กำแพงเจ็ดชั้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กำแพงเจ็ดชั้น งานวิจัยและสรรพคุณ 33 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กำแพงเจ็ดชั้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น น้ำนอง, มะต่อมไก่ (ภาคเหนือ), หลุมนก (ภาคใต้), ตาไก้, ตาไก่, ตากวาง, เครือตากวาง, ขาวไก่ (ภาคอีสาน), ขอบกระด้ง, พรดงนก (อ่างทอง), ตะลุ่มนก (ราชบุรี), ตาไก้ (พิษณุโลก, นครราชสีมา), กระดุมนก (ประจวบคีรีขันธ์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacia chinensis Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Salacia prinoides Linn.
วงศ์ Celastraceae (Hippocrateaceae)

ถิ่นกำเนิดกำแพงเจ็ดชั้น  

กำแพงเจ็ดชั้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นของทวีปเอเชียในแถบประเทศ อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เป็นต้น โดยมักจะพบตามป่าเบญจพรรณ ที่มีระดับความสูงไม่เกิน 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนมากจะพบได้ตามในป่า โดยเฉพาะป่าทางภาคอีสาน จะพบได้มากกว่าภาคอื่นๆ

           ทั้งนี้กำแพงเจ็ดชั้น นับเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง เพราะอัตราการเกิดและการอยู่รอดมีความเสี่ยงต่อการถูกบุกรุก และทำลายมาก ในปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เพาะ และขยายพันธุ์เพื่อใช้ปลูกทดแทนในป่า และส่งเสริมให้มีการปลูกตามหัวไร่ปลายนาเพื่อใช้ประโยชน์ในชุมชน


ประโยชน์และสรรพคุณกำแพงเจ็ดชั้น

  • แก้ปวดเมื่อย (ผสมกับรากตูมกาขาว รากชะมวง และรากปอด่อน)
  • ช่วยบำรุงโลหิต ฟอกโลหิต (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • แก้โลหิตเป็นพิษทำให้ร้อน (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • แก้โลหิตจาง (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • แก้ผอมแห้งแรงน้อย (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • ช่วยขับระดูขาว (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • แก้ปวดตามข้อ (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • แก้ไขข้อพิการ เข้าข้อ (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • แก้ประดง (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • ช่วยขับผายลม (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • ช่วยขับโลหิตระดู (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก) 
  • รักษาโรคตับอักเสบ (ผสมกับเปลือกต้นมะดูก)
  • แก้หืด (ผสมกับแก่นพลับพลา แก่นโมกหลวง ต้นสบู่ขาว ต้นพลองเหมือด แก่นจำปา และต้นคำรอก)
  • แก้โรคเบาหวาน (ผสมกับรากทองพันชั่ง หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ หัวร้อยรู แก่นสัก และหญ้าชันกาดทั้งต้น)
  • แก้ลมอัมพฤกษ์
  • รักษาโรคตา
  • ช่วยบำรุงน้ำเหลือง
  • แก้มุตกิด
  • แก้บิดมูกเลือด
  • ใช่ เป็นยาระบาย
  • แก้เส้นเอ็นอักเสบ
  • แก้โรคไต
  • แก้ท้องผูก
  • แก้ลมตี  (เข้ายากับ ตาไก่ ตากวง อ้อยดำ ขมิ้นเกลือ ดูกหิน ตับเต่า ใช้ลำต้นของทุกต้นรวมกัน มาต้มน้ำดื่ม)
  • ช่วยขับปัสสาวะ (เข้ายากับ แก่นตาไก้ แก่นตากวง แก่นดูกไส แก่นตานกกด)
  • แก้ริดสีดวงทวาร (เข้ายากับ ว่านงวงช้าง แก่นกระถิน ปูนขาว แล้วต้ม)
  • ใช้รักษาเบาหวาน (ผสมกับใบแพงพวยฝรั่งชงกิน)
  • แก้พิษงู (นำรากผสมกับน้ำมะนาว ใช้กิน และพอกทาแผลที่ถูกงูกัด)
  • ใช้รักษาโกโนเรีย
  • โรคข้อรูมาติก
  • โรคผิวหนัง
  • ช่วยบำบัดอาการปวดประจำเดือน 
  • ป้องกันโรคอ้วน

