วิตามินบี 6

วิตามินบี 6

ชื่อสามัญ Pyridoxine

ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินบี 6

วิตามินบี 6 (Pyridoxine) จัดเป็นวิตามินกลุ่มที่ละลายได้ในน้ำ ซึ่งเป็นสรประกอบ ไพริดีน (Pyridoxine) ที่มีส่วนประกอบสำคัญ 3 ชนิด ที่มีคุณสมบัติทางชีววิทยาคล้ายกัน คือ ไพริดอกซีน (Pvridoxine) ไพริดอกซาล (Pyridoxal) และไพริดอกซามีน (Pyridoxamine) เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นจึงเรียกสารเหล่านี้แบบรวมๆ ว่า ไพริดอกซีน Pyridoxine และเมื่อทำให้วิตามินบี 6 (Pyridoxine) เป็นผลึกก็จะได้ผลึกลักษณะขาวละลายน้ำได้มีรสเค็ม ไม่มีกลิ่น ละลายในน้ำได้ และละลายในสารละลายที่เป็นกรด และด่างปานกลาง แต่จะสลายตัวได้ง่ายเมื่อถูกแสงแดด โดยไพริดอกซีนจะทนต่อความร้อนมากกว่าไพริดอกซาล และไพริดอกซามิน อีกทั้งไพริดอกซาล และไพริดอกซามีนจะพบมากในสัตว์ ส่วนไพริดอกซีนจะพบในพืชเป็นส่วนมาก

            สำหรับประเภทของวิตามินบี 6 (Pyridoxine) นั้น ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีอยู่ในแหล่งอาหาร (ทั้งในพืช และสัตว์) ทั่วไปที่มนุษย์รับประทานเข้าไปแล้วร่างกายจะสังเคราะห์ และดูดซึมนำไปใช้สู่กระบวนการต่างๆ ของร่างกาย ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ประเภทที่สกัดจากแหล่งอาหารในธรรมชาติที่มีวิตามินบี 6 (Pyridoxine) อยู่ซึ่งจะได้ออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งแบบชนิดเม็ด หรือ แคปซูล ทั้งในรูปแบบวิตามินแบบแยกเดี่ยว, วิตามินรวม รวมถึงในรูปแบบวิตามินบีรวม เป็นต้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินบี 6

ความจริงแล้วร่างกายของมนุษย์สามารถสังเคราะห์วิตามินบี 6 ได้เองจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ แต่ปริมาณที่ร่างกายสังเคราะห์ได้ในแต่ละวันก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ดังนั้นร่างกายจึงต้องการวิตามินบี 6 เพิ่มจากแหล่งอาหาร ซึ่งแหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 6 นั้นจะมาจากทั้งพืช และสัตว์ โดยในผักผลไม้จะพบในรูปของไพริดอกซีน เช่น ถั่วต่างๆ, ข้าวไม่ขัดสี, กล้วย, จมูกข้าวสาลี, ข้าวโอ๊ต, แคนตาลูป, ขนุนลูกวอลนัท, ทุเรียน, มันฝรั่ง ฯลฯ  ส่วนในเนื้อสัตว์จะพบในรูปของไพริดอกซาน และไพรริดอกซามีน เช่น ปลา ไข่ไก่ ตับสัตว์ นม เนื้อปลา เนื้อวัว เนื้อหมู เป็นต้น

วิตามินบี 6           

           ทั้งนี้ในอาหารจะค่อนข้างคงทน หากนึ่ง หรือ ต้มอาหารที่เป็นแหล่งวิตามินบี 6 จะสูญเสียวิตามินบี 6 ไปเพียง 10-20% และสำหรับการหุงต้มอาหารในสภาพที่เป็นกรดอ่อน (มีการเติม ปรุง สารที่ทำให้เป็นกรดลงไป เช่น น้ำส้มสายชู, มะนาว, มะเขือเทศ) ก็จะสามารถช่วยป้องกันไม่ให้วิตามินบี 6 ในอาหารสลายได้

ปริมาณที่ควรได้รับวิตามินบี 6

สำหรับปริมาณของวิตามินบี 6 (Pyridoxine) ที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยอ้างอิงจากตารางสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป (THAI RDI) ตามบัญชีหลายเลข 3 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ.2541 ระบุ ควรบริโภค วิตามินบี 6 (Pyridoxine) 2 มิลลิกรัม/วัน สำหรับในส่วนของสารกสัดวิตามินบี 6 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะมีขนาดตั้งแต่ 50-500 มิลลิกรัม ทั้งในรูปแบบแยกเดี่ยว แบบเป็นวิตามินรวม รวมถึงในรูปของวิตามินบีรวม ควรหาซื้อที่เป็นสูตรแตกตัวช้า โดยควรบริโภคไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม

