ใบระบาด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ใบระบาด งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ใบระบาด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่ ผัดระบาด, เมืองมอน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Argyruia nervosa (Burm.f) Bojer
ชื่อสามัญ Baby Hawaiian Woodrose, Baby Wood Rose, Morning Glory
วงศ์ CONVOLVOLACEAE

ถิ่นกำเนิดใบระบาด

ใบระบาดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย อาทิเช่น อินเดีย, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา และมาเลเซีย เป็นต้น แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าใบระบาดเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศอินเดีย โดยมีชื่อทางภาษาสันสกฤตว่า (Vidhara) ส่วนในปัจจุบันนั้นใบระบาด ได้มีการกระจายพันธุ์ไปทั่วโลก ซึ่งจะพบได้ในพืชที่รกร้างที่มีแสงแดดจัด และดินร่วนซุย โดยจะพบได้มากในเกาะฮาวายและประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน

ประโยชน์และสรรพคุณใบระบาด

  1. รักษาผื่นคัน
  2. รักษาโรคผิวหนังต่างๆ
  3. ใช้รักษาพอกฝี
  4. รักษาะบาดแผล
  5. แก้หูอักเสบ
  6. ใช้ขับน้ำเหลือง
  7. ช่วยบำรุงกำลัง
  8. แก้ไขข้ออักเสบ
  9. ช่วยขับปัสสาวะ
  10. ใช้กระตุ้นกำหนัด
  11. รักษาโรคอ้วน
  12. แก้แผลอักเสบ

           นอกจากนี้ยังมีการนิยมนำต้นใบระบาด มาปลูกเป็นไม้ประดับ ตามอาคารสถานที่ต่างๆ หรือ ตามซุ้มประตู สวนสาธารณะเนื่องจากมีใบเป็นทรงพุ่ม และมีดอกสีสันสวยงาม อีกด้วย 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

การใช้สมุนไพรใบระบาด ในตำรายาไทยได้มีการระบุถึงรูปแบบ และขนาดวิธีใช้ ดังนี้ ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน โดยใช้ใบสด 2-3 ใบ นำมาล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด ใช้ทาบริเวณที่เป็นโรคผิวหนัง วันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 3-4 วันจะเห็นผล ใช้พอกฝีโดยใช้ใบตำให้ละเอียด ทา หรือ พอกวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น จนอาการทุเลาลง ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง รักษาโรคอ้วนที่เกิดจากการสะสมของไขมัน ขับปัสสาวะ กระตุ้นกำหนัด ขับน้ำเหลืองเสียโดยใช้รากใบระบาด พอประมาณมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของใบระบาด

ใบระบาด จัดเป็นพรรณไม้เถาในวงศ์ผักบุ้ง (Convolvulaceae) ลำต้น หรือ เถาสามารถยาวได้ถึง 10 เมตร โดยตามเถาจะมีขนสีขาวปกคลุม ทุกส่วนและยังมียางสีขาวในทุกๆ ส่วนของต้น (เถา) อีกด้วย ใบเป็นแบบเดี่ยวลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนใบมนเว้า ออกแบบเรียงสลับ ปลายใบแหลม หลังใบเรียบเป็นสีเขียวเข้ม ด้านล่างของใบมีขนนุ่มสีขาวคล้ายเส้นไหมขึ้นปกคลุม มีขนาดกว้างประมาณ 9-20 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ และข้อต้นโดยช่อหนึ่งจะมีดอกย่อยประมาณ 3-5 ดอก ซึ่งจะเป็นสีชมพูอมม่วง รูปกรวย ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายบาน และหยักเป็นแฉกตื้นๆ ตรงกลางดอกข้างในหลอดเป็นสีม่วงเข้ม เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร และมีใบประดับเป็นรูปไข่ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ มีขนาดไม่เท่ากัน ผลออกเป็นผลสด รูปทรงกลมสีน้ำตาลอมเหลือง มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายผลมีติ่ง ส่วนเมล็ดเล็กมีสีดำ

