เสนียด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เสนียด งานวิจัยและสรรพคุณ 29 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร เสนียด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กุลาขาว, บัวฮาขาว, บัวลาขาว (ภาคเหนือ), กะเหนียด (ภาคใต้), โมรา, เสนียดโมรา (ภาคกลาง), โบราขาว (เชียงใหม่), หูหา, ฮูฮา (เลย), หูร่า (นครพนม), ชิตาโหระ (กะเหรี่ยง), จะลึ้ม (ปะหล่อง), จะเริมเผือก, จะเริมโหลง (ไทยใหญ่), เจี่ยกู่เฉ่า, ต้าปั๋วกู่ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Justicia adhatoda Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Justicia vasica Linn., Adhatoda vasica Nees
ชื่อสามัญ Malabar Nut Tree, Adhatoda, Vasica, Adulsa
วงศ์  ACANTHACEAE

ถิ่นกำเนิดเสนียด

เสนียดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่บริเวณ เอเชียใต้ ตามแนวเทือกเขาหิมาลัย จากนั้นจึงมีการกระจายพันธุ์ไปทั่วบริเวณใกล้เคียงใบปัจจุบันสามารถพบได้ในประเทศต่างๆ ในเขตร้อน เช่น อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงทางตอนใต้ จีน และปานามาอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยมักจะพบเสนียด มากตามป่าเต็งรังในภาคเหนือ และภาคอีสานมากกว่าภาคอื่นๆ

ประโยชน์และสรรพคุณเสนียด

  • ช่วยบำรุงปอด
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ไอ
  • ใช้เป็นยาฟอกเลือด
  • ช่วยกระจายเลือด
  • แก้ไข้
  • แก้ปวดบวม
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • แก้หอบหืด
  • บำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงน้ำนม
  • แก้ลม
  • แก้ปอดพิการ
  • ช่วยรักษาหลอดลมอักเสบ
  • แก้ผอมแห้ง
  • แก้อุจจาระเป็นเลือด
  • แก้คุดทะราด
  • ช่วยทำให้ผิวพรรณผ่องใส
  • ทำให้อาเจียน
  • ช่วยทำท้องเดิน
  • รักษาแผลในปาก
  • รักษาแผลในลำคอ
  • ช่วยป้องกันไข้จับสั่น
  • ช่วยป้องวัณโรค
  • แก้ไซนัส
  • รักษากระดูกหัก
  • ใช่เป็นยาฆ่าพยาธิในท้อง
  • แก้ลักปิดลักเปิด
  • ช่วยห้ามเลือด

           เสนียดถูกนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ เช่น ในอดีตชาวอีสาน และชาวเหนือนิยม นำมาปลูกไว้เพื่อเป็นไม้มงคลโดยเชื่อกันว่าจะช่วยปัดเป่าเสนียดจัญไรออกจากบ้านได้ และยังนำมาปลูกไว้เป็นแนวเขตหรือรั้วบ้าน รวมถึงบริเวณริมตลิ่ง ริมคลองเพื่อป้องกันน้ำกัดเซาะ ส่วนเนื้อไม้สามารถนำมาทำรั้วไม้ หรือ เครื่องใช้ต่างๆ ได้อีกด้วยส่วนในในอินเดีย ที่เรียกเสนียด ว่า วะสะกะ (Vasaka) ซึ่งจัดเป็นตัวยาในตำราอายุรเวท และใช้สมุนไพรตัวนี้มานับพันปี โดยใช้เป็นยารักษาระบบทางเดินหายใจ จนมีคำโบราณกล่าวว่าตราบใดที่ยังมีวะสะกะ (Vasaka) ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะทุกข์ทรมานด้วยโรคอันเนื่องจากปอด

