มะเขือเปราะ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะเขือเปราะ งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะเขือเปราะ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเขือเสวย (ภาคกลาง), มะเขือผ่อย, มะเขือคางกบ, มะเขือจาน, มะเขือเดือนแจ้ง, มะเขือขันคำ (ภาคเหนือ), มะเขือหืน, มะเขือเผาะ (ภาคอีสาน), เขือหิน (ภาคใต้), มังคอเก่ (กะเหรี่ยง), หมากเขือขอบ (ไทยใหญ่), หวงซุ่ยเซี่ย, หวงกั่วเซี่ย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum virginianum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum xanthocarpum Schrad. & H. Wendl.
ชื่อสามัญ Thai Eggplant
วงศ์ SOLANACEAE
 

ถิ่นกำเนิดมะเขือเปราะ 

มะเขือเปราะเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศอินเดียโดยในอินเดียจะเรียกว่า Kantakari แล้วในระยะแรกมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนใกล้เคียง เช่นใน บังคลาเทศ เนปาล พม่า ไทย จีน ลาว มาเลเซีย เป็นต้น แล้วจึงมีการนำไปเพาะปลูกยังทวีปต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบัน สำหรับในประเทศไทยสามารถพบมะเขือเปราะ ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ ยังเป็นพืชที่จัดอยู่ในตระกูลผักของไทย และยังเป็นที่นิยมในการบริโภคอย่างกว้างขวางอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณมะเขือเปราะ

  1. ช่วยบำรุงหัวใจ
  2. ช่วยลดไข้
  3. ช่วยลดความดันโลหิต
  4. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
  5. ช่วยขับพยาธิ
  6. ช่วยลดการอักเสบ
  7. ช่วยบรรเทาอาการไอ
  8. ช่วยลดอาการคันคอ
  9. แก้อาการร้อนใน
  10. แก้หอบหืด
  11. แก้อักเสบในลำคอ
  12. ใช้ยาขับปัสสาวะ
  13. ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน
  14. ช่วยอาการเหงือกอักเสบบวม
  15. ช่วยห้ามเลือด
  16. รักษาแผล
  17. แก้ผดผื่นคัน
  18. ช่วยขับลม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ลดไข้ ขับลม บำรุงหัวใจ ลดความดันโลหิต ขับพยาธิ โดยการใช้ผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ผลสดประกอบอาหารรับประทาน หรือ ใช้เป็นเครื่องเคียงน้ำพริก หรือ ส้มตำรับประทาน เป็นอาหารในแต่ละมื้อก็ได้ ใช้ขับปัสสาวะ บรรเทาอาการไอ แก้อาการคันคอ ลดอาการอักเสบในลำคอ แก้หอบหืด โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่มใช้แก้อาการเหงือกบวมเหงือกอักเสบ ปวดฟัน โดยใช้รากสด 15 กรัม ต้มกับน้ำใช้บ้วนปาก หรือ เคี้ยวสดๆ ก็ได้ ใช้แก้อาการร้อนใน ขับปัสสาวะ โดยใช้ใบสดนำมาต้มน้ำดื่ม หรือ ใช้ใบสดมะเขือเปราะ ต้มกับน้ำอาบแก้ผดผื่นคันก็ได้ นอกจากนี้ใบสดยังสามารถนำมาตำ หรือ ขยำแล้วใช้พอกประคบบริเวณแผลก็จะช่วยห้ามเลือดและรักษาแผลได้


ลักษณะทั่วไปของมะเขือเปราะ

มะเขือเปราะ จัดเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งแขนงตั้งแต่ระดับต่ำเป็นทรงพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 20-100 เซนติเมตร ลำต้นเปลือกลำต้นบาง สีเขียว หรือ เขียวอมเทา ส่วนลำต้นที่ปลายกิ่งจะมีสีเขียวอ่อน เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อนมีสีขาว เปราะ และหักง่าย ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกันบนกิ่ง มีก้านใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีขนปกคลุมทั้งด้านล่าง และด้านบน ขอบใบเว้า โค้งเป็นลูกคลื่น งุ้มเข้าหากลางใบ ขนาดใบกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อออกบริเวณซอกใบ หรือ ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ขนาดเล็ก สีเขียว หุ้มห่อฐานดอกไว้ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบ และกลางกลีบเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีจงอยแหลมตรงกลางกลีบ แผ่นกลีบดอกย่น มีขนโดยดอกจะเป็นสีขาว หรือ สีม่วงแล้วแต่สายพันธุ์ มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ทรงกระบอก สีเหลือง และเกสรเพศเมีย มีก้านเกสร 1 อัน สีเหลืองอมส้ม แทงยื่นยาวกว่าเกสรตัวผู้ ผลออกเป็นผลเดี่ยว แต่ละผลจะมีก้านผลที่พัฒนามาจากก้านดอก ยาว 3-5 เซนติเมตร ที่ขั้วผลหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงขนาดใหญ่ สีเขียว

