ลูกเดือย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ลูกเดือย งานวิจัยและสรรพคุณ 37 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ลูกเดือย
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะเดือย, บะเดือย (ภาคเหนือ), อี้อี่เหริน (จีนกลาง), อี้อี๋ยิ่ง (จีนแต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Coix lacryma-jobi Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Coix lacrymaLinn, Coix agrestis Lour, Coix exaltata Jacq, Coix arundin acea Lam.
ชื่อสามัญ Coix seed, Job's tears, Hatomogi, Pearl Barley, Adlay, Coix
วงศ์ Gramineae - Poaceae

ถิ่นกำเนิดลูกเดือย

ถิ่นกำเนิดของลูกเดือย มีการสันนิฐานอยู่ 2 ทฤษฏี คือ เป็นพืชพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บริเวณประเทศไทย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ฯลฯ และอีกทฤษฏีหนึ่งระบุว่าลูกเดือย แรกเริ่มนั้นมีถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย จากนั้นได้มีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังประเทศแถบยุโรป และเอเชียตะวันออกในปัจจุบันพบการปลูกแถบประเทศอบอุ่นทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีการบันทึกว่าพบการปลูกครั้งแรกที่สระบุรี ลพบุรี และโคราชเมื่อปี พ.ศ.2503 และในปัจจุบันปลูกมากในภาคอีสาน และภาคเหนือ

ประโยชน์และสรรพคุณลูกเดือย                                                                                                         

  • แก้หลอดลมอักเสบ
  • แก้ปอดอักเสบ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้น้ำคั่งในปอด
  • ช่วยบำรุงกำลังสำหรับคนฟื้นไข้
  • แก้ปวดข้อ
  • แก้ปวดเข่า
  • แก้ไขข้ออักเสบ
  • ช่วยบำรุงกำลังไขข้อ
  • ช่วยบำรุงม้าม
  • ช่วยบำรุงตับ
  • แก้ไข้
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยป้องกันการเกิดฝีที่ลำไส้
  • แก้เหน็บชา
  • แก้ชักกระตุก
  • แก้ไอเป็นเลือด
  • แก้ตกขาว
  • แก้หูด
  • แก้ทางเดินหายใจ
  • รักษาทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • ช่วยบำรุงเส้นผม
  • ช่วยบำรุงผิวหนัง
  • แก้บวมน้ำ
  • แก้ขาบวม
  • แก้อาการม้ามพร่อง
  • แก้ถ่ายกระปิดกระปรอย
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ
  • แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บวมตึง
  • แก้ตะคริว
  • แก้คลายเส้นเอ็น
  • ช่วยระบายความร้อน
  • ช่วยขับหนอง
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • ใช้แก้โรคปอดอักเสบ
  • แก้แผลฝี

           ลูกเดือย สามารถนำมาทำอาหารได้ทั้งอาหารคาวและหวาน โดยนิยมนำมาทำอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศ และนำมาใช้เป็นแป้งได้ ในยุโรปนำมาใช้ทำซุป เค้ก ในญี่ปุ่นนำมาคั่วและชงเป็นชา ในอินเดียใช้หุงกินแทนข้าว นอกจากนี้ลูกเดือยยังสามารถนำมาทำประโยชน์อื่นๆ ได้อีกเช่น นำมาทำเครื่องประดับ ใช้หมักทำเบียร์ ต้นนำมามุงเป็นหลังคาและใช้เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ลูกเดือย 

ช่วยบำรุงกำลัง ต้านมะเร็ง แก้ร้อนใน บำรุงเลือดสตรีหลังคลอด แก้บวมน้ำ แก้เหน็บชา แก้ฝี บำรุงผิวพรรณ แก้ชักกระตุก โดยการนำเมล็ดลูกเดือย มาต้มรับประทาน หรือ นำไปทำอาหารรับประทานก็ได้ ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะเหลืองขุ่น รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะโดยนำใบ และลำต้นลูกเดือยมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไข้ ขับพยาธิ ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ดีซ่าน แก้อาการข้อเข่าเสื่อมปวดตามข้อ แก้ตกขาวโดยใช้รากของต้นลูกเดือยต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคผิวหนังลดอาการผื่นคันต่างๆ โดยใช้ใบ หรือ ลำต้นลูกเดือยมาต้มกับน้ำอาบ ส่วนรูปแบบการใช้ในตำรายาจีนระบุว่า ใช้แก้ลำไส้บวมน้ำ แก้ปวดข้อ แก้ไข้ แก้ท้องเสีย แก้เหน็บชา แก้ชักกระตุก แก้ฝี แก้ตกขาว โดยใช้ลูกเดือย บดผสมกับข้าวแล้วทำเป็นข้าวต้มรับประทาน นอกจากนี้ใช้แก้ร้อนในโดยนำลูกเดือยมาต้มกับน้ำตาลรับประทานทุกวัน


