เห็ดหูหนู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เห็ดหูหนู งานวิจัยและสรรพคุณ 32 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เห็ดหูหนู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เห็ดหูหนูดำ, เห็ดหูแมว, เห็ดหูหนูบาง, เห็ดหูหนูหนา, เห็ดหูหนูจีน (ทั่วไป), เห็ดหู, เห็ดหูล๊วะ (ภาคเหนือ) เห็ดหู่ยู๋ (ไทใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Auricularia auricula-judae(Bull.) J.Schröt. 
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Auricularia auricular (L.ex Hook.) Undrerw, Auricularia polytricha
ชื่อสามัญ Jelly ear fungus, Ear fungus, Wood ear, Jew's ear
วงศ์ AURICULARIACEAE

ถิ่นกำเนิดเห็ดหูหนู 

เชื่อกันว่าเห็ดหูหนูเป็นเห็ดที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน เพราะมีการค้นพบบันทึกตำรายาของแพทย์หลวงของจีนที่ใช้รักษาพระราชวงศ์ ซึ่งเป็นตำราที่มีอายุเก่าแก่มากแล้ว โดยในบันทึกได้ระบุถึงการใช้เห็ดหูหนู เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงเลือดลม บำรุงพลังหยิน แล้วต่อมาสันนิษฐานว่าเห็ดหูหนูได้ทั่วทุกภาคของประเทศทั้งในธรรมชาติ และการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์

ประโยชน์และสรรพคุณเห็ดหูหนู

  1. เป็นยาบำรุงเลือด
  2. ช่วยบำรุงกำลัง
  3. ช่วยบำรุงธาตุหยินที่ตับ
  4. บำรุงรุงธาตุหยินที่ไตไต 
  5. ช่วยวิ่งเส้นลมปราณไต
  6. ช่วยบำรุงสมอง
  7. ใช้รักษาเลือดออกเนื่องจากเลือดร้อน
  8. ช่วยรักษาอุจจาระเป็นเลือด
  9. แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  10. แก้ประจำเดือนมากผิดปกติ
  11. แก้ริดสีดวงทวาร
  12. แก้โรคบิด
  13. แก้เลือดจาง
  14. แก้อ่อนเพลีย
  15. แก้หอบหืด
  16. ใช้บำรุงกระเพาะ
  17. แก้ริดสีดวง
  18. รักษาความดันเลือดสูง
  19. รักษาไขมันในเลือดสูง
  20. รักษาวัณโรค
  21. แก้อาการท้องผูก
  22. แก้หลอดเลือดแข็งตัว
  23. ช่วยขับของเสียในลำไส้
  24. บำรุงให้ผิวพรรณชุ่มชื้น
  25. ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี
  26. ช่วยขับนิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ
  27. ช่วยควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญๆ เช่น สมอง หัวใจ ตับ ไต
  28. ช่วยหยุดอาการเส้นโลหิตฝอยแตก
  29. ช่วยการไหลเวียนของโลหิต
  30. ช่วยในการขับเคลื่อนของลำไส้ดีขึ้น
  31. ช่วยป้องกันมะเร็ง
  32. ช่วยลดอาการแทรกซ้อนภายหลังจากการฉายรังสี

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

            ในการใช้เห็ดหูหนูเป็นสมุนไพรนั้นส่วนมากแล้วจะเป็นการใช้ประกอบอาหาร เพื่อให้มีรสชาติที่ดี รับประทานได้ง่าย และได้สรรพคุณอย่างเดิมทีแต่ก็มีการใช้เป็นสมุนไพรโดดอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งทางการแพทย์แผนจีนจะมีวิธีใช้เห็ดหูหนูเป็นอาหารในการบำบัดรักษาโรคดังนี้