เสนียด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • แก้ไอขับเสมหะโดย ใช้น้ำที่คั้นได้จากใบสด (ประมาณ 15 มิลลิลิตร) ผสมกับน้ำผึ้ง หรือ น้ำที่คั้นได้จากขิง สด เอาอย่างละเท่าๆ กินจิบกินแก้ไอ ครั้งละ 1-2 ช้อนชา ใช้เวลาไอ หรือ มีเสมหะมาก หรือ จะใช้ใบสด 1 กำมือ พริกไทย 10-20 เมล็ด ต้ม กับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือครึ่งถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 15 มิลลิลิตร 
  • แก้หอบหืด โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ จะใช้ใบเสนียดแห้งมวนเป็นบุหรี่สูบก็ได้
  • แก้ปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง ปวดเข่า และเคล็ดขัดยอก โดยใช้ทั้งต้น ต้มกับน้ำรับประทาน
  • แก้ปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว แก้กระดูกร้าว แก้ปวดบวม หรือ ปวดตามข้อ รวมถึงเหน็บชาอันเนื่องมาจากลมชื้น ให้ใช้ต้นเสนียดสด 60 กรัม, เถ้ากุเสียว 30 กรัม, เจ็กลั้ง 30 กรัม, เจตพังคี 20 กรัม และหญ้าผีเสื้อบิน 20 กรัม นำมารวมกันแล้วคั่วกับเหล้าให้ร้อน ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่เป็น 

           ส่วนในตำรายาพื้นบ้านจะใช้เสนียดรักษาอาการต่างๆ ดังนี้

  • ยาแก้ไข้เด็กน้อย ใช้ใบคนทีสอ และเสนียด ต้มกิน ต้มอาบน้ำด้วยก็ได้
  • แก้ไอ ใช้ใบเสนียด และรากกะเม็ง ต้มเคี่ยวกิน หรือ ใช้ใบเสนียดแห้งบดเป็นผงปั้นกับน้ำผึ้งเป็นยาลูกกลอนกินก็ได้
  • แก้ไซนัส มวนใบเสนียดสูบโดยฝานตากแห้งแล้วเอามาสูบ สูบทางจมูกก็ได้ สูบทางปากก็ได้
  • แก้ตาเจ็บตาแดง ใช้ใบเสนียด มานวดแล้วใส่น้ำร้อน เอาไอน้ำรมตา
  • แก้อักเสบช้ำบวมตำใบประคบ


ลักษณะทั่วไปของเสนียด

เสนียด จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงของต้นประมาณ 1.5-5 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบๆ ต้นโดยมักจะเป็นแบบเป็นพุ่มทึบ ยอดกิ่งมีขนขึ้นเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวที่ค่อนข้างใหญ่มักจะออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือ เป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมสอบ หรือ เรียวมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 9-16 เซนติเมตร พื้นใบเป็นสีเขียว มีขนอ่อนๆ ปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อ จะออกตามง่ามใบที่ใกล้กับปลายยอด โดยช่อดอกจะรวมกันเป็นแท่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับสีเขียวหุ้มดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ดอกย่อยของเสนียด กลีบดอกเป็นสีเขียว ดอกย่อยมีกลีบยาวประมาณ 1.2-1.4 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว มีเส้นสีม่วง ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายปากแยกแบ่งเป็นกลีบล่าง และกลีบบน มี 2 กลีบ ส่วนบนมีรอยแยก 2 แฉกสีขาว ส่วนล่างมีรอยแยกเป็นแฉก 3 แฉก สีขาวปะม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยื่นออกมา ก้านเกสรเพศเมียจะสั้นกว่า เกสรเพศผู้เป็นเส้นกลมยาว ที่ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก ผลเป็นฝัก ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร และมีขนภายในพบเมล็ด 4 เมล็ด

การขยายพันธุ์เสนียด

เสนียดสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการใช้กิ่งแก่ปักชำ สำหรับวิธีการปลูก และขยายพันธุ์ นั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปักชำ ไม้ยืนต้น หรือ ไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ดังที่กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เสนียด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ต้องการความชุ่มชื้นของดินปานกลาง ไม่ชอบแล้งจัด หรือ น้ำท่วมขัง และยังชอบดินที่ร่วนซุยเป็นพิเศษอีกด้วย

เสนียด

องค์ประกอบทางเคมีเสนียด

มีการศึกษาวิจัยพบว่าในส่วนต่างๆ ของเสนียด พบสารกลุ่ม Alkaloids, Tannins, Saponins, Flavonoids และ Phenolics เช่น รากเสนียด พบสาร Vasicinol ใบพบสาร vasicine, vasicinone และ vasakin ส่วนดอกพบสาร Adhatodine, Anisoine, Betaine, Vasicinine, Vasicine และ Vasicinone เป็นต้น