ลักษณะทั่วไปของลูกเดือย

ลูกเดือยจัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลเดียวกับหญ้าเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวลักษณะลำต้น เป็นไม้เนื้ออ่อน ทรงกลม ตั้งตรง สูงประมาณ 1-3 เมตร (แล้วแต่สายพันธุ์) ลำต้นเป็นข้อปล้อง มีนวลขาวปกคลุม ผิวลำต้นเรียบเป็นสีเขียวอมเทา ใบเป็นใบเดี่ยวคล้ายใบขิง แผ่นใบมีลักษณะคล้ายใบหอก ขนาด 20-45x2.5-5 เซนติเมตร (แล้วแต่สายพันธุ์) ติดอยู่กับกาบใบที่หุ้มลำต้น เส้นกลางใบเป็นร่องยาว ตามความยาวของใบแผ่นใบด้านบนสีเขียวสด ส่วนด้านล่างมีสีจางกว่า ขอบใบเรียบ มีความคม จะมีทั้งดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียบนช่อเดียวกัน จำนวนดอกย่อยต่อ 1 ช่อดอกประมาณ 10-20 ดอก หรือมากกว่า

           ทั้งนี้ดอกลูกเดือย แต่ละดอกจะมีก้านดอกไว้รองรับกระเปราะที่มีเปลือกหุ้ม ที่จะพัฒนากลายเป็นที่เก็บผล หรือเมล็ดภายในกระเปราะบรรจุดอกตัวเมีย 1 ดอก และก้านชูเกสรตัวเมียสีแดงคล้ำ 2 อัน ที่ยื่นโผล่มาจากกระเปราะเพื่อรอรับการผสม ผลของลูกเดือยเรียกว่า ผลปลอม เพราะมีเฉพาะเมล็ดที่อยู่ด้านใน (ไม่มีเนื้อผล) ซึ่งจะประกอบด้วยเปลือกหุ้มเมล็ดสีน้ำตาลเปลือกหุ้มนี้ค่อนข้างบาง แต่แข็งติดกับเมล็ด ที่มีลักษณะรูปหัวใจ ซึ่งจะมีร่องเว้าลึกตรงกลางของเมล็ด และมีความยาวประมาณ 8-12 มิลลิเมตร

ลูกเดือย

การขยายพันธุ์ลูกเดือย 

ลูกเดือย สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้

           การเตรียมแปลงปลูกก็ให้เตรียมแปลงคล้ายกับการปลูกพืชไร่ทั่วไป คือ ให้ไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืช พร้อมตากดินนานอย่างน้อย 10-15 วัน จากนั้น ไถคราดให้เป็นร่องตามยาวโรยด้วยปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 30-50 กิโลกรัม/ไร่ หยอดเมล็ดเป็นหลุม หลุมละ 5-6 เมล็ด แต่ละจุดห่างกันประมาณ 50-75 เซนติเมตร แล้วจึงคราดกลบร่อง พอหลังจากที่เมล็ดงอกแล้วประมาณ 1 เดือน จึงถอนต้นลูกเดือย ในหลุมที่ปลูกให้เหลือ 3-4 ต้น ทั้งนี้ลูกเดือยเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ดอนหรือพื้นที่ที่มีความลาดชัน ไม่มีน้ำท่วมขัง และยังเป็นพืชที่ทนแล้งได้อย่างดีอีกด้วย

ลูกเดือย

องค์ประกอบทางเคมีลูกเดือย

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของลูกเดือยว่าพบสาร coixenolide Coixol ส่วนในรากลูกเดือย พบสาร Coixol,Lignin, Stigmeaterd, B-Sitosterol, Palmitic Acid, Stearic Acid  นอกจากนี้ในน้ำมันลูกเดือยยังพบสาร Coixacid และสารประเภทกรดไขมัน เช่น Palmitic Acid, Oleic acid, Linoleic acid, Stearic acid เป็นต้น ส่วนในด้านคุณค่าทางโภชนาการลูกเดือยยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของลูกเดือย (100 กรัม)

-           พลังงาน                                    380                              แคลลอรี่ 

-           โปรตีน                                      15.4                             กรัม

-           ไขมัน                                        6.2                               กรัม

-           คาร์โบไฮเดรต                           65.5                             กรัม

-           ไฟเบอร์                                      0.8                               กรัม

-           แคลเซียม                                 25                                มิลลิกรัม

-           ธาตุเหล็ก                                  5                                  มิลลิกรัม

-           โพแทสเซียม                             435                              มิลลิกรัม

-           วิตามิน B1                                0.28                             มิลลิกรัม

-           วิตามิน B2                                 0.19                             มิลลิกรัม

-           วิตามิน B3                                4.3                               มิลลิกรัม  

โครงสร้างลูกเดือย

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของลูกเดือย

             ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอล มีการศึกษาทางคลินิกโดยให้ผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูงจำนวน 40 คน รับประทานลูกเดือยวันละ 60 กรัม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าผู้เข้าร่วมการทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลรวม และคอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (LDL) ลดต่ำลง

