เสลดพังพอน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เสลดพังพอนตัวผู้ งานวิจัยและสรรพคุณ 22ข้อ

ชื่อสมุนไพร  เสลดพังพอน
ชื่ออื่นๆ / ชื่อท้องถิ่น  เสลดพังพอนตัวผู้ พิมเสนต้น ทองระอา  ช้องระอา  ลิ้นงูเห่า  (ภาคกลาง กรุงเทพ) ก้านชั่ว ค้นชั่ว (ตาก) เช็กเชเกี่ยม ฮวยเฮียะ แกโตว่เกียง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์   Barleria lupulina Lindl.
ชื่อสามัญ  Hop Headed Barleria
วงศ์   ACANTHACEAE

 

ถิ่นกำเนิดเสลดพังพอน

เสลดพังพอนมีถิ่นกำเนิดในสาธารณรัฐมอริเชียสซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาในมหาสมุทรอินเดียแล้วมีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณประเทศใกล้เคียง และยังมีการนำเข้ามาใช้ประโยชน์และปลุกยังดินแดงเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย ส่วนในประเทศไทยนั้นสามารถพบเสลดพังพอนได้ทุกภาคของประเทศ โดยอาจจะพบในลักษณะของการปลูกไว้ใช้ประโยชน์หรือขึ้นเป็นวัชพืชก็ได้


ประโยชน์และสรรพคุณของเสลดพังพอน
 

  1. แก้โรคเริม งูสวัด
  2. แก้ฝีที่ฝ่ามือ
  3. แก้ลมพิษ
  4. แก้พิษงูกัด
  5. แก้ไฟลามทุ่ง
  6. แก้แผลกลาย
  7. แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย แผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แผลมีเลือดออก   
  8. แก้ลมพิษ
  9. รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง
  10. แก้โรคเบาหวาน
  11. แก้ปวดแผล
  12. แก้โรคฝีต่าง ๆ
  13. รักษาโรคคางทูม
  14. แก้ขยุ้มตีนหมา ถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ
  15. รักษาโรคฝีดาษ
  16. แก้ฟกช้ำ แก้ช้ำบวมเนื่องจากถูกของแข็ง
  17. ใช้ถอนพิษไข้ พิษไข้ทรพิษ
  18. แก้ปวดฟัน เหงือกบวม
  19. แก้ริดสีดวงทวาร
  20. แก้ยุงกัด
  21. แก้พิษไฟลวกน้ำร้อนลวก
  22. แก้ปวดจากปลาดุกแทงราก  


รูปแบบและขนาดวิธีใช้เสลดพังพอน

ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าแล้วคั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากเอามาพอกหรือทาเป็นยาแก้ลมพิษ รักษาเม็ดผื่นคันตามผิวหนัง แก้ไฟลามทุ่ง แก้ขยุ้มตีนหมา แก้โรคเริม แก้เริมบริเวณผิวหนัง งูสวัด ช่วยถอนพิษจากเม็ดตุ่มฝีดาษ รักษาโรคฝีดาษ แก้ฝีที่ฝ่ามือ แก้แผลกลาย เป็นยาถอนพิษ แก้พิษงูกัด พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย  เพียงใช้ใบสดประมาณ 2-10 ใบ นำมาขยี้หรือตำให้แหลกหรือใช้ผสมกับเหล้าตำพอก แก้ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ช่วยรักษาแผลฟกช้ำจากการกระทบกระแทก แผลสุนัขกัด แผลจากของมีคมบาด หรือแผลมีเลือดออก (ช่วยห้ามเลือด) ช่วยแก้ปวดแผล แก้อาการปวดจากปลาดุกแทง รวมไปถึงแก้พิษจากไฟลวก น้ำร้อนลวก แก้ยุงกัด แก้ฝีหนอง และแก้โรคฝีต่าง ๆ ใช้รากฝนกับสุราดื่ม แก้พิษงู แมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษแมลงมีพิษต่าง ๆ และยังสามารถใช้ใบสดขยี้แล้วทาบริเวณผิวหนังที่เป็น ตุ่มจากการถูกยุงกัน หรือผื่นจากแมลงกัดต่อยได้ ใช้รักษาแผลโดนน้ำร้อนลวกหรือไฟไหม้ ให้ใช้ใบสดนำมาตำเคี่ยวกับน้ำมะพร้าวหรือน้ำมันงา เอากากพอกบริเวณที่เป็น แผลจะแห้งไว หรือจะนำใบมาตำผสมกับเหล้า ใช้พอกบริเวณที่เป็นจะมีสรรพคุณช่วยดับพิษร้อนได้ดี