            ใช้ทำเป็นโจ๊กเห็ดหูหนู เพื่อแก้เลือดจาง ไอเป็นเลือด อ่อนเพลีย หอบหืด ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี และนิ่วในทางเดินกระเพาะปัสสาวะ ใช้ทำเห็ดหูหนูดำตุ่นน้ำตาลกรวด เพื่อรักษาความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง วัณโรค หลอดเลือดแข็งตัว ขับของเสียในลำไส้ บำรุงให้ผิวพรรณชุ่มชื้นสวยงาม

            นอกจากนี้ก็ยังมีการใช้เห็ดหูหนู เป็นสมุนไพรอีกเช่น รักษาโรคความดันโลหิตสูง หรือ เส้นเลือดแข็งตัว โดยใช้เห็ดหูหนู ประมาณ 3 กรัม แช่น้ำได้ 1 คืน แล้วนำมานึ่งประมาณ 1-2 ชั่วโมง ใส่น้ำตาลกรวดลงผสมกัน ใช้รับประทานก่อนนอนวันละครั้ง ใช้แก้อาการท้องผูก และริดสีดวงทวารด้วยการใช้เห็ดหูหนู 3-6 กรัม และลูกพลับอบแห้ง 30 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำดื่ม และรับประทาน รักษาอาการตกเลือดในสตรี หรือ ประจำเดือนมามากผิดปกติ โดยใช้เห็ดหูหนูอบแห้งบดให้เป็นผง ใช้ชงกับน้ำรับประทานครั้งละ 3-6 กรัม วันละ 2 ครั้ง


ลักษณะทั่วไปของเห็ดหูหนู
 

เห็ดหูหนู จัดเป็นเห็ดในกลุ่มเห็ดราชนิดหนึ่งในตระกูลเห็ดฟันไจ มักจะพบตามตอไม้ขอนไม้ หรือ ต้นไม้ที่เน่าเปื่อยผุพัง โดยลักษณะของเห็ดหูหนูดำนั้นคล้ายกับใบหู ซึ่งมีทั้งชนิดแบบบาง และแบบหนาดอกเห็ดจะเป็นแผ่นใสนิ่มคล้ายวุ้น เป็นรูปพัดไม่มีด้าม ด้านบนของดอกเห็ดมีลักษณะมันเป็นเงา มีสีน้ำตาลปนดำ สีน้ำตาลปนแดง หรือ สีขาวนวล (แล้วแต่ชนิด) ส่วนขอบของดอกเห็ดจะมีรอยจีบ หรือ เป็นลอน ด้านล่างมีลักษณะเป็นขนละเอียดอ่อนคล้ายกำมะหยี่ หรือ ขนหยาบ และมีสีอ่อนกว่าด้านบน บางชนิดมีก้านสั้นๆ ยึดติดกับขอนไม้ตรงกลางดอก หรือ ค่อนไปข้างใดข้างหนึ่ง เนื้อเยื่อดอกเห็ดมีความยืดหยุ่นคล้ายวุ้นแต่เหนียวกว่า สำหรับขนาดของเห็ดก็แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิด ซึ่งจะมีขนาดกว้าง ตั้งแต่ 2-15 เซนติเมตร  และหนา 1-3 มิลลิเมตร  ส่วนสปอร์ของเห็ดหูหนูจะเป็น รูปคล้ายกับไส้กรอก ใส ไม่มีสี ขนาดกว้าง 5-6 ไมโครเมตร ยาว 13-15 ไมโครเมตร มีผิวเรียบ และก้านสปอร์รูปทรงกระบอก

