โหราเดือยไก่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

โหราเดือยไก่ งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร โหราเดือยไก่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฟู่จื้อ, ชวนอู (จีนกลาง), หู้จื้อ (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aconitum carmichaelii Debx
ชื่อสามัญ Aconite, Monkshood, Prepared Common
วงศ์ RANUNCULACEAE

 

ถิ่นกำเนิดโหราเดือยไก่

เชื่อกันว่าโหราเดือยไก่ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เพราะเป็นพืชที่มีความเป็นพิษ แต่ก็สามารถนำมาใช้เป็นสมุนไพรได้ หากมีการเตรียมเครื่องยาชนิดนี้ให้ดี ซึ่งชาวจีนสามารถนำเครื่องยาชนิดนี้มาใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรมาตั้งแต่ในอดีตหลายร้อยปีมาแล้ว และยังปรากฏในตำรายาจีนหลายตำรับอีกด้วย ดังนั้นจึงมีการสันนิษฐานกันว่าถิ่นกำเนิดของโหราเดือยไก่ น่าจะอยู่ในประเทศจีน สำหรับในประเทศไทยข้อมูลเกี่ยวกับโหราเดือยไก่มีน้อยมาก และยังไม่ปรากฏว่ามีการพบเจอในธรรมชาติ หรือ การปลูกในเชิงพาณิชย์ใดๆ เลย ในการใช้เป็นสมุนไพรของไทยจะเป็นการใช้โดยการสั่งนำเข้าจากจีนมากกว่า

ประโยชน์และสรรพคุณโหราเดือยไก่

  1. แก้พิษสัตว์
  2. ช่วยขับลม
  3. ช่วยขับระดูสตรี
  4. ช่วยขับโลหิตช้าๆ
  5. ช่วยบำรุ่งระบบหัวใจ
  6. ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร
  7. ช่วยเสริมความแข็งแรงของไต
  8. ช่วยบำรุงธาตุไฟ
  9. ช่วยบรรเทาอาการปวด
  10. ช่วยฟื้นฟูร่างกายอ่อนแอจากป่วยเรื้อรัง
  11. แก้อาการอาเจียนมาก ถ่ายมาก
  12. แก้โรคมือเท้าเย็น
  13. แก้อาการชาที่บริเวณใบหน้า หรือ ผิวหนัง
  14. แก้อาการปวดข้อ ปวดขา ปวดเอว
  15. ช่วยแก้อาการปวดปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

โหราเดือยไก่เป็นสมุนไพรที่มีพิษ ดังนั้นก่อนนำมาใช้จึงต้องฆ่าฤทธิ์ยาก่อนใช้ โดยในการใช้ตามสรรพคุณของแพทย์แผนจีน จะใช้ตัวยาโหราเดือยไก่ ที่สกัดเอาพิษออกแล้วในขนาด 3-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้แก้อาการปวดข้อ ปวดขา ปวดเอว โดยใช้หัวโหราเดือยไก่ที่กำจัดพิษแล้ว 6 กรัม ห่อซินโฮว 15 กรัม โซยหนี่เกี๋ยง และตุ๊ยตี่หวงอย่างละ 10 กรัม มารวมกันแช่ในเหล้า 500 มิลลิลิตร 2 วัน แล้วนำมารับประทานครั้งละ 5-10 ซีซี วันละ 3 ครั้ง หรือ ใช้แก้อาการชาที่บริเวณใบหน้า หรือ ผิวหนัง โดยใช้หัวโหราเดือยไก่ โทว่โซ๊ยซิง แซหนำแซ, โหราข้าวโพด อย่างละ 10 กรัม, พริกหาง 4 กรัม และหนังคางคกตากแห้ง 4 กรัม นำมารวมกันบดให้เป็นผง แล้วนำไปแช่ในเหล้า 100 มิลลิลิตร ใส่เกล็ดสะระแหน่ และการบูร เล็กน้อย ใช้ทาบริเวณที่มีอาการ


ลักษณะทั่วไปของโหราเดือยไก่

โหราเดือยไก่ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีอายุหลายปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 60-120 เซนติเมตร เปลือกต้นเรียบเป็นมัน มีขนขึ้นเล็กน้อยบริเวณยอดต้น ลำต้นด้านบน และกิ่งก้านกลม มีหัวอยู่ใต้ดิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ออกเป็นคู่มีรูปร่างคล้ายรูปไข่กลับ หรือ เป็นรูปกระสวย เปลือกเป็นสีน้ำตาลดำ โดยจะมีทั้งรากแก้ว และรากแขนงติดอยู่ที่หัวใต้ดิน ซึ่งใช้เป็นเครื่องยาสมุนไพรได้เช่นเดียวกัน ใบออกเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แฉกเว้า เป็นแฉก 3 แฉก ขอบใบหยักไม่เท่ากันโดยแฉกบนจะหนักลึกกว่าด้านล่าง ซึ่งอาจหยักลึกถึงโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-15 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างแข็ง หลังใบเป็นสีเขียวมัน ส่วนท้องใบมีสีอ่อนกว่า ทั้งนี้ใบที่บริเวณโคนต้นจะมีก้านใบยาวกว่าใบด้านบน ดอกออกเป็นช่อบริเวณยอดต้น และง่ามใบ ดอกมีสีน้ำเงินอมม่วง หรือ อาจเป็นสีเหลี่ยมอมเขียว กลีบดอกค่อนข้างกลม มีจำนวน 5 กลีบ กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ยาวได้ประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ และก้านช่อดอกจะมีขนปกคลุมเล็กน้อย ผลกลมยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีลายเส้นอยู่ที่ผิวของเปลือกผล

