หญ้าขัด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หญ้าขัด งานวิจัยและสรรพคุณ 43 ข้อ

           ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักชนิดของหญ้าขัดกันก่อนว่า หญ้าขัดมีทั้งหมด 4 ชนิด คือ หญ้าขัดหลวง (Sida subcordata Span.) หญ้าขัดใบป้อม (Sida cordifolia L) หญ้าขัดใบมน (Sida rhombifolia L) และหญ้าขัดใบยาว (Sida acuta Burm.f.) ซึ่งเป็นหญ้าขัดชนิดที่มีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรมากกว่าชนิดอื่น และ เป็นหญ้าขัดชนิดที่เราจะกล่าวถึงในบทความนี้

ชื่อสมุนไพร หญ้าขัด, หญ้าขัดใบยาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หญ้าขัดมอน, ขัดมอญ, ดัดมอน, หญ้าข้อ (ภาคเหนือ), ยุงกวาด, ยุงปัด (ภาคกลาง), ลำมะเท็ง (ชลบุรี), ราโพธิ์ (ปัตตานี), นาคุ้ยหมี่, เนาะคุ้ยหมี่, เนาะเด๊ะ (กะเหรี่ยง), หนานช่าง (ม้ง), อึ๋งฮวยอิ๋ว, อวกตักซั่ว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sida acuta Burm F.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sida carpini folia L.f. Malvastrum carpinifolium (L.f.)A.Gray
ชื่อสามัญ Broom weed, Snake's tongue, Two-beaked, prickly Sida, Southern sida, Wire weed
วงศ์ Malvaceae

ถิ่นกำเนิดหญ้าขัด    

หญ้าขัดพบทั่วไปตามพื้นที่โล่งแจ้ง มีร่มเงาเล็กน้อย สภาพอากาศแห้งแล้ง ดินปนทราย และพบมากในป่าประเทศอินเดีย ส่วนประเทศไทยพบหญ้าขัด ได้ในป่าเขตร้อนของประเทศไทย

ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าขัด 

  • ใช้ดับร้อน
  • แก้พิษ
  • แก้บวม
  • ช่วยสมานเนื้อ
  • แก้หวัด
  • แก้เต้านมอักเสบ
  • แก้บิดลำไส้อักเสก
  • ช่วยบรรเทาอาการหกล้มกระดูกหัก
  • แก้แผลบวมเป็นพิษ
  • ใช่ห้ามเลือด 
  • ใช่บำรุงเหงือก
  • ใช่บำรุงฟัน
  • ช่วยลดไข้
  • ช่วยรักษาโลหิตเป็นพิษ
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  • แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน
  • แก้ร้อนใน
  • รักษาโรคกระเพาะ
  • ช่วยขับเลือด
  • ช่วยขับเหงื่อ
  • ช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือน
  • ช่วยรักษาอาการปวดมดลูก
  • ช่วยรักษางูกัด
  • แก้ไข้
  • แก้ปวด
  • แก้อาการอ่อนเพลีย
  • แก้ขัดเบา (กระเพาะปัสสาวะอักเสบ)
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้อาการสะอึก
  • รักษาโรคปอด
  • แก้ปวดท้อง
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ใช่ถ่ายพยาธิ 
  • แก้ปวดหัว
  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • แก้ผื่นพิษ
  • แก้แผล เรื้อรัง แผลสด
  • แก้อักเสบ
  • แก้บิดมูกบิดเลือด
  • แก้ลมขึ้นเบื้องสูงปวดหัว
  • แก้อาเจียน
  • รักษาแผลสด

            มีการนำหญ้าขัด ใบยาวมาใช้ทำประโยชน์ด้านต่างๆ ดังนี้ มีการนำหญ้าขัดใบยาวมาใช้ในการขัดผิว โดยใช้หญ้าขัดใบยาว 40 กรัม, ขมิ้นชัน 120 กรัม, ไพล 100 กรัม, เหงือกปลาหมอ 60 กรัม และดินสอพอง 80 กรัม นำมาทั้งบดมาบดให้เป็นผงแล้วผสมให้เข้ากัน แล้วนำผงที่ได้ใส่น้ำลงไปไม่ให้เหลว หรือ แห้งจนเกินไป แล้วนำมาขัดผิวหน้าเบาๆ เสร็จแล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วและให้ทาน้ำผึ้ง หรือ โลชั่นตาม นอกจากนี้กิ่ง และลำต้นนำไปตากแห้งให้ใบหลุดร่วงให้หมดแล้วเอามามัดรวมกัน 3-4 ต้น ใช้ทำเป็นไม้กวาดตามลานบ้านได้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