            ฤทธิ์รักษามะเร็งกระเพาะอาหาร มีผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกพบว่าเมื่อฉีดน้ำมันจากลูกเดือย ร่วมกับยาเคมีบำบัดให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจำนวน 60 คน พบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว และนักวิจัยยังระบุด้วยว่าน้ำมันจากลูกเดือยช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้ นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการที่ทดลองในเซลล์มะเร็งของมนุษย์ โดยแสดงผลให้เห็นว่าสารสกัดจากลูกเดือย มีคุณสมบัติต้านมะเร็ง

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชของสาระสำคัญในลูกเดือย ซึ่งมีผลการศึกษาระบุว่า สารโคอิกซิโนโลด์ (Coixenoilde) มีฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอก และช่วยยับยั้งการเกิดมะเร็ง น้ำมัน (Coix oil) ที่ประกอบไปด้วยสาระสำคัญ คือ กรดโคอิก (Coix acid) กรดพาลมิติก (Palmitic acid) กรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) สารโคอิกโซล (Coixol) มีฤทธิ์คลายอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และป้องกันการชัก ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตได้ชั่วขณะ ลดไข้ และมีฤทธิ์แก้ปวดและขับปัสสาวะ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต กระตุ้นศูนย์การหายใจ ขับปัสสาวะ ลดความอ่อนเปลี้ยของร่างกาย

การศึกษาทางพิษวิทยาของลูกเดือย

            มีผลการศึกษาพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักร พบว่าเมื่อฉีดน้ำมันจากลูกเดือย เข้าทางช่องท้องในขนาด 90 มิลลิกรัม/ตัว ไม่พบสัตว์ทดลองตายภายใน 24 ชั่วโมง แต่เมื่อฉีดน้ำมันดังกล่าวเข้าทางใต้ผิวหนัง พบว่าขนาดที่ทำให้หนูถีบจักรตาย คือ 5-10 มิลลิกรัม/กรัม และขนาดที่ทำให้กระต่ายตายเมื่อฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ คือ 1-1.5 กรัม/กิโลกรัม เมื่อฉีดสาร coixol เข้าทางช่องท้องพบหนูถีบจักรในขนาด 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าแสดงฤทธิ์ระงับปวดได้ชั่วขณะ และไม่พบสัตว์ทดลองตัวใดตาย เมื่อให้โดยวิธีรับประทานวันละ 20, 100, 500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ติดต่อกันนาน 30 วัน ไม่พบอาการผิดปกติใดๆ และไม่มีสัตว์ทดลองตัวใดตายเช่นกัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

  1. ลูกเดือย ไม่เหมาะกับผู้มีปัญหาท้องผูก และปัสสาวะบ่อย รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์
  2. หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกเดือย อาจเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ และเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้
  3. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรระมัดระวังในการรับประทานลูกเดือย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะลูกเดือยอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป 
  4. ในการใช้ลูกเดือยเป็นสมุนไพรรักษาโรคควรระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยจะต้องใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับยาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากไป หรือ ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เด็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้ลูกเดือย เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
     
เอกสารอ้างอิง ลูกเดือย
  1. ลูกเดือย.Yiyiren. คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน. กรมพัฒนาการแพทย์แนไทย และการแพทย์ทางเลือก.กระทรวงสาธารณสุข หน้า 164-176
  2. ลีนา ผู้พัฒนาพงศ์, ก่องกานดา ชยามฤต. ธีรวัฒน์ บุญทวีคูณ (คณะบรรณาธิการ.) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตตินันทน์ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554).สำนักวิชาการป่าไม้. กรมป่าไม้.พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพมหานคร.บริษัท ประชาชน จำกัด,2544.
  3. บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด มหัศจรรย์สมุนไพร จีน. กรุงเทพมหานคร.บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด มหาชน.
  4. สลิลรัตน์ พงส์เผ่าทอง.(2549).ต้นทุน และผลตอบแทนจากการปลูกเดือดของเกษตรกร จังหวัดเลย. การศึกษาค้นคว้าอิสระ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
  5. ลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ. สมุนไพรน่าใช้. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร. โรงพิมพ์ แท่นทองปริ้นติ้งเซอร์วิส. 2535.
  6. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. คัมภีร์เภสัชรัตนโกสินทร์. กรุงเทพมหานคร. บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์ และการพิมพ์ จำกัด 2547
  7. ลูกเดือย สรรพคุณ และการปลูกลูกเดือย.พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  8. ลูกเดือย ธัญพืชควบคุมน้ำหนักและคุณสมบัติรักษาโรค. พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com
  9. The State Pharmacopoeia Commission of P.R. China. Pharmacopoeia of the People’s Republic of  China. Vol.l. English Edition. Beijing:Pcople’s Medical Publishing House 2005.
  10. Hen XZ.Li.DH. Semen Coicis yi ren. In:Wang BX, Ma JK, Zheg WL, Qu SY, Li R, Li YK (eds) Modern study of pharmacology in iraditional Chinese medicine 2 ed. Tianjin: Science & Technology Percss.1999