พะยอม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

พะยอม งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พะยอม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ภะยอม, กะยองดง (ภาคเหนือ), สุกรม (ภาคกลาง), ขะยอม, คะยอม (ภาคอีสาน), ยอม (ภาคใต้), ยางหยวก (น่าน), พะยอมทอง (สุราษฎร์ธานี), แคน (ร้อยเอ็ด, เลย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Shorea roxburghii G. Don
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Shorea talura Roxb.
ชื่อสามัญ White Meranti
วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

ถิ่นกำเนิดพะยอม

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของพะยอมอยู่ในทวีปเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในอินเดีย บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย พบขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติทุกภาคของประเทศ โดยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณทั้งแบบแล้ง และชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 60-1,200 เมตร ส่วนการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติของพะยอมที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในเขตอินเดียตะวันออก พม่า ไทย คาบสมุทรอินโดจีน มาเลเซียรวมไปถึงศรีลังกา และฟิลิปปินส์ อีกด้วย ซึ่งพะยอมจะออกดอกระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ โดยจะผลัดใบหมด หรือ เกือบหมดก่อนออกดอก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบว่าพะยอมเป็นพันธุ์ไม้ที่กำลังลดน้อยลงไปเรื่อยๆ อีกด้วย


ประโยชน์และสรรพคุณพะยอม

  1. แก้ลม
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ
  3. ช่วยลดไข้
  4. แก้ท้องร่วง
  5. ช่วยขับปัสสาวะ
  6. แก้ท้องเดิน
  7. แก้ท้องเสีย
  8. แก้อาการเป็นพิษ
  9. แก้ลำไส้อักเสบ
  10. ใช้ฝนทาสมานบาดแผล
  11. ใช้สมานแผลในลำไส้
  12. ใช้สมานแผลในกระเพาะอาหาร
  13. ใช่ฝนชำระแผล
  14. รักษาผดผื่นคัน
  15. ใช้เป็นยาสมานแผล
  16. ทำยาเย็นแก้ไข้
  17. แก้ร้อนใน

           พะยอมเป็นพันธุ์ไม้ที่ให้ประโยชน์แก่มนุษย์หลายประการอาทิเช่น ประโยชน์ด้านการใช้งานเนื้อไม้โดยเนื้อพะยอมเหนียวแข็งแรงคล้ายไม้ตะเคียน เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อน ทิ้งไว้นานจะเป็นสีน้ำตาล ใช้ก่อสร้างบ้าน ไม้หมอนรองรถไฟ ซี่ล้อเกวียน เรือ ครกกระเดื่อง กระเบื้องไม้ เป็นต้น หรือ ใช้ทำอุปกรณ์การเกษตร เครื่องใช้ในครัวเรือน และในปัจจุบันยังนิยมนำเนื้อไม้พะยอมมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อีกด้วย ประโยชน์ด้านอาหาร ดอกอ่อนของพะยอมสามารถนำมารับประทานสดได้ หรือนำมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริก หรือจะใช้ผัดกับไข่ ชุบไข่ทอด หรือ จะนำมาแกงส้มก็ได้ อีกทั้งเปลือกต้นพะยอมยังสามารถใช้รับประทานกับใบชะพลูแทนหมากได้ อีกด้วย นอกจากนี้เปลือกหรือชิ้นไม้ เล็กๆ ของพะยอมยังใช้ใส่เครื่องหมักดอง หรือ กระบองรองรับน้ำตาลโตนด และมะพร้าวเพื่อกันเสีย ได้เช่นกัน นอกจากนี้พะยอมยังเป็นต้นไม้แข็งแรงทนทาน เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ ให้ร่มเงาตามบ้านเรือน หรืออาคารต่างๆ เพราะ ทรงพุ่มงดงามอายุยืนยาว ออกดอกจะออกพร้อมกันทั้งต้นสวยงาม และมีกลิ่นหอมอีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้พะยอม

ใช้แก้ลำไส้อักเสบ ใช้สมานลำไส้ สมานแผลในกระเพาะอาหาร แก้อาการท้องเดิน แก้อาการท้องเสีย โรคท้องร่วง อาหารเป็นพิษโดยใช้เปลือกต้นพะยอมต้มกับย้ำดื่ม ใช้บำรุงหัวใจ ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยลดไข้ โดยใช้ดอกพะยอมมาตากให้แห้ง แล้วนำมาต้มกับน้ำดื่มหรือใช้ดอกพะยอมตากแห้งมาบดให้ละเอียดชงกับน้ำร้อนดื่ม ใช้รักษาบาดแผลทั้งแผลสด และแผลอักเสบเป็นหนองโดยใช้เปลือกต้นพะยอมมาฝนแล้วนำมาทาบริเวณแผลที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของพะยอม

พะยอมจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง-ใหญ่ สูง 15-30 เมตร ลำต้นตรงเปลือกหุ้มลำต้นแตกเป็นสะเก็ดหนาสีน้ำตาลหรือเทาแตกตามยาว ลำต้นสามารถมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางได้มากถึง 3 เมตร มีกิ่งเป็นชั้นๆ ทรงพุ่มโปร่ง เรือนยอดเป็นพุ่มกลม กิ่งอ่อนเกลี้ยง ส่วนเนื้อไม้จะเป็นเนื้อไม้แข็ง เนื้อไม้มีสีเหลืองอ่อนหรืออมน้ำตาล และหากทิ้งไว้นานจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มักมีเส้นสีดำ หรือ สีน้ำตาลเข้มเป็นเส้นพาดผ่าน ใบ เป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน โคนมน ปลายมน หรือ หยักเป็นติ่งสั้นๆ กว้าง 3-7.5 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา เป็นมัน แผ่นใบเกลี้ยงหรือมีเกล็ดด้านล่าง ขอบใบเป็นคลื่น ใบอ่อนสีเขียวอ่อนสดใส ใบแก่สีเหลืองก่อนหลุดร่วง ก้านใบยาว 1-2.5 เซนติเมตร มีขนสั้นๆ สีน้ำตาล เส้นใบข้างโค้ง 14-18 คู่ ดอกเป็นดอกสมบูรณืเพศโดยออกเป็นช่อขนาดใหญ่ ที่ปลายกิ่งแขนงซึ่งใน 1 ช่อ จะประกอบด้วยช่อย่อยหลายช่อ ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร และในช่อย่อยจะประกอบด้วยกลุ่มดอกที่ออกตามแขนงช่อ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว หรือ เหลืองอ่อน ประกอบด้วยก้านดอกขนาดเล็ก สีเหลือง ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ถัดมาเป็นกรวยดอกสีเหลืองเช่นกัน และถัดมาเป็นกลีบดอก 3 กลีบ แต่ละดอกมีลักษณะเรียวยาว และบิดตัว ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 15 อัน ช่อดอกเมื่อบานจะส่งกลิ่นหอม และสามารถส่งกลิ่นหอมได้ไกล ผลเป็นผลแห้งมีปีกลักษณะเป็นรูปกระสวยกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง ปีกมี 5 ปีก โดยเป็นปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร และปีกสั้นอีก 2 ปีก มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เป็นเมล็ดเกลี้ยวปลายมีติ่งแหลม

พะยอม

การขยายพันธุ์พะยอม

พะยอมสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่งแต่วิธีที่นิยมในการขยายพันธุ์คือการเพาะเมล็ดเนื่องจากพะยอมเป็นพันธุ์ไม้ที่มีความสูงของต้นมาก อีกทั้งในปัจจุบันนี้ยังเป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่เป็นที่นิยมในการปลูกเพราะต้องใช้พื้นที่กว้าง และเป็นพันธุ์ไม้ที่โตช้า ออกดอกเพียง 1 ครั้ง/ปี จึงทำให้ไม่ค่อยเป็นที่สนใจ ของเกษตกร หรือ ที่นิยมไม้หอม ส่วนการขยายพันธุ์ และแพร่กระจายพันธุ์ ในปัจจุบันจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติตามป่าต่างๆ มากกว่าการปลูกโดยมนุษย์

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของเปลือกต้นของพะยอมที่นิยมนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรไทย พบสารในกลุ่มแทนนิน (Tannin) ได้แก่ pyrogallol และ Catechol นอกจากนี้ ยังพบสารอื่นๆ อีกเช่น resveratrol, vaticanol A, B, C และ D เป็นต้น ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าพบสาร ชนิดใหม่ที่มีการค้นพบซึ่งอยู่ในระหว่างการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัช ได้แก่ Phayomphenol AI, Phayomphenol A2, 1’S-dyhydrophayomphenol A2, Phayomphenol B1 และ Phayomphenol B2 อีกด้วย