เห็ดหูหนู

การขยายพันธุ์เห็ดหูหนู

การเพาะเห็ดหูหนู สามารถแบ่งเป็นขั้นตอนใหญ่ๆ ได้ดังนี้

            การแยกเชื้อบริสุทธิ์ โดยใช้กรรไกรหรือมีดโกนชุบแอลกอฮอล์ตัดขอบดอกเห็ดโดยรอบ แล้วลอกดอกเห็นออกเป็น 2 ชั้น โดยอย่าให้ส่วนภายในที่ลอกออกมาใหม่ๆ สัมผัสกับสิ่งใดๆ จากนั้นลนเข็มเขี่ยให้ร้อนแดงเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วปล่อยทิ้งไว้พอประมาณ ต่อมาจึงใช้เข็มเขี่ยขูดเอาเนื้อเยื่อส่วนในออกมาเล็กน้อยจากนั้น สอดเนื้อเยื่อที่ตัดไว้เข้าไปวางในจุดใดจุดหนึ่งบนอาหารวุ้นในขวดอาหารแล้วรีบปิดจุกสำลีทันที แล้วให้นำไปบ่มไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิสม่ำเสมอ ปกติอยู่ระหว่าง 22-26 องศาเซลเซียส ห้องบ่มควรเป็นห้องมืด เพราะเส้นใยเห็ดหูหนูขณะเจริญเติบโตไม่ต้องการแสง

            เมื่อบ่นเชื้อได้ประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มมีเส้นใยสีขาวฟูๆ ออกจากเนื้อเยื่อที่ตัดวางไว้ (ถ้าเกิดบริเวณอื่น แสดงว่าไม่ใช่เชื้อเห็ดหูหนู ) ปล่อยให้เชื้อเห็ดเจริญไปประมาณ 5-8 วัน จึงใช้เข็มเขี่ยตัดเอาส่วนปลายของเส้นใยเห็ดพร้อมอาหารวุ้นไปใส่ลงในอาหารวุ้นขวดใหม่ เพื่อจะให้ได้เชื้อเห็ดที่บริสุทธิ์จริง

            การทำหัวเชื้อเห็ด โดยนำเมล็ดข้าวฟ่างมาแช่น้ำ 1 คืน น้ำควรเปลี่ยน 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันมิให้บูดเน่า ในตอนเช้าให้ล้างเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้อีกครั้งให้สะอาด เก็บเมล็ดเสีย และรีบออกทิ้ง นำไปต้มให้เมล็ดข้าวฟ่างนุ่ม แต่ควรระวังอย่าให้เมล็ดข้าวฟ่างแตก

            เทเมล็ดข้าวฟ่างลงในผ้าขาวบาง เกลี่ยบางๆ ใช้ขี้เลื่อยที่มีความชื้นประมาณร้อยละ 60 ใส่ลงไปผสมด้วยประมาณร้อยละ 20 และเติมหินปูนประมาณร้อยละ 0.2 ทั้งนี้เพื่อให้เส้นใยเห็ดคุ้นเคยกับขี้เลื่อย หรือ จะใช้เมล็ดข้าวฟ่างเพียงอย่างเดียวก็ได้

            หลังจากผึ่งทิ้งไว้จนเย็นพอจับได้ นำมากรอกใส่ขวดที่สะอาด เช่น ขวดแบน กรอกใส่ขวดประมาณ ครึ่งขวด เช็ดปากขวดให้สะอาด อุดจุกสำลี หุ้มสำลีด้วยกระดาษรัดยางอีกชั้นหนึ่ง นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันที่ความดันไอน้ำ ประมาณ 15-20 นาที ทิ้งให้เย็น และก่อนที่จะเขี่ยเชื้อเห็ดลงไป ต้องเขย่าขวดจนเมล็ดข้าวฟ่างกระจาย เพื่อให้ความชื้นกระจายไปทั่วๆ ทั้งขวด และป้องกันขวดแฉะ

            หลังจากนั้นเขี่ยเชื้อเห็ดบริสุทธิ์จากอาหารวุ้นใส่ลงขวด โดยเชื้อเห็ดจะเจริญจนเต็มขวด และใช้เป็นหัวเชื้อได้ภายในเวลาประมาณ 10-20 วัน แต่ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 15 วัน เพราะเส้นใยจับกับแน่น ยากแก่การเขี่ยเชื้อ

            การเพาะเห็ดหูหนู สูตรอาหารในการเพาะเห็ดหูหนูที่แนะนำให้ใช้ โดยทั่วไปจะประกอบด้วย ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม รำละเอียด 3-5 กิโลกรัม ข้าวโพดป่น 3-5 กิโลกรัม แป้งข้าวสาลีหรือน้ำตาลทราย 1-2 กิโลกรัม และหินปูน 0.5-1 กิโลกรัม (ไม่ใส่ก็ได้)