โหราเดือยไก่

การขยายพันธุ์โหราเดือยไก่

โหราเดือยไก่ สามารถขยายพันธุ์ได้โดย การใช้เหง้า การใช้เมล็ด และเป็นพืชที่ยังไม่มีข้อมูลในการปลูกในประเทศไทย แต่เชื่อว่าวิธีการปลูกจะสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการใช้เหง้าปลูก และการเพาะเมล็ด พืชล้มลุกชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ความชื้น และสภาพอากาศที่เหมาะสมกับพืชชนิดนี้ด้วย

โหราเดือยไก่

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของรากแก้วและรากแขนงของโหราเดือยไก่ ที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรพบว่ามีสาระสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะสารในกลุ่ม Alkaloids, Mesaconitine เช่น Chuan-wubase A, B, Aconitine, Carmichaeline, Talatisamine, Hypaconitine และ Carmichaeline นอกจากนี้ยังพบสาร pinoresinol, salicylic acid, honokiol, songorine, karakoline และ ƿ-hydroxycinamic acid เป็นต้น

โครงสร้างโหราเดือยไก่

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของโหราเดือยไก่

มีการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของรากแก้ว และรากแขนงโหราเดือยไก่ พบว่ามีฤทธิ์ต้านอักเสบในหนูถีบจักร และหนูขาว ลดความดันโลหิตในสุนัข เสริมภูมิต้านทานในหนูขาว ระงับปวดในหนูถีบจักร และมีฤทธิ์ในการกระตุ้นหัวใจ โดยในตอนแรกจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง ต่อมาจะทำให้หัวใจเริ่มเต้นเร็ว และทำให้หัวใจมีการบีบตัวแรงขึ้น มีผลทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างเฉียบพลัน

 

การศึกษาทางพิษวิทยาของโหราเดือยไก่

มีการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร โดยฉีดสารสกัดน้ำเข้าหลดเลือดดำพบว่า ขนาดสารสกัดเทียบเท่าผงยาที่ทำให้หนูถีบจักรตายร้อยละ 50(LD50) มีค่าเท่ากับ 13.75 กรัม/กิโลกรัม และขนาดของสารสกัดต่ำสุดที่ทำให้หนูขาวตายเทียบเท่าผงยา 23.40 กรัม/กิโลกรัม ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับระบุว่า ความเป็นพิษของสมุนไพรชนิดนี้จะสูงกว่าขนาดที่รับประทานมาก โดยอาการเป็นพิษจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานในขนาด 15-60 กรัม หรือ สาร aconitine 0.2 มิลลิกรัม โดยความเป็นพิษที่พบ คือ พิษต่อระบบประสาท และหัวใจ ซึ่งจะมีอาการแสบร้อนในปาก น้ำลายไหล คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาชา ตาพร่า รูม่านตาขยาย วิงเวียนศีรษะ กลัวหนาว ซีด เพ้อ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ใจสั่น หัวใจเต้นช้า กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลาย ความดันโลหิตสูง ช็อก โคม่า และอาจตายได้

           นอกจากนี้ความเป็นพิษของโหราเดือยไก่ มีความแตกต่างกันมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับแหล่งปลูก อายุการเก็บเกี่ยว วิธีฆ่าฤทธิ์ของยา และระยะเวลาในการต้ม โดยมีรายงานว่ามีการทดลองความเป็นพิษของโหราเดือยไก่จากแหล่งต่างๆ ปรากฏว่ามีความเป็นพิษแตกต่างกันถึง 8 เท่า แต่เมื่อฆ่าฤทธิ์ของยาโดยวิธีการที่ถูกต้องจะสามารถลดพิษได้มากถึง 81%

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1.  โหราเดือยไก่เป็นสมุนไพรที่มีพิษมาก การนำมาใช้เป็นยาจึงควรใช้ยาที่ผ่านกรรมวิธีกำจัดพิษแล้วเท่านั้น ไม่ควรรับประทานมากเกินกำหนด และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป
  2. สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ ห้ามรับประทานโหราเดือยไก่ รวมถึงตำรับยาที่มีโหราเดือยไก่ผสมอยู่
  3. ในทางการแพทย์แผนจีนระบุว่าห้ามใช้ร่วมกับตัวยา ปั้นเซี่ย เปย์หมู่ กวาโหลว ไป๋จี๋ เพราะเมื่อใช้ร่วมกันแล้วจะทำให้ฤทธิ์ของตัวยาหมดไป

เอกสารอ้างอิง โหราเดือยไก่
  1. ชยันต์ วิเชียรสุนทร. แม้นมาส ชวลิต วิเชียร จีรวงศ์ คำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์อมรินทร์ 2548.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “โหราเดือยไก่ ”. หน้า 634.
  3. โหราเดือยไก่. คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.หน้า 192-195
  4. ลีนา ผู้พัฒนพงศ์ ก่องกานดา ชยามฤต. ธีรวัฒน์ บุญทวีคูณ (คณะบรรณาธิการ) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544.) สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่2 กรุงเทพมหานคร บริษัท ประชาชน จำกัด 2544.
  5. สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “หู่จื้อ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : tcm.dtam.moph.go.th.  [20 ก.ย. ค.ศ.2014].