โครงสร้างพะยอม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพะยอม

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของเปลือกต้นพะยอมระบุว่า มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเอทานอล 70% และสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นพะยอมมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Escherichia coli ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเสียได้ ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าจากการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดหยาบจากเปลือกพะยอมพบว่าสารสกัดจากเปลือกพะยอมมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Colletotrichum sp. ที่แยกได้จากพริก และมะละกอด้วยวิธี  tissue transplanting technique โดยทำการเลี้ยงเชื้อราที่คัดแยกได้บนอาหารเลี้ยงเชื้อราสูตร potato dextrose agar ที่ผสมสารสกัดในแต่ละความเข้มข้น (5, 10, 15 และ 20 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร) บ่มที่อุณหภูมิห้องนาน 7 วัน จากการศึกษาพบว่าทุกระดับความเข้มข้นของสารสกัดหยาบจากเปลือกต้นพะยอมทั้งสด และแห้งนำมาสกัดด้วย 95% เอทานอลมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเส้นใยเชื้อรา Colletotrichum capsici และ C. gloeosporioides ได้ที่ระดับความเข้มข้น 400 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้งการเจริญได้ดีที่สุด (100%) นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านเบาหวานจากเปลือกต้นพะยอม พบว่าสารสกัดที่ได้จากเปลือกพะยอมฤทธิ์ต้านเบาหวาน โดยสารสกัดหยาบจากเมทานอลมีฤทธิ์ในการยับยั้ง plasma glucose elevation ในหนูทดลอง และจากสารสกัดบริสุทธิ์ที่แยกได้พบว่า (-)-hopeaphenol, hemsleyanol D, (+)-α-viniferin, (-)-balanocarpol ออกฤทธิ์ในการยับยั้ง plasma glucose elevation ในหนูทดลองและสารในกลุ่ม oligostilbenoids บางชนิดมีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งกิจกรรมของ α-glucosidase ซึ่งเป็นข้อสนับสนุนในกรณีที่สารสกัดบริสุทธิ์ในกลุ่ม oligostilbenoids บางชนิดมีฤทธิ์ไปยับยั้ง plasma glucose elevation ในหนูทดลอง และสารกลุ่มนี้ยังมีฤทธิ์ปานกลางในการยับยั้งกิจกรรมของ rat lens aldose reductase นอกจากนี้สารสกัดจากเปลือกพะยอมมีฤทธิ์ anti-hyperlipidemic  โดยที่ (-)-hopeaphenolและ (+)-isohopeaphenol  มีฤทธิ์ในการยับยั้ง plasma triglyceride elevation ที่ระดับ 200 mg/kg, p.o. และมีฤทธิ์ในการยับยั้งกิจกรรมของ pancreatic lipase มีค่า IC50 32.9 และ 26.5 μM ตามลำดับ

การศึกษาทางพิษวิทยาของพะยอม

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้พะยอมในการบำบัดรักษาโรคตามสรรพคุณที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการศึกษาทางพิษวิทยา รวมถึงขนาด และปริมาณในการใช้ที่ชัดเจน และในการใช้ตามตำราต่างๆ นั้น ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดีที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง พะยอม
  1. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ. 2546. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัทจิราวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯ. 336 หน้า (147).
  2. เดชา ศิริภัทร. พะยอม ความหอมแห่งพงไพร จากใต้จรดเหนือ. คอลัมบ์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่นที่ 276. เมษายน 2545.
  3. นิธิยา รัตนปานนท์. 2546. สารประกอบฟีนอลิก. สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, กรุงเทพฯ, 256  หน้า. 
  4. นิสิทธิ์  ศรีวิรัตน์. 2536. ประสิทธิภาพการการยับยั้งจุลินทรีย์ในน้ำตาลตะโหนดสดโดยการใช้สารสกัดจากไม้เคี่ยม และไม้พะยอม. ปัญหาพิเศษวิทยาศาสตรบัณฑิต.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  5. เพชรนิยม ลัทธิรมย์และคณะ. 2555. ฤทธิ์ต้านเชื้อราของสารสกัดหยาบจากเปลือกพะยอมในการต้านเชื้อรา Colletotrichum sp. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต. สาขาวิชา ชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.
  6. พะยอม. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http:// rrr. Phargarden. Com/main.php? action=viewpage&pid= 248.
  7. พะยอม (white meranti) ประโยชน์และสรรพคุณพะยอม. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http:// www.puechkaset.com
  8. Morikawa T, Chaipech S, Matsuda H, Hamao M, Umeda Y, Sato H, Tamura H, Kon’I H, Ninomiya K, Yoahikawa M, Pongpiriyadacha Y, Hayakawa T, Muraoka O.  2012b. Anti-hyperlipidemic constituents from the bark of Shorea roxburghii.   J. Nat  Med. 10: 1007/s11418-011-0619-6.
  9. Morikawa T, Chaipech S, Matsuda H, Hamao M, Umeda Y, Sato H, Tamura H, Kon’I H, Ninomiya K, Yoahikawa M, Pongpiriyadacha Y, Hayakawa T, Muraoka O.  2012a. Antidiabetogenic oligostilbenoids and 3-ethyl-4-phenyl-3,4-dihydroisocoumarins from the bark of Shorea roxburghii.  Bioorganic & Medicinal Chemistry. 20 : 832–840.