ติ้วขาว ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ติ้วขาว งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ติ้วขาว
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักติ้ว, ผักติ้วขาว (ทั่วไป), ติ้วส้ม (ภาคอีสาน, โคราช), แต้ว (สระบุรี), ขึ้ติ้ว (ปราจีนบุรี), ไม้ต้าว (ตรัง), มูโต๊ะ (มลายู, นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cratoxylum formosum (Jack) Dyer ssp.Formosum(Jack) Dyer
วงศ์ Guttiferae-HYPERICACEAE

ถิ่นกำเนิดติ้วขาว 

ติ้วขาวเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณประเทศไทย ลาว พม่า เวียดนาม ต่อมาได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณประเทศเขตร้อนใกล้เคียงได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเกาะไหนานประเทศจีน เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยถือว่าติ้วขาว เป็นผักพื้นบ้าน โดยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณ ป่าผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง หรือ ป่าตามเชิงเขาที่มีความสูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลไปจนถึงระดับความสูงมากกว่า 1,000 เมตร ซึ่งจะพบได้มากเป็นพิเศษในจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา สระบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ตรังและนราธิวาส เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณติ้วขาว

  1. ใช้ขับปัสสาวะ
  2. แก้ปัสสาวะขัด
  3. ใช้ทาแก้คัน
  4. ใช้ฟอกโลหิต
  5. ช่วยบำรุงโลหิต
  6. ใช้ทารอยแตกของส้นเท้า
  7. แก้ธาตุพิการ
  8. แก้โรคผิวหนังต่างๆ
  9. แก้ปวดตามข้อ
  10. แก้ไขข้อพิการ
  11. แก้ประดง
  12. แก้ประดงเลือด
  13. แก้โรคผิวหนังต่างๆ
  14. ช่วยขับลม

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ธาตุพิการโดยนำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะขัด โดยนำรากผสมกับรากปลาไหลเผือก และหัวแห้วหมู นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ใช้ฟอกโลหิต บำรุงโลหิต แก้ไขข้อพิการ แก้ปวดตามข้อขับลม แก้ประดง โดยใช้ดอก ยอดอ่อน หรือ ใบอ่อนติ้วขาว มารับประทานโดยอาจนำไปประกอบอาหาร หรือ รับประทานเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกก็ได้ ใช้แก้ประดงเลือด โดยการนำแก่นและลำต้น แช่กับน้ำดื่ม ใช้แก้ปัสสาวะขัดโดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม รักษารอยแตกของส้นเท้า โดยนำน้ำยางจากต้นมาทาบริเวณที่เป็น ใช้แก้โรคผิวหนังต่างๆ โดยนำเปลือกต้น หรือ ใบ นำมาตำแล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของติ้วขาว

ติ้วขาว จัดเป็น ไม้ยืนต้นเนื้อแข็งผลัดใบขนาดกลาง สูงระหว่าง 3-35 เมตร โคนต้นมีหนามแข็งขึ้นตามลำต้น เปลือกลำต้นมีลักษณะแตกเป็นร่องสะเก็ดสีน้ำตาลปนแดง และมีน้ำยางสีเหลืองปนแดงซึมออกมา ลำต้นจะแตกกิ่งหลักปานกลางแต่แตกกิ่งแขนงมาก ทำให้แลดูเป็นทรงพุ่มหนา กิ่งก้านเล็กเรียว กิ่งอ่อนเรียบไม่มีขน ใบออกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมไข่กลับ หรือ รูปขอบขนาน กว้าง 2.5-4.5 เซนติเมตร ยาว 3-13 เซนติเมตร โคนใบสอบเรียบ ปลายใบมนหรือแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบมีขนละเอียดทั้งสองด้าน ใบอ่อนสีชมพูอ่อนถึงแดง เรียบ เป็นมันวาว ใบแก่สีเขียวสด เรียบ เกลี้ยง ผิวใบด้านบนเป็นมัน ด้านล่างมีต่อมกระจายทั่วไป เส้นใบข้าง 6-10 คู่ ซึ่งจะโค้งแบนค้นศรไม่มีเส้นของใน ก้านใบสีม่วงอมแดง ยาว 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกออกเป็นช่อกระจุกแบบซี่ร่มสีชมพูหรือขาว

