อการเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเทคนิค Cox regression เพื่อกำหนดค่า Hazard ratio (HR) พบว่าอัตราส่วนค่า HR ของโซเดียมที่ 1.2 ช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% และ อัตราส่วนค่า HR ของโพแทสเซียมที่ 0.80 ช่วงความเชื่อมั่นที่ 95% เมื่อทำการเปรียบเทียบค่า HR โซดียมต่อค่า HR โพแทสเซียม มีค่าเท่ากับ 1.46 ซึ่งเป็นค่าอัตราส่วนระหว่างโซเดียมต่อโพแทสเซียม ที่มีความสัมพันธ์ต่อการตายด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD) และหากค่า HR โซดียมต่อค่า HR โพแทสเซียม เท่ากับ 2.15 ที่มีความสัมพันธ์ต่อการตายด้วยโรคหัวใจขาดเลือด (IHD) และในการศึกษานี้ พบว่า เพศ สัญชาติ ระดับการศึกษา ดัชนีมวลกาย ภาวะความดันโลหิตสูง และกิจกรรมทางกาย เป็นปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับอัตราการตายของโรคหัวและหลอดเลือด การศึกษาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการได้รับโซเดียมในปริมาณสูงแต่ได้รับโพแทสเซียมในปริมาณต่ำ เพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ

           โซเดียมปริมาณสูงต่อภาวการณ์ทำงานของไตมีการศึกษาในประเทศอิตาลีแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของปริมาณโซเดียมที่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิต โดยศึกษาในคนที่มีสุขภาพดีจำนวน 47 คน มีความดันโลหิตปกติและสามารถรับประทานอาหารปกติได้ จะได้รับปริมาณโซเดียม 180 มิลลิโมลต่อวัน คิดเป็นปริมาณเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ 10.5 กรัมต่อวัน และลดปริมาณการรับโซเดียมลง 70 มิลลิโมลต่อวัน คิดเป็นปริมาณเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ 4.1 กรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาสั้นๆ พบว่าหลังจากลดจำนวนเกลือที่รับประทานลง ระดับความดันโลหิตลดลงเฉลี่ย จาก 123/85 มิลลิเมตรปรอท เป็นเฉลี่ย 117/78 มิลลิเมตรปรอท และการบริโภคเกลือมากจะมีผลทำให้ไตเสื่อมเนื่องจากมีการกรองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความเสื่อมนั้นจะคงอยู่ตลอดไป

           ส่วนอีกการศึกษาพบว่าผู้ที่บริโภคโซเดียมมากกว่า 4,600 มิลลิกรัมต่อวัน (เกลือ 2 ช้อนชา) มีอัตราการขับครีเอตินิน (creatinine) ลดลง และภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน และการลดการบริโภคโซเดียมจาก 3,800 มิลลิกรัมต่อวันเป็น 2,500 มิลลิกรัมต่อวัน จะลดภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งจะลดโอกาสการเกิดภาวะไตวายได้

           โซเดียมกับปริมาณแคลเซียมและกลไกการเปลี่ยนแปลงของกระดูกการบริโภคโซเดียมสูงยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนจากการสูญเสียธาตุแคลเซียม ผ่านปัสสาวะการศึกษาในผู้ชาย 410 คนและผู้หญิง 476 คน อายุ 20-79 ปี พบว่าการบริโภคโซเดียมสูงมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียแคลเซียมและสารไฮดรอกซีโพรลีน (hydroxyproline) ทางปัสสาวะมากซึ่งแสดงว่ามีการสลายของเนื้อเยื่อที่กระดูก การบริโภคโซเดียมเพิ่มขึ้นวันละ 1.2 ช้อนชา (คิดเป็นเกลือโซเดียมคลอไรด์ 5.9 กรัม) จะทำให้แคลเซียมถูกขับออก 23-39 มิลลิกรัม ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นทั้งเพศชายและเพศหญิง เด็กและผู้สูงอายุถ้ายังคงบริโภคโซเดียมปริมาณมากเป็นเวลานานๆ จะเกิดการสูญเสียแคลเซียมแบบสะสมเป็นผลให้เกิดภาวะกระดูกบางเพิ่มขึ้นและแตกร้าวได้ง่าย
 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. โซเดียม เป็นแร่ธาตุที่มีอยู่ในอาหารต่างๆทุกชนิด แต่ในแหล่งอาหารธรรมชาติจะมีน้อยกว่าอาหารสำเร็จรูป และอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งต่างๆ ดังนั้นในการเลือกรับประทานการเลือกอาหารจากธรรมชาติที่มีการปรุงแต่งแต่น้อยจะเป็นการช่วยป้องกันภาวะโซเดียมเกินได้
  2. โซเดียมแหล่งสำคัญที่ร่างกายได้รับส่วนใหญ่ มาจากเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ที่มีความเค็ม ซึ่งหากได้รับในปริมาณมากต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดภาวะเป็นพิษโดยมีผลทำให้เกิดอาการต่างๆดังนี้
  • ไตเสื่อมเนื่องจากมีการกรองเพิ่มขึ้นและอาการเสื่อมของไตจะยังคงอยู่ตลอดไป
  • การเกิดโรคความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจ
  • ทำให้เกิดการสูญเสียแคลเซียม
  • มีการสลายของเนื้อเยื่อที่กระดูก และเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุได้

