โรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง

โรค SLE (โรคแพ้ภูมิต้านทานตนเอง,โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง) (Systemic lupus erythematosus)

1.  โรค SLE คืออะไร  โรคเอสแอลอี หรือ โรคพุ่มพวง คือ โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือ โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) ชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารภูมิคุ้มกันต้านทาน หรืออิมมูน (Immune) ผิดปกติ โดยจะต่อต้านเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเนื้อเยื่อต่างๆ เกิดขึ้นได้กับทุกอวัยวะ เป็นผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง (ชนิดไม่ใช่จากการติดเชื้อ) ของเนื้อเยื่อได้ทุกส่วนของร่างกาย  อวัยวะที่เกิดการอักเสบได้บ่อยได้แก่ ผิวหนัง ข้อ ไต ระบบเลือด ระบบประสาท เป็นต้น การอักเสบนี้จะเป็นต่อเนื่องจนเป็น โรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง  ซึ่งโรคเอสแอลอี (SLE) ย่อมาจากชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า systemiclupus erythematosus หรือเรียกง่าย ๆ ว่าโรคลูปัส

โดยจัดเป็นโรคที่เรื้อรังชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันเพี้ยน เกิดจากการที่ร่างกายผู้ป่วยผลิตโปรตีนของภูมิคุ้มกันในเลือดที่ เรียกว่า "แอนติบอดี้" ขึ้นมามากเกินปกติ ทำให้เกิดปัญหาในอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม เช่น จากปกติภูมิคุ้มกันในร่างกายจะต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย หรือไวรัสจากภายนอกร่างกาย แต่กลับต่อต้านร่างกายของตัวเอง จนทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆและเกิดเป็นโรค SLE ในที่สุด

ซึ่งคำว่า ลูปัส มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน แปลว่า หมาป่า ซึ่งสันนิษฐานว่า มาจากการที่ผื่นที่ใบหน้าที่เกิดจากโรคนี้อยู่ในตำแหน่งคล้ายลักษณะขนบนใบหน้าของหมาป่า หรือคล้ายถูกหมาป่ากัด หรือข่วน หรือจากการที่ผู้หญิงฝรั่งเศสใส่หน้ากากเพื่อปิดบังใบหน้าเมื่อมีผื่นเกิดขึ้น หน้ากากนี้เรียกว่า “Loup” หรือ “Wolf/หมาป่า โรค SLE หรือโรคลูปัส เป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune disease) ที่พบมากในหญิงวัยเจริญพันธุ์ (ร้อยละ 90) โดยมักพบในผู้หญิงอายุช่วง 20-30 ปี พบในผู้หญิงเชื้อชาติผิวดำได้บ่อยที่สุด รองลงไปตามลำดับ คือ ผู้หญิงเอเชีย และผู้หญิงผิวขาว

2.  สาเหตุของโรค SLE  พยาธิกำเนิดยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองอย่างผิดปกติต่อเชื้อโรคหรือสารเคมีบางอย่าง ทำให้มีการสร้างสารภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อเนื้อเยื่อต่างๆ จึงจัดเป็นโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune) ชนิดหนึ่ง อาจพบสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น ยาบางชนิด (เช่น ซัลฟา ไฮดราลาซีน เมทิลโดพา ไอเอ็นเอช คลอร์โพรมาซีน เฟนิโทอิน ไทโอยูราซิล) การถูกแดด การกระทบกระเทือนทางจิตใจ ภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น

นอกจากนี้  ยังสันนิษฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศหญิง (เนื่องจากพบมากในหญิงวัยหลังมีประจำเดือนและก่อนวัยหมดประจำเดือนและพบมากกว่าเพศ 7-10 เท่า)   และกรรมพันธุ์ (พบมากในผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้)