เสลดพังพอน

เสลดพังพอน

ลักษณะทั่วไปเสลดพังพอน

เสลดพังพอนเป็นไม้พุ่มสูง 1-2 เมตร เปลือกสีม่วงอมเขียว ตามข้อของลกต้นและโคนก้านใบมีหนามแหลมสีน้ำตาล ข้อละ 2 คู่ กิ่งและก้านมีสีม่วงแดง ใบเป็น ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉากใบรูปใบหอกหรือเรียวยาว กว้าง 1-2.5 เซนติเมตร ยาว 4-10 เซนติเมตร โคนสอบ ขอบเรียบ ปลายแหลมแผ่นใบเกลี้ยง มีสีเขียวเข้มเป็นมัน เส้นใบและก้านมีสีแดง ก้านใบสั้นยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร และโคนก้านมีหนามแหลมหนึ่งคู่สีม่วงชี้ลง ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกตามปลายกิ่งยาว 8-10 เซนติเมตร ใบประดับสีน้ำตาลอมม่วงโคนสีเขียว ใบประดับสีม่วงอมเขียวหรือเขียวอมน้ าตาล รูปไข่กว้าง ยาวได้ถึง 1.5 เซนติเมตรปลายเป็นติ่งแหลม กลีบเลี้ยงยาว 0.8-1 เซนติเมตรคู่นอกขนาดใหญ่กว่าคู่ใน ปลายมีติ่งหนาม

ดอกเสลดพังพอน ออกดอกเป็นช่อตั้ง โดยจะออกที่ปลายยอด ช่อดอกยาวได้ประมาณ 3-9 เซนติเมตร ช่อดอกอ่อนจะมองเห็นใบประดับรูปกลมรีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร หุ้มดอกไว้ภายใน ดอกจะมีใบประดับขนาดใหญ่เรียงกันเป็นรูปทรงกระบอกสีเขียว ใบประดับที่โคนเป็นสีเขียว ปลายใบประดับเป็นสีม่วง หรือทั้งใบประดับเป็นสีแดงอมเขียวหรือสีม่วงอมน้ำตาล รูปไข่เกือบกลม ปลายเป็นติ่งแหลม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมี 4 กลีบ เรียงตรงข้ามเป็นคู่ ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร คู่นอกจะมีขนาดใหญ่กว่าคู่ใน ปลายเป็นติ่งหนาม เมื่อดอกโตเต็มที่ ดอกจะโผล่เลยกลีบประดับออกมา โดยกลีบดอกจะเป็นสีเหลืองหรือสีส้ม กลีบดอกคล้ายรูปปากเปิด มี 5 กลีบ ที่โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 2 ปาก แบ่งเป็นปากบนมีกลีบมนขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่จะมี 4 กลีบ เรียงซ้อนแผ่ชิดกัน บานแผ่ออก ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร และกลีบล่างอีก 1 กลีบ ที่มีขนาดเล็กกว่าและพับงอเล็กน้อย กลีบดอกจะหลุดร่วงได้ง่าย ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร ยื่นพ้นจากปากหลอดกลีบดอก มีเกสรเพศผู้ที่เป็นมัน 2 อัน สั้น ๆ รังไข่มี 2 ช่อง ส่วนก้านเกสรเพศเมียยาว โดยจะยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร  ส่วนผลรูปไข่หรือแกมรูปขอบขนาน แบน ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มี 2 ซีก แต่ละซีกมี 1-2 เมล็ด


