คัดเค้า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

คัดเค้า งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร คัดเค้า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เค็ดเค้า (ภาคเหนือ), คัดค้าว (ภาคกลาง), คัดเค่า (ภาคอีสาน), เขี้ยวกรจับ (ภาคใต้), หนามลิดเก๊า (เชียงใหม่), คัดเค้าหนาม (ชัยภูมิ), พญาเท้าเอว (กาญจนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyceros horridus Lour.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Randia siamensis Craib, Gardenia horrida (Lour.) Spreng., Griffithia siamensis Miq.
ชื่อสามัญ Gardenia horrida (Lour.) Spreng., Griffithia siamensis Miq.,
วงศ์ RUBIACEAE
 

ถิ่นกำเนิดคัดเค้า 

คัดเค้าเป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทยแล้วมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวรใกล้เคียงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นจากชื่อชนิด (species) ของคัดเค้า คือ SIAMENSIS ซึ่งแสดงว่าพบในสยาม หรือ ในประเทศไทยนั่นเอง โดยจะพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ในป่าเบญจพรรณภาคต่างๆ หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่า แต่ในปัจจุบันมีการนำมาปลูกไว้ตามบ้านเรือน หรือ สวนสาธารณะมากขึ้น เพราะเป็นพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอม

ประโยชน์และสรรพคุณคัดเค้า 

  1. แก้โลหิตซ่าน
  2. แก้ไข้
  3. แก้โลหิตในกองกำเดา
  4. แก้เลือดออกตามไรฟัน
  5. ช่วยขับเลือด
  6. ช่วยขับลม 
  7. แก้ไข้
  8. ช่วยบำรุงโลหิต
  9. ช่วยขับฟอกโลหิต
  10. ช่วยขับระดู
  11. แก้ท้องเสีย
  12. ช่วยขับเสมหะ
  13. แก้เลือดออกในทวารทั้งเก้า
  14. เป็นยาขับประจำเดือน
  15. ใช้พอกรักษาฝี
  16. แก้ฝีประคำร้อย
  17. แก้พิษฝีต่างๆ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ฟอกโลหิต, บำรุงโลหิต, ขับประจำเดือน โดยนำผลประมาณ 1 กำมือ มาต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น ใช้แก้ไข้ ขับเลือด ขับลม แก้เลือดออกตามไรฟัน โดยนำแก่นต้น หรือ รากมาฝนกับน้ำกิน ใช้แก้ท้องเสีย โดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้พอกรักษาฝี โดยนำยอดคัดเค้า นำมาขยี้ หรือ ตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้แก้พิษฝีต่างๆ แก้ฝีประคำร้อย โดยนำหนามมาฝนแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของคัดเค้า
 

คัดเค้า จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อย หรือ ไม้เถา เนื้อแข็ง สูง 3-6 เมตร เนื้อไม้เหนียวมาก เปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาล มีหนามแหลม ยาว 1 เซนติเมตร ปลายโค้งแข็งเป็นคู่ตามข้อและโคนใบ กิ่งอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยม ปลายกิ่งก้านมีสีเขียว เลื้อยพาดพันต้นไม้ยืนต้นที่อยู่ใกล้ หากไม่มีที่เลื้อยพันก็จะเป็นไม้กึ่งเลื้อยกึ่งยืนต้น คล้ายนมแมว ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน เป็นคู่ ตามข้อกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม และเป็นมัน ท้องใบเรียบลื่น และมีสีอ่อนกว่า มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร เนื้อใบหนาแข็ง และเหนี่ยว มีหูใบขนาดเล็กลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมอยู่ระหว่างก้านใบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ และปลายกิ่ง ลักษณะเป็นช่อใหญ่ โดยแต่ละช่อมีขนาดตั้งแต่ 4-10 เซนติเมตร และใน 1 ช่อใหญ่ จะมีดอกย่อย 10-25 ดอก ซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกเข็ม กลีบดอกส่วนโคนเชื่อมกันเป็นหลอดสั้น ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อบานกลีบดอกจะบิด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2  เซนติเมตร และมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ยาว และยื่นพ้นกลีบดอก ส่วนเกสรเพศเมียจะเป็นรูปกระสวย สีขาว กลีบเลี้ยง สีขาวอมเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม

           ทั้งนี้ โดยดอกคัดเค้า จะบานพร้อมกันทั้งช่อ โดยเมื่อแรกบานจะเป็นสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแกมเหลือง และกลิ่นหอมแรงในตอนกลางคืน ผล ออกเป็นพวงลักษณะกลมรึสีเขียว มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ปลายผลแหลม เมื่อผลแก่จะเป็นสีดำ ภายในแต่ละผลมีเมล็ดหลายเมล็ด

