พุดซ้อน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

พุดซ้อน งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พุดซ้อน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เก็ดถวา, เค็ดถวา (ภาคเหนือ), พุดจีน, พุดจีบ, พุดใหญ่, พุดสวน, พุด (ภาคกลาง), อินถวา (ภาคอีสาน), พุดป่า (ลำปาง), พุทธรักษา (ราชบุรี), ซัวอึ้งกี่, ซัวกี่, จุย ,เจียฮวย (จีน), Bunga cina (มาเลเซีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gardenia augusta (L.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Gardenia jasminoides J.Ellis
ชื่อสามัญ Gerdenia, Cape jasmine
วงศ์ RUBIACEAE

ถิ่นกำเนิดพุดซ้อน 

พุดซ้อน เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียบริเวณจีนตอนใต้ และในประเทศญี่ปุ่น จากนั้นจึงได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เช่นใน เวียดนาม พม่า ไทย ลาว มาเลเซีย อินเดีย รวมถึงในทวีปแอฟริกา สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามภาคต่างๆ แต่ทางภาคต่างๆ แต่ทางภาคใต้จะไม่ค่อยพบเห็นมากนัก ทั้งนี้ในปัจจุบันมักจะพบพุดซ้อนได้ตามบริเวณบ้านเรือน หรือ สวยหย่อมสวนสาธารณะต่างๆ ส่วนในธรรมชาตินั้นจะพบตามป่าดงดิบแถบภาคเหนือเท่านั้น

ประโยชน์และสรรพคุณพุดซ้อน 

  1. แก้ท้องอืดเฟ้อ
  2. แก้ผื่นคัน
  3. แก้ตับอักเสบ
  4. รักษาฝีหนองอักเสบ
  5. แก้ปวดศีรษะ
  6. ใช้ขับปัสสาวะ
  7. ช่วยขับพยาธิ
  8. แก้กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
  9. แก้เหงือกบวม
  10. แก้ปวดฟัน
  11. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  12. แก้ปัสสาวะเป็นเลือด
  13. แก้เคล็ดขัดยอก
  14. แก้อาการตัวเหลือง
  15. แก้บิด
  16. แก้ไข้
  17. ช่วยแก้อาการร้อนใน
  18. ใช้เป็นยาดับพิษร้อน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้อาการปวดศีรษะโดยใช้ใบสดมาตำแล้วพอกบริเวณที่ปวด ใช้แก้ไข้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับพยาธิ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้กระสับกระส่ายนอนไม่หลับ โดยใช้ผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม แต่หากจะใช้แก้ปวดฟัน แก้เหงือกบวม ให้อบกลั้วปาก ใช้แก้บิด แก้เคล็ดขัดยอก โดยใช้เปลือกต้นมาต้มกับน้ำดื่ม แก้ตับอักเสบเฉียบพลัน และมีอาการตัวเหลือง ให้ใช้รากพุดซ้อนสด 70 กรัม รากหญ้าคา เปลือกต้นหม่อน และรากใบไผ่เขียว อย่างละ 35 กรัม นำมารวมกันต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนในตำรายาจีนระบุถึงการใช้ดังนี้

  • ปัสสาวะเป็นเลือด-ใช้รากพุดซ้อน และรากหญ้าคา อย่างละ 1 ตำลึง พร้อมเง่าปัว 2 ตำลึง ต้มกวยแชะ
  • ร้อนในปวดฟัน-ใช้รากพุดซ้อน หนัก 1 ตำลึง ต้มนํ้าใส่นํ้าตาลแดง หรือ ใช้รากหนัก 1 ตำลึง ต้มพร้อมรากเนียมหูเสือ 1 ตำลึง รับประทาน