เอกสารอ้างอิง โซเดียม
  1. วันทนีย์ เกรียงสินยศ: ลดโซเดียม ยืดชีวิต กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กันยายน 2555
  2. คณะกรรมการและคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ.2563.กรุงเทพมหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี.โปรเกรสชีพ 2563
  3. ธิดารัตน์ อภิญญา. รายงานผลการทบทวน รูปแบบการดำเนินงานป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อในวิถีชีวิตด้วยการลดการบริโภคเกลือ. สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค. กระทรวงสาธารณสุข. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2556.
  4. สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แนวทางการใช้วัตถุเจือปนอาหาร และกฎหมายที่เกี่ยวข้องพิมพ์ครั้งที่ 2 นนทบุรี: สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข 2556
  5. วันดี วราวิทย์ หลักการรักษาด้วยสารน้ำ ใน: อีเล็คโทรลัยต์ในเด็ก วันดี วราวิทย์ บรรณาธิการ กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ 2523
  6. ตารางการใช้วัตถุเจือปนอาหาร แนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547
  7. สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข รายงานการสำรวจการบริโภคอาหารของประชาชนไทย การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552, มิถุนายน 2554
  8. คณะกรรมการจัดทำข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2546. กรุงเทพ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์; 2546
  9. Ferbes GB, Lowis AM. Total sodium, potassium and chloride in adult man. J Clin Invest 1956;35:596-600.
  10. Institute of Medicine. Dietary Reference Intakes for water, potassium, sodium, chloride and sulfate. Washington, D.C.: National Academy Press; 2004.
  11. Feldman RD, Logan AG, Schmidt ND. Dietary salt restriction increase vascular insulin resistance. Clin Pharmacol Ther 1996;60:444-51
  12. Wright JD, Wang C-Y, Kennedy-Stephenson J, Ervin RB. Dietary intake of ten key nutrients for public health. Adv Data Vital Health Stat 2003;334:1-4
  13. Newborg B, Kempner W. Analyses of 177 cases of hypertensive vascular disease with papilledema; one hundred twenty-six patients treated with rice diet. Am J Med 1955;19:33-47.
  14. Saggar-Malik AK, Markandu ND, MacGregor GA, Cappuccio FP. Moderate salt restriction for the management of hypertension and hypercalciuria. (Case report) J Hum Hypertens 1996;10:811-3.
  15. Dahl LK. Possible role of salt intake in the development of essential hypertension - An International Symposium. Berlin: Springe, 1960; 52-65.
  16. Hoffman A, Hazebrook A, Valkenburg HA. A randomized trial of sodium intake and blood pressure in newborn infants. JAMA 1983;250:370-3.
  17. He FJ, MacGregor GA. Salt reduction lowers cardiovascular risk: meta-analysis of outcome trials. Lancet 2011;378:380-2.
  18. Mallamaci F, Leonardis D, Bellizzi V, Zoccali D. Does high salt intake cause hyperfiltration in patients with essential hypertension?. J Hum Hypertens 1996;10:157-61.