ประโยชน์และโทษวิตามินบี 6

วิตามินบี 6 (Pyridoxine) มีประโยชน์หลายประการ เช่น เร่งปฏิกิริยาของการเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต กรดอะมิโน และกรดไขมันในร่างกาย, เสริมสร้างภูมิต้านทานของร่างกายให้แข็งแรง, ป้องกันการเกิดนิ่วในไต, ลดอาการคลื่อนไส้, อาเจียน, ช่วยชะลอวัย, ช่วยสร้างเซโรโทนิน Serotonin ที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัวดีขึ้น ช่วยควบคุมการทานของสมอง และเนื้อเยื่อให้ทำงานเป็นปกติ, เปลี่ยนทริปโทเฟนให้เป็นวิตามินบี 3 (niacin), ลดการเป็นตะคริว แขน ขา และช่วยขับปัสสาวะ, สร้างน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร, ลดอาการปากแห้ง และปัญหาด้านการปัสสาวะที่เกิดจากการรับประทานยาต้านอาการซึมเศร้าในกลุ่มไตรโซคลิก

            สำหรับโทษของวิตามินบี 6 (Pyridoxine) หากเป็นการรับประทานในรูปแบบของอาหารนั้น ยังไม่พบการรายงานการเกิดพิษ เพราะเป็นวิตามิน ที่สามารถละลายในน้ำ และยังสามารถขับออกจากร่างกายได้หากได้รับเกินความจำเป็น แต่หากเป็นการรับประทานในรูปแบบของสารสกัด และผลิตภัณฑ์อาหารเสริมนั้นพบว่า หากรับประทานเกินขนาดตั้งแต่ 1000 มิลลิกรัม/วัน ขึ้นไป เป็นระยะเวลานานหลายเดือน จะมีอาการเสียการทรงตัว มึนงง ปาก และมือเท้าชา มีผื่นขึ้น และแสบร้อนเวลาโดนแสง ส่วนกรณีการขาดวิตามินบี 6 (Pyridoxine) นั้น โดยส่วนมาแล้วจะไม่ค่อยพบการขาดวิตามินบี 6 แต่อย่างใด เพราะในแหล่งอาหารที่รับประทานเข้าไปมีเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายอยู่แล้ว แต่อาจพบได้ในกลุ่มคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีภาวการณ์ดูดซึมอาหารผิดปกติ (Malabsorption syndrome) ผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง, ผู้ที่ได้รับยาบางชนิด ที่ต้านฤทธิ์กับวิตามินบี 6 เช่น lsoniazid, prednisolone, Carba mazepin, Pyraziramide และ Cyclosporin เป็นต้น จึงทำให้ได้รับวิตามินบี 6 จากอาหารน้อยกว่าปกติ ผู้ที่กินยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง เพราะยาคุมมีฤทธิ์ที่จะทำให้ร่างกายต้องการวิตามินบี 6 มากกว่าคนปกติ จึงอาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 6, ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ต้องฟอกเลือดเป็นประจำ ซึ่งคนที่มีภาวะขาดวิตามินบี 6 (Pyridoxine) จะมีอาการดังนี้ ปัสสาวะจะพบ xanthurenie acid มากกว่าปกติ และมีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน บ่อยๆ ผมร่วง มีผื่นแดงในส่วนที่โดนแดด ในบางคนก็อาจมีริมฝีปากแห้งแตก ซึมเศร้า กระวนกระวาย สับสน มีอาการทางประสาท และโลหิตจาง เป็นต้น

วิตามินบี 6

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินบี 6

มีผลการศึกษาวิจัยระบบ metabolism ของวิตามินบี (Pyridoxine) ระบุว่า ร่างกายของคนเราสามารถดูดซึมวิตามินบี 6 ได้ดีที่สุดบริเวณลำไส้เล็กตอนต้น โดยจะเข้าไปเปลี่ยนเป็นโคเอนไซม์ในรูปของไพริดอกซาลฟอสเฟค ส่วนวิตามินบี 6 ที่เหลือก็จะถูกขับออกมาทางปัสสาวะภายใน 8 ชั่วโมง โดยจะไม่มีการเก็บไว้ที่ตับเหมือนกับวิตามินตัวอื่นๆ ดังนั้นในปัสสาวะจึงมักจะมี วิตามินบี 6 อยู่เสมอ และวิตามินบี 6 ยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์โคเอนไซม์ Pyridoxal phosphate (PLP) และ Pyridoxamine phosphate ซึ่งทั้งสองชนิดมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเมแทบอลิซึมของโปรตีน และคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ยังช่วยในการสังเคราะห์ฮีม ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และยังเกี่ยวข้องในการเปลี่ยนกรดอะมิโนทริปโทเฟนไปเป็น nicotinic acid (วิตามินบี 3) ดังนั้นถ้าขาดวิตามินบี 6 อาจทำให้เกิดการขาดวิตามินบี 3 ด้วย

