กุหลาบมอญ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

กุหลาบมอญ งานวิจัยและสรรพคุณ 10 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กุหลาบมอญ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ยี่สุ่น (ทั่วไป, ภาคกลาง), กุหลาบออน (ไทยใหญ่), เหม่ยกุยฟา, เหม่ยกุยฮัว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa damascena Mill.
ชื่อสามัญ Damask Rose, Summer damask
วงศ์ ROSACEAE
 

ถิ่นกำเนิดกุหลาบมอญ

สำหรับถิ่นกำเนิดของกุหลาบมอญนั้นเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชียจนถึงเขตอบอุ่นของยุโรปตั้งแต่อินเดีย อิหร่าน ประเทศแถบตะวันออกกลางไปจนถึงตุรกี และบัลแกเรีย แล้วจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปอย่างกว้างขวางทั้งในเอเชีย และยุโรป สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่าถูกนำเข้ามาปลูกในช่วงรัชกาลที่ 2  ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าสมเด็จพระนเรศวร ทรงนำกุหลาบมอญ ที่เป็นดอกไม้พื้นเมืองของมอญกลับมาปลูกในประเทศไทยหลังจากเสร็จสงครามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนในปัจจุบันสามารถพบกุหลาบมอญได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณกุหลาบมอญ

  1. ใช้เข้ายาหอมเป็นยาบำรุงหัวใจ
  2. ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย
  3. ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
  4. ช่วยบำรุงกำลัง
  5. บำรุงเลือด
  6. แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
  7. แก้วิงเวียน หน้ามืดตาลาย
  8. ช่วยขับน้ำดี
  9. แก้ไข้ตัวร้อน
  10. ใช้เป็นน้ำกระสายยา

           ในประเทศไทยกุหลาบมอญ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น ด้านอาหาร สามารถนำกลีบดอกมาชุบแห้งทอด เพื่อใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก แล้วยังใช้นำมายำเป็นเมนู ยำดอกกุหลาบ นอกจากนี้ยังใช้ทำเป็นชกุหลาบที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้ โดยใช้กลีบกุหลาบที่ตากแห้งมาชงเป็นชากุหลาบที่มีกลิ่นหอม และมีสีสดสวยงาม ด้านการนำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมก็ยังมีการนำกลีบของดอกกุหลาบมอญมาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และยา โดยใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง รวมถึงใช้กลิ่นอาหาร และน้ำเชื่อมอีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไข้ตัวร้อน ช่วยขับน้ำดี และใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ โดยการใช้กลีบกุหลาบมอญ แห้งมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ชงแบบชาดื่ม หรือ อาจนำมาบดเป็นผงรับประทานเป็นยาผงก็ได้เช่นกัน ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงเลือด แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน แก้วิงเวียน หน้ามืดตาลาย  โดยใช้กลีบแห้งเข้ายาหอมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ


ลักษณะทั่วไปของกุหลาบมอญ
 

กุหลาบมอญ จัดเป็นไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง เปลือกต้นเรียบแต่ละมีหนามทั้งบริเวณลำต้น และกิ่งก้านสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ส่วนหนามมีมากลักษณะตรง หรือ โค้งเล็กน้อย หนามอ่อนเป็นสีน้ำตาลแกมสีแดง ส่วนหนามแก่เป็นสีเทา แต่จะความยาวไม่เท่ากัน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกแบบเรียงสลับ โดยมีใบย่อย 5-7 ใบ ขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นสีเขียวรูปไข่ ปลายแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย แผ่นใบด้านล่างมีขนเล็กน้อย ส่วนก้านใบเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกออกเป็นช่อแบบกระจะ หรือ ช่อแบบกระจุกแตกแขนง บริเวณปลายกิ่ง และปลายยอด มีดอกย่อยประมาณ 3-12 ดอก ซึ่งจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้าง 4.5-7 เซนติเมตร กลีบดอกมีลักษณะช้อนกันเป็นชั้นๆ จำนวนมากกลีบค่อนข้างกลม ปลายกลีบดอกมน หรือ เป็นหยักตื้นๆมีกลิ่นหอมแรง และบานได้หลายวัน โดยปกติแล้วใน 1 ดอก จะมีกลีบออกประมาณ 20-30 กลีบ ซึ่งสีของดอกจะมีตั้งแต่สีขาว ชมพูอ่อน ชมพูเข้ม และสีแดง แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นสีชมพู และแดง ส่วนกลีบเลี้ยงดอกจะมีสีเขียว ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม เป็นติ่งแหลมกว้าง ม้วนโค้งและจะร่วงในเวลาต่อมา ผลเป็นผลสดรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร มีสีแดงอ่อนถึงเข้ม ด้านในของผลมีเมล็ดสีน้ำตาลประมาณ 1-3 เมล็ด เป็นรูปสามเหลี่ยมกลม ยาวประมาณ 0.3-0.5 เซนติเมตร

