สารภี ประโยชน์ดีๆสรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

สารภี งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สารภี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สารภีแนน, สารปี (ภาคเหนือ), สร้อยภี (ภาคใต้), ทรพี (ภาคตะวันออก, จันทบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mammea siamensis (Miq.) T. Anderson
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calysaccion siamense Miq.
ชื่อสามัญ Negkassar
วงศ์ CALOPHYLLACEAE

ถิ่นกำเนิดสารภี

สารภีจัดเป็นไม้ประจำถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีถิ่นกำเนิดในประเทศต่างๆในแถบนี้ เช่น พม่า ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย สำหรับในประเทศไทยมักพบสารภี ได้ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศแต่ส่วนมาก มักจะพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ และตามป่าดงดิบทางภาคเหนือ ป่าดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ทางภาคตะวันออก ส่วนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้มักจะพบที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20-400 เมตร 


ประโยชน์และสรรพคุณสารภี
 

  1. บำรุงหัวใจ
  2. บำรุงกำลัง
  3. บำรุงเส้นประสาท
  4. แก้โลหิตพิการ
  5. แก้ไข้ มีพิษร้อน
  6. ช่วยขับลม
  7. ทำให้เจริญอาหาร
  8. บำรุงหัวใจ
  9. เป็นยาชูกำลัง
  10. มีฤทธิ์ขับลม
  11. ใช้ฝาดสมาน
  12. รักษาธาตุไม่ปกติ
  13. ช่วยทำให้ชื่นใจ
  14. ช่วยบำรุงครรภ์
  15. ช่วยขยายหลอดเลือก
  16. ช่วยขับปัสสาวะ
  17. ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ
  18. แก้อาการแพ้คันจากพิษของต้นหมามุ่ย
  19. แก้อาการหน้ามืดตาลาย

           ส่วนต่างๆ ของสารภี สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายประการ เช่น เนื้อไม้ มีความแข็งแรง และค่อนข้างทนทาน สารมารถนำมาใช้สร้างเป็นที่อยู่อาศัยได้ เช่น การทำเสา ฝา รอด กระดานพื้น รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ฯลฯ ดอกตูม ใช้สกัดทำสีย้อมผ้าได้ โดยจะให้สีแดง ดอกสารภี สด สามารถนำมาใช้สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ซึ่งนำไปใช้ในการแต่งกลิ่นเครื่องสำอางต่างๆ ได้ดอกแห้ง ใช้ทำเป็นน้ำหอม โดยเพิ่มดอกคำฝอย ส้มป่อย เผา นำมาแช่ในน้ำจะได้น้ำหอมสำหรับไว้ใช้เป็นน้ำสรงพระในเทศกาลสงกรานต์ ผลมีรสหวาน ใช้รับประทานเป็นผลไม้ และยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ เช่น ทำน้ำผลไม้ การทำไวน์ ทำแยม เป็นต้น 


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สารภี มีการใช้เป็นสมุนไพรทั้งแบบยาเดี่ยวและแบบจัดเข้าในตำรับยา และพิกัดยาต่างๆ แต่ส่วนมากมักจะถูกจัดเข้าเป็นส่วนประกอบของตำรับยาต่างๆ มากกว่า ดังนั้นขนาด และวิธีการใช้จึงต้องใช้ตามตำรับยาชนิดนั้นๆ เช่น ยาเขียวหอม ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการเป็นต้น หรือ ตามตำรายาไทยมีการใช้ดอกสารภี (ไม่ระบุขนาด) ผสมยาหอม ใช้ แก้ลม เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ แก้โลหิตพิการ แก้ไข้ มีพิษร้อน