            ส่วนผลรายงายการศึกษาอีกฉบับหนึ่งระบุว่า เมตาบอลิซึมของกรดอะมิโน และโปรตีนจำเป็นต้องมีเอนไซม์ที่มีวิตามินบี 6 เป็นส่วนประกอบเป็นตัวทำให้เกิดปฏิกิริยา ไพริดอกซาลฟอสเฟคช่วยในการปล่อยกลุ่มคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาจากกลุ่มคาร์บอกซิล (-COOH) ไนไทโรซีน อารจินีน กรดกลูตามิค และกรดอะมิโนอื่นๆ หรือ เรียกปฏิกิริยานี้ว่าดีคาร์บอกซีเลชัน (decarboxylation) โคเอนไซม์นี้จะช่วยย้ายกลุ่มอะมิโน (-NH2) จากสารประกอบสารหนึ่งไปยังสารประกอบอีกสารหนึ่ง (transamination) และย้ายกำมะถันจากกรดอะมิโนเมทไทโอนีนไปทำให้เกิดกรดอะมิโนซิสเตอีน (transamination) โคเอนไซมืนี้จำเป็นในการเปลี่ยนกรดอะมิโนทริปโตเฟนเป็นไนอะซิน นอกจากนั้น ไพริดอกซาลฟอสเฟตยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขนถ่ายกรดอะมิโนเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ช่วยในปฏิกิริยาทางเคมีที่สำคัญในระบบประสาท และสมอง ยังสร้างสารที่เปลี่ยนเป็นสารฮีม (heme) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบิน

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น วิตามินบี 6 เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้การดูดซึมของวิตามิน บี 6 เป็นตัวสำคัญที่จะทำให้การดูดซึมของวิตามินบี 12 เข้าสู่ร่างกายได้เต็มที่ สมบูรณ์ และช่วยวิตามินF (Linoleic acid หรือ Unsaturated fatty acid) ปฏิบัติหน้าที่ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยในการปล่องน้ำตาล (Glycogen) จากตับ และกล้ามเนื้อออกมาเป็นกำลังงาน วิตามินบี 6 ยังเป็นตัวสำคัญในการสังเคราะห์ และควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของ DNA และ RNA ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการบ่งบอกพันธุกรรมอีกด้วย

            ส่วนผลการศึกษาความเป็นพิษของวิตามินบี 6 (Pyridoxine) นั้นระบุว่ามีรายงานพบความเป็นพิษของวิตามินบี 6 ถ้าได้รับในปริมาณสูงหลายๆ กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (ร่างกายต้องการวิตามินบี 6 วันละ 2 มิลลิกรัม) จะทำให้ประสาทรับสัมผัสสูญเสียหน้าที่ไป มีอาการชัก ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดจากขนาดที่ใช้ในการรักษาที่มากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อวัน

            ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า มีรายงานความเป็นพิษของวิตามินบี 6 (Pyridoxine) โดยพบในรายที่รับประทานยาที่มีไพริด็อกซิน > 200 mg/วัน ติดต่อกันเกิน 1 ปี (วันหนึ่งเราต้องการเพียง 2 มิลลิกรัม) โดยจะเสียการทรงตัวเวลาเคลื่อนไหว ชาแขน มีผื่นกดเจ็บเวลาโดนแสง คลื่นไส้อาเจียน และยังมีรายงานความพิการของทารกที่มารดารับประทานไพริด็อกซินเสริมตั้งแต่ครรภ์อ่อนๆ ในขนาด 50-200 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะวเลานานอีกด้วย

โครงสร้างวิตามินบี 6

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

  1.     ในการใช้สารสกัดวิตามินบี 6 ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ไม่ควรรับประทานยาเกินขนาดที่แนะนำ และห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  2.     สตรีรับประทานยาคุมกำเนิดต่อเนื่องควรได้รับวิตามินบี 6 เพิ่ม เพราะยาคุมกำเนิดมีฤทธิ์ลดวิตามินบี 6 ในร่างกาย
  3.     วิตามินบี 6 จะทำงานได้ดีหากรับประทานร่วมกับวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 5 วิตามินซี และแมกนิเซียม
  4.     การขาดวิตามินบี 6 อาจทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 3 และวิตามินบี 12 ไปด้วย เพราะวิตามินบี 6 ช่วยในการดูดซึม และสังเคราะห์วิตามินทั้ง 2 ชนิด ดังกล่าว

 

เอกสารอ้างอิง วิตามินบี 6
  1.     ความเป็นพิษของวิตามินเกินขนาด. คอลัมน์เรื่องน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 195.กรกฎาคม 2538
  2.     พัชรี บุญศิริ เปรมใจ อารีจิตรานุสรณ์ อุบล ชาอ่อน และปีติ ธุวจิตต์.(2550).ตำราชีวเคมี.พิมพ์ครั้งที่ 5. ขอนแก่น. คลังนานาวิทยา.
  3.     McCormick, D. B. (2006). “Vitamin B6”. In Bowman, B. A.; Russell, R. M. Present Knowledge in Nutrition. 2 (9th ed.). Washington, DC: International Life Sciences Institute. p. 270.
  4.     Bruice, Paula Y. (2006). Essential Organic Chemistry. New York, NY : Pearson/Prentice Hall
  5.     Bredesen, D. E. (1985). “Sensory neuropathy with low-dose pyridoxine”. Neurology. 35 (10): 1466–1468.