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเสนียด
โครงสร้างเสนียด   

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเสนียด

ฤทธิ์แก้ไอ เมื่อให้สารสกัดเอทานอล (80%) จากใบ และดอกเปรียบเทียบกับยา codeine ทางปากหนูตะเภาที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดความระคายเคืองจากละออง 5% citric acid, 2.8% NH4OH และ 0.5 N H2SO4 พบว่าทั้งสารสกัดและยา codeine สามารถยับยั้งอาการไอได้สูงสุดเพียง 75% ขนาดของสารสกัดที่สามารถระงับอาการไอได้ 50% (ED50) เมื่อได้รับละอองที่กระตุ้นให้เกิดอาการไอดังกล่าว เท่ากับ 75.6, 200 และ 125.8 มก./กก. ตามลำดับ เมื่อฉีดสารสกัดเอทานอล (80%) จากใบ และดอก ขนาด 5, 10 และ 20 มก./กก. เข้าหลอดเลือดดำกระต่ายที่ถูกทำให้ไอโดยการไปกระตุ้นผนังของหลอดลม trachea ด้วย polyethylene catheter พบว่าสารสกัดสามารถลดอาการไอได้ สารสกัดขนาด 5 มก./กก. จะลดอาการไอได้น้อยที่สุด และสารสกัดขนาด 20 มก./กก. จะลดอาการไอได้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบผลกับยา codeine สารสกัดดังกล่าวจะมีฤทธิ์เป็น 1 ใน 10 เท่าของ codeine เมื่อฉีดสารสกัดเอทานอล (80%) จากใบ และดอกเข้าหลอดเลือดดำหนูตะเภาที่ถูกกระตุ้นให้ไอโดยใช้ไฟฟ้าไปกระตุ้นที่เส้นประสาท vagus พบว่าสามารถยับยั้งอาการไอได้ ค่า ED50 ของสารสกัดหลังจากได้รับสารสกัด 5 นาที เท่ากับ 15.5 มก./กก. ในขณะที่ ED50 ของยา codeine เท่ากับ 0.8 มก./กก. ดังนั้นสารสกัดจึงมีฤทธิ์เป็น 1/15-1/20 เท่าของ codeine เมื่อให้สารสกัดเอทานอล (80%) จากใบ และดอกทางปากหนูตะเภาที่ถูกกระตุ้นให้ไอโดยการใช้ไฟฟ้าไปกระตุ้นที่ mucosa ของหลอดลม ค่า ED50 ของสารสกัดเท่ากับ 35.8 มก./กก. ขณะที่ ED50 ของยา codeine เท่ากับ 8.8 มก./กก. ดังนั้นสารสกัดจึงมีฤทธิ์เป็น 1/4 เท่าของยา codeine

           การทดลองทางคลินิกแบบ double blind study ในผู้ป่วยที่มีอาการไอที่คาดว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหลอดลมอักเสบ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มทดลอง 26 คน รับประทานยาปฏิชีวนะ และยาน้ำแก้ไอสมุนไพร (ประกอบด้วยกะเพรา ชะเอม ขิง ขมิ้น มะแว้งต้น เสนียด โกฐกระดูก พริกหาง สมอพิเภก ว่านหางจระเข้ และเมนทอล) กลุ่มควบคุม 26 คน รับประทานยาปฏิชีวนะ และยาหลอก ขนาดของยาที่รับประทานทั้งสองกลุ่ม ครั้งละ 2 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง ผลการทดลองพบว่าในวันที่ 8 ของการทดลอง กลุ่มที่รับประทานยาแก้ไอสมุนไพร อาการไอจะหายไปร้อยละ 46.15 อาการไอลดลงมากกว่า 75% ร้อยละ 38.46  อาการไอลดลง 25-75% ร้อยละ 15.38 ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีผู้ป่วยคนใดหายจากอาการไอ ส่วนใหญ่อาการจะลดลง 25-75% ร้อยละ 69.23 ผู้ป่วยที่รับประทานยาแก้ไอสมุนไพรจะมีอาการไอเวลากลางคืนน้อยกว่ากลุ่มควบคุม และเสมหะที่เกิดจากการไอในกลุ่มที่รับประทานยาแก้ไอสมุนไพร เหลือเพียง 14 คนเท่านั้น (คิดเป็น 53.85%) ส่วนผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมทุกคนยังคงมีเสมหะอยู่