แก้ไข้ แก้หวัด แก้ปวดหัว ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ รักษาโรคกระเพาะ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยขับเหงื่อ แก้ท้องเสีย แก้โลหิตเป็นพิษ ใช้ลำต้น และรากหญ้าขัดใบยาวพอประมาณ (15-30 กรัม) ต้มกินน้ำ 

           ใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร เป็นยาเย็น ฝาดสมาน บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ และแก้ไข้ ใช้ในโรคประสาท อาการไข้ผิดปกติต่างๆ โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ โรคเรื้อรังเกี่ยวกับท้อง และแก้อ่อนเพลีย โดยใช้รากต้นนี้ผสมกับขิงต้มน้ำดื่มวันละ 2 ครั้งๆ ละขนาด 1 ถ้วยชาเล็กๆ

           ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย โดยใช้รากนำมาแช่กับน้ำดื่มรวมกับหญ้าปากควาย เปลือกมะกอก และตะไคร้ อีกวิธีให้ใช้รากผสมกับขิง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา วันละ 2 ครั้ง 

           แก้อาการอาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ แก้ปวดท้อง โดยใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่ม

           แก้อาการปัสสาวะไม่ออก ท้องผูก ขับเสมหะ แก้อาเจียน ขับเหงื่อ โดยใช้รากต้มกับน้ำดื่มเป็นยา

           ช่วยบรรเทาอาการปวดฟัน โดยใช้ลำต้นนำมาต้มในน้ำ แล้วเอาน้ำที่ได้มาอม

           ใบอังไฟพอสุก ทาน้ำมันเอามาปิดฝี ทำให้ฝีหัวแก่เร็วขึ้น (กลัดหนองเร็วขึ้น)

           ส่วนวิธีการใช้หญ้าขัดใบยาวในตำรายาจีน คือ แก้เต้านมอักเสบ โดยใช้ต้นแห้งร่วมกับ โพกงเอ็ง (Tara xacum mongolicum Hand-Mazz) ต้มน้ำกิน และใช้ทาภายนอก อีกทั้งให้ใช้ต้นแห้งร่วมกับหัวผักกาดขาว สดน้ำตาลแดง ตำพอกภายนอกอีกครั้ง

            แก้หวัดลมร้อน ใช้หญ้าขัด ใบยาว เถาสายนํ้าผึ้ง อย่างละ 1 ตำลึง ต้มใส่นํ้าตาลแดงดื่ม

            แก้บิดมูกบิดเลือด ใช้หญ้าขัดใบยาว หรือ หัวของมัน 1 ตำลึง ต้มน้ำ ผสมน้ำผึ้ง หรือผสมน้ำตาลแดง รับประทาน

            แก้ลมลงท้อง หญ้าขัดใบยาว 1 ตำลึง ต้มน้ำ ใส่น้ำตาลแดงดื่ม

           แก้ลมขึ้นเบื้องสูงปวดหัว ใช้หญ้าขัดใบยาวครึ่งตำลึง ต้มเนื้อสันหมูรับประทาน

           รักษาแผลเรื้อรัง ใช้ใบหญ้าขัด ใบยาวตำใส่น้ำผึ้ง หรือ ไข่ขาว ใช้พอก

           รักษาผิวหนังผื่นพิษบวมเจ็บ ใช้หญ้าขัดใบยาวตำแหลก แล้วพอก

           รักษาแผลสด ใบหญ้าขัดใบยาว ตำแหลกผสมเหล้านิดหน่อย พอกเนื้อเก่าจะยุ่ย เนื้อใหม่จะงอก


ลักษณะทั่วไปของหญ้าขัด

หญ้าขัด ใบยาว จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีระบบรากแก้วแข็งแรง มีการแต่กิ่งก้านมาก ทรงพุ่มสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร ลำต้นมีเนื้อไม้แข็ง และเปลือกต้นมีเส้นใยเหนียว ใบเป็นใบเดี่ยวออกตามข้อของลำต้น และกิ่งแบบสลับ ใบรูปหอบ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นแบบจักฟันเลื่อย ใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กว้าง 0.5-1.5 เซนติเมตร หลังใบสีเขียว ท้องใบสีเขียวอ่อนมีหูใบ 1 คู่ ก้านใบสั้น ดอก ออกจากซอกข้างใบ อาจออกเป็นดอกเดี่ยว หรือ มีหลายดอกเกิดที่เดียวกัน มีก้านดอก มีกลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 5 กลีบ แต่ละกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยมแหลมสั้นสีเขียว กลีบดอกมี 5 กลีบ ติดกันที่โคนมีสีเหลือง ใหญ่กว่ากลีบเลี้ยงประมาณ 2 เท่า มีเกสรตัวผู้อยู่มาก มีก้านเมื่อดอกบาน จะกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร โดยแต่ละดอกจะมีเกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่มีผนังกั้นแยกเป็น 5-9 ห้อง อยู่ในกลีบเลี้ยง ผลเมื่อแก่จะมีลักษณะเป็นรูปทรงจานกลมแบน และมีรอยแยก ผล แบบแห้งแตก ลักษณะของผลค่อนข้างกลม ประกอบด้วยซีกประมาณ 5-9 ซีก มีความยาวประมาณ 3.5 มิลลิเมตร ในแต่ละซีกที่ปลายจะมีหนามแหลมสั้นอยู่ 2 อัน และผิวลาย เมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมน้ำตาลแดงถึงดำมีจำนวน 5-8 เมล็ด

หญ้าขัด

การขยายพันธุ์หญ้าขัด 

หญ้าขัดใบยาว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการขยายพันธุ์เองในธรรมชาติ ไม่มีการนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์ เพราะหญ้าขัดใบยาวจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่เกษตรกรมักจะกำจัดทิ้งในสวนไร่นา ทั้งนี้หญ้าขัด ใบยาวยังเป็นพืชที่มีความทนทานสูง สามารถทนแล้ง ทนน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี และสามารถขึ้นได้ดีในทุกสภาพดินอีกด้วย

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยพบว่าในหญ้าขัด ใบยาวมีสารกลุ่ม Flavones และ กลุ่ม Alkaloids เช่น Scopadulin, Scopadulic acid B และ Glutinol เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหญ้าขัด

สำหรับหญ้าขัดใบยาวยังไม่มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยามากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นรายงานผลการศึกษาวิจัยจากต่างประเทศ เช่น พบว่าน้ำสกัดจากต้น ทำให้ความโลหิตของกระต่ายที่ทำให้สลบแล้วลดลง และยังลดการเต้นของหัวใจกบที่แยกออกมาจากตัว นอกจากนี้ยังมีผลกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เล็กของกระต่ายให้บีบตัวเพิ่มขึ้น เมื่อฉีดเข้าหลอดเลือดดำ

           ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุว่า ในหญ้าขัด ใบยาวมีสารบางชนิดในกลุ่ม flavore ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งทั้งในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง มีสาร Scopadulin ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริม นอกจากนี้ยังพบว่ามีสาร Glutinol ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์แก้อาการปวด และช่วยลดการอักเสบอีกด้วย

หญ้าขัด

การศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้าขัด

มีผลการศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้าขัด ใบยาวในต่างประเทศ ระบุว่า เมื่อฉีดสารสกัดน้ำของหญ้าขัด ใบยาวเข้าใบช่องท้องของหนูทดลอง 5 ตัว ในขนาด 12.5-50 กรัม/กิโลกรัม (น้ำหนักตัว) พบว่าภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ทำให้หนูตาย แต่เมื่อเพิ่มขนาดยามากกว่านี้ (ไม่ระบุขนาด) จะทำให้หนูตาย 1 ตัว

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้หญ้าขัดใบยาว เพราะในหญ้าขัดใบยาวมีสารบางชนิดที่ทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ ส่วนในคนปกติควรระมัดระวังในการนำหญ้าขัดใบยาวมาใช้เป็นสมุนไพร โดยสารใช้ตามขนาด และปริมาณ ตามที่ได้ระบุในตำรับ ตำรายา ไม่ควรใช้มากเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้หญ้าขัด ใบยาวในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ


เอกสารอ้างอิง หญ้าขัด
  1. ภก.ชัยโย ชัญชาญทิพยุทธ. หญ้าขัด. คอลัมน์สมุนไพรน่ารู้. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 12. เมษายน. 2523
  2. มัณฑนา นวลเจริญ. พรรณไม้ป่าชายหาด. ปทุมธานี. สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2552 หน้า 161
  3. พรชัย เหลืองอาภาพงค์. 2540. วัชพืชศาสตร์. โรงพิมพ์ลินคอร์น.กรุงเทพฯ. หน้า 106-134, 467-462, 225-239
  4. รายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2558-2559 โครงการพฤกษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือตอนบนอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่. สมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.หน้า194
  5. สาระสำคัญในใบหญ้าขัดมอญ. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6313