           ลักษณะของผลจะเป็นทรงกลม หรือ เป็นรูปไข่ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และมีเปลือกผลเป็นมันหนา เรียบ เป็นมัน มีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น สีขาว สีเขียวอ่อน สีเขียวเข้ม หรือ มีลายปะสีขาวขนาดผลกว้าง 3-5 เซนติเมตร แล้วแต่สายพันธุ์ เนื้อในผลมีลักษณะเป็นเมือก มีรสขื่นเล็กน้อยหรือบางสายพันธุ์ไม่มีรสขื่นเลย และมีเมล็ดสีเหลือง หรือ น้ำตาล ข้างในมาก

มะเขือเปราะ

การขยายพันธุ์มะเขือเปราะ

มะเขือเปราะ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ทั้งแบบหยอดหลุม หว่านเมล็ด หรือ การเพาะกล้า ก็ได้แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน และมีอัตราการรอดสูง คือ การเพาะกล้า ซึ่งมีวิธีการดังนี้ เก็บเมล็ดจากผลสุก และเก็บรักษาในห่อผ้านาน 1-2 เดือน

           จากนั้นเตรียมแปลงเพาะขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามปริมาณที่ต้องการเพาะ และพรวนดิน กำจัดวัชพืชออก จากนั้นหว่านปุ๋ยคอกรองพื้น คลุกพรวนด้วยจอบแล้วนำเมล็ดหว่านลงแปลง พยายามให้ ใช้คราดเกลี่ยหน้าดินตื้นให้กลบเมล็ด และรดน้ำให้ชุ่ม ดูแลให้น้ำต่อเนื่องวันละ 1 ครั้ง ในช่วง 7 วันแรก จากนั้นลดเหลือ 2 วัน/ครั้ง เมื่ออายุกล้าได้ประมาณ 10-15 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลงส่วนวิธีการปลูกมะเขือเปราะ นั้นทำได้ดังนี้

           ไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช จากนั้น หว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก 1-2 ตัน/ไร่ แล้วไถพรวนแปลงอีกรอบ จากนั้นขุดหลุมปลูก ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร เรียงเป็นแถวๆ แล้วนำต้นกล้าลงปลูกให้ระยะห่างระหว่างต้น และแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร หลังจากปลูกรดน้ำให้ชุ่ม และควรให้น้ำทุกวันในช่วง 2 สัปดาห์แรกจากนั้น ลดเหลือ 2-3 ครั้ง/สัปดาห์

มะเขือเปราะ

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของมะเขือเปราะ พบว่าในผลพบสาร Solasonine, Solasodine, Solamargine, Solanine, Solacarpine, Diosgenin, Capresterol

            นอกจากนี้ผลมะเขือเปราะยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

  • พลังงาน 39 กิโลแครอรี่
  • ไขมัน 0.8 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 8.8 กรัม
  • โปรตีน 1.8 กรัม
  • เส้นใยอาหาร 2.5 กรัม
  • แคลเซียม 38 มิลลิกรัม      
  • ธาตุเหล็ก 1.2 มิลลิกรัม           
  • ฟอสฟอรัส 70 มิลลิกรัม  
  • วิตามินเอ 29 ไมโครกรัม  
  • วิตามินบี 1 และไทอะมีน 0.07 มิลลิกรัม 
  • วิตามินบี 2 และไรโบฟลาวิน 0.16 มิลลิกรัม          
  • วิตามินบี 3 และไนอะซีน 2.4 มิลลิกรัม    
  • วิตามินซี 3 มิลลิกรัม

โครงสร้างมะเขือเปราะ

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะเขือเปราะ

มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของมะเขือเปราะ ในต่างประเทศหลายฉบับ เช่น มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งของสาร พบว่า ทุกตัวมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งตับ และลำไส้ใหญ่ Solamargine, Solanine, Solasodine พบว่า ทุกตัวมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งตับและลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้มีผลงานวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่ามะเขือเปราะมีฤทธิ์ ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ลดคลอเรสเตอรอลในเลือด ลดความดันโลหิต และช่วยบำรุงหัวใจ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะเขือเปราะ

มีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร Solanine ที่พบในมะเขือเปราะ เมื่อสะสมไว้ในร่างกายจำนวนมาก และสะสมไว้หลายๆ วันจะไปรวมตัวกับไขมัน LDL (ไขมันชนิดไม่ดี) และจะไปเกาะตามบริเวณข้อต่อต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดตามข้อต่างๆ หรือ เป็นตะคริวได้

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์ไม่ควรบริโภคมะเขือเปราะมาก อาจส่งผลให้อาการทรุดลงได้
  2. ในการใช้มะเขือเปราะ เป็นยาสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้แต่พอดีตามที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้มะเขือเปราะเป็นสมุนไพรรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง มะเขือเปราะ
  1. ทวีทอง หงส์วิวัฒน์.(2547). สารานุกรมผัก.พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพฯ:แสงแดด
  2. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ. มะเขือเปราะ ลดน้ำตาลในเลือด. คอลัมน์บทความพิเศษ. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 351.กรกฎาคม. 2551.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. มะเขือขื่น. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย. จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า 430.
  4. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ ส่านักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. http://puechkaset.com/มะเขือเปราะ/
  5. รัตนา พรหมพิชัย.(2542).เขือ ข่า ใบ สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ (เล่ม 2, หน้า 866.) กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
  6. มะเขือเปราะ (Thai Eggplant) สรรพคุณ และการปลูกมะเขือเปราะ. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com