           โดยดอกจะแทงออกจากตาดอกบริเวณเดียวกับตากิ่งแขนงย่อย กระจุกละประมาณ 1-6 ดอก ดอกตูมมีกลีบเลี้ยงสีเขียวประแดงม่วงหุ้มเป็นทรงกลม จำนวน 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะแผ่กลีบดอกออก จำนวน 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกเรียบ ไม่มีต่อมโปร่งแสงปลายกลีบตัด และเป็นหยัก ซึ่งกลีบดอกจะร่วงหมดเมื่อติดผล แต่จะเหลือกลีบเลี้ยงไว้หุ้มผล ส่วนด้านในดอกตรงกลางจะมีเกสรตัวผู้แยกออกเป็น 3 กลุ่ม โดยในแต่ละกลุ่มจะมีเกสรจำนวนมาก ปลายก้านเกสรเป็นเรณูสีเหลือง ด้านล่างเป็นรังไข่ จำนวน 3 อัน มีก้านดอกสีม่วงอมแดง ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลมีนวลขาวติดตามผิว ผลเมื่อแก่มีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลดำ กว้าง 0.7 เซนติเมตร เป็นแบบแคปซูล ปลายแหลม ผิวเรียบและแข็ง ขนาด กว้าง 0.4-0.6 เซนติเมตร ยาว 1.3-1.8 เซนติเมตร และจะแตกออกเป็น 3 แฉก มีเมล็ดสีน้ำตาล ส่วนเมล็ด เป็นรูปไข่กลับ สำดำหรือน้ำตาล มีปีกด้านเดียว

ติ้วขาว

การขยายพันธุ์ติ้วขาว

ติ้วขาว สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ทั้งในธรรมชาติ และการนำมาปลูก แต่ในปัจจุบันก็เริ่มมีการปลูกกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอนกิ่งบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายนัก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกนั้น ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปลูกไม้ยืนต้นประเภทอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของติ้วขาว พบว่า มีสาระสำคัญต่างๆ ดังนี้ Chlorogenic acid, Tannin, Astilbin, Quinone, Formoxanthone A, B, C, β-amyoin และ lupeol เป็นต้น นอกจากนี้ ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอกของติ้วขาวยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการจากส่วนที่กินได้ของติ้วขาว (ยอดอ่อน, ใบอ่อน, ดอก) ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน                                   58                               กิโลแคลอรี
  • โปรตีน                                     2.4                               กรัม
  • ไขมัน                                       1.7                               กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต                          8.2                               กรัม
  • เส้นใยอาหาร                            1.4                               กรัม
  • วิตามินเอ                                 750                              RE
  • วิตามินบี1                                 0.04                             มิลลิกรัม
  • วิตามินบี2                                0.67                             มิลลิกรัม
  • วิตามินบี3                                 3.1                               มิลลิกรัม
  • วิตามินซี                                  58                                มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม                           67                                มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                                 2.5                               มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส                          19                                มิลลิกรัม
  • เบต้าแครอทีน                         4500                            ไมโครกรัม

โครงสร้างติ้วขาว 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของติ้วขาว

            ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงการศึกษาสมบัติในการต้านสารอนุมูลอิสระของส่วนสกัดหยาบจากใบติ้วขาว พบว่าสารสกัดหยาบมีสมบัติในการต้านสารอนุมูลอิสระได้เมื่อทดสอบโดยวิธี DPPH scavenging assay โดยมีค่า IC50อยู่ที่ 28.77 ± 2.57 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร

            ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีรายงานการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากรากของต้นติ้วขาว ว่าพบสารในกลุ่มแซนโทนใหม่ 3 สาร คือ formoxanthone A-C โดยที่สาร formoxanthone A และ C มีสมบัติในการยับยั้วเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดแกรมบวก และแกรมลบได้แก่ Bacillus subtilis, Staphylococcus aureus, Enterococcus faecalis และ Salmonella typhi