ลักษณะทั่วไปของพุดซ้อน

พุดซ้อนจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ลำต้นมีความสูงประมาณ 1-3 เมตร แตกกิ่งก้านออกเป็นทรงพุ่มแน่นทึบรอบต้น ผิวลำต้นมีสีขาวเทา กิ่งอ่อนเป็นสีเขียว มีรากใต้ดินเป็นสีเหลืองอ่อน ใบ ออกเป็นเดี่ยว ดอกเป็นคู่ เรียงตรงกันข้ามมีลักษณะ เป็นเถามาบริเวณข้อกิ่งใบรูปไข่กลับถึงรูปใบหอก กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร เนื้อใบหนา ก้านใบสั้น ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ผิวใบด้านบนเป็นมัน สีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกบริเวณปลายยอด และปลายกิ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ มีสีขาวลักษณะของดอกจะมีกลีบดอกซ้อนกันหลายชั้น โคนกลีบแหลม ปลายกลีบมนรี มีกลีบดอกประมาณ 5-6 กลีบ เนื้อกลีบนุ่ม และมีกลิ่นหอม โดยดอกจะบานได้เพียง 2 วัน แล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองจนกระทั่งโรยพุดซ้อน สามารถออกดอกได้ตลอดปีแต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูหนาว และฤดูฝน ซึ่งส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ได้ตลอดทั้งวัน และหอมแรงในช่วงค่ำถึงช่วงเช้ามืด ผลออกเป็นฝักมีลักษณะกลมเป็นรูปไข่ หรือ รูปกระบอกมีเหลี่ยมตามยาวเป็นสันแหลมโค้ง มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง หรือ เป็นสีส้มถึงแดง ภาคในมีเมล็ดอยู่ประมาณ 3-5 เมล็ด

พุดซ้อน

การขยายพันธุ์พุดซ้อน

พุดซ้อน สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำ แต่ในปัจจุบันวิธีที่เป็นที่นิยมกันมาก คือ การตอนกิ่ง เพราะมีเปอร์เซ็นต์การรอดสูง ประหยัดเวลา และทำได้ง่าย โดยมีวิธีการ คือ เลือกกิ่งแก่ที่เป็นสีน้ำตาล หรือ ขาวเทา และมีความสมบูรณ์ของกิ่งสูงมาทำการตอนกิ่ง (เหมือนวิธีการตอนกิ่งไม้พุ่มทั่วๆ ไป) หลังจากนั้น 3-4 สัปดาห์ จะเริ่มออกราก พอรากเดินพอประมาณแล้วจึงตัดลงปลูกได้ โดยการปลูกจะต้องเตรียมหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร จากนั้นใช้ปุ๋ยคอกหรือ ปุ๋ยหมัก ดินร่วนใน อัตรา 1:2 ผสมดินปลูก และควรปลูกให้มีระยะที่โดยการปลูกจะต้องเตรียมหลุมที่เหมาะสม เพราะพุดเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่ ต้องการแสงแดดจัด และต้องการปริมาณน้ำปานกลาง

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของส่วนต่างๆ ของพุดซ้อน ผลการศึกษาพบว่า พบสารที่สำคัญหลายชนิด เช่น Genipin-1-B-gentiobioside, Jasminodin, Tanin, Crocin, Dipentene,  Geniposide, Gardonin, Shanzhiside, Gum เป็นต้น นอกจากนี้ในน้ำมันหอมระเหยของพุดซ้อนยังพบสารหลัก คือ สาร Linalool ที่มีฤทธิ์สงบประสาท อีกด้วย

พุดซ้อน

ที่มา : Wikipedia  

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพุดซ้อน

มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาของพุดซ้อน ในต่างประเทศหลายฉบับพบว่า มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ฤทธิ์ห้ามเลือด และสมานบาดแผล ฤทธิ์กระตุ้นน้ำดี ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ช่วยในการสงบประสาท เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของพุดซ้อน

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในทางการแพทย์แผนจีนระบุว่าผู้ที่ไฟธาตุเย็น ห้ามใช้พุดซ้อนเป็นยาสมุนไพร
  2. ในการใช้พุดซ้อนเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาอาการของโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดตามที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้เกินปริมาณที่กำหนด และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึง ผู้ที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ก่อนจะใช้พุดซ้อน เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง พุดซ้อน
  1. เอื้อมพร วีสมหมาย. 2551. พรรณไม้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม 1. โรงพิมพ์ เอช เอ็น กรุ๊ป จำกัด, กรุงเทพฯ. 335 น.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “พุดซ้อน ”. หน้า 392.
  3. ปิยะ เฉลิมกลิ่น.2548. พรรณไม้วงศ์กระดังงา. พิมพ์ครั้งที่ 2. สำนักพิมพ์บ้าน และสวน. กรุงเทพฯ. 140 น.
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “พุดซ้อน”. หน้า 562-563.
  5. วาสนา พลายเล็ก. 2556. ไม้ดอกหอม. สำนักพิมพ์บ้าน และสวน.กรุงเทพฯ. 128 น.
  6. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ. 2542.