ลักษณะทั่วไปของสารภี

สารภี จัดเป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบแผ่กว้าง เปลือกสีเทาหรือเทาปนน้ำตาล แตกล่อนเป็นสะเก็ด เปลือกชั้นในสีแดงเข้ม มีน้ำยางสีคล้ายน้ำนม เมื่อทิ้งให้สัมผัสกับอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรี รูปขอบขนาน หรือ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 4-6.5 ซม. ยาว 15-20 ซม. ปลายมน หรือ แหลม โคนสอบแคบหรือสอบเรียว ปลายใบมน หรือ สอบทู่ๆ อาจมีติ่งสั้นๆ หรือ หยักเว้าตื้นๆ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้งสองด้าน สีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นแขนงใบจำนวนมาก ไม่ชัดเจน ก้านใบ ยาว 0.5-1 ซม. เกลี้ยง ดอกออกเป็นช่อ ช่อเดียวหรือหลายช่อตามกิ่ง สีขาว กลิ่นหอมมาก เมื่อใกล้โรยดอกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ก้านดอกยาว 0.5-2.5 ซม. กลีบเลี้ยง 2 กลีบ เกือบกลม โค้งเป็นแอ่ง โคนเชื่อมติดกัน ติดทน และขยายโตตามผล กลีบดอก 4 กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง 4-6 มม. ยาว 7-8 มม. มีเส้นตามยาว เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 1.5 ซม. เกสรเพศผู้ จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียวยาว อับเรณูรูปขอบขนาน สีเหลืองเข้ม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2 เม็ด ยอดเกสรเพศเมีย เป็น 3 แฉก ผลเป็นแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปรี หรือ รูปกระสวย กว้าง 0.8-2.5 ซม. ยาว 2-2.5 ซม. เมื่อสุกสีเหลืองอมส้ม มีเนื้อสีเหลือง หรือ สีแสดหุ้มเมล็ด ก้านผลยาว 1.4-1.6 ซม. ผลแก่แตกออกได้ ส่วนเมล็ดมี 1 เมล็ด ขนาดใหญ่ แข็ง

สารภี

ต้นสารภี

การขยายพันธุ์สารภี

สารภีสามารถขยายพันธ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งสามารถทำได้เหมือนการเพาะเมล็ดและตอนกิ่งพืชทั่วๆ ไป เมื่อได้ต้นกล้า หรือ กิ่งตอนที่พร้อมปลูกแล้วให้ปลูกในขนาดระยะ 50x50x50 เซนติเมตร ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วน ในอัตรา 1:3 ผสมดินปลูก ทั้งนี้สารภี เป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบดินร่วนซุย และต้องการปริมาณน้ำปานกลาง และต้องการแสงแดดอ่อนๆ ดังนั้นควรให้น้ำ 4-5 วัน/ครั้ง และควรปลูกในที่ร่มรำไร หรือ ที่ ที่แดดไม่จัดมาก


องค์ประกอบทางเคมี

การศึกษาพฤกษเคมีของดอกสารภีพบสาร กลุ่มฟีนิลคูมาริน (phenylcoumarin) 2 ชนิด คือ 6-butyryl-5-hydroxy-4-phenylsesrlin และ 6-butyryl-5,7-dihydroxy-8-(3,3-dimethlallyl)-4-phenylcoumarin นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มโพรแทนโทไซยานิดินส์ (proanthocyanidins) ซึ่งแสดงฤทธิ์ฆ่าปลา และหอย ส่วนใบสารภีพบสารอาเมนโตผลาโวน (amenntoflavone) อันเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ นอกจากนั้นยังมีรายงานว่าพบสาร 1,2-dimethoxy-5-hydroxyanthone อันเป็นสารกลุ่มแซนโทน จากส่วนกิ่งสารภี และมีรายงานการศึกษาวิจัยในไทยยังพบสาร Mammeacetamide ในผลดิบอีกด้วย

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของสารภี

โครงสร้างสารภี

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้สารกลุ่ม 4-alkylcoumarin, 4-phenyl-coumarin หลายชนิด สารกลุ่ม triterpenoid เช่น friedelin และสาร ß-sitosterol, stigmasterol, campesterol และ C-glucosyl flavone เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารภี

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารภียังมีไม่มากแต่มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารภีมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว การศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งเลือดขาวจากดอกสารภี โดยการทดสอบในหลอดทดลองกับเซลล์มะเร็งที่แยกได้จากสมองมนุษย์ ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง และฤทธิ์ยับยั้ง P-glycoprotein ซึ่งเป็นโปรตีนที่ยับยั้งการขนส่งยาเคมีบำบัดผ่านไปยังเนื้องอกที่สมอง ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดดอกสารภี ด้วยเฮกเซน ที่ความเข้มข้น 10 μg/ml สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด leukemia ได้ 99±0.8% และยับยั้ง P-glycoprotein โดยมีค่า EC50 เท่ากับ 0.3 ±0.3 μg/ml ผลการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง 4 ชนิด ของสารกลุ่มคูมาริน ที่แยกได้จากดอกสารภี พบว่าสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งเต้านม (MDA-MB-231) เนื้องอกที่สมอง (U-251) เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (HCT-116) และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว (CCRF-CEM) ได้ โดยสารส่วนใหญ่ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน vincristine ค่า% การยับยั้งเซลล์มะเร็งทั้ง 4 ชนิด ของสารคูมาริน mammea A/AA เท่ากับ 58.9±0.8, 27.7±3.2, 73.5±4.9, 78.1±0.8 สาร MSH1 เท่ากับ 82.4.±0.9, 78.8±1.6, 97.6±0.6, 96.0±1.1 และสารมาตรฐาน vincristine เท่ากับ 51.5±12.9, 71.0±2.5, 54.8±9.4, 44.2±8.5 ตามลำดับ


การศึกษาทางพิษวิทยาของสารภี

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในการใช้ยาในตำรับที่มีดอกสารภีเป็นส่วนประกอบผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ควรหลีกเลี่ยงการใช้
  2. ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยาของสารภี แต่ในการใช้ควรคำนึงถึงความปลอดภัย คือ ไม่ควรใช้ในปริมาณมาก และใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป
  3. สำหรับการใช้ดอกสารภีเพื่อต้องการสรรพคุณทางยา ควรเลือกใช้ให้ถูกชนิดเพราะมีพืชอีกชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายกันที่เรียกกันว่าสารภีดอกใหญ่

เอกสารอ้างอิง สารภี
  1. ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์.สารภี.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.นิตยสารหมอขาวบ้าน.เล่มที่ 361. พฤษภาคม.2552
  2. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. 2522. ไม้เทศเมืองไทย.พระนคร:เกษมบรรณกิจ.
  3. คณะกรรมการวิชาการดำเนินงานส่วนสวนสมุนไพรพืชสวนโลก. 2549. สวนสมุนไพรในงานมหกรรมพืชสวนโลก 2549. Herbal Garden in Royal Flora Expo 2006. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด. กรุงเทพมหานคร. 
  4. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. “สารภี“. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้าที่ 181.
  5. ศุภชัย ติยวรนันท์ และ คณะ. สารเซทาไมค์ชนิดใหม่จากสารภี. A New Acetamide from Mammea Siamensis Kosterm.วารสารวิจัย มข.ปีที่ 8 ฉบับที่ 2. หน้า 18-22
  6. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “สารภี (Saraphi)“. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้าที่ 301.
  7. ราชันย์ ภู่มา และ สมราน สุดดี. (บรรณาธิการ). (2557). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2557. กรุงเทพฯ: สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ และพันธุ์พืชกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. https://medthai.com/สารภี/
  8. สารภี,ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage=292
  9. สารภี.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=165
  10. Noysang C, Mahringer A, Zeino M, Saeed M, Luanratana O, Fricker G, et al. Cytotoxicity and inhibition of P-glycoprotein by selected medicinal plants from Thailand. J Ethnopharmacology. 2014;155:633–641.