แมงลักคา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

แมงลักคา งานวิจัยและสรรพคุณ 23 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แมงลักคา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่ กระเพราผี, กระเพราป่า, แมงลักป่า (ทั่วไป), ก้อมก้อห้วย, ก้อมก้อดง (ภาคเหนือ), อีตู่ป่า (ภาคอีสาน), การา (สุราษฏร์ธานี), เสอไป๋จื่อ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hyptis suaveolens (L.) Poit.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Bystropogon graveolens Blume, Bystropogon suaveolens (L.) L'Hér., Gnoteris cordata Raf., Hyptis congesta Leonard
ชื่อสามัญ west Indian spikenard, Mintweed,Wild spikenard, Pugnet, Desert lavender, Chan
วงศ์ LAMIACEAE
 

ถิ่นกำเนิดแมงลักคา 

แมงลักคาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปอเมริกา เช่น เม็กซิโก, กัวเตมาลา, เอลซัลวาดอ, ฮอนดูรัส เป็นต้น จากนั้นได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก เช่นใน ปาปัวนิวกินี, คูราเซา, อินเดีย, บราซิล, อินโดนีเซีย, จีน และไทย สำหรับในประเทศไทยนั้น สามารถพบแมงลักคา ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะพบตามบริเวณที่รกร้าง ตามข้างทาง ริมฝั่งแม่น้ำ หรือ ตามป่าทั่วไปที่มีความสูงไม่เกิน 1300 เมตร จากระดับน้ำทะเล และยังถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งในพื้นที่การเกษตรอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณแมงลักคา

  1. ช่วยขับเหงื่อ
  2. แก้หวัด
  3. ช่วยขับน้ำนม
  4. รักษาโรคผิวหนัง
  5. แก้ชักกระดูก
  6. แก้ปวดข้อ
  7. ใช้แก้ปวดท้อง
  8. ช่วยขับระดู
  9. เป็นยาเจริญอาหาร
  10. ช่วยดับกลิ่นปาก
  11. ใช้ขับเหงื่อในคนที่เป็นหวัด
  12. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด  
  13. แก้ปวดกระเพาะ
  14. แก้ปวดบิด
  15. แก้เบาหวาน
  16. แก้ไข้หวัด มาลาเรีย
  17. ใช้ขับลม
  18. ช่วยขับเสมหะ
  19. ช่วยลดไข้
  20. แก้ปวดท้องประจำเดือน
  21. รักษาอาการอัมพฤกษ์อัมพาต
  22. รักษาแผลพุพอง
  23. ช่วยย่อยอาหาร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ปวดท้อง และลดไข้ โดยนำใบแห้งมาชงกับน้ำดื่ม ใช้ขับน้ำนม ขับเหงื่อ แก้หวัด โดยนำยอดอ่อน มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาสำหรับเจริญอาหาร ขับระดูในสตรี โดยใช้รากต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้เบาหวาน ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยใช้ใบ และต้นสดแมงลักคา ประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวให้นาน 30 นาที แล้วนำมาแบ่งดื่มเช้า และเย็น ใช้ขับเหงื่อ และแก้ปวดท้อง โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคผิวหนัง โดยใช้ทั้งต้นตำพอกบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของแมงลักคา
 