ส่วนกลไกการเกิดโรคเกิดจากมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เกิดภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ของเม็ดเลือดขาวชนิด T และ B lymphocyte ส่งผลให้เกิดการสร้าง autoantibodies ต้านทานเนื้อเยื่อของตนเองและเกิดimmune complex ล่องลอยไปตามกระแสเลือดไปติดตามอวัยวะต่างๆ นอกจากนั้นยังมีความผิดปกติของการกาจัดimmune complex ส่งผลให้เกิดการอักเสบของอวัยวะและเส้นเลือดนำไปสู่การเกิดพยาธิสภาพในหลายอวัยวะ

3.  อาการของโรค SLE  โรคนี้มักพบในวัยหนุ่มสาว อายุ 15-40 ปี เพศหญิงมากกว่าเพศชาย อาการและอาการแสดงอาจแตกต่างกันได้มาก ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการน้อยเช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดข้อ มีผื่นแดงตามใบหน้า ผื่นแพ้แดด ผมร่วง มีแผลในปาก รายที่เป็นมากขึ้นอาจมีอาการซีด ติดเชื้อง่าย มีจุดเลือดออกหรือเส้นเลือดอักเสบ นิ้วซีดเขียวเวลาถูกความเย็น ขาบวม ปัสสาวะผิดปกติ มีความผิดปกติทางไต เหนื่อยหอบ เจ็บหน้าอก ชักหรือมีปัญหาทางระบบประสาทได้และด้วยโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการเกิดขึ้นกับหลายอวัยวะหรือหลายระบบของร่างกาย บางรายอาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน บางรายมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งทีละระบบ

ซึ่งจะมีอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ สามารถแยกได้เป็น อาการทางผิวหนัง ผู้ป่วยมักมีผื่นแดงขึ้นที่บริเวณใบหน้า บริเวณสันจมูก และโหนกแก้ม 2 ข้าง เป็นรูปคล้ายผีเสื้อที่เรียกว่า ผื่นปีกผีเสื้อ (Butterfly rash) หรือมีผื่นแดงคันบริเวณนอกร่มผ้าที่ถูกแสงแดด หรือมีผื่นขึ้นเป็นวง เป็นแผลเป็นตามใบหน้า หนังศีรษะ หรือบริเวณใบหู มีแผลในปาก โดยเฉพาะบริเวณเพดานปาก นอกจากนี้ยังมีผมร่วงมากขึ้น

อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวดข้อ มักเป็นที่ข้อนิ้วมือ ข้อมือ ข้อไหล่ ข้อเข่า หรือข้อเท้า บางครั้งมีบวมแดงร้อนร่วมด้วย

อาการทางไต ผู้ป่วยมักมีอาการบวมบริเวณเท้า 2 ข้าง ขา หน้า หนังตา เนื่องจากมีอาการอักเสบที่ไต รายที่มีอาการรุนแรงจะมีความดันเลือดสูงขึ้น ปัสสาวะออกน้อยลง ไปจนถึงขั้นไตวายได้ในระยะเวลาอันสั้น

อาการทางระบบเลือด ผู้ป่วยอาจมีเลือดจาง มีเม็ดเลือดขาวหรือเกล็ดเลือดลดลง ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย มีภาวะติดเชื้อง่าย หรือมีจุดเลือดออกตามตัวได้

อาการทางระบบประสาท ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการชัก หรือมีอาการพูดเพ้อเจ้อไม่รู้เรื่อง หรือคล้ายคนโรคจิตจำญาติพี่น้องไม่ได้ เนื่องจากมีการอักเสบของสมองหรือหลอดเลือดในสมอง

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการทั่วไปร่วมด้วย เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศรีษะ จิตใจหดหู่ ร่วมได้อาการของโรคมักจะแสดงความรุนแรงมากหรือน้อยภายในระยะเวลา 1-2 ปีแรก จากที่เริ่มมีอาการ หลังจากนั้นมักจะเบาลงเรื่อย ๆ แต่อาจมีอาการกำเริบรุนแรงได้เป็นครั้งๆ   ในปัจจุบันโรคเอสแอลอียังมีวิธีที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการของโรคให้สงบ และดำเนินชีวิตได้ตามปกติหากรักษาได้ทันท่วงที