ใบระบาด

ใบระบาด

การขยายพันธุ์ใบระบาด

ใบระบาด เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัด และชอบดินส่วนซุยที่มีความชื้นปานกลาง ซึ่งสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่น การตอนกิ่ง การปักชำ การเพาะเมล็ด และการทาบกิ่ง เป็นต้น ส่วนวิธีที่เป็นผลดี และเป็นที่นิยม คือ การตอนกิ่ง สำหรับการปลูกขนาดหลุมที่ใช้ปลูกควรให้มีความ กว้างxยาวxลึก ประมาณ 30 เซนติเมตร และผสมดินที่ปลูกด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักในอัตรา 2:1 และควรทำซุ้ม ทำร้าน ทำค้าง หรือ ปลูกริมรั้ว เพื่อให้สามารถเกาะเลื้อยไปได้ นอกจากนี้ในแต่ละปีควรให้ปุ๋ยประมาณ 4-5 ครั้ง โดยใช้ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักใส่ประมาณต้นละ 0.5-1 กก. และควรให้น้ำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง

องค์ประกอบทางเคมีใบระบาด

สำหรับองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของสมุนไพรใบระบาดนั้น จากการศึกษาค้นคว้ายังไม่ค่อยมีการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของพืชชนิดนี้มากนัก ดังนั้นจึงยังไม่สามารถนำมาเสนอในบทความนี้ได้ ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้าพบข้อมูลเพียงว่า เมล็ดของใบระบาด มีสารในกลุ่ม ergotalkaloid ได้แก่ lysergic acid amide (LSA) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โดยสามารถทำให้ประสาทหลอน และปรับเปลี่ยนการมองเห็นของสีได้ ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ในส่วนของเมล็ดใบและผลของพืชชนิดนี้จะมีสาร cyanogenic glycosides ซึ่งมีความเป็นพิษเช่นเดียวกัน

โครงสร้างใบระบาด 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของใบระบาด

มีข้อมูลผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรใบระบาด พบว่า สารสกัดด้วยน้ำของใบระบาดมีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูแรท และยังมีรายงานการใช้ใบระบาดตำ และพอกบริเวณแผลในคนไข้ พบว่าทำให้แผลแห้ง และหายในที่สุด ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าใบระบาดมีส่วนทำให้แผลแห้ง และหายเร็วขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของสมุนไพรใบระบาด พบว่า มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ต้านเชื้อรา ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อลำไส้ ลดความดันโลหิต ส่งเสริมปริมาณ และการเคลื่อนไหวของอสุจิ และยังมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิ filarial อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของใบระบาด

มีการศึกษาทางพิษวิทยาของสมุนไพรใบระบาด พบว่าส่วนที่เป็นพิษของสมุนไพร ดังกล่าว ได้แก่ส่วนของใบ ผล และเมล็ด โดยพบว่ามีสาร Lysergic acid amide (LSA) และ Cyanogenic glycosides ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดพิษ เป็นส่วนประกอบ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ใบของใบระบาด เป็นสมุนไพรที่ใช้เฉพาะภายนอกห้ามรับประทาน เนื่องจากหากรับประทานเข้าไป อาจทำให้คลุ้มคลั่ง ตาพร่า มึนงง ส่วนเมล็ดก็มีความเป็นพิษเช่นกันโดยหากรับประทานเข้าไป จะทำให้ประสาทหลอนได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง ใบระบาด
  1. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
  2. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ใบละบาท” หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย. หน้า 443-444.
  3. พร้อมจิต ศรลัมพ์, วงศ์สถิต ฉั่วกุล, สมภพ ประธานนุรารักษ์. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม 1 สมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. กรุงเทพฯ: บริษัทประชาชน จำกัด. 2548.
  4. ธาตรี ผดุงเจริญ, สุชาดา สุขสร่อง. พืชสมุนไพรจากไม้ดอกม่วง. ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 71 หน้า.
  5. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, นิจศิริ เรืองรังสี, กัญจนา ดีวิเศษ. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัท สามเจริญพานิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด. 2549.
  6. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ใบระบาด (Bai Rabat)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 168.
  7. นันทวัน บุญยะประภัศร, อรนช โชคชัยเจริญพร, บรรณาธิการ. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน. กรุเทพฯ: บริษัท ประชาชน จำกัด. 2543.
  8. ใบระบาด. กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants-data/herbs/herbs-02_5.htm