กุหลาบมอญ 

การขยายพันธุ์กุหลาบมอญ

กุหลาบมอญ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ การติดตา และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตอนกิ่ง และการติดตา สำหรับวิธีการก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการตอนกิ่ง และติดตาไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ทั่วไปที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่ ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการปลูกกุหลาบมอญ ควรเป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนดินควรเป็นดินร่วนปนเหนียว มีอากาศถ่ายเทได้ดี และการเตรียมพื้นที่ก่อนปลูกควรกำจัดวัชพืชให้หมด แล้วจึงขุดร่องลึกประมาณ 50 เซนติเมตร จากนั้นผสมส่วนผสมที่ประกอบด้วยขี้วัว และแกลบ อัตราส่วน 1:1 เพื่อนำไปใส่ในร่องนั้น เพื่อเป็นปุ๋ย จากนั้นขุดหลุมในแปลงให้ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นหลุมปลูก ส่วนระยะปลูกควรเว้น ระยะระหว่างต้นxระยะระหว่าง แถวประมาณ 30x30 เซนติเมตร โดยควรปลูกแบบสลับฟันปลา

           หลังจากปลูก (ส่วนใหญ่จะปลูกประมาณเดือนพฤษภาคม) จะเริ่มตัดดอกได้ประมาณ 45-60 วัน ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนจะตัดดอกได้ประมาณ 45-50 วัน ถ้าปลูกในฤดูหนาวจะตัดดอกได้ประมาณ 50-60 วัน

กุหลายมอญ

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของกุหลาบมอญ พบว่า มีสารสำคัญๆ เช่นnerol, geraniol, citronellol, phenylethylalcohol ส่วนในน้ำมันหอมระเหยพบสาร β-phenylethyl benzoate, nonadecene, docosane และ heneicosane เป็นต้น

  โครงสร้างกุหลาบมอญ     

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกุหลาบมอญ

ฤทธิ์คลายกังวล มีการศึกษาวิจัยโดยทดสอบให้หนูเจอร์บิลดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยกุหลาบมอญ เป็นเวลา 20 ชม. พบว่าหนูจะแสดงพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงความคลายกังวล และเมื่อให้หนูดมน้ำมันหอมระเหยติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ หนูจะมีพฤติกรรมคลายกังวลมากขึ้น โดยไม่ก่อให้เกิดอาการง่วงซึม (sedation) เมื่อเปรียบเทียบกับยาคลายกังวล diazepam

           ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acethylcholinesterase มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ป้องกันการทำงานของระบบประสาทจากน้ำมัน และสารที่มีกลิ่นหอมที่สกัดได้จากกุหลาบมอญโดยทำการทดสอบในหลอดทดลอง และการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acetylcholinesterase (AChE) และ butyrylcholinesterase (BChE) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาท acetylcholine และทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นโดยการวัดปฏิกิริยาต้านออกซิเดชั่นต่างๆได้แก่ DPPH radical scavenging, metal-chelation (การวัดการจับกับโลหะเพื่อต้านการเกิดออกซิเดชั่น) และ ferric-reducing antioxidant power (FRAP) assays (การทดสอบความสามารถของสารในการจับอนุมูลอิสระโดยใช้ ascorbic acid) วัดระดับสารประกอบสำคัญด้วยเทคนิค Gas Chromatography-Mass Spectrometry (GC-MS) จากผลการทดสอบพบสารต่างๆ ในกุหลาบมอญได้แก่ citronellol, geraniol, nerol และ phenylethyl alcohol มีฤทธิ์ยับยั้ง AChE (60.86 ± 1.99%) และ BChE (51.08 ± 1.70%) ที่ 1000 มคก./มล. โดยพบว่า phenylethyl alcohol มีฤทธิ์ยับยั้ง AChE ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสารอื่น