4.  ปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค SLE

·         เพศ เพราะพบโรคได้สูงในผู้หญิงซึ่งพบมากกว่าผู้ชายถึง 7 เท่า

·         การติดเชื้อบางชนิดทั้งจากแบคทีเรีย และไวรัส บางชนิด

·         การถูกแสงแดดจัดเรื้อรัง

·         การแพ้สิ่งต่างๆ รวมทั้งอาหารบางชนิด

·         การสูบบุหรี่

·         ฮอร์โมนเพศหญิง (เพราะโรคนี้เกิดในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย ถึงประมาณ 7-10 เท่า) และการตั้งครรภ์

·         จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาป้องกันการชัก ยาคุมกำเนิด และยาลดน้ำหนักบางชนิด ซึ่งเมื่อเกิดจากยา หลังหยุดยา โรคมักหายได้

·         อารมณ์ (อาการเครียด)

·         การทำงานหนัก และ การออกกำลังกายเกินควร

·         พันธุ์กรรม โดยเฉพาะผู้ที่ครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรค SLE

อาการที่เสี่ยงที่จะเป็นโรค SLE (ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย)

·         มีไข้ต่ำๆ ไม่ทราบสาเหตุเป็นเวลานาน

·         มีอาการปวดตามข้อ

·         มีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า หรือมีผื่นคันบริเวณที่ถูกแสงแดด

·         มีผมร่วงมากผิดปกติ

·         มีอาการบวมตามขา หน้าหรือหนังตา

5.  แนวทางอาการรักษาโรค SLE
การวินิจฉัยโรคเนื่องจากโรค SLE มีความหลากหลายในอาการและอาการแสดงดังนั้นจึงมีการตั้งเกณฑ์ในการวินิจฉัย ACR criteria โดยอาศัยอาการหรือสิ่งตรวจพบ 4 ใน 11 ข้อ (ความไว 75%, ความจำเพาะ 95%) การวินิจฉัยจำเป็นต้องอาศัยอาการทางคลินิกร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยมักไม่เป็นปัญหาเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการชัดเจน เช่น ผู้หญิงอายุน้อยมาด้วยผื่น malar rash, discoid rash ร่ปวดข้อ อ่อนเพลีย มีไข้ร่วมกับผลตรวจเลือดเข้าได้รับโรค SLE แต่การวินิจฉัยจะมีความลำบากในผู้ป่วยบางกรณีเช่น ผู้ชาย, ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีอาการแสดงเพียงระบบเดียวจำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งได้แก่ CBC, UA, CXR และ ANA ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรคจากโรคอื่น

นอกจากนี้แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยอาศัยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ อีกเช่น ตรวจเลือด พบแอนตินิวเคลียร์แฟกเตอร์ (antinuclear factor) และแอลอีเซลล์ (LE cell) ตรวจปัสสาวะอาจพบสารไข่ขาวและเม็ดเลือดแดง  นอกจากนี้ อาจต้องทำการตรวจเอกซเรย์ คลื่นหัวใจและตรวจพิเศษอื่นๆอีกด้วย  ปัจจุบันยังไม่มียา หรือวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ แต่เป็นการรักษาให้โรคสงบเป็นพักๆ และการรักษาประคับประคองตามอาการ   การรักษาโรคเอสแอลอีจะต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคของผู้ป่วย การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องของผู้ป่วย  และการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ผู้ทำการรักษา

โดยในรายที่เป็นไม่รุนแรง (เช่น มีเพียงไข้ ปวดข้อ ผื่นแดงที่หน้า) แพทย์อาจเริ่มให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ (ยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบ) ถ้าไม่ได้ผลอาจให้ไฮดรอกซีคลอโรควีน (hydroxychloroquine) เพื่อช่วยลดอาการเหล่านี้

ในรายที่เป็นรุนแรง แพทย์จะให้สตีรอยด์ (เช่น เพร็ดนิโซโลน) ในขนาดสูงติดต่อเป็นสัปดาห์หรือหลายเดือน เพื่อลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ เมื่อดีขึ้นจึงค่อยๆ ลดขนาดยาลง และให้ในขนาดต่ำเพื่อควบคุมอาการไปเรื่อยๆ อาจนานเป็นแรมปีหรือจนกว่าจะเห็นว่าปลอดภัยถ้าให้ยาดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล แพทย์จะให้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไซโคลฟอสฟาไมด์ (cyclophasphamide) อะซาไทโอพรีน (azathioprine) เป็นต้น

ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น บวม หายใจหอบ มีอาการผิดปกติทางสมอง เป็นต้น จำเป็นต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล จนกว่าจะปลอดภัย จึงให้ผู้ป่วยกลับบ้านและนัดมาตรวจกับแพทย์เป็นระยะๆ

6.  การติดต่อของโรค SLE   โรค SLE เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของภูมิต้านทานของร่างกาย ที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื้อเยื่อของตนเอง จึงทำให้เกิดอาการต่างๆ ของโรค SLE จึงไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คนแต่อย่างใด (แต่มีรายงานว่าอาจพบการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้)

7.  การปฏิบัติตนเมื่อป่วยเป็นโรค SLE

·         ผู้ป่วยควรทราบว่า โรคนี้มีความรุนแรงแตกต่างกัน บางคนอาจมีอาการเล็กน้อย แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงได้ แม้ว่าผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อย ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการอาจรุนแรงมากขึ้นได้ โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งมีอาการกำเริบและสงบสลับกันไป ดังนั้นควรมารับการตรวจรักษาจากแพทย์โดยสม่ำเสมอ รับประทานยาตามสั่งโดยเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาหรือลดยาเอง เพราะอาจทำให้โรคกำเริบขึ้น

·         เวลาไม่สบายไม่ควรซื้อยากินเอง ควรพบแพทย์และบอกแพทย์ด้วยว่าเป็นเอสแอลอี เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสม และแพทย์จะได้หลีกเลี่ยงยาบางตัวที่อาจทำให้โรคกำเริบขึ้น

·         หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ เนื่องจากผู้ป่วยโรคเอสแอลอีอาจติดเชื้อได้ง่าย และโรคเอสแอลอีอาจกำเริบขึ้นได้

·         ถ้ามีอาการที่บ่งถึงการติดเชื้อ เช่น ไข้สูง ไอ

·         ควรตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ การทำฟัน ถอนฟัน ควรรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนและหลังทำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของแพทย์

·         ถ้ามีอาการผิดปกติ ที่อาจบ่งว่าโรคกำเริบ เช่น ไข้ อ่อนเพลีย ผมร่วง ผื่นผิวหนังเห่อแดง ปวดข้อ ควรมาพบแพทย์ก่อนนัดได้

·         หลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง 10.00-16.00 น. เนื่องจากแสงแดดจะทำให้โรคกำเริบได้ ผู้ป่วยที่แพ้แสงมาก ควรใช้ยากันแดด ใส่หมวก กางร่ม สวมเสื้อแขนยาว ถ้าจะต้องออกไปถูกแสงแดด

·         หลีกเลี่ยงภาวะเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ

·         ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

·         ไม่รับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือไม่สะอาด สถานที่แออัด เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

·         ถ้าโรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากโรคอาจกำเริบขณะตั้งครรภ์ได้ อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยและทารก นอกจากนี้ยาที่รับประทานเพื่อควบคุมโรคในผู้ป่วยบางรายอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ ถ้าโรคสงบแล้ว สามารถตั้งครรภ์ได้แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อน และขณะตั้งครรภ์ควรมารับการตรวจร่างกายอย่างใกล้ชิดมากกว่าเดิม เพราะบางครั้งโรคอาจกำเริบ

·         การคุมกำเนิด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากอาจทำให้โรคกำเริบ สำหรับการใส่ห่วงคุมกำเนิดอาจเพิ่มอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ แนะนำว่าให้ใช้ถุงยางอนามัย

·         ผู้ป่วยที่ได้รับยาลดอาการปวดข้อ (NSAIDs) ถ้ามีอาการปวดท้อง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

·         ดื่มนมสด หรือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงป้องกันกระดูกพรุน