            โดยผสมขี้เลื่อย รำละเอียด ข้าวโพดป่น แป้งข้าวสาลีหรือน้ำตาลทราย และหินปูนให้เข้ากัน ใส่น้ำลงไปทีละน้อย คลุกจนเปียกพอดีโดยลองกำดู ถ้ามีความรู้สึกว่าชื้นที่มือ เมื่อแบมือออกขี้เลื่อยจับกันเป็นก้อนแสดงว่าใช้ได้แล้ว แล้วนำมาบรรจุในถุงพลาสติกทนร้อนที่ใช้เพาะเมล็ดลงไปประมาณ 1 กิโลกรัม บรรจุให้แน่นพอประมาณ เมื่อบรรจุจนเกือบถึงบริเวณที่จะใส่คอขวดพลาสติก ควรอัดให้แน่นแล้วจึงสวมคอขวดพร้อมกับดึงถุงพลาสติกพับกลับทับคอขวด รัดยางให้แน่น อุด้วยสำลี หุ้มด้วยกระดาษ และฝาครอบคอขวด หรือ ปิดด้วยจุกประหยัดเสร็จแล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งสำหรับนึ่งถุงขี้เลื่อยที่อุณหภูมิ 95-100 องศาเซลเซียส นาน 3-4 ชั่วโมง เมื่อครบเวลารอให้อุณหภูมิลดลง 80-85 องศาเซลเซียส แล้วจึงเปิดฝาหม้อนึ่งความดัน นำถุงขี้เลื่อยที่นึ่งออกมา ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำเข้าห้องใส่เชื้อ แล้วนำหัวเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างที่เตรียมไว้เขย่าให้เมล็ดข้าวฟ่างร่วน และลนปากขวดหัวเชื้อเห็ดด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์ เทเมล็ดหัวเชื้อประมาณ 10-15 เมล็ดใส่ในถุงขี้เลื่อยที่เตรียมไว้ หลังจากใส่เชื้อแล้วนำไปบ่มเชื้อในโรงเลี้ยงเส้นใยเห็ด อุณหภูมิธรรมดา และมีอากาศถ่ายเทสะดวก เส้นใยเห็ดจะเจริญเติบโตถุงขี้เลื่อยใช้เวลา 25-30 วัน

            การทำให้ออกดอก เมื่อเส้นใยเห็ดเจริญเต็มถุง ให้ดึงคอขวดออก แล้วปิดปากถุง และใช้มีดบางๆ หรือ คัดเตอร์กรีดข้างถุงให้เป็นแนวเฉียงยาวลงสลับกันไปจนรอบถุง จากนั้นจึงนำถุงเห็ดไปวางบนชั้น หรือ แขวนในโรงเรือนเห็ด การรดน้ำควรใช้เครื่องฉีดชนิดพ่นฝอยฉีดให้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อวัน

            การเก็บผลผลิต ถุงขนาด 1 กิโลกรัม จะให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณ 400-700 กรัม ใช้เวลาเก็บประมาณ 2 เดือน ถึง 2 เดือนครึ่ง โดยจะพบว่า ดอกเห็ดหูหนู ระยะแรกขอบจะหนาและโค้งคล้ายถ้วย เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว ขอบของดอกเห็ดจะบางโค้งเป็นลอนถ้าดึงจะหลุดได้ง่าย ในระยะนี้เป็นระยะที่เก็บได้ การเก็บเมื่อดอกเห็ดโตเต็มที่พร้อมกันแล้ว ใช้มือรวบแล้วดึงเบาๆ นำมาตัดก้านพร้อมทั้งเศษวัสดุที่ติดมาด้วยออกทิ้ง

เห็ดหูหนู

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเห็ดหูหนู พบว่า มีสารสำคัญต่างๆมากมายอาทิเช่น Licithin, D-Mannanm Glueuronic acid, Sphingomyelin, glutamic acid, adenosine,  Cephalin, Ergosterol, Methyl pentose   

