คำเงาะ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

คำเงาะ งานวิจัยและสรรพคุณ 34 ข้อ

ชื่อสมุนไพร คำเงาะ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น คำไทย, คำแสด, คำแฝด (ภาคกลาง), มะกายหยุม, แสด (ภาคเหนือ), ชาตี (ภาคอีสาน), ดอกชาด, ชาด (ภาคใต้), หมากมอง (ไทยใหญ่), ส้มปู้, จำปู้ (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bixa orellana Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ B. purpurea Sweet, Bixa americana Poir., B. odorata Ruiz & Pav. ex G.Do, B. katangensis Delpierre, B. upatensis Ram.Goyena, Orellana americana (Poir.) Kuntze
ชื่อสามัญ Anatto tree, Lipstick tree
วงศ์ Bixaceae

ถิ่นกำเนิดคำเงาะ 

คำเงาะ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของประเทศแถบทวีปอเมริกาใต้ อเมริกากลาง แล้วจึงได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยังทางเหนือ และใต้ เช่น บราซิล เม็กซิโก อาเจนตินา และทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาเป็นต้น ปัจจุบันพบแพร่กระจายทั่วโลกในประเทศเขตร้อน และอบอุ่น ในทวีปอเมริกาใต้ ประเทศในอเมริกากลาง และเอเชีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในป่าเบญจพรรณ และป่าดิบแล้ว

ประโยชน์และสรรพคุณคำเงาะ

  • ช่วยขับพยาธิ
  • เป็นยาระบายท้อง
  • ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
  • แก้ขัดตามข้อ
  • แก้อัมพฤกษ์อัมพาต
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • บำรุงน้ำเหลือง
  • ช่วยบำรุงโลหิตระดู
  • ช่วยบำรุงสมอง
  • ช่วยบำรุงประสาท
  • แก้โลหิตจาง
  • ช่วยระงับความร้อนในร่างกาย
  • แก้โรคบิด
  • แก้ไตพิการ
  • ช่วยขับระดู
  • แก้ดีพิการ
  • แก้พิษ 
  • ใช้เป็นยาสมานแผล
  • รักษาอาการแสบร้อน
  • แก้คันตามผิวหนัง
  • แก้โรคหนองใน
  • แก้ไข้ทับระดู
  • รักษาอาการเจ็บคอ
  • แก้โรคดีซ่าน
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้งูกัด
  • แก้ไข้
  • แก้ลม
  • บำรุงหัวใจ
  • แก้ไข้มาลาเรีย
  • รักษาพิษจากมันสำปะหลัง และสบู่แดง
  • แก้ปวดบวม
  • แก้อัมพฤกษ์อัมพาต
  • แก้ปวดมดลูกหลังคลอด


รูปแบบและขนาดวิธีใช้คำเงาะ

ใช้บำรุงเลือด บำรุงน้ำเหลือง บำรุงประสาท บำรุงสมอง บำรุงโลหิตระดู บำรุงหัวใจ แก้บิด แก้ไตพิการ ดีพิการ โดยใช้ดอกคำเงาะ แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ชงแบบชาก็ได้ ใช้ลดไข้ บำรุงเลือด แก้หนองใน โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงโลหิต ลดไข้ ขับปัสสาวะ แก้บิด แก้เจ็บคอ แก้ไข้ทับระดู แก้โรคดีซ่าน โดยนำใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ แก้ลม แก้หนองใน ขับปัสสาวะ ขับระดู ขับเสมหะ แก้บิด แก้ไข้ทับระดู โดยใช้เมล็ด มาทุบแล้วต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดบวมตามร่างกาย แก้ปวดมดลูกหลังคลอง โดยใช้เมล็ดมาตำแล้วใช้พอก หรือ ทาบริเวณที่เป็น (กรณีปวดมดลูกให้พอกที่หัวหน่าว) ใช้แก้ขัดตามข้อ แก้อัมพฤกษ์อัมพาต โดยใช้น้ำมันจากเมล็ด มาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของคำเงาะ

คำเงาะ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนาทึบ แตกกิ่งก้านสาขามาก และแตกเป็นพุ่มโปร่ง ส่วนเปลือกลำต้นเรียบสีน้ำตาลปนเทา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงเวียนรอบกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบกว้างใบมนเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ หรือ อาจเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-40 เซนติเมตร และยาวประมาณ 11-10 เซนติเมตร แผ่นใบเกลี้ยงบางนุ่ม ใบอ่อนเป็นสีแดง แต่เมื่อแก่จะมีสีเขียวเหลือบแดง ส่วนก้านใบยาว 4-10 เซนติเมตร ดอก ออกเป็นช่อตั้งเป็นช่อเชิงหลั่น หรือ ช่อแยกแขนงบริเวณปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อจะมีดอก 5-10 ดอก โดยกลีบดอกเป็นรูปไข่ยาว มีสีขาวแกมชมพู หรือ สีชมพูอ่อน จำนวน 5 กลีบ ส่วนกลีบรองดอกมีขนาดเล็ก สีเขียว และมีต่อมอยู่ที่ฐาน ตรงกลางมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก มีอับเรณูโค้งงอ มีช่องเปิดด้านบน รังไข่มีขนรุงรัง มีเกสรตัวเมีย 1 อัน ยาว 1.5 เซนติเมตร ภายในมีช่อง 1 ช่อง มีไข่อ่อนจำนวนมาก ผลเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม เปลือกผลเป็นร่องตามแนวยาว เปลือกผลเป็นรองตามยาว เปลือกผลมีสีแดง และมีขนสั้นสีแดงคล้ายผลเงาะปกคลุมแน่น เมื่อผลแก่ ผลจะปริแตกออกเป็น 2 ชนิด ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก เมล็ดมีจำนวนมากลักษณะกลม สีน้ำตาลแดง มีเนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีแดง หรือ สีแสด