8.   การป้องกันตนเองจากโรค SLE   เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ จึงยังไม่ทราบการป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้  แต่ก็มีวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ด้วยการดูแลรักษาร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดย

·         รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

·         ออกกำลังกายเป็นประจำ

·         พักผ่อนให้เพียงพอ

·         ไม่เครียดจนเกินไป

·         รักษาสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาด เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ

เมื่อมีอาการผิดปกติที่เสี่ยงจะเป็นโรค SLE ข้อใดข้อหนึ่ง (ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว) ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยด่วน

9.   สมุนไพรที่ช่วยป้องกัน/บรรเทาอาการของโรค SLE
พลูคาว (Houttuynia cordata Thunb)  พลูคาว เป็นพืชผักพื้นบ้านของไทย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Houttuynia cordata Thunb มีชื่อท้องถิ่นได้หลายชื่อ เช่น พลูคาว ผักคาวตอง ผักก้านตอง ในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพลูคาว มีองค์ประกอบทางเคมี ที่สำคัญ 6 ประเภทคือ น้ำมันหอมระเหย (Volatile oil), สารประเภท ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids), สารประเภท อัลคาลอยด์ (Alkaloid), สารประเภทกรดไขมัน  (Fatty acids), สารประเภทไฟโตเสตอรอล (Phytosterols) และสารประกอบเคมีอื่นๆ ได้แก่ Polyphenolic acid กับแร่ธาตุ เช่น Fluoride, Potassium chloride, Potassium sulfate  งานวิจัยของพลูคาวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นเรื่องที่น่าสนใจและแปลกใจอย่างยิ่ง เพราะแนวโน้มพบว่า เสริมภูมิคุ้มกัน ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่นโรคเอดส์ ขณะเดียวกัน ก็ลดภูมิคุ้มกันในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไวเกินเช่นโรค SLE หรือภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อตนเอง 

นอกจากนี้เจียวกู่หลานยังช่วยปรับสมดุลของภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่สร้างภูมิคุ้มกันมากจนเกินไป หรือสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ จนทำให้มีอาการข้ออักเสบหรือมีอาการของโรค SLE ที่เป็นโรคเรื้อรังในปัจจุบัน โดยมีผลต่อการทำงานของร่างกายที่สำคัญคือ ช่วยบำรุงการทำงานของอวัยวะภายในให้แข็งแรงและปรับสมดุลการทำงานของระบบประสาท ระบบฮอร์โมนให้เป็นปกติจากความเครียด ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่า สมุนไพรเจียวกู่หลานนั้นเป็น Adaptogen ที่ดีกว่าสมุนไพรชนิดอื่น ๆ 

 

เอกสารอ้างอิง

1.    รศ.นพ.กิตติ โตเต็มโชคชัยการ.โรคเอสแอลดี (SLE).นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่274.คอลัมน์โรคน่ารู้.กุมภาพันธุ์.2545

2.    Patients with SLE .คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.

3.    วิทยา  บุญวรพัฒน์.”เจียวกู่หลาน (ปัญจขันธ์)”หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.หน้า 188.

4.    Tsokos, G. (2011). Systemic lupus erythematosus. N Engl J Med. 365, 2110-2121.

5.    โรคลูปุสหรือเอสแอลดี (SLE).ภาควิชาอาจวิทยา.คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล.มหาวิทยาลัยมหิดล.

6.    Handa, R., Kumar, U., and Wali, J. (2006). Systemic lupus erythematosus and pregnancy http://www.japi.org/june2006/systemic19.pdf [2012, Jan10].

7.    รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ.โรคเอสแอลดี.นิตยสารหมอชาวบ้าน.เล่มที่350.คอลัมน์ สารานุกรมพันโรค.กรกฏาคม.2551

8.    “เจียวกู่หลาน”.โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง.สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง

9.    ศาสดาจารย์เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์.โรคพุ่มพวง/โรคลูปัส/โรคเอสแอลอี (SLE).หาหมอ.com(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.haamor.com/th

10.  แนวทางการรักษาโรคเอสแอลดี.Guideline ราชาวิทยาลัยอายุรแพทย์

11.  Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.