การขยายพันธุ์เสลดพังพอน

เสลดพังพอนสามารถขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการปักชำ แต่ในปัจจุบันวิธีการปักชำเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากกว่า โดยวิธีการปักชำมีดังนี้ เลือกกิ่งแก่ ๆ ยาว 1-2 คืบ มาปักชำลงดินที่มีลักษณะร่วนซุย แล้วหมั่นรดน้ำทุกเช้า - จนรากงอก แล้วจึงย้ายลงไปปลูกในแปลง ที่มีลักษณะดินร่วมซุยชุ่มชื้น การให้น้ำหากเป็นฤดูแล้งควรให้น้ำเช้าเย็นแต่หากเป็นฤดูฝนไม้ต้องให้น้ำก็ได้ ทั้งนี้ต้นเสลดพังพอนมักจะชอบที่แกกส่องรำไร  หากเจอแดดจัดมากเกินไปลักษณะใบจะแกรนเล็ก และควรระวังเรื่องการให้น้ำมากเกินไปโดยเฉพาะฤดูฝน เพราะถ้าหากน้ำท่วมราก เกิน 48 ชั่วโมง ต้นจะเริ่มตามโดยจะมีใบเหลืองและร่วงจนโทรมตายในที่สุด


องค์ประกอบทางเคมี

สารออกฤทธิ์ในส่วนต่าง ๆ ของเสลดพังพอน มีดังนี้  Bataine, Scutellarein-7-Rhamnosyl glucoside  และสารกลุ่ม Iridiod glycoside,เช่น Acetyl barlerin , Shanzhiside methyl ester.8-0-acetyl shanzhiside methyl ester., 6-0-acetylshanzhiside methyl ester.     

รูปภาพองค์ประกอบทางเคมีของเสลดพังพอน

  

 

การศึกษาทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ลดการอักเสบ สาร iridoids 4 ชนิด จากเสลดพังพอนตัวผู้ คือ shanzhiside methyl ester (I), 8-O-acetyl-shanzhiside methyl ester (II), 6-O-acetylshanzhiside methyl ester (III) และ acetyl barlerin (IV) มีฤทธิ์ลดบวมที่ข้อเท้าหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำโดย carrageenan โดยมีลำดับการออกฤทธิ์ของสารจากมากไปน้อย คือ III > I > II> = IV

สารสกัดเมทานอลของส่วนเหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้ มีฤทธิ์ลดการอักเสบแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังในหนูแรท โดยไม่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และมีรายงานว่าสาร iridoids บางชนิดจากเสลดพังพอนตัวผู้มีฤทธิ์ลดการอักเสบ

ฤทธิ์ต้านเริม สารสกัดน้ำจากใบไม่มีฤทธิ์ยับยั้ง Herpes simplex virus type 2 (HSV2) ด้วยวิธีทดสอบ plaque inhibition assay และไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Herpes simplex virus type 1 (HSV1) ส่วนสกัดน้ำจากทั้งต้นที่ขนาดความเข้มข้นไม่เป็นพิษต่อเซลล์วีโร ไม่มีฤทธิ์ยับยั้ง HSV1 เช่นกัน

สารสกัดเมทานอลจากใบและกิ่ง เมื่อทดสอบด้วยวิธี plaque inhibition assay พบว่าสารสกัดมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HSV2 จากผู้ป่วยโรคเริม แต่ไม่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HSV2 strain G ซึ่งเป็นสายพันธุ์มาตรฐาน เมื่อทดสอบด้วยวิธี yield reduction assay พบว่าสารสกัดดังกล่าวยับยั้งเชื้อ HSV2 strain G และเชื้อที่ได้จากผู้ป่วย

ฤทธิ์แก้ปวด เมื่อป้อนสารสกัดคลอโรฟอร์มจากส่วนเหนือดิน ขนาด 125-500 มก./กก. เข้าทางปากหนูถีบจักร พบว่าสามารถลดจำนวนของการบิดและยืดของลำตัวเมื่อถูกกระตุ้นโดยกรดอะเซติก ผลของสารสกัดจะเพิ่มขึ้นตามขนาดของสารสกัดที่ใช้ ลดช่วงเวลาของการเลียขาในระยะหลังของการทดสอบเมื่อถูกกระตุ้นโดยฟอร์มาลิน แต่ไม่มีผลต่อระยะแรกของการทดสอบ สารสกัดนี้ไม่มีผลต่อการทดสอบด้วยความร้อน จากผลของการทดลองแสดงว่าสารสกัดมีฤทธิ์ลดอาการปวดได้เมื่อใช้ acetic acid หรือ formalin แต่ใช้ความร้อนไม่ได้ผล