แมงลักคา จัดเป็นไม้พุ่มล้มลุก พุ่มเตี้ย มีอายุหลายปี ลักษณะลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 0.5-1.5 เมตร แตกกิ่งก้านมาก ลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยม ตามลำต้นมีขนสีขาวเหนียวติดมือ มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่กึ่งไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบมน หรือ เว้ารูปหัวใจขอบใบหยักเล็กน้อย แผ่นใบมีขนทั้งสองด้าน เป็นร่องเห็นได้ชัดเจนบริเวณเส้นใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.5-3 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามบริเวณที่ซอกใบ และปลายกิ่ง โดยจะมีดอกออกประมาณ 2-5 ดอกย่อย ต่อ 1 ช่อดอก มีสีม่วงอ่อนเป็นรูปปากเปิด ส่วนกลีบดอกโคนกลีบจะเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกกเป็น 2 ปาก มีขน ด้านบน 2 แฉก รูปช้อนยาว 2.5-3 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร ด้านล่าง 3 แฉก กลีบด้านข้างรูปรียาว 1-1.5 มิลลิเมตร กว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร กลีบกลางยาว 1-1.5 มิลลิเมตร กว้าง 0.5-1 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมีลักษณะเรียวแหลมคล้ายหนาม มีสันตามยาว 10 สัน โคนเชื่อมติดกันยาว 5-5.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 อัน ด้านนอกมีขนยาวปกคลุม เกสรเพศผู้มี 4 อัน แยกเป็น 2 คู่ ก้านเกสรไม่ติดกัน อับเรณูติดกับก้านชูเกสรที่ด้านหลัง เกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ก้านชูเกสรเพศเมียยาว 3-5 มิลลิเมตร ผลเป็นผลแห้งแบบแคปซูล สีดำ ผิวผลย่น รูปขอบขนานแคบ ยาวประมาณ 1.2-1.5 มิลลิเมตร ปลายผลเว้า เมื่อผลแห้งจะไม่แตก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้มขนาดเล็ก มีลักษณะค่อนข้างกลม กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตรโดยใน 1 ผลจะมีเมล็ดอยู่ 4 เมล็ด

แมงลังคา

การขยายพันธุ์แมงลักคา 

แมงลักคา สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำ แต่โดยมากจะเป็นการขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ดในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูก แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการนำมาปลูกเพื่อใช้ประโยชน์บ้างแล้ว สำหรับวิธีการปลูกแมงลักคา นั้นก็สามารถทำได้โดยวิธีการนำเมล็ดมาเพาะให้ได้ต้นกล้า แล้วจึงนำไปปลูกในแปลง เช่นเดียวกันกับการปลูกไม้ล้มลุกพุ่มเตี้ยชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาในบทความก่อนหน้านี้

แมงลักคา

องค์ประกอบทางเคมี

ส่วนเหนือดินพบสารชนิดอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มเทอร์ปีนอยด์ เช่น α-amyrin, beta-amyrin, lupeol,oleanolic acid, betulinic acid, dehydroabietinol, ursolic acid, hyptadienic acid และกลุ่มสารฟลาโวนอยด์ เช่น 4’,5-dihydroxy-7-methoxy flavone ในรากพบสาร เทอร์ปีนอยด์ เช่น ursolic acid, betulinic acid, α-amyrin, beta-amyrin, α-peltoboykinolic acid, oleanolic acid เมือกหุ้มเมล็ด ของแมงลักคา พบสารประเภทโพลีแซคคาไรด์ เช่น D-xylose, D-manose, L-fucose, D-galactose, D-glucose, 4-O-methyl-D-glucuronic acid ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดิน พบว่ามีสารที่เป็นองค์ประกอบหลัก คือ eucalyptol 30.38%, gamma-amylene 13.58%, beta-caryophylline 10.37%, delta-elemene 5.24% นอกจากนี้น้ำมันหอมระเหย จากรากยังพบสาร eucalyptol และ α-phellandrene 18.56%, limonene 8.51%, และ caryophylline oxide 2.71%

โครงสร้างแมงลังคา

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแมงลักคา

มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแมงลักคาพบว่า ฤทธิ์รักษาแผล สารสกัดเอทานอลจากใบ สามารถรักษาแผลในหนูขาวได้ โดยมีฤทธิ์เพิ่มเอนไซม์ที่ใช้ต้านอนุมูลอิสระ เช่น catalase, superoxide dismutase

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการทดสอบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเอทานอลของต้นแมงลักคา พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วย carageenan เมื่อป้อนให้หนูในขนาด 400 มก./กก. ให้ผลใกล้เคียงกับยาต้านอักเสบ Ibuprofen ขนาด 100 มก./กก.

