คนทา ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

คนทา งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร คนทา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กะลันทา, สีฟันคนทา, สีฟัน (ภาคกลาง), หนามจี้, จี้หนาม, จี้, ขี้ตำตา (ภาคเหนือ), โกทา, หนามโกทา (ภาคอีกสาน), สีเดาะ (ตาก), มีชี, มีซี (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Harrisonia perforata (Blanco) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Harrisoniabenetti Hook.
วงศ์ Simaroubaceae

ถิ่นกำเนิดคนทา

คนทาเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณตั้งแต่ทางตอนใต้ของจีน จนถึงคาบสมุทรอินโดจีน แล้วจึงมีการกระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนอื่นๆ ของโลก เช่น เอเชียใต้ แอฟริกา และอเมริกาใต้ เป็นต้น ส่วนในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้คนทา เป็นพรรณไม้ที่พบในป่าเป็นส่วนใหญ่ และไม่ค่อยได้รับความนิยมที่จะทำมาปลูกไว้ในบ้าน โดยจะพบมากในป่าเขาหินปูน ป่าผลัดใบ และตามป่าละเมาะทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 900 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณคนทา

  • ใช้แก้บิด
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้กระทุ้งพิษ
  • ช่วยลดความร้อนในร่างกาย
  • แก้ไข้พิษ
  • แก้ไข้กาฬ
  • แก้ไข้หัวลมทุกชนิด
  • แก้ไข้เส้น ไข้เหนือ
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • แก้โรคตา
  • ช่วยขับลม
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • ใช้ฟอกเลือด
  • แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้
  • แก้พิษแมลงกัดต่อย(ดอก)
  • ช่วยบรรเทาอาการไข้อีกด้วย

            มีการนำคนทา มาใช้ตามภูมิปัญญาท้องถิ่นตามภาคต่างๆ ของไทย เช่น มีกานำผลของคนทามาหมกไฟ แล้วทุบเอาน้ำที่ได้มาทาเท้า ช่วยป้องกันโรคน้ำกัดเท้าตอนทำนา หรือ นำผลคนทามาใช้ทำสีสำหรับย้อมผ้า ซึ่งจะให้สีเทาอมม่วง ส่วนกิ่งก้านนั้น ในอดีตมีการนำมาใช้ทำเป็นแปรงสีฟัน สำหรับใช้แปรงฟัน นอกจากนี้เนื้อไม้ของคนทายังสามารถนำไปใช้ทำเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือนได้ เช่น ด้ามมืด ด้ามขวาน คานหาบน้ำ ด้ามจอบ ด้ามเสียม เป็นต้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้ไข้ กระทุ้งพิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคตา ขับลม โดยใช้รากของคนทา มาต้มกันน้ำดื่ม เช้า-เย็น ใช้ฟอกเลือด แก้ท้องร่วง แก้โรคเกี่ยวกับลำไส้ โดยใช้เปลือกต้น หรือ รากอ่อน ต้มกับน้ำดื่ม เช้า-เย็น ใช้แก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย โดยใช้ดอกสด มาขยี้ทาบริเวณที่ถูกพิษของแมลงต่างๆ ส่วนในตำรับยา 5 ราก (ยาเบญจโลกวิเชียร) ที่มีคนทาเป็นส่วนประกอบ ควรใช้ดังนี้ เด็กอายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม – 1 กรัม ละลายน้ำสุก วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เมื่อมีอาการผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1-1.5 กรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเมื่อมีอาการ


ลักษณะทั่วไปของคนทา

คนทา จัดเป็นไม้พุ่มที่มีเถาเลื้อยเกาะ ลำต้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-12 ซม. สูงได้ 2-8 เมตร เปลือกต้น และกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาลมีหนามแหลม และแข็ง ใบเป็นใบประกอบเรียงสลับกันแบบขนนก โดยก้านจะแผ่ออกเป็นแบบปีก และใน 1 ก้าน จะมีใบย่อยประมาณ 9-15 ใบ ซึ่งใบเมื่อยังอ่อนจะมีสีแดงอมม่วงจากนั้นจะเป็นสีเขียวเมื่อแก่ส่วนลักษณะใบจะเป็นรูปไข่ หรือ รูปรีขอบใบหยัก กว้าง 1-2 ซม. ยาว 2-3 ซม. ดอกจะออกเป็นช่อบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อย ขนาด 5-6 มิลลิเมตร อยู่หลายดอก ซึ่งดอกย่อยมีกลีบดอก 4-5 กลีบเป็นลักษณะ กลีบดอกแบบขอบขนาน กลีบข้างนอกเป็นสีม่วงอมแดง ด้านในเป็นสีขาวนวล ผลเป็นทรงกลม ฉ่ำน้ำ ผลเรียง และแข็งมีรถขม และเป็นสีเขียวอ่อน โดยแต่ละผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลแข็ง มีขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร

คนทา

การขยายพันธุ์คนทา

คนทาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด ซึ่งวิธีการขยายพันธุ์ต้นคนทา นั้นสามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการขยายพันธุ์พรรณไม้ชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้าที่ ทั้งนี้คนทาเป็นพรรณไม้ที่ไม่ได้รับความนิยมที่จะนำมาปลูกตามบริเวณบ้าน หรือ บริเวณตามไร่นาเพราะเป็นพรรณไม้ที่มีหนาม และต้องเลื้อยเกาะพัน ต้นไม้อื่นๆ ดังนั้นการขยายพันธุ์ (แพร่กระจายพันธุ์) ส่วนมากจึงเป็นการขยายพันธุ์ ทางธรรมชาติเสียมากกว่า

คนทา

องค์ประกอบทางเคมีคนทา

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของรากคนทา พบว่า สามารถแยกสารได้ 4 ชนิด คือ perforaticacid,heteropeucenin-7-methyl ether, สารกลุ่มสเตอร์รอยด์ เช่น stigmasterol,beta-sitosterol, campesterol และสารผสมของ beta–sitosteryl-3-Oglucopyranoside,chloresteryl-3-O-glucopyranoside,stigmasteryl-3-O-glucopyranoside

โครงสร้างคนทา

ที่มา : Wikipedia

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุไว้ว่า เมื่อแยก และหาสูตรโครงสร้างของสารประกอบจากรากคนทา พบสาร 2-hydroxymethyl-3-methylalloptaeroxylin และสารประกอบอื่นๆ เช่น heteropeucenin-7-methylether, perforarotic acid, harperfolide, lupeol เป็นต้น

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของคนทา

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดเอทานอลจากรากคนทา แบ่งเป็นการทดสอบในสัตว์ทดลอง และทดสอบในหลอดทดลอง สำหรับการศึกษาในสัตว์ทดลอง ทำการศึกษาฤทธิ์ลดการบวมเฉียบพลันที่อุ้งเท้าหนูขาว หลังจากฉีด carrageenan ที่เวลา 1, 2, 3, 4, 5 และ 6 ชั่วโมง โดยใช้หนูเพศผู้สายพันธุ์วิสตาร์ ให้สารสกัดคนทาในขนาด 5-400 mg/kg เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin 5 mg/kg การทดสอบในหลอดทดลอง ดูผลการแสดงออกของ mRNA expression ของสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ได้แก่ TNF- α, IL-6 และ IL-1β ศึกษาในเซลล์แมคโครฟาจ J774A.1 ของหนู ที่ถูกเหนี่ยวนำการอักเสบด้วย Lipopolysaccharide (LPS)  โดยให้สารสกัดจากรากคนทา ในขนาด12.5-50 μg/ml วิเคราะห์ผลด้วยเครื่อง real-time RT-PCR ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดขนาด 50, 100, 200 และ 400 mg/kg สามารถลดการอักเสบได้ที่เวลา 2 ชม. หลังฉีดคาราจีแนน โดยลดการบวมที่อุ้งเท้าหนูได้ 28.49, 31.18, 47.85 และ 65.05% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน Indomethacin ขนาด 5 mg/kg ลดการบวมได้ 37.10% และผลลดการแสดงออกของ mRNA ของสารในกระบวนการอักเสบ หรือ proinflammatory cytokines พบว่าสารสกัดขนาด 50 μg/ml สามารถยับยั้ง TNF-α และ IL-1β ได้เท่ากับ 49.83±3.77 และ 47.27±3.77% ตามลำดับ แต่การยับยั้ง IL-6 จะใช้สารสกัดขนาด 12.5 และ 25 μg/ml ยับยั้งได้ 43.93±5.65% เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน dexamethasone ขนาด 10 μM ยับยั้ง TNF-α, IL-1β และ IL-6 mRNA expression ได้เท่ากับ 30.06±4.09%, 77.96±2.09% และ 89.44±0.54% ตามลำดับ