คำเงาะ

การขยายพันธุ์คำเงาะ

คำเงาะ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่ง และการเสียบยอด แต่วิธีที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้  

           เริ่มจากการเตรียมเมล็ดซึ่งเมล็ดที่ใช้สำหรับเพาะ ต้องเป็นเมล็ดที่ได้จากผลแก่ ที่เปลือกผลเริ่มปริ จากนั้นให้นำเมล็ดมาตากให้แห้ง นาน 5-7 วัน ก่อนเก็บในที่ร่ม และแห้ง นาน 1-2 เดือน เพื่อให้เมล็ดพักตัว จากนั้นนำเมล็ดลงเพาะในถุงเพาะที่เตรียมไว้ โดยหยอดเมล็ด 1-2 เมล็ด ต่อถุง และเกลี่ยหน้าดินให้กลบเมล็ด พร้อมรดน้ำให้ชุ่ม สำหรับวัสดุที่ใช้เพาะกล้าควรเป็นดินร่วนผสมกับปุ๋ยคอก และวัสดุทางการเกษตรอื่นๆ อาทิ แกลบดำ หรือ ขุยมะพร้าว ในอัตราส่วน 1:3:2

คำเงาะ

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากเมล็ดของคำเงาะ พบว่ามีสาระสำคัญหลายชนิด เช่น สารที่ให้สี เช่น bixin, norbixin และมีสารที่ให้รสขม รวมถึงยังมีกรดไขมัน และกรดอะมิโน เช่น Oleic, Linoleic acid, Capric, Stearic, Palmiticacid, tryptophan, threonine และ methionine นอกจากนี้ยังพบสารอื่นๆ เช่น orellin, zeaxanthin, cryptoxanthin, lutein crocetin, ellagic acid , tomentosic acid และ salicylic acid เป็นต้น

โครงสร้างคำเงาะ  

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของคำเงาะ

ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด มีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากเมล็ดคำเงาะ ต่อการออกฤทธิ์ ลดไขมันในหนูทดลอง พบว่า สารสกัดสามารถลดปริมาณไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอลรวม และไลโปโปรตีน ในเลือดของหนูทดลองได้

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยสารสกัดจากเมล็ดคำเงาะ ที่มีต่อเชื้อแบคทีเรียบางชนิด พบว่า ปริมาณแคโรทีนอยด์ที่มีสูงในสารสกัดดังกล่าว สามารถยับยั้งเชื้อ S. aureus ได้ ส่วนสารให้สีจากเมล็ดคำเงาะสามารถลดการเพิ่มของเชื้อ S.enteritidis ได้

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาฉบับอื่นๆ ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของคำเงาะ ว่า มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ปรสิต และโปรโตซัว มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของคำเงาะ   

เมื่อให้สารสกัดเมล็ดคำเงาะ ทางปากแก่หนูถีบจักรในขนาด 16 กรัม/กิโลกรัม โดยแบ่งให้ 2 ครั้ง ครั้งละ 8 กรัม/กิโลกรัม พบว่าไม่เกิดพิษเฉียบพลันใดๆ ส่วนการศึกษาพิษกึ่งเฉียบพลัน เป็นระยะเวลา 28 วัน แก่หนูวิสตาร์ ในขนาด 0.24, 2.4, 12.0, 60.0 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน พบว่าไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ หรือ พฤติกรรมของหนูเปลี่ยนแปลงไป และค่าโลหิตวิทยา เคมีคลินิก จุลพยาธิ ก็ไม่ผิดปกติ แต่อย่างไรก็ตาม ควรใช้ในปริมาณพอเหมาะ ไม่เข้มข้นมากเกินไป

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้คำเงาะเป็นสมุนไพร เพราะมีสรรพคุณขับระดู ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  2. ถึงแม้ว่าผลการศึกษาทางพิษวิทยาของคำเงาะ จะระบุว่า หรือ มีความเป็นพิษน้อยมากจนแทบไม่มีความเป็นพิษเลย ในขนาดการใช้ปกติในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามในการใช้คำเงาะเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอดีที่กำหนดไว้ในตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้คำเงาะเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง คำเงาะ
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “คําไทย”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 185-187.
  2. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3: พืชให้สีย้อมและแทนนิน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 57-59
  3. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ.“คําไทย”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 86.
  4. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “คำไทย Annatto Tree”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 64.
  5. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “คำไทย (Kham Thai)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 79.
  6. คำเงาะ,ละหุ่ง. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage=41
  7. คำแสด.สมุนไพรให้สีแต่งอาหาร.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_30_2.htm
  8. คำแสด/คำไทย ประโยชน์ และสรรพคุณคำแสด.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  9. คำเงาะ.ฐานข้อมูลสุมนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=210