คัดเค้า

คัดเค้า

การขยายพันธุ์คัดเค้า

คัดเค้า สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด, การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมที่สุด คือ การเพาะเมล็ดเพราะงอกได้ง่าย และต้นกล้าที่ได้จะมีความแข็งแรง และเจริญเติบโตได้เร็วกว่าวิธีอื่น สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดคัดเค้านั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดพืชชนิดอื่นๆ ส่วนวิธีการปลูกนั้นสามารถทำได้โดยนำต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ดมาปลูกลงดิน โดยให้ขุดหลุมกว้างลึกประมาณ 1x1 ฟุต แล้ววางต้นกล้าพร้อมกับดินที่ใช้เพาะต้นกล้าทั้งหมดลงหลุมปลูก แล้วกลบดินปากหลุมให้แน่น รดน้ำ
พอชุ่มประมาณ 1 สัปดาห์ ต้นกล้าก็จะสามารถเจริญเติบโตได้ต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของคัดเค้า พบว่ามีสารต่างๆ หลายชนิดได้แก่ β-sitosterol, D-Mannitol, campesterol, 3 β-Acetyl oleanolic acid, 3-O-a-L-Arabinopyranosyl oleanolic acid, Mesembryanthe moidigenic acid หรือ 3b-29-dihydroxy-olean-12-enl-28-oic acid, urolic acid, Pseudoginsenoside-RP, 3-O-hydroxy ursolic acid, β-acetyloleanolic acid, pseudoginsenoside-RP1 (3-O-B-Gl CUA-(2-1)-B-Xyl of oleanolic acid, siamenoside (3-O-B-Gl cUA-(2-1)-B-Xyl-(2-1)- Rha of glucosyl oleanolate, pseudoginsenoside-RT1 (3-O-B-GlcUA-(2-1)-B-Xylof glucosy olearolate)

โครงสร้างคัดเค้า

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของคัดเค้า

            ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของคัดเค้าในการต้านการอักเสบโดยวิธี Carrageenan foot edema test ในหนู พบว่าสารสกัดหยาบด้วยน้ำขนาด 5, 10 และ 50 mg/kg สามารถยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูได้ 20.45%  36.36% และ 59.09%

            ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาพบว่า น้ำสกัดจากคัดเค้า มีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม ที่เกิดจากการใช้คาร์บาคอล และพบว่า ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมเป็นแบบ dose-reiated และฤทธิ์ดังกล่าวไม่ผ่านการกระตุ้นตัวรับอะดรีเนอร์จิกชนิดเบต้า เนื่องจากโพรพราโนลอล ไม่สามารถต้านผลการคลายตัวที่เกิดจากน้ำสกัดจากคัดเค้าได้

           และยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่าคัดเค้ามีฤทธิ์บีบตัวของมดลูกอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าสาร Pseudoginsenoside-RP ที่พบในคัดเค้ามีฤทธิ์ลดความดันเลือด และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ รวมถึงเพิ่มความแรงในการหดตัวได้เองของมดลูกได้อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของคัดเค้า

มีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของคัดเค้าระบุว่า จากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดรากด้วยเอธานอลและน้ำ (1:1) ขนาด 10 ก./กก. โดยให้ทางกระเพาะอาหาร หรือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังไม่พบความเป็นพิษแต่อย่างใด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เนื่องจากหลายๆส่วนของคัดเค้า มีสรรพคุณ ฟอกโลหิต ช่วยขับประจำเดือน ดังนั้นสตรีมีครรภ์จึงไม่ควรใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพร
  2. ในการใช้คัดเค้าเป็นสมุนไพร ในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้คัดเค้า เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง คัดเค้า
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์ “คัดเค้า (Khut Khao)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 77.
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด ไม้เทศเมืองไทย กรุงเทพฯ การพิมพ์ชัยวัฒน์. 2515. 148
  3. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542-กรุงเทพ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น. 2546.1, 488 หน้า (239)
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “คัดเค้า”.หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 177.
  5. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “คัดเค้าเครือ”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 99.
  6. เดชา ศิริภัทร. คัดเค้า:ความหอมอย่างไทย จากป่าไทย.คอลัมน์ ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 319. พฤศจิกายน 2548
  7. สุภาภรณ์ ประเศรษโฐ, มาลินี วงศ์นาวา. ผลของน้ำสกัดจากคัดเค้าต่อกล้ามเนื้อเรียบหลอดลมหนูตะเภา. โครงการวิจัย.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตหาดใหญ่
  8. คัดเค้า.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=21
  9. คัดเค้า . กลุ่มยาขับประจำเดือน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plonts_data/herbs_26_2_.htm.