           นอกจากนี้เห็ดหูหนู ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของเห็ดหูหนู (100 กรัม)

  • พลังงาน                                          25                                กิโลแคลอรี่
  • คาร์โบไฮเดรต                                6.75                             กรัม
  • โปรตีน                                            0.48                             กรัม
  • ไขมัน                                              0.04                             กรัม
  • ใยอาหาร                                        70.1                             กรัม
  • โซเดียม                                         9                                  มิลลิกรัม
  • แคลเซียม                                       16                                มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม                                43                                มิลลิกรัม
  • เหล็ก                                              0.56                             มิลลิกรัม
  • แมกนิเซียม                                   25                                มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                                      14                                มิลลิกรัม
  • สังกะสี                                           0.66                             มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี 1                                     0.008                           มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี 2                                    0.2                               มิลลิกรัม            
  • วิตามิน บี 3                                     0.07                             มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี 9                                   19                                ไม่โครกรัม
  • วิตามิน ซี                                        0.38                             มิลลิกรัม

โครงสร้างเห็ดหูหนู

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเห็ดหูหนู

มีผลการศึกษาวิจัยทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ระบุว่าเห็ดหูหนูดำมีฤทธิ์ต้านมะเร็งในหลอดทดลองได้ โดยมีการสันนิฐานว่า กรดกลูตามิคที่พบในเห็ดหูหนู น่าจะเป็นสารออกสารฤทธิ์สำคัญที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้

            นอกจากนี้จากงานวิจัยฉบับอื่นๆ ยังระบุผลการศึกษาว่าเห็ดหูหนูมีฤทธิ์ต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด เพราะพบสารอะดีโนซีน ซึ่งเป็นสารตัวเดียวกับที่มีในกระเทียม และหอมหัวใหญ่ โดยเมื่อทานไปแล้วจะช่วยลดความเหนียวข้นของเลือดทำให้เลือดไม่เป็นลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดหัวใจ และยังมีฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของเห็ดหูหนู

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในทางการแพทย์แผนจีนระบุถึงข้อควรระวังในการบริโภคเห็ดหูหนู ว่าอาหารเหล่านี้มีลักษณะทำให้เกิดความชุ่มชื้น ความเย็น คนที่ระบบการ ย่อยอาหาร หรือ มีภาวะของร่างกายค่อนไปทางเย็นมากๆ ต้องระมัดระวังไม่ควรกินมาก และไม่ควรกินในช่วงกลางคืน
  2. เห็ดหูหนู มีสารอะดีโนซีน ซึ่งเป็นสารต้านการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเกาะตัวของเลือดควรหลีกเลี่ยงการบริโภค
  3. เด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เห็ดหูหนูเป็นสมุนไพร รักษาโรคเสมอ เพราะสารบางตัวในเห็ดหูหนูดำอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

เอกสารอ้างอิง เห็ดหูหนู
  1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ. (2554). แนะทาน เห็ดหูหนู สรรพคุณ ลดเลือดอุดตัน. ค้นเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 จาก http://www.thaihealth.or.th/healthcontent
  2. นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัฒนาวิบูล.เห็ดหูหนู, เห็ดหลืนจือ : สุดยอดของเห็ด. คอลัมน์แพทย์แผนจีน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 300. เมษายน. 2547
  3. กรมวิชาการเกษตร 2549, เอกสารประกอบบรรยายการเพาะเห็ดสำนักวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตรจตุจักรกรุงเทพฯ
  4. รัตนา พรหมพิชัย. (2542). เห็ดหูลวะ.ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (เล่ม 14, หน้า 7618). กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
  5. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “เห็ดหูหนู ”. หน้า 628.
  6. สุเทพ ญาดี 2552, เอกสารประกอบบรรยายเรื่อง “การเพาะเห็ดต่างๆ” ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กรุงเทพฯ