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย สารสกัด 95% เอทิลอัลกอฮอล์จากใบ ความเข้มข้น 200 มก./มล. ต้านเชื้อแบคทีเรีย b-Streptococcus group A แต่ไม่มีผลต้านเชื้อ Staphylococcus aureus, Klebsiella pneumoniae และ Pseudomonas aeruginosa สารสกัดเมทานอล ส่วนสกัดที่เป็นอัลคาลอยด์ และส่วนสกัดที่ไม่ใช่อัลคาลอยด์จากใบ ไม่ระบุความเข้มข้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย S. aureus ส่วนสกัดที่เป็นอัลคาลอยด์ จะมีฤทธิ์ต้านเชื้อ P. aeruginosaอย่างแรง ค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่มีฤทธิ์ในการยับยั้ง P. aeruginosa เท่ากับ 164 มค.ก./มล. ส่วนสารสกัดจากใบและรากด้วยเฮก-เซน น้ำ และอัลกอฮอล์ ความเข้มข้น 0.2 ก./มล. ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อ P. aeruginosa และ S. aureus

           ฤทธิ์ลดการอักเสบ เมื่อทาสารสกัดเอทานอล:น้ำ (50%) จากเปลือก ขนาด 0.5 มก./หู และ 30 มคล. ที่หูหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้หูบวมอักเสบด้วย arachinidic acid และ oxazolone ตามลำดับ พบว่ามีฤทธิ์ลดการอักเสบของหูหนูอย่างอ่อน แต่เมื่อให้สารสกัดขนาด 1 มก./หู จะสามารถลดการอักเสบของหูหนูถีบจักรที่ถูกเหนี่ยวนำให้อักเสบด้วย 12-O-tetradecanoylphorbol-13-acetate (TPA) และเมื่อทำการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบด้วย modified hen’s egg chorioallantoic membrane พบว่า อัลคาลอยด์แฟรคชั่น ซาโปนินแฟรคชั่น แฟรคชั่นที่ไม่ไช่อัลคาลอยด์ และสารสกัดเมทานอลขนาด 15, 15, 25 และ 25 มคก./ไข่ ตามลำดับ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และอัลคาลอยด์แฟรคชั่น ในขนาด 50 มคก./pellet จะมีฤทธิ์ลดการอักเสบเท่ากับ hydrocortisone ให้หนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าบวมด้วย carrageenan กินสารสกัดน้ำจากสมุนไพรตำรับ Maharasnadhi Quathar (MRQ) (ประกอบด้วยสมุนไพร 26 ชนิด ซึ่งมีเสนียด ด้วย 1.6 ก.) ขนาด 250, 500 และ 750 มก./กก. พบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถลดการอักเสบได้ ในขนาด 750 มก./กก. จะให้ผลลดการอักเสบคล้ายกับยา indomethacin และทดลองให้ผู้ป่วยไขข้ออักเสบ จำนวน 45 คน รับประทานยา MRQ ขนาด 1/2 ชช. ผสมน้ำผึ้งเล็กน้อย วันละ 2 ครั้ง นาน 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้ยา MRQ จะมีอาการปวด บวม ข้อแข็งและเคลื่อนไหวลำบากลดลง และยานี้ไม่มีผลต่อกระเพาะอาหารและตับ

           ฤทธิ์ต้านการแพ้ สารสกัดเมทานอลจากทั้งต้น ขนาด 6 มก./ตัว ให้หนูตะเภาที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย ovalbumin และถูกเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาที่หลอดลม สูดดมพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการแพ้ได้ 77 และ 43% ตามลำดับ เมื่อให้สารสกัดเมทานอลจากทั้งต้นทางปาก ขนาด 2.5 ก./กก. แก่หนูตะเภาที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย ovalbumin และถูกเหนี่ยวนำให้เกิดปฏิกิริยาที่หลอดลม มีฤทธิ์ยับยั้งการแพ้ได้ 75 และ 40% ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของเสนียด

การทดสอบความเป็นพิษ ไม่พบพิษในคนที่กินสารสกัดเหลวจากใบในขนาด 20 มล./คน ไม่พบพิษในหนูถีบจักรที่ได้รับสารสกัดเอทานอล และน้ำ (1:1) จากใบทางสายยางให้อาหารหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ขนาด 10 ก./กก. ไม่พบพิษ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอาการทางระบบประสาทในหนูขาวเพศผู้ที่กินสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada (ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด รวมทั้งเสนียดด้วย) ขนาด 100, 200, 400, 800 และ 1,600 มก./กก. และเมื่อให้สาร vasicine จากเสนียด แก่หนูขาว และลิง นาน 6 เดือน (ไม่ระบุขนาดและวิธีการใช้) ผลปรากฏว่าไม่พบพิษ 

           ทำให้เป็นหมัน เมื่อให้สารสกัดปิโตรเลียมอีเทอร์ สารสกัดอัลกอฮอล์ และสารสกัดน้ำจากใบ ทางปากหนูถีบจักรเพศเมียก่อนผสมพันธุ์ 7 วัน และ 14 วัน ระหว่างการผสมพันธุ์ พบว่าไม่มีผลทำให้หนูเป็นหมัน 

           ต้านการฝังตัว สารสกัดเอทานอลจากใบ (ไม่ระบุขนาด และวิธีที่ใช้) สามารถต้านการฝังตัวของตัวอ่อนหนูขาวเพศเมียได้ 60-70%

           ทำให้แท้ง สาร vasicine จากเสนียดมีฤทธิ์ทำให้หนูตะเภาแท้ง โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการตั้งท้อง และก่อนเกิด estradiol priming แต่ไม่มีฤทธิ์ทำให้หนูขาวแท้ง ผลการทำให้แท้งคล้ายกับผลการทำให้มดลูกบีบตัวของ estrogen ซึ่งจะไปเพิ่มการสังเคราะห์ prostaglandin vasicine มีผลเพิ่มการบีบตัวของมดลูก ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายกับ oxytocin และ methyl ergometrine

           มีการศึกษาวิจัยพบว่า เมื่อให้สารสกัดน้ำจากใบ ขนาด 175 มก./กก. ทางปากหนูขาวที่ตั้งท้อง 10 วัน พบว่าทำให้หนูแท้ง 100% แต่เมื่อให้สารสกัดจากใบ (ไม่ระบุตัวทำละลาย) ขนาด 325 มก./กก./วัน ทางสายยางให้อาหารแก่หนูขาวที่ตั้งท้องระหว่างวันที่ 1-9 รวมถึงเมื่อให้ใบเสนียด ละลายในน้ำ 0.25 และ 2.5 % แก่หนูขาวที่ตั้งท้องระหว่างวันที่ 1-9 พบว่าไม่ทำให้แท้ง ได้มีการศึกษาในผู้ป่วยหลังคลอดปกติ ในวันที่ 2-8 ในโรงพยาบาล โดยได้รับ vasicine ขนาด 16 มก. พบว่าผู้ป่วยทนต่อสารได้ดี ไม่มีผลข้างเคียง มดลูกบีบตัวดี 

           พิษต่อเซลล์ สารสกัดเอทานอลและน้ำ (1:1) จากใบ ไม่เป็นพิษต่อเซลล์เพาะเลี้ยง CA-9KB โดยขนาดของสารสกัดที่ทำให้เป็นพิษต่อเซลล์ 50% มากกว่า 20มคก./มล.

           พิษต่อหัวใจ เมื่อให้สารสกัดเอทานอล และน้ำ (1:1) จากใบ (ไม่ระบุขนาด) ทางหลอดเลือดดำสุนัข ไม่พบพิษต่อหัวใจ แต่ในกบที่ได้รับสมุนไพรตำรับ Antiasthma Kada (ไม่ระบุวิธีใช้) ขนาด 2.5 และ 25 มก. พบว่ากดหัวใจ และลดแรงบีบตัวของหัวใจ

ข้อแนะนำและข้อควรวัง

  1. มีรายงานการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองว่าสารสกัดจากเสนียด มีฤทธิ์ทำให้สัตว์ทดลองแท้งได้
  2. มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารออกฤทธิ์บางตัว เสนียดจะมีฤทธิ์ลดอาการระคายเคืองของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินมากเกินขนาดจะทำให้อาเจียน และมีอาการท้องเดินได้
  3. ในการใช้เสนียด เพื่อเป็นสมุนไพรบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับ และตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป และไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสนียดช่วยบำบัดรักษาโรคเสมอ