ฤทธิ์ลดน้ำตาล สารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนเหนือดินของเสลดพังพอนตัวผู้ เมื่อให้กับหนูแรทที่ถูกทำให้เป็นเบาหวาน  พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลได้ปานกลาง


การศึกษาทางพิษวิทยา

การทดสอบความเป็นพิษ เมื่อให้หนูเม้าส์ได้รับสารสกัดด้วยเมทานอลจากส่วนเหนือดินของต้นเสลดพังพอนตัวผู้ โดยการป้อนหรือฉีดเข้าช่องท้อง พบความเป็นพิษปานกลาง


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ใบเสลดพังพอนประคบที่แผลควรคำนึงถึงความสะอาดของใบเสลดพังพอนรวมถึงส่วนผสมอื่น ๆ เพราะอาจจะทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้ อีกทั้งควรเปลี่ยนใบเสลดพังพอนที่ใช้ประคบทุกวันด้วย ซึ่งหากแผลไม่ดีขึ้นหลังการใช้ประคบ หรือแผลมีการติดเชื้อควรไปพบแพทย์โดยด่วน

  

 

เอกสารอ้างอิง

  1. ภโวทัย พาสมาโสภณ. สารออกฤทธิ์ในสมุนไพร.บทความวิชาการ.วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี.ปีที่27 ฉบับที่ 1 กันยายน 2558 – กุมภาพันธ์ 2559.หน้า 120-131
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์.“เสลดพังพอน (Salet Phang Phon)”.  หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 308.
  3. ชื่นฤดี ไชยวสุ ทวีผล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา เครือวัลย์ พลจันทร ปราณี ชวลิตธำรง สุทธิโชค จงตระกูลศิริ.  การศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากใบเสลดพังพอนและใบพญายอต่อเชื้อ Herpes simplex virus type-2 ในหลอดทดลอง.  วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2535;34(4):153-8.
  4. เสลดพังพอนตัวผู้(ซองระอา).สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_20_.htm
  5. วิทยา บุญวรพัฒน์.  “เสลดพังพอนตัวผู้”.หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.    หน้า 560.
  6. เสลดพังพอนตัวผู้.สมุนไพรที่มีการใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์.สำนักงานสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.  คู่มือสมุนไพรประจำตู้ยา.  กรุงเทพฯ: คณะเภสัชศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล, 2531.
  8. เสลดพังพอนตัวผู้.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpaye&pid=120
  9. Yoosook C, Bunyapraphatsara N, Boonyakiat Y, Kantasuk C.  Anti-Herpes simplex virus activities of crude water extracts of Thai medicinal plants.  Phytomedicine 1999; 6(6):411-9.
  10. เสลดพังพอนตัวผู้.สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. Wanikiat P, Panthong A, Sujayanon P, Yoosook C, Rossi AG, Reutrakul V. The anti-inflammatory effects and the inhibition of neutrophil responsiveness by Barleria lupulina and Clinacanthus nutans extracts. J Ethnopharmacol 2008;116:234–44.
  12. Satrayavivad J, Suksamran A, Tanasomwong W, Tonsuwonnont W, Chantharaksri U.  The antiinflammatory action of iridoids obtained from Barleria lupulina.  การประชุม Princess Congress I, 10-13 Dec, กรุงเทพฯ :26.
  13. Reanmongkol W, Subhadhirasakul S.  Antinociceptive effects of Barleria lupulina extracts in mice.  Songklanakarin J Sci Technol 1997;19(2):189-95.
  14.   Suba V, Murugesan T, Arunachalam G, Mandal SC, Saha BP. Anti-diabetic potential of Barleria lupulina extract in rats. Phytomedicine 2004;11:202-5.
  15. บุญเกิด คงยิ่งยศ แจ่มใส เพียรทอง ทิพยา เอกลักษณานันท์ สนธยา สิมะเสถียรโสภณ.  ฤทธิ์ต้านไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ของสมุนไพรไทย.  การ ประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 16, 25-27 ต.ค. 2533.
  16.   Yoosook C, Panpisutchai Y, Chaichana S, Santisuk T, Reutrakul V.  Evaluation of anti-HSV2 activities of Barleria lupulina and Clinacanthus nutans.  J Ethnopharmacol 1999;67:179-87.