           ฤทธิ์ปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศชาย มีการศึกษาแบบ double-blind, randomized, placebo-controlled trial ในอาสาสมัครเพศชายที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากการได้รับยาเมทาโดน (methadone) เพื่อบำบัดอาการติดฝิ่น จำนวน 50 คน (อายุเฉลี่ย 40 ปี) โดยสุ่มให้อาสาสมัครรับประทานน้ำมันหอมระเหยจากดอกกุหลาบมอญ (Rosa Damascena) ในรูปแบบหลอดหยด วันละ 2 มล. (ใน 1 ดรอป ประกอบด้วย citronellol 17 มก.) หรือ ยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ จากนั้นให้อาสาสมัครตอบแบบประเมินตนเอง Self-assessment of sexual dysfunction: the Brief Sexual Function Inventory (BSFI) และแบบวัดดัชนีสากลของการทดสอบสมรรถภาพทางเพศ (International Index of Erectile Function: IIEF) พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบมอญสามารถช่วยปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงเพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนที่ลดลงจากการได้รับยาเมทาโดน และสมรรถภาพเพศชายที่เพิ่มขึ้นไม่มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศ แสดงให้เห็นว่าน้ำมันหอมระเหยจากดอกกุหลาบมอญสามารถปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศชายในผู้ป่วยที่มีภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจากการได้รับยาเมทาโดนได้

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยในหนูแรทโดยให้ดมกลิ่นน้ำมันหอมระเหยนาน 28 วัน พบว่าระดับ lipid peroxidation ในสมองของหนูลดลง และระดับสารต้านอนุมูลอิสระได้แก่ วิตามินA, วิตามินE วิตามินC และเบต้าแคโรทีน สูงกว่ากลุ่มควบคุม

           ฤทธิ์ต่อการนอนหลับ ทดสอบฉีดสารสกัดเอทานอล และสารสกัดน้ำของดอกกุหลาบมอญ ที่ขนาด 500 และ 1000 มก./กก. เข้าทางช่องท้องของหนูเม้าส์ เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาคลายกังวล diazeoam (3 มก./กก.) และกลุ่มควบคุมที่ให้น้ำเกลือ (10 มล./กก.) หลังจากนั้น 30 นาที ฉีดยานอนหลับ pentobarbital ขนาด 30 มก./กก. พบว่าสารสกัดทีผลทำให้ระยะเวลาการออกฤทธิ์ ของยานอนหลับ pentobarbital ยาวนานขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับยา diazeoam 

การศึกษาทางพิษวิทยาของกุหลาบมอญ

มีการศึกษาทางพิษวิทยาในน้ำมันกุหลาบมอญ โดยป้อนทางปากให้กับหนูขาวพบว่าขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) มีขนาดมากกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าการทดสอบความเป็นพิษของกุหลาบมอญจะระบุว่ามีความเป็นพิษต่ำมากรวมถึงมีการนำกุหลาบมอญ มารับประทานเป็นอาหารได้ แต่การใช้กุหลาบมอญเพื่อเป็นสมุนไพรก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดทีพอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึง ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้กุหลาบมอญเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง กุหลาบมอญ
  1. ชยันต์ พิเชียรสุนทร. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทย เล่ม 1 น้ำกระสายยา. กรุงเทพฯ:บริษัทอมรินทร์พริ้นดิ้งแอนด์พับลิงซิ่ง จำกัด (มหาชน) 2556: 94 หน้า
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. “กุหลาบมอญ (Ku Lhap Mon)”. หน้า 53.
  3. ฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ acethylcholinesterase และฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นของกุหลาบมอญ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ไม้ดอกหอม เล่ม 1.กรุงเทพฯ:บ้านและสวน,2542: 160 หน้า.
  5. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. กุหลาบมอญ. ดอกไม้หอมมีประโยชน์. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
  6. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “กุหลาบมอญ ”. หน้า 181.
  7. ฤทธิ์ปรับปรุงสมรรถภาพทางเพศชายที่ได้รับยาเมทโคนของน้ำมันกุหลาบมอญ. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. Rakhshandah H, Hosseini M, Dolati K. Hypnotic effect of Rosa damascena in Mice. Iran J Pharm Res 2004;3:181.
  9. Boskabady MH, Shafei MN, Saberi Z, Amini S. Pharmacological effects of Rosa damascena. Iran J Basic Med Sci 2001;14(4):295-307.
  10. Bradley B F, Starkey N J, Brown S L, Lea R W. The effects of prolonged rose odor inhalation in two animal models of anxiety. Physiol Behav 2007;92:931-8.
  11. Senol FS, Orhan IE, Kurkcuoglu M, Khan MTH, Altintas A, Sener B, Baser KHC. A mechanistic investigation on anticholinesterase and antioxidant effects of rose (Rosa damascena Mill.). Food Res Int 2013;53:502-9.