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า สารสกัดด้วยเมทานอลมีฤทธิ์อย่างอ่อนในการต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวก แกรมลบ และเชื้อรา Candida albicans โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ยับยั้งเชื้อได้ (MIC) ≤ 100 μg/ml

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อมาลาเลีย สารสกัดด้วยเอทานอลจากส่วนเหนือดินแมงลักคา มีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของโปรโตชัวที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย (Plasmodium falciparum 3D7 strain) โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเติบโตได้ 50% (IC50), 25μg/ml โดยสารบริสุทธิ์ที่มีฤทธิ์ดังกล่าว คือ dehydroabietinol ยับยั้งการเติบดตของ Plasmodium falciparum ทั้งสายพันธุ์ที่ไวต่อยาคลอโรควิน และดื้อต่อยาคลอโรควินโดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้งเชื้อที่ 50% (IC50) เท่ากับ 26 และ 27 ไมโครโมลาร์

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ ยังระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแมงลักคาว่า น้ำมันหอมระเหยจากดอก ใบ และต้น มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราก่อโรคหลายชนิด ยับยั้งเนื้องอก ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ทำให้หลอดเลือดคลายตัว

การศึกษาทางพิษวิทยาของแมงลักคา

มีการทดสอบความเป็นพิษเรื้อรัง โดยเมื่อให้สารสกัดน้ำของแมงลักคา แก่หนูขาว ป้อนทางปากในขนาด 5, 50, 250, 500 มก/กก/วัน เป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงต่อการเจริญเติบโตค่าโลหิตวิทยา ค่าชีวเคมีของซีรัมของหนู นอกจากนี้พยาธิสภาพของอวัยวะภายในของหนูก็ยังคงเป็นปกติ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ ห้ามใช้แมงลักคาเป็นสมุนไพร เพราะมีฤทธิ์ขับระดูในสตรี
  2. ในการใช้แมงลักคาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับ ตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อ รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้แมงลักคา เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง แมงลักคา
  1. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. กรมป่าไม้ ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย. (เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544). กรุงเทพฯ บริษัทประชาชน จำกัด 2544. หน้า 289.
  2. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “แมงลักคา”. หน้า 140.
  3. นันทวัน บุณยะประภัศร.อรนุช โชคชัยเจริญพร. สมุนไพรไม้พื้นบ้าน. เล่ม 3. กรุงเทพฯ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 2542. หน้า 778-80.
  4. ดวงพร สุวรรณกุล, รังสิต สุวรรณเขตนิคม. วัชพืชในประเทศไทย. กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2544. หน้า 86.
  5. ธวัชชัย รัตน์เลศ.เจมส์ เอฟ แมกซ์เวล. รายชื่อวัชพืชที่มีรายงานพบในประเทศไทย กรุงเทพฯ เวิร์ดเพลส. 2540 หน้า 85
  6. ดรุณ เพ็ชรพลาย และคณะ.พืชสมุนไพรในประเทศไทย ตอนที่ 1.กรุงเทพฯโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. 2538. หน้า 102-3.
  7. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของแมงลักคา. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. วงศ์สถิต ฉั่วกุล และคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. สยามไกษัชยพฤกษ์ ภูมิปัญญาของชาติ.กรุงเทพฯ บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) 2538 หน้า 141.
  9. แมงลักคา. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=268
  10. ประไพ วงศ์สินคงมั่น, ดวงเพ็ญ ปัทมดิลก.จารี บันสิทธิ์, ธิดารัตน์ บุญรอด, เย็นจิตร เตชะดำรงสิน และปราณี ชวลิตธำรง, ข้อกำหนดทางเคมีของส่วนเหนือดินแมงลักคา. วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปีที่ 4 ฉบับที่ 1. มกราคม-เมษายน 2549. หน้า 1-16