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศพบว่าติ้วขาว มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

            มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ แก้ไขสภาวะเครียดออกซิเดชั่นในหนูเลือด และต้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ยับยั้งการเหม็นหืนของอาหาร ได้อีกด้วย

 

การศึกษาทางพิษวิทยาของติ้วขาว

ไม่มีข้อมูล

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ติ้วขาว เป็นผักพื้นบ้านของไทย และมีการนำมาบริโภคเป็นอาหารมาตั้งแต่ในอดีตแล้ว ดังนั้นในเรื่องการนำมาบริโภคเป็นอาหารจึงไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่ในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีไม่ควรที่พอดี ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะนำติ้วขาว มาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ติ้วขาว
  1. เอื้อมพร วีสมหมาย, ปณิธาน แก้วดวงเทียน, 2547, ไม่ป่ายืนต้นของไทย1: Wild trees in Thailand1. กรุงเทพมหานคร:โรงพิมพ์ เอช เย็น กรุ๊ป จำกัด
  2. อัจคราวดี แนนสนิท, สุรศักดิ์ ปรัชญา, สุดารัตน์ แสงสุข, นฤมล เสือแก้ว, สมฤดี จันทร์ส่องแสง, ไตรเทด์พีน และแซนโทนจากกิ่งอ่อนของต้นติ้วขาว. วารสารวิทยาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี ปีที่ 13 ฉบับที่ 2. กรกฎาคม-ธันวาคม 2559. หน้า 74-81
  3. กรมส่งเสริมการเกษตร. 2557, ผักพื้นบ้านในประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  4. ติ้วขาว. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=52
  5. ผักติ้ว/ติ้วขาว/ติ้วขน ประโยชน์และสรรพคุณผักติ้ว. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  6. Bui M.-L., Grayer R. J., Veitch N. C., Kite G. C., Tran H. and Nguyen Q.-C. K. (2004). Biochem. Syst. Ecol. 32. p. 943-947.
  7. Robson, N. K. B. (1974). Flora Malesiana Ser. I. p 8.
  8. Stevens, P. F. 2007. Clusiaceae-Guttiferae. Flowering Plants Eudicots: Springer Berlin Heidelberg
  9. Maisuthisakul P., Pongsawatmanit R. and Gordon M. H. (2006). J. Agric. Food Chem. 54. p. 2719-2725.
  10. Trakoontivakorn, G., Nakahara, K., Shimoto, H., Takenaka, M., Onishi-Kameyama, M., Ono, H., et al. (2001). Structural analysis of a novel antimutagenic compound, 4-hydroxypanduratin A, and the antimutagenic activity of flavonoids in a Thai spice, finger root (Boesenbergia pandurata Schult.) against mutagenic heterocyclic amines. Journal of Agricultural and Food Chemistr, 49. p. 3046-3050
  11. Boonsri, S., Karalai, C., Ponglimanont, C., Kanjana-Opas, A., Chantrapromma, K. 2006. Antibacterial and cytotoxic xanthones from the roots of Cratoxylum formosum. Phytochemistry. 67(7): 723-7
  12. Supol Boonsaner. (2004). Antioxidant effect of Cratoxylum formosum Dyer, Eugenia grata Wight and Morus alba L. on phynylhydrazine – induce anemic rats. Master of Science Thesis in Pharmacology. Graduated School, Khon Kaen University.
  13. Nakahara, K., Trakoontivakorn, G., Alzoreky, N. S., Ono, H., Onishi-Kameyama, M., and Yoshida, M. (2002). Antimutagenicity of some edible Thai plants, and a bioactive carbazole alkaloid, mahanine, isolated from Micromelum minutum. Journal of Agricultural and Food Chemistry, 50. p. 4796-4802
  14. Taejarernwiriyakul, O., Buasai, M., Rattanatra- nurak, I., Sriyod, P., Ormjai, M.B., Chanluang, S. 2011. Xanthine Oxidase Inhibitory Activity of Medicinal Plants. Thai Pharmaceutical and Health Science Journal-วารสาร ไทย เภสัชศาสตร์และ วิทยาการ สุขภาพ. 6(1): 1-6.