เอกสารอ้างอิง เสนียด
  1. หนังสือสมุนไพร สวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “เสนียด”. หน้า 37.
  2. เสนียด. สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยเอดส์. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เสนียด”. หน้า 558.
  4. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “เสนียด (Sa Niat)”. หน้า 306.
  5. พระ:หมอโบราณ.คอลัมน์ การรักษาพื้นบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 5. กันยายน. 2522
  6. อารีรัตน์ ลออปักษา สุรัตนา อำนวยผล วิเชียร จงบุญประเสริฐ. การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1). ไทยเภสัชสาร 2531;13(1):23-36.
  7. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “เสนียด ”. หน้า 787-789.
  8. Muller A, Antus S, Bittinger M, et al.  Chemistry and pharmacology of antiasthmatic plants Galphima glauca, Adhatoda vasica, and Picrorhiza kurrooa.  Planta Med 1993;59(7):A586-7.
  9. Chopra RN, Ghosh S.  Some observations on the pharmacological action and therapeutic properties of Adhatoda vasica (Basak).  Indian J Med Res 1925;13:205.
  10. Mokasmit M, Ngarmwathana W, Sawasdimongkol K, Permphiphat U.  Pharmacological evaluation of Thai medicinal plants. (Continued).  J Med Ass Thailand 1971;54(7):490-504.
  11. Dhar ML, Dhar MM, Dhawan BN, Mehrotra BN, Ray C.  Sereening of Indian plants for biological activity: part I.  Indian J Exp Biol 1968;6:232-47.
  12. Jayaram S, Walwaikar PP, Rajadhyaksha SS.  Double blind trial of a herbal cough syrup in patients with acute cough.  Indian Drugs 1994;31(6);239-41.
  13. Ahmad I, Mehmood Z, Mohammad F.  Screening of some Indian medicinal plants for their antimicrobial properties. J Ethnopharmacol 1998;62:183-93.
  14. Bhaduri B, Ghose CR, Bose AN, Moza BK, Basu UP.  Antifertility activity of some medicinal plants.  Indian J Exp Biol 1968;6:252-3.
  15. Nath D, Sethi N, Singh RK, Jain AK.  Commonly used Indian abortifacient plants with special reference to their teratologic effects in rats.  J Ethnopharmacol 1992;36:147-54.
  16. Ira Thabrew M, Dharmasiri MG, Senaratne.  Anti-inflammatory and analgesic activity in the polyherbal formulation Maharasnadhi Quathar.  J Ethnopharmacol 2003;85:261-7.
  17. Gupta OP, Sharma ML, Ray Ghatak BJ, Atal CK.  Potent uterine activity of alkaloid vasicine.  Indian J Med Res 1977;66(5):865-71.
  18. Mokkhasmit M, Swatdimongkol K, Satrawaha P.  Study on toxicity of Thai medicinal plants.  Bull Dept Med Sci 1971;12(2/4):36-65.
  19.  Dhuley JN.  Antitussive effect of Adhatoda vasica extract on mechanical or chemical stimulation-induced coughing in animals.  J Ethnopharmacol 1999;67:361-5.
  20. Prakash AO, Saxena V, Shukla S, et al.   Anti-implantation activity of some indigenous plants in rats.  Acta Eur Fertil 1985;16(6):441-8.
  21. Burgos R, Forcelledo M, Wagner H, Muller A, Hancke J, Wikman G, Croxatto H.  Non-abortive effect of Adhatoda vasica Spissum leaf extract by oral administration  in rats.  Phytomedicine 1997;4(2):145-9.
  22. Brantner AH, Chakraborty A.  In vitro antibacterial activity of alkaloids isolated from Adhatoda vasica Nees.  Pharm Pharmacol Lett 1998;8(3):137-9.
  23. Wakhloo, Girja Kaul RL, Gupta OP, Atal CK.  Safety of vasicine hydrochloride in human volunteers.  Indian J Pharmacol 1980;12(2):129-32.
  24. Pahwa GS, Zushi U Atal CK.  Chronic toxicity studies with vasicine from Adhatoda vasica Nees. in rats and monkeys.  Indian J Exp Biol 1987;25(7);467-70.
  25. Cuellar MI, Giner RM, Recio MC, Just MJ, Manez S, Cerd AS, Rios JL.  Screening of antiinflammatory medicinal plants used in traditional medicine against skin diseases.  Phytother Res 1998;12(1):18-