พรูเนติน

พรูเนติน

ชื่อสามัญ Prunetin, Prunusetin, 4′,5-Dihydroxy-7-methoxyisoflavone

ประเภทและข้อแตกต่างของพรูเนติน

พรูเนติน (Prunetin) จัดเป็นสารไอโซฟลาโวน (isoflavone) ชนิดหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มสารประกอบอินทรีย์ที่เรียกว่า 7-o-methylisoflvones ซึ่งคือไอโซฟลาโวนที่มีหมู่เมทอกซิติดอยู่กับอะตอม C ดังนั้นพรูเนติน จึงถือเป็นฟลาโวนอยด์ ชนิดหนึ่งและพรูเนตินมีลักษณะ (Prunetin) เป็นสารประกอบที่มีรสขม โดยสารดังกล่าวถูกแยกได้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1910 ซึ่งถูกแยกออกจากสาร genistein มีสูตรทางเคมี คือ C16 H12 O5  มีมวลโมเลกุล 284.26 g/mol มีจุดเดือดที่ 546.5 องศาเซลเซียส มีจุดหลอมเหลวที่ 239.5 องศาเซลเซียส สำหรับประเภทของพรูเนตินนั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของพรูเนติน

พรูเนติน (Prunetin) เป็นสารฟลาโวนอยส์ในกลุ่ม ไอโซฟลาโวน (isoflavone) ที่สามารถพบได้ในส่วนต่างๆ ของพืชธรรมชาติหลายชนิด อาทิเช่น กวาวเครือแดง (Butea superba Roxb.) โสน (Sesbania javanica Miq) เพกา (Oroxylum indicum (L.) Benth.ex Kurz) ชะเอมเทศ (Glycyrrhiza glabra Linn) ประดู่บ้าน (Pterocarpus indicus willd.) เป็นต้น

พรูเนติน

พรูเนติน

ปริมาณที่ควรได้รับจากพรูเนติน

สำหรับขนาดและปริมาณของพรูเนติน (Prunetin) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้น จากการศึกษาค้นคว้าพบว่าในปัจจุบัน ยังไม่มีการกำหนดขนาดและปริมาณ หรือเกณฑ์การใช้สารดังกล่าว แต่อย่างใด ส่วนในการใช้ประโยชน์จากสารพรูเนติน (Prunetin) ในปัจจุบันจะเป็นการใช้ในรูปแบบ สมุนไพร จากพืชที่เป็นแหล่งของสารดังกล่าวมากกว่าการสกัดออกมาใช้เป็นสารเดี่ยว เนื่องจากยังไม่มีรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกรวมถึงข้อมูลด้านความปลอดภัยที่มากพอ

ประโยชน์และโทษของพรูเนติน

ด้านการใช้ประโยชน์จากสารพรูเนติน (Prunetin) นั้นโดยส่วนมากแล้วจะเป็นการใช้ประโยชน์ในรูปแบบอาหารและยาสมุนไพรจากพืชที่เป็นแหล่งของสารดังกล่าว เช่น ผงกวาวเครือแดง ผงรากชะเอมเทศ แก่นต้นเพกา แก่นต้นประดู่ และดอกของโสน เป็นต้น โดยในการใช้ประโยชน์จากสารพรูเนตินในรูปแบบดังกล่าว อาจนำไปใช้ได้ทันที หรืออาจนำไปเป็นส่วนผสมตัวยาอื่นๆ ตามตำรับตำรายาต่างๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่า สารพรูเนติน (Prunetin) มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านอนุมูลอิสระ ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบ ลดภาวะเครียด ต้านข้อเข่าเสื่อม และต้านมะเร็ง ได้อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของพรูเนติน

มีรายงานผงการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรูเนติน (Prunetin) ในหลอดทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า สารสำคัญที่พบในดอกโสนได้แก่ genistein prunetin , 4-hydroxycinnamic acid และ quercetin 3-2 (G) -rhamnosyl-rutinoside ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารฟลาโวนอยด์และที่สำคัญมีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ที่อาจพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง ป้องกันโรคเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกาย มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

            นอกจากนี้สารกลุ่ม flavonoids และ phenolic acid ในโสนที่ประกอบด้วยสารบริสุทธิ์ 5 ชนิด ได้แก่ β-sitosterol, prunetin, genistein, 4-hydroxycinnamic acid และ sitosterol-3-O-β-D-glucopyranosida ยังอาจจะช่วยรักษาสมดุลเมตาบอลิซึมของเซลล์ เพราะเมื่อเซลล์ติดเชื้อจะทำให้เกิดการอักเสบ เนื่องจากอนุมูลอิสระปริมาณมากจะไปทำลายสารชีวโมเลกุล จึงไปเพิ่มปริมาณสารอนุมูลอิสระในร่างกายให้เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือกขาดในระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอทำให้ร่างกายติดเชื้อโรคจากแบคทีเรียฉวยโอกาสได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

            ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งได้มีการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในดอกโสนด้วยวิธี DPPH พบว่าสารที่แสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ คือ genistein, prunetin และ 4-hydroxycinnamic acid และเมื่อทำการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ โดยการทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ โดยนำสารสกัดหยาบของดอกโสน และใบมาทดสอบ ผลการทดสอบพบว่ามีเพียงสารสกัดของใบโสน ที่แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด Staphylococous aureus และ methiclin-resistant S. aureus อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาวิจัยในการแยกสารหาโครงสร้างองค์ประกอบทางเคมีของหัวกวาวเครือแดงและการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าสารเคมีที่พบคือ carpin, medicarpin และยังพบสารกลุ่ม isoflavone อีก 4 ชนิดได้แก่ formononetin, 7,4-dimethoxyisoflavone, prunetin และ 7-hydroxy,4-6-dimethoxyisoflavone ส่วนผลการทดสอบของสาร formononetin และ prunetin นั้นพบว่าเป็นพิษต่อเซลล์ KB ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 37.3 ± 2.5 และ 71.1 ± 0.8 ไมโครโมล (μM) ตามลำดับและมีพิษต่อเซลล์ BC ซึ่งมีค่า IC50 เท่ากับ 32.7 ± 1.5 และ 47.3± 0.3 ไมโครโมล (μM) ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของพรูเนติน เช่น ต้านการอักเสบ ต้านโรคอ้วน ต้านภาวะเครียด ช่วยในการย่อยโปรตีน และมีส่วนช่วยในการยับยั้งเอนไซม์ aldehyde dehydrogenase ในตับของมนุษย์ได้อีกด้วย

โครงสร้างพรูเนติน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลรายงานการศึกษาวิจัยที่ได้ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ที่น่าสนใจของพรูเนติน (Prunetin) แต่อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาวิจัยที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ก็เป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ซึ่งยังขาดการศึกษาวิจัยทางคลินิก และการศึกษาด้านข้อมูลความปลอดภัย รวมถึงขนาดและปริมาณในการใช้สารดังกล่าวในมนุษย์ แต่สำหรับการใช้สารพรูเนตินในรูปแบบของอาหารและยาสมุนไพร จากพืชที่เป็นแหล่งของสารดังกล่าว ก็ยังสามารถใช้ได้ตามขนาดและปริมาณที่กำหนดไว้ในตำรับ ตำรายานั้นๆ

เอกสารอ้างอิง พรูเนติน
  1. ปิยะดา พันธุ์สระน้อย, ชัชวิน เพชรเลิศ, วิสาตรี คงเจริญสุนทร, ปริมาณฟินอลิกรวม ฤทธิ์ต้านอนุมูอิสระและฤทธิ์การยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของส่วนสกัดจากโสน.การประชุมวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 56 (เล่มที่ 2).30 มกราคม- 2 กุมภาพันธ์ 2561 .หน้า 1-8
  2. เกรียงศักดิ์ เอื้อมเก็บ.การหาขนาดที่เหมาะสมและทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดฟลาโวนอยด์ จากหัวกวาวเครือแดงในหนูทดลองเพศผู้.รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี. 68 หน้า
  3. Sheikh , S,; Weiner ,H. Allosteric inhibition of human liver aldehyde dehydrohenase by the isoflavone pruetin. Biochem Pharmacol 1997.53.471-478.
  4. Laladhas ,K.P., Cheriyan. V. T., Puliappadamba,V.T.,Bava,S.V.,Unnithan,R.G.,Vijayammal.P.L.,and Anto, R.J. 2010.A novel protein fraction from Sesbania grandiflora shows potential anticamcer and chemo preventivn efficacy, in vittro and in vivo Joumal of Cellular and Molecular Mesicine 3(14):636-646.
  5. Piegholdt S.; Rimbach , G,; Wagner, A.E. The phytoestrogen prunetin affects body composition and improves fitness and  lifespan in male Drosophila melanogaster FASEB J Off Publ Fed Am Soc Exp Biol 2016 ‘30’948-958.
  6. Lee J,H., Cho, S.,Palk,H.D., Choi C,W., Nam K.T., Hwang,S.G. and Kim, S.G. and Kim, S.K. 2014. Investigaation on antibacterial and antioxidant activities,phenolic and flavonoid of some thai edible plants as an altemative for antlviotics. Asian-Australasian joumal of Animal Sciences 27(10):1461-1468.
  7. Ahn, T.G.;Yang.G.;Lee, H.M.; Kim M.D.; Choi H.Y.; Park K.S;Lee. S.D.; Kook Y.B.;An H.J. Molecular mechanisms underlying the anti-obtential potential of prunetin an O-methylated isoflavone Biochem Pharmacol 2013.85,1525-1533.
  8. Ngamrojanavanich, N., Loontaisong, A., Pengpreecha, S., Cherdshewasart, W., Pornpakakul, S., Pudhom, K., Roengsumran, S. and Petsom, A., 2007. Cytotoxic constituents from Butea superba Roxb. J Ethnopharmacol. 109, 354-358.
  9. Tangvarasittichal, S., Sriprang,N.,Hamroongroj, T. andChangbumrung,S.2005.Antumutagenic activity javanica Miq flower DMSO extract and its major flavonoid glycoside The Southeast Asian Joumal of Trpoical Medicine and Public Health 36(6);1543-1551.