           ส่วนการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองพบว่า สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากผล และรากคนทา คือ harperfolide ออกฤทธิ์แรงในการต้านการอักเสบในหลอดทดลอง โดยยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) เมื่อทดสอบโดยใช้เซลล์แมคโครฟาจของหนูที่ถูกกระตุ้นการอักเสบด้วย LPS โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 6.51±2.10 µM โดยมีผลลดการแสดงออกของ iNOS protein ที่ทำหน้าที่สร้างสารในกระบวนการอักเสบ คือ ไนตริกออกไซด์ โดยเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน indomethacin  ค่า IC50 เท่ากับ 28.42±3.51 µM และสารสกัดรากคนทา ด้วยเอทานอล ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้าง nitric oxide (NO) ในหลอดทดลอง โดยมีการทำการทดสอบโดยใช้ LPS กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในเซลล์แมคโครฟาจของหนู โดยสารสกัดขนาด 50 μg/ml ยับยั้งการสร้าง NO โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 23.14 μg/ml ออกฤทธิ์ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone ผลการทดสอบสารสกัดจากรากคนทาในการลดการแสดงออกของ mRNA ของเอนไซม์ cyclooxygenase-2 (COX-2) ซึ่ง COX-2 เป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้าง prostaglandin ในกระบวนการอักเสบ พบว่าสารสกัดที่ความเข้มข้น 50 μg/ml ลดการแสดงออกของ COX-2 ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone (10 µM) และสารสกัดที่ความเข้มข้น 25 และ 50 μg/ml ลดการแสดงออกของ iNOS ได้ดีกว่าสารมาตรฐาน dexamethasone (10 µM) โดยสรุปสารสกัดรากคนทาด้วยเอทานอลมีผลลดการอักเสบ และลดไข้ได้ เนื่องจากสามารถยับยั้ง iNOS และ COX-2 ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการสร้างสารที่ทำให้เกิดการอักเสบ และเกิดไข้ ได้แก่ NO และ PGE2 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของรากคนทาในต่างประเทศอีกหลายฉบับ โดยระบุผลการศึกษาวิจัยดังกล่าว เช่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย (P.falciparum) มีฤทธิ์ต้านอีสตามีน เป็นต้น

การศึกษาพิษวิทยาของคนทา

มีการศึกษาทางพิษวิทยาของสารสกัดจากรากและลำต้นของคนทา โดยการกรอกเข้าทางปาก และการฉีดใต้ผิวหนังให้แก่หนู ถีบจักร พบว่าเมื่อกรอกสารสกัดทางปากในขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เปรียบเทียบกับการรักษาในคน 50,000 เท่า) ไม่พบความเป็นพิษ และเมื่อฉีดสารสกัดใต้ผิวหนังในขนาด 10 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็ไม่พบอาการเป็นพิษเช่นเดียวกัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ยา 5 ราก (ยาเบญจโลกวิเชียร) ที่มีรากคนทา เป็นส่วนประกอบควรระมัดระวังในการใช้ดังนี้

  1. ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงที่มีไข้ทับระดู หรือ ไข้ระหว่างมีประจำเดือน
  2. ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  3. หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน 3 วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
  4. สำหรับการใช้ต้นคนทา เป็นสมุนไพรเพื่อรักษาโรคอื่นๆ นั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ คือ ต้องใช้ตามขนาด และวิธีใช้ที่ระบุตามตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้เกินขนาด หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง ก่อนใช้คนทาเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง คนทา
  1. “คนทา”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 117.
  2. มนิดา สถิตมั่นในธรรม.การแยก และหาสูตรโครงสร้างของสารประกอบจากรากคนทา. [วิทยานิพนธ์]. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2535.
  3. คนทา (Khontha)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 72.
  4. ผกามาศ เหล่าทองสาร. องค์ประกอบทางเคมีของรากคนทา (Harrisonia perforata Merr.).  [วิทยานิพนธ์]. กรุงเทพฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.
  5. “คนทา”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 158.
  6. มงคล โมกขะสมิต. กมล สวัสดีมงคล,ประยุทธ สาตราวาหะ, การศึกษาพิษของสมุนไพรไทย. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีที่ 13. ฉบับที่ 1.มกราคม-มีนาคม. 2514. หน้า 21
  7. คนทา.ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudcdrug.com/main.php?action=viewpage&pid=188
  8. ตำรับยา 5 ราก. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6719
  9. Somsil P, RuangrungsiN, Limpanasitikula W, Itthipanichpong C. In vivo and in vitro anti-inflammatory activity of Harrisonia perforata root extract. Phcog J. 2012;4(32):38-44.
  10. Choodej S, Sommit D, Pudhom K. Rearranged limonoids and chromones from Harrisonia perforata and their anti-inflammatory activity. Bioorganic & medicinal chemistry letters. 2013;23:3896-3900.
  11. Somsill P, Itthipanichpong C, Ruangrungsi N, Limpanasithikul W. Inhibitory effect of Harrisonia perforata root extract on macrophage activation. Thai J Pharmacol. 2010;32(1):168-171.