          กำแพงเจ็ดชั้น เป็นไม้พื้นถิ่นของไทย ดังนั้น จึงมีการนำมาทำประโยชน์ตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยมีการนำผลสุกของกำแพงเจ็ดชั้น สามารถนำมารับประทานเล่นได้ แต่โดยมากแล้วแทบทุกภาคของไทยมักจะนำเอากำแพงเจ็ดชั้นมาทำประโยชน์ในด้านสมุนไพรมากกว่า

กำแพงเจ็ดชั้น

กำแพงเจ็ดชั้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

เนื้อไม้ (ลำต้น) ใช้ต้นกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ดองสุรา รับประทานวันละเป๊ก แก้โรคไต เป็นยาระบาย แก้ลม แก้ปวดเมื่อย คลายเส้นเอ็น บำรุงโลหิต หรือ ใช้ต้มกับน้ำแล้วใช้ดื่ม วันละ 1-2 ช้อน ก่อนอาหารเช้า เย็น เพื่อบำรุงโลหิต รากใช้ต้มกับน้ำ หรือ ใช้ดองกับสุราดื่ม ช่วยขับระดู บำรุงโลหิต แก้ลมอัมพฤกษ์ บำรุงน้ำเหลือง แก้ปวดเมื่อยเส้นเอ็น หรือ อาจใช้กำแพงเจ็ดชั้นเข้ายากับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ก็ได้ เช่น ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย แก้กษัย บำรุงกำลัง ใช้กำแพงเจ็ดชั้น ตากวง เถาวัลย์เปรียง เถาวัลย์เหล็ก (เครือเขาแกลบ) ต้มกินเป็นประจำ ตำรับยาระบาย ใช้กำแพงเจ็ดชั้น ตากวง แก่นนมสาว แก่นดูกใส รากเกียงปืน กาฝากต้นติ้ว ต้มกิน ตำรับยาแก้เบาหวาน ใช้กำแพงเจ็ดชั้น  แซ่ม้าทะลาย รากคนทา รากมะแว้ง เครือเถามวกขาว เถามวกแดง รากลำเจียก ชะเอมไทย อย่างละ 2 บาท ต้มกินจนยาจืด ใช้ฟอกโลหิต แก้โลหิตเป็นพิษทำให้ร้อน แก้โลหิตจาง แก้ประดงด้วยการใช้ต้นกำแพงเจ็ดชั้น ผสมเข้ายากับเปลือกต้นมะดูก หรือ จะใช้รากนำมาต้ม หรือ ดองสุราดื่มก็ได้ ใช้แก้ริดสีดวงทวาร โดยใช้ต้นกำแพงเจ็ดชั้นเข้ากับเครื่องยา แก่นกระถิน ปูนขาว และว่านงวงช้าง แล้วนำมาต้มดื่ม

ลักษณะทั่วไปของกำแพงเจ็ดชั้น

กำแพงเจ็ดชั้น จัดเป็น ไม้เถาเนื้อแข็ง หรือ ไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 2-6 เมตร เปลือกลำต้นเรียบสีเทานวล เนื้อไม้มีวงปีสีน้ำตาลแดงเข้มจำนวนหลายชั้นเห็นชัดเจน เรียงซ้อนกันเป็นชั้น 7-9 ชั้น ใบดอกเป็นเดี่ยว เรียงตรงข้าม สลับตั้งฉาก แผ่นใบค่อนข้างหนา แผ่นใบเป็นรูปวงรี รูปวงรีกว้าง, รูปไข่, รูปวงรีแกมใบหอก หรือ รูปไข่กลับ กว้าง 2-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือ มน โคนใบสอบ ขอบหยักหยาบๆ หลังใบเรียบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบเรียบ เนื้อใบกรอบ ก้านใบยาว 0.6-1.5 เซนติเมตร ผิวใบด้านบน และด้านล่างค่อนข้างหนาเป็นมันมีเส้นแขนงใบ 4-10 คู่ ดอกมีขนาดเล็ก สีเขียวอมเหลืองหรือเหลือง โดยจะออกเป็นช่อ แบบกระจุก หรือ ช่อแยกแขนงสั้นๆ ตามซอกใบ มีกลีบดอก 5 กลีบ สีเหลืองปนเขียว ออกเป็นกลุ่มหรือช่อสั้นๆ ที่ซอกใบ หรือ กิ่งก้าน ปลายกลีบดอกมนบิดเล็กน้อย แกนดอกนูนเป็นวงกลม มี 3-6 ดอก ในแต่ละช่อ กลีบดอกรูปรีหรือรูปไข่กว้าง ยาว 3-4 มิลลิเมตร ก้านดอกยาว 6-10 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงเล็กมากมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม ปลายมนกลม ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ขอบเป็นชายครุย จานฐานดอกรูปถ้วยคล้ายเป็นถุง มีปุ่มเล็กๆ ตามขอบมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.5-2 มิลลิเมตร เกสรเพศผู้ 3 อัน ติดบนขอบจานฐานดอก ก้านเกสรเพศผู้สั้น อับเรณูรูปส้อม ปลายเกสรชนกันเป็นยอดแหลม รังไข่มี 3 ช่อง ซ่อนอยู่ในจานฐานดอก ออวุลมี 2 เม็ด ในแต่ละช่อง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ผลมีรูปร่างค่อนข้างกลม ผิวผลเกลี้ยง รูปกระสวยกว้าง หรือ รี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกสีแดง หรือ สีแดงอมส้ม เมล็ดมีลักษณะกลมขนาดใกล้เคียงกับผล โดย 1 ผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด 

