กระดูกไก่ดำ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระดูกไก่ดำ งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระดูกไก่ดำ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บัวลาคำ, เกี๋ยงผา (ภาคเหนือ), เฉียงพร้ามอญ, สันพร้ามอญ, สำมะงาจีน, เฉียงพร้าบ้าน, เฉียงพร้าม่าน, ผีมอญ (ภาคกลาง), กะลาดำ, กระดูกดำ (จันทบุรี), แสนทะแมน, ปองดำ (ตราด), เฉียงพร้า (สุราษฎร์ธานี), ซ่าเลิมหลาม (ไทยใหญ่), กรอกะโต๊ะ (กะเหรี่ยง), ปั๋วกู่ตาน(จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia gendarussa Burm.f.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gendarussa vulgaris Nees, Gendarussa vulgaris Bojer
วงศ์ ACANTHACEAE

ถิ่นกำเนิดกระดูกไก่ดำ

เชื่อกันว่ากระดูกไก่ดำเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้บริเวณประเทศ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ และเนปาล แล้วต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย สามารถพบได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมักจะพบตามธรรมชาติในป่าดงดิบเขา หรือ พบได้ตามริมหนองคลองบึง และริมแม่น้ำ ซึ่งคนไทยก็มีการใช้ประโยชน์จากต้นกระดูกไก่ดำ มาตั้งแต่ในอดีตแล้ว

ประโยชน์และสรรพคุณกระดูกไก่ดำ

  1. ใช้รักษาอาการปวดศีรษะ
  2. แก้ไข้
  3. แก้ไอ
  4. ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
  5. แก้เลือดคั่งค้าง
  6. ช่วยกระจายเลือด
  7. แก้ฝีฝักบัว
  8. แก้ช้ำใน
  9. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  10. ช่วยขับปัสสาวะ
  11. แก้ท้องเสีย
  12.  แก้โรคหืด
  13. แก้ปวดท้อง
  14. แก้ปวดบวมตามข้อ
  15. ใช้เป็นยาพอกถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น พิษงู ผึ้ง ต่อ แตนต่อย
  16. แก้โรคผิวหนัง
  17. แก้ผื่นคันตามตัว
  18. เป็นยาขับลมขึ้นตามข้อกระดูก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้แก้ไอ แก้ไข้ แก้เลือดคั่งค้าง ช่วยกระจายเลือดลม ช่วยขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย โดยใช้ราก หรือ ลำต้น หรือ ใบต้มกับน้ำดื่ม แก้อาการปวดศีรษะ แก้โรคหืด แก้ไอ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย โดยใช้ใบสดนำมาตำ หรือ คั้นเอาแต่น้ำมาดื่ม แก้อาเจียนเป็นเลือด ขับปัสสาวะ โดยใช้น้ำคั้นจากใบกระดูกไก่ดำ ผสมกับเหล้ากิน แก้ท้องร่วงอย่างแรง โดยใช้ใบมาต้มกับนมรับประทาน ใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงสัตว์กัดต่อยโดยใช้ราก และใบนำมาตำผสมกันแล้วใช้พอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้โรคผิวหนัง และอาการผื่นคันตามตัวโดยใช้รากนำมาต้มกับน้ำอาบ


ลักษณะทั่วไปของกระดูกไก่ดำ

กระดูกไก่ดำจัดเป็นไม้พุ่มขนาดย่อมคล้ายกับต้นเสลดพังพอน มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้น และกิ่งเป็นสีม่วงแดงถึงสีดำ ผิวลำต้น และกิ่งมีลักษณะเกลี้ยงมันเป็นปล้องข้อ ดูคล้ายกับกระดูกไก่ (จึงเป็นที่มาของชื่อต้นกระดูกไก่ดำ) โดยขนาดของข้อลำต้นจะยาวข้อละประมาณ 2-2.5 นิ้ว ส่วนข้อของปล้องกิ่งยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว ใบออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเป็นคู่ ลักษณะเป็นรูปใบหอก เล็กเรียวแหลมทั้งปลายใบและโคนใบ ขอบใบเรียบกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-15 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเป็นมัน ด้านหน้าใบสีเขียวสด มีเส้นกลางใบเป็นสีแดงอมดำที่เห็นชัด ส่วนหลังใบเป็นสีเหลืองสีเขียว ก้านใบสั้น และใบมีรสขม ดอกออกเป็นช่อบริเวณส่วนยอด และปลายกิ่ง โดยในช่อจะมีความยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ดอกจะมีลักษณะเป็นหลอดเล็กๆ ในก้านบริเวณปลายดอกจะแยกออกเป็นกลีบดอก ซึ่งกลีบดอกเป็นสีขาวแกมชมพู มีลักษณะโค้งงอนเหมือนช้อน ข้างในหลอดดอกมีเกสรเพศผู้ โผล่ ส่วนบริเวณโคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ผลออกเป็นฝัก ยาว 1-1.5 เซนติเมตร โดยเมื่อแก่ฝักจะแตกออกมา ด้านในมีเมล็ดหลายเมล็ดลักษณะกลมแบนมีสีดำ

การขยายพันธุ์กระดูกไก่ดำ

กระดูกไก่ดำ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการปักชำ ซึ่งในอดีตการขยายพันธุ์ของกระดูกไก่ดำ จะเป็นการขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดในธรรมชาติแต่ในปัจจุบันได้เริ่มมีการนำกระดูกไก่ดำมาเพาะปลูกกันบ้างแล้ว จึงมีการนำกระดูกไก่ดำมาปักชำกิ่ง และเพาะเมล็ดเพื่อนำมาปลูกตามบริเวณบ้านเรือน และสวนสาธารณะกันมากขึ้น ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด และปักชำกระดูกไก่ดำนั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และปักชำกิ่งของไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นทั่วๆ ไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของราก และใบกระดูกไก่ดำ ที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรพบว่า พบสาระสำคัญ เช่น Juaticin, Vitexin, apiginin และ patentiflorin A เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมี ในน้ำมันหอมระเหยของใบกระดูกไก่ดำพบว่า มีสารที่เป็นองค์ประกอบหลัก อาทิเช่น 1-nonanol, α-ionone, trans-β-ionone และ isopropyl myristate เป็นต้น

กระดูกไก่ดำ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระดูกไก่ดำ

ฤทธิ์ต้านอักเสบ ลดปวด มีผลการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดกระดูกไก่ดำ มีฤทธิ์ต้านอักเสบ และลดอาการปวด ซึ่งน่าจะมาจากสารในกลุ่ม flavonoids เช่น vitexin และ apigenin ที่ออกฤทธิ์ผ่านกลไกเดียวกันกับ ยากลุ่ม NSAIDs โดยไปยับยั้งเอนไซม์ทั้ง cyclooxygenase (COX) และ lipoxygenase pathways ทำให้มีผลยับยั้งการหลั่งสารที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบหลายชนิด เช่น prostaglandins, histamine, NO, iNOS, MMP-9, prostaglandins และยังพบว่าสารสกัดกระดูกไก่ดำยังออกฤทธิ์ที่ opioid receptor ซึ่งเป็นกลไกเดียวกับ morphine แต่มีฤทธิ์ลดปวดน้อยกว่า morphine 2-5 เท่า

           ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย มีผลการศึกษาวิจัยสารสกัดเมทานอลของใบกระดูกไก่ดำ ระบุว่ามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด ทั้งแบคทีเรียแกรมบวก แบคทีเรียแกรมลบ เช่น Staphylococcus, aureus, Staphylococcus mutans, Bacillus subtilis, Micrococcus luteus, Proteus vulgaris, Proleus mirabilis, Klebsiella pneumoniae, Escherichia coli, Shigella Flexner, Salmonella paratypi A และ Salmonella typhimusium

การศึกษาทางพิษวิทยาของกระดูกไก่ดำ

มีผลการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของกระดูกไก่ดำ ฉบับหนึ่งระบุผลวิจัยไว้ว่า เมื่อนำสารสกัดที่ได้จาก รากที่นำมาต้มกับน้ำรากที่นำมาแช่ในแอลกอฮอล์ หรือ ใช้รากที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ฉีดเข้าในท้องของหนูทดลองในปริมาณ 1-2 กรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) มีผลทำให้หนูมีอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และเมื่อฉีดเข้าหนูทดลองในปริมาณ 10-20 กรัม/ 1 กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) ทำให้อุณหภูมิในร่างกายของหนูทดลองต่ำลงมาก และมีอาการถ่ายอย่างเฉียบพลันและตายในที่สุด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ในการใช้กระดูกไก่ดำ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้กระดูกไก่ดำเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
 

เอกสารอ้างอิง กระดูกไก่ดำ
  1. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กระดูกไก่ดํา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 19-20.
  2. รายงานผลการดำเนินงานประจำปี พ.ศ.2558-2559 โครงการพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือตอนบน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ สมุนไพรไม้พื้นบ้าน. เล่ม 4(604)
  3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. “กระดูกไก่ดํา”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย. หน้า 75.
  4. วิทยา บุญวรพัฒน์. “กระดูกไก่ดำ ”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 28.
  5. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “เฉียงพร้ามอญ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 237-239.