การขยายพันธุ์กำแพงเจ็ดชั้น

กำแพงเจ็ดชั้น สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด โดยมีวีการดังนี้ นำเมล็ดแก่จากผลสุกของกำแพงเจ็ดชั้นมาแช่น้ำ 1-2 วัน จากนั้น นำเมล็ดที่ได้จากการแช่น้ำมาตากแดดไว้ประมาณ 2-3 วัน แล้วนำเมล็ดไปเพาะในกระบะเพาะที่มีส่วนผสมของแกลบสุก ดินร่วนปนทราย ขุยมะพร้าว ใบไม้ที่เน่าเปื่อยง่าย แล้วนำใบไม้แห้งสับเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาคลุมทับเมล็ดตาไก้อีกครั้งหนึ่ง จากนั้นคอยรดน้ำ สำหรับการรดน้ำ ควรรดน้ำเมื่อสังเกตเห็นว่าวัสดุเพาะแห้งไม่จำ โดยเป็นต้องรดน้ำทุกวันเพราะจะทำให้เมล็ดเน่าได้ หลังจากปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 45 วัน เมล็ดก็จะเริ่มงอก และเมื่อต้นกล้ามีการเจริญเติบโตมีความสูงของลำต้นประมาณ 10 เซนติเมตร หรือ มีใบจริงขึ้น 2-3 ใบ ให้ทำการย้ายต้นกล้าใส่ถุงเพาะชำ รดน้ำและบำรุงรักษาจนกว่าต้นกล้าจะเจริญเติบโตแข็งแรง จึงนำไปเพาะปลูกในแปลงต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี

ลำต้น พบสาร สารกลุ่ม Friedelane-Type Triterpenes ได้แก่ maytenoic acid, friedelane-3-on-29-ol, 15R-hydroxyfriedelan-3-one, wilfolic acid C, salaspermic acid, orthosphenic acid, salasones A, salasones B, salasones C สารกลุ่ม Oleanane-Type Triterpenes ได้แก่ 3β, 22β-dihydroxyolean-12-en-29-oic acid, maytenfolic acid, β-amyrin, 22α-hydroxy-3-oxoolean-12-en-29-oic acid,  β-amyrenone สารกลุ่ม Ursane-Type Triterpenes ได้แก่ tripterygic acid A, demethylregelin สารกลุ่ม Norfriedelane-Type Triterpenes ได้แก่ tingenone, tingenin B, regeol A, triptocalline A, salaquinone A, B สารกลุ่ม Eudesmane-Type Sesquiterpene ได้แก่ celahin C, salasol A
           ใบ พบสาร สารไตรเทอร์ปีน foliasalacins, 3b-hydroxy-20-oxo-30-norlupane, betulin, betulinic acid, friedelin, octandronol, oleanoic acid, erythrodiol, ursolic acid, uvaol, isoursenol สารกลุ่มซัลโฟเนียม ได้แก่ salacinol, kotalanol สารไกลโคไซด์ foliachinenosides E, F, G, H, I, foliasalaciosides J, K, L 
           ราก พบสารกลุ่มซัลโฟเนียม ได้แก่ salacinol, kotalanol สารกลุ่มโปรแอนโทไซยานิดิน ได้แก่ leucopelargonidin
           ผล พบสารกลุ่มซัลโฟเนียม ได้แก่ salacinol, kotalanol


รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของกำแพงเจ็ดชั้น

โครงสร้างกำแพงเจ็ดชั้น

 

                                       โครงสร้างกำแพงเจ็ดชั้น                                                 

                                     โครงสร้างกำแพงเจ็ดชั้น                                                           

ที่มา : Wikipedia


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกำแพงเจ็ดชั้น

ฤทธิ์ต้านเบาหวาน สารสกัดด้วยน้ำจากลำต้น และรากกำแพงเจ็ดชั้น ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์แอลฟากลูซิเดสในลำไส้เล็กทั้งสองชนิดในหนูทดลอง โดยสามารถยับยั้งเอนไซม์ซูเครส โดยมีค่า IC50 ของลำต้น และราก เท่ากับ 36.5, 57.9 µg/ml ตามลำดับ และยับยั้งเอนไซม์มอลเตส โดยมีค่า IC50 ของลำต้น และราก เท่ากับ 87.3, 157.7 µg/ml แสดงว่าลำต้นออกฤทธิ์ได้ดีกว่าในราก  โดยพบว่าสารออกฤทธิ์ดี คือ salacinol และ kotalanol

           ส่วนอีกรายงานหนึ่งระบุว่า เมื่อป้อนหนูที่เหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ด้วยสาร mangiferin ที่สกัดได้จากรากกำแพงเจ็ดชั้น ขนาด 40 มก./กก./วัน เปรียบเทียบกับหนูที่ได้รับยา glybenclamide 600 มคก./กก./วัน และหนูกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับยาและสาร mangiferin ทดลองเป็นเวลา 30 วัน พบว่าสาร mangiferin และยา glybenclamide มีผลลดระดับของกลูโคส และ glycosylated hemoglobin แต่เพิ่มระดับของอินซูลิน และฮีโมโกลบินในเลือด การทำงานของเอนไซม์ในตับ ได้แก่ hexokinase, pyruvate kinase, glucose-6-phosphate dehydrogenase, glycogen synthase และปริมาณไกลโคเจนจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การทำงานของเอนไซม์ lactate dehydrogenase, glucose-6-phosphatase, fructose-1,6-diphosphatase และ glycogen phosphorylase ลดลง เมื่อเทียบกับหนูในกลุ่มควบคุมและผลของ mangiferin และ glybenclamide ไม่มีความแตกต่างกัน แสดงว่า mangiferin จากกำแพงเจ็ดชั้น มีผลลดน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้ และมีผลเทียบได้กับยา glybenclamide

           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสารแมงจิเฟอรินที่แยกได้จากรากของพืชจีนัส Salacia ชนิดอื่น คือ Salacia reticulate มีฤทธิ์ยับยั้งยั้งเอนไซม์แอลฟ่ากลูโคซิเดส 3 ชนิด ในหนูทดลอง ได้แก่ sucrase, isomaltase และ aldose reductase โดยมีค่าการยับยั้ง IC50 เท่ากับ  87, 216  and 1.4 µg/ml ตามลำดับ

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า สารสำคัญที่แยกได้จากลำต้นกำแพงเจ็ดชั้นจำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ยังมีผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่านเข้ากับเครื่องยา แก่นกระถิน ปูนขาว และว่านงวงช้าง แล้วนำมาต้มดื่ม หรือ อาจมกับน้ำแล้วmangiferin, tingenine B, tingenone, triptocalline A, 3β, 22β-dihydroxyolean-12-en-29-oic acid และ regeol A ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเอนไซม-อัลโดสรีดักเทส ที่บริเวณเลนสายตาของหนูทดลอง โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 3.2, 7, 13, 14, 26 และ 30 µM ตามลําดับ

           ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด สารสกัดด้วยคลอโรฟอร์มและเอทานอล จากรากกำแพงเจ็ดชั้น เมื่อป้อนให้หนูทดลอง ในขนาด 500 mg/kg body wt.ต่อวัน เป็นเวลา 14 วัน พบว่ามีนัยสำคัญในการลดปริมาณคลอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ LDL VLDL สามารถเพิ่มไขมันชนิดดี HDL ในหนูที่มีไขมันในเลือดสูงได้ เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้รับยา

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา สารสกัดใบด้วยเอทานอล มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแกรมบวก Staphylococcusepidermidis และเชื้อรา Cryptococcus neoformans โดยมีค่า MIC เท่ากับ 256 µg/mL และยับยั้งเชื้อรา Candida albicans โดยมีค่า MIC เท่ากับ 512 µg/mL สารสกัดใบด้วยน้ำมีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. epidermidis และ C. neoformans โดยมีค่า MIC เท่ากับ 512 และ 1024 µg/mL ตามลำดับ

           ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษ สารกลุ่มลิกแนนที่แยกได้จากใบ 2 ชนิด คือ eleutheroside E₂และ 7R,8S –dihydrodehydrodi coniferyl alcohol 4-O-β-D-glucopyranoside มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับหนูในหลอดทดลอง จากการถูกทำลายด้วยสารเคมี D-galactosamine เมื่อให้สารในขนาด 100 µM โดยมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้ง 41.4 และ 45.5 ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของกำแพงเจ็ดชั้น

มีการทดสอบความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ โดยใช้สารสกัดน้ำจากลำต้น เมื่อป้อนให้หนูแรท ในขนาด 2,000 mg/kg/day โดยหนูเพศผู้จำนวน 25 ตัว ป้อนยาเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ก่อน และหลังผสมพันธุ์ และหนูเพศเมียจำนวน 25 ตัว ป้อนยาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อน และหลังผสมพันธุ์ ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึงวันที่ 20 ของการให้นม ตรวจไม่พบความผิดปกติในระบบสืบพันธุ์ และการเจริญของอวัยวะระบบสืบพันธุ์ ทั้งเพศผู้และเพศเมีย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้กำแพงเจ็ดชั้น เป็นยาสมุนไพรเพื่อบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้ปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรายา ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ส่วนสตรีมีครรภ์ หรือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทายาต่อเนื่อง ก่อนจะใช้กำแพงเจ็ดชั้นเป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาอาการต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง กำแพงเจ็ดชั้น
  1. ผศ.ดร.สุดารัตน์  หอมหวล. กำแพงเจ็ดชั้น (ตาไก้) สมุนไพรต้านเบาหวาน คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  2. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของสาร mangiferin จากรากกำแพงเจ็ดชั้น .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสาตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. กำแพงเจ็ดชั้น. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedeug.com/main.php?action=viewpage&pid=21
  4. กำแพงเจ็ดชั้น. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธรนี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com.main.php?action=viewpage&pid=4
  5. Yoshikawa M, Nishida N, Shimoda H, Takada M, Kawahara Y, Matsuda H.2001. Polyphenol constituents from Salacia species: quantitative analysis of mangiferin with alpha-glucosidase and aldose reductase inhibitory activities. Yakugaku Zasshi. 121(5):371-8.
  6. Krishnan V, Rangaswami. 1967. Proanthocyanidin of Salacia chinensis Linn. Tetrahedron Letters 26, 2441-24461.
  7. Sellamuthu PS, Arulselvan P, Muniappan BP, Fakurazi S, Kandasamy M. 2013. Mangiferin from Salacia chinensis prevents oxidative stress and protects pancreatic β-cells in streptozotocin-induced diabetic rats. J Med Food. 16(8):719-27.
  8. Zhang Y, Nakamura S, Wang T, Matsuda H, Yoshikawa M. 2008.The absolute stereostructures of three rare D:B-friedobaccharane skeleton triterpenes from the leaves of Salacia chinensis.Tetrahedron 64 , 7347–7352
  9. Jihong Y, Shaozhong L, Jingfeng S, Kobayashi M, Akaki J, Yamashita K, Tamesada M, Umemura T. 2011. Effects of Salacia chinensis extract on reproductive outcome in rats. Food and Chemical Toxicology 49, 57–60.
  10. Nakamura S, Zhang Y, Matsuda H, Ninomiya K, Muraoka O, Yoshikawa M. 2011. Chemical structures and hepatoprotective effects of constituents from the leaves of Salacia chinensis. Chem Pharm Bull (Tokyo). 59(8):1020-8.
  11. Sikarwar MS, Patil MB. 2012. Antihyperlipidemic activity of Salacia chinensis root extracts in tritoninduced and atherogenic diet-induced hyperlipidemic rats. Indian J Pharmacol. 44(1),88–92.
  12. Muraoka O, Morikawa T, Miyake S, Akaki J, Ninomiya K, Yoshikawa M. 2010. Quantitative determination of potent α-glucosidase inhibitors, salacinol and kotalanol, in Salacia species using liquid chromatography–mass spectrometry. Journal of Pharmaceutical and Biomedical Analysis 52, 770–773.
  13. Kannaiyan M, Manuel VN, Raja V, Thambidurai. P, Mickymaray S, Nooruddin T. 2012. Antimicrobial activity of the ethanolic and aqueous extracts of Salacia chinensis Linn. against human pathogens. Asian Pacific